xs
xsm
sm
md
lg

ศาลปล่อยนศ.ทูตต่างประเทศกดดัน บิ๊กตู่โบ้ยกสทช.ปิดทีวี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


พีซทีวี ร้องศาลปกครอง ไต่สวน กสทช. ละเมิดคำสั่งศาลที่ให้ออกอากาศได้ เชื่อ คสช.อยู่เบื้องหลัง หวังปิดปากควบคุมสถานการณ์ให้ ร่างรธน. ผ่านเพื่อสืบทอดอำนาจต่อ "บิ๊กตู่"ยันปิดพีซทีวี เป็นอำนาจ กสทช. แต่หากเคลื่อนไหววุ่นวาย หน้าที่คสช.เชือด ท้า ถ้ากล้าก็ออกมา ลั่นต้องเอาจริงกับขบวนการล้มประชามติ อย่าคิดลองของ ยันไม่ผ่อนคลายคำสั่งคสช.ด้าน "จตุพร"นำทีมนปช.หิ้วตัวแทนเจ้าหน้าที่สถานทูตต่างประเทศ บุกศาลทหาร ขอสังเกตการณ์การพิจารณาขอฝากขังผัด2ของ 13 นศ.ที่จัดกิจกรรม ฝืนคำสั่ง คสช.ล่าสุด ศาลมีคำสั่งให้ปล่อยตัวในวันนี้

วานนี้ (5ก.ค.) นพ.เหวง โตจิราการ แกนนำนปช. และผู้ดำเนินการายการสถานีโทรทัศน์ พีชทีวี พร้อมผู้ประกาศและทนายความ เข้ายื่นขอให้ศาลปกครองไต่สวนกรณี กสท.ละเมิดคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวของศาลปกครอง ที่ให้พีซทีวี สามารถออกอากาศได้ต่อจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา โดยนพ.เหวง กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ พีซ ทีวีได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง กรณี กสทช. เพิกถอนในอนุญาต เป็นคดีหมายเลขดำ ที่ 1163/2558 และคดีอยู่ในระหว่างการพิจารณา โดยศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ให้ พีซ ทีวี ออกอากาศต่อไปได้ก่อน จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา แต่เมื่อวันที่ 4 ก.ค. ที่ผ่านมา ทางกสทช.กลับมีคำสั่งพักใช้ใบอนุญาต 30 วัน โดยอ้างว่า รายการที่สถานีออกอากาศมีเนื้อหาขัดคำสั่ง คสช. โดยให้มีผลในวันที่ 10 ก.ค.นี้ ซึ่งเห็นว่าการกระทำดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นการละเมิดคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวของศาลปกครอง และเข้าข่ายละเมิดอำนาจศาลด้วย

นพ.เหวง กล่าวว่า ส่วนตัวคิดว่ากสทช. สับสนในการใช้อำนาจ เพราะมีการเพิกถอนใบอนุญาตของพีซทีวีไปแล้ว และเมื่อไปขอต่อใบอนุญาต ทางกสทช.ก็บอกว่าไม่สามารถดำเนินการได้ ต้องรอผลการดำเนินคดีของศาลให้เสร็จสิ้นก่อน แต่เมื่อวันที่ 4 ก.ค. กลับจะมามีคำสั่งพักการใช้ใบอนุญาตอีกได้อย่างไร นอกจากนี้ตามประกาศ คสช. ข้อที่ 97 และ 103 รวมถึงบันทึกข้อตกลงที่พีซทีวี ทำกับ กสทช. ให้อำนาจกสทช.ในการดำเนินการระงับ เฉพาะรายการที่ กสทช. เห็นว่ากระทำผิดเงื่อนไขเท่านั้น ไม่ได้ให้อำนาจ กสทช. ในการเพิกถอนใบอนุญาตของสถานี

"กรณีที่เกิดขึ้นกับ พีซทีวี เชื่อว่ามีความเกี่ยวข้องกับ คสช. เพราะคำสั่งห้ามออกอากาศ ที่ให้เริ่มตั้งแต่ 10 ก.ค. เหมือนเป็นความจงใจให้ระยะเวลาครอบคลุมในช่วงที่กำลังจะมีการออกเสียงประชามติ ถือเป็นการปิดปากทำลายการรับรู้ของประชาชน ยิ่งเมื่อรัฐบาลมีการจัดตั้งศูนย์รักษาความสงบเรียบร้อยการออกเสียงประชามติ ที่ มีโครงสร้างคล้ายกับศูนย์ปราบโกงประชามติของนปช. ที่รัฐบาลไม่ให้มีการดำเนินการ เมื่อต่อภาพจิ๊กซอว์เหล่านี้แล้ว แสดงให้เห็นว่า คสช.ต้องการให้ร่างรธน.ฉบับนี้ผ่าน เพื่อที่จะได้สืบทอดอำนาจต่อไป"

**คสช.เตรียมเชือด ถ้ากล้าออกมาเคลื่อนไหว

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช. กล่าวถึงการปิดพีซทีวีว่า "ใครปิด กสทช.เป็นคนปิด แล้วมาถามอะไรผม กสทช. เขาเป็นใคร"

ผู้สื่อข่าวถามว่า จะทำให้เหตุการณ์ยิ่งดุดัน เมื่อรวมกับเรื่องนักศึกษาที่ออกมาเคลื่อนไหวหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ก็เรื่องของเขา เขามีกฎหมายของเขาในการดำเนินการ ถ้าวุ่นวายก็ต้องเป็นหน้าที่ของ คสช.

เมื่อถามว่า จะทำบานปลายเป็นเหตุการณ์น้ำผึ้งหยดเดียว หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า "ถ้ากล้าออกมาก็ออกมาสิ" เมื่อถามอีกว่า จะมีการผ่อนปรนเหตุการณ์โดยจะจัดให้มีการเซ็นข้อตกลงกันหรือไม่ นายกฯกล่าวว่า "ผ่อนปรนในเรื่องอะไร ไม่มีการเซ็นอะไรทั้งสิ้น เซ็นมากี่รอบ คุยกันมากี่ครั้ง สัญญากันมากี่ครั้ง ก็ไม่จบไม่เลิกไม่สัญญาสักอย่าง แล้วไม่ยอมออกจากคุก ประกันก็ไม่ออก แล้วคุณจะให้ผมทำยังไงกับเขา จะให้เชิญหรืออุ้มมาหรือย่างไร พวกคุณก็เป็นปากเสียงให้กับคนเหล่านี้อยู่ได้" นายกรัฐมนตรี กล่าว

แกนนำนปช.หิ้วตัวแทนทูตกดดันทหาร

วานนี้ (5 ก.ค.) ที่ด้านหน้าศาลทหารกรุงเทพ นายจตุพร พรหมพันธุ์ พร้อมแกนนำกลุ่มนปช.ได้เดินทางมาเยี่ยม 13 นักศึกษาที่ถูกจับกุมเมื่อวันที่ 23 มิ.ย.ที่ผ่านมาว่า เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องของสีเสื้อ แต่เป็นอุดมคติของคนอยู่ในมหาวิทยาลัยในวันที่บ้านเมืองไม่เป็นประชาธิปไตย และการที่ไม่ยื่นประกันตัว เพราะเขาไม่ผิด ทั้ง7คนถือเป็นของร้อนทางการเมือง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เวลา 13.00น. ตุลาการศาลทหาร ได้นั่งบัลลังก์พิจารณาสอบสวนคดี เพื่อรับคำร้องฝากขังผัดที่ 2 ของพนักงานสอบสวน สภ.บางเสาธง จ.สมุทรปราการ ที่ผู้ต้องหาขัดคำสั่งคสช. ฉบับที่3/2558 ห้ามมั่วสุมเกินกว่า5 คน และทำกิจกรรมยั่วยุปลุกปั่นทางการเมือง ในกิจกรรมรณรงค์ประชาสัมพันธ์ประชามติ ที่ตลาดเคหะบางพลี อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ เมื่อวันที่ 23 มิ.ย.ที่ผ่านมา โดยในห้องพิจารณาคดีได้มีญาติของผู้ต้องหา สื่อมวลชน ,นายวรเจตน์ ภาคีรัฐ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ นางพวงทอง ภวคพันธุ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ตัวแทนสถานทูต เข้าร่วมสังเกตการณ์ ประกอบไปด้วย สหรัฐอเมริกา แคนาดา เยอรมันนี ฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร ฟินแลนด์ เดนมาร์ค สวีเดน เนเธอร์แลนด์ และสหภาพอียู เข้าร่วมสังเกตการณ์ พิจารณาคดี ประมาณ 25 คน

ต่อมาเวลา15.30 น. ศาลทหารได้พิจารณา ยกคำร้องของพนักงานสอบสวนในการขอฝากขังผัดสอง โดยให้ปล่อยตัวผู้ต้องหาทั้ง 13 คน ด้วยพิจารณาแล้วเห็นว่าไม่มีเหตุที่จะควบคุมตัวต่อ จึงมีคำสั่งปล่อยตัวผู้ต้องหา ในวันนี้ (6ก.ค.) เวลา 08.00 น. ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ

ชี้ใส่โซ่ตรวนนศ.ละเมิดศักดิ์ศรีมนุษย์

ด้านนางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กล่าวถึงกรณีพนักงานสอบสวน นำ 7 นักศึกษา ต้องโทษขัดคำสั่ง คสช. เข้ายื่นคำร้องขอฝากขังต่อศาลทหาร โดยมีการใส่โซ่ตรวนที่ข้อเท้าทั้ง 2 ข้างว่า เป็นการละเมิดสิทธิ และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคคลเหล่านี้ แม้จะมีระเบียบที่ให้คำนึงถึงความปลอดภัย แต่นักศึกษาเหล่านี้ได้แสดงเจตนายินดีให้เข้าจับกุมคุมขัง

"บิ๊กตู่"สั่งคุมเข้มขบวนการล้มประชามติ

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช. กล่าวชี้แจงถึงการตั้งศูนย์รักษาความสงบเรียบร้อยทั่วประเทศ เพื่อดูแลการลงประชามติ ว่า ไม่ได้เป็นการตั้งใหม่ แต่ทาง คสช. มีศูนย์ในการรักษาความสงบอยู่แล้ว โดยปฏิบัติการครั้งนี้ เป็นความร่วมมือของ 3 ส่วนคือ คสช. มหาดไทย และ กกต. โดยกกต.มีหน้าที่อำนวยการในคูหาเลือกตั้ง ส่วนมหาดไทย จะอยู่ใกล้คูหา ส่วนทหาร ตำรวจ พลเรือน จะอยู่รอบนอก ถ้าใครไปทำให้เกิดความวุ่นวาย ก็มีกฎหมายอยู่แล้ว หากทำผิดกฎหมายประชามติ ก็นำแจ้ง กกต. เพื่อพิสูจน์ว่าผิดหรือถูก ถ้าเกิดความวุ่นวายตีกัน คสช.จะดูแล

"ศูนย์ฯนี้มีมาตั้งแต่ 22 พ.ค.57 ตั้งโดยคำสั่ง คสช. คำสั่งกฎอัยการศึก มีมานาแล้วดูแลทุกเรื่องที่เป็นเรื่องความสงบปลอดภัยในชีวิต ทรัพย์สินของประชาชน และทำหน้าที่มาทุกอัน ไม่ได้แยกว่าส่วนนี้ทำเลือกตั้ง ส่วนนี้ทำประชามติ แต่ดูทุกเรื่อง ทุกวัน หากเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรม ก็นำส่งไป ก็จบแค่นั้น คสช.จะไปเกี่ยวอะไรได้ "

เมื่อถามว่าศูนย์ฯ ที่มีอยู่จะสร้างความกดดันต่อประชาชนในช่วงทำประชามติ หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า จะกดดันเรื่องอะไร ก็ไปสร้างความเข้าใจผิดๆ ตนบอกหรือ ว่าต้องรับหรือไม่รับ คุณจะรับหรือไม่รับ ก็เรื่องของคุณ รธน.ฉบับนี้ร่างโดยกรธ. ตนไม่ได้เป็นคนร่างเอง แต่มีหน้าที่ดูแลให้เกิดความปลอดภัยต่อทุกคน

เมื่อถามว่า เวลานี้ มีทั้ง คสช. มหาดไทย กกต. ร่วมดูแลสถานการณ์ มั่นใจหรือไม่ว่า จะไม่มีใครล้มการทำประชามติได้ นายกฯ กล่าวว่า ต้องไปถามคนล้ม อย่ามาถามตน เพราะไม่ต้องการให้ล้มอยู่แล้ว

" ผมกดดันคุณหรือเปล่า ผมสั่งคุณว่าให้ไปผ่านหรือไม่ผ่านให้ผมหรือเปล่า คุณก็ไปเขียนวิเคราะห์ ถ้าไม่ผ่านแสดงว่าอยากอยู่ต่อ ปั๊ดโธ่ เขียนกันอยู่นั่นแหล่ะ ต้องมองประเทศชาติว่าจะทำยังไงกันต่อ ผมพร้อมทุกอย่างอยู่แล้ว โรดแมปก็มีของผมอยู่ แล้วใครล่ะจะล้มโรดแมป ผมเองไม่รู้จะตอบยังไง" นายกฯกล่าว

เมื่อถามว่า มีโอกาสจะผ่อนคลายคำสั่ง คสช.หรือไม่ นายกฯ ตอบสวนทันทีว่า "ไม่มี ยังไม่มี เขามีใครเปลี่ยนแปลงให้ผมหรือไม่ ชื่อเดิมๆ มีใครเปลี่ยนแปลงตัวเองหรือไม่ มีมั้ย ตอบมาสักคน" นายกฯ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น