ผศ.ดร.สุเทพ ทองงาม
ผู้อำนวยการสำนักบรรณสารการพัฒนา
อาจารย์ประจำหลักสูตรบริหารเทคโนโลยีสารสนเทศ คณะสถิติประยุกต์
สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)
ผู้อำนวยการสำนักบรรณสารการพัฒนา
อาจารย์ประจำหลักสูตรบริหารเทคโนโลยีสารสนเทศ คณะสถิติประยุกต์
สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)
ในโอกาสวันสุนทรภู่ ๒๖ มิถุนายน และเมื่อสัปดาห์ก่อน ลูกผมมีการบ้านอ่านกาพย์เรื่องพระไชยสุริยาซึ่งประพันธ์โดยสุนทรภู่ นั่นทำให้ผมจำเป็นต้องอ่านกาพย์นั้นไปด้วยตามประสาการเรียนสมัยใหม่ที่ต้องเรียนกันทั้งครอบครัว ประกอบกับได้ดูหนังทีวีเรื่องเปาบุ้นจิ้นซึ่งมีช่วงหนึ่งที่โดนใจผมอย่างจังทำให้คิดว่าทั้งสามอย่างนี้มีอะไรที่เกี่ยวข้องกันตามที่จั่วหัวเรื่องไว้ จึงเป็นที่มาของบทความนี้
การใช้กาพย์พระไชยสุริยาในการสอนเด็กๆ ทำให้ได้เห็นถึงกุศโลบายอันแยบยลมาแต่สมัยโบราณกาลในการที่จะให้ยุวชนสนใจในการอ่านด้วยการสอดแทรกการสอนเรื่องการสะกดคำในมาตราต่างๆ ผ่านเรื่องที่แต่งขึ้นให้สนุกสนานและใช้กาพย์กลอนเพื่ออรรถรสในการอ่าน เช่นเดียวกับ หนังจีนเรื่องเปาบุ้นจิ้นที่ทีวีสีช่องสามนำกลับมาฉายใหม่ที่จริงก็ได้ดูตั้งแต่แรกๆ ที่มีการนำมาฉายทางทีวีเมื่อหลายปีก่อน จำได้ว่ากว่าสิบปี ความเหมือนกันของกาพย์พระไชยสุริยากับเปาบุ้นจิ้นก็คือการใช้เทคนิคเดียวกันในการทำให้กลุ่มเป้าหมายเกิดความสนใจและได้รับเนื้อหาและความรู้ที่ต้องการถ่ายทอด นั่นคือกาพย์พระไชยสุริยาสอนการสะกดคำผ่านนิทานที่ใช้กาพย์ในการบรรยาย ส่วนเปาบุ้นจิ้นชี้ให้เห็นถึงความซื่อสัตย์และความยุติธรรม ไม่เลือกปฏิบัติ คนทำชั่วต้องถูกลงโทษ ผ่านภาพยนตร์ อันที่จริงของโบราณนี่ก็มิได้โบราณเหมือนชื่อแต่อย่างใด
และแล้วก็มาถึงคำถามว่าแล้วการทำเหมืองข้อมูลมันเกี่ยวกับเปาบุ้นจิ้นยังไง ต้องขออนุญาตเล่าให้ฟังว่า ในสัปดาห์ที่ผ่านมานั้น เปาบุ้นจิ้นตอนที่กำลังออกอากาศเป็นตอนที่ชื่อว่า "แม่ทัพแดนเถื่อน" ผมคงจะไม่กล่าวถึงเนื้อเรื่องของตอนนี้นะครับ ท่านใดอยากทราบว่าเนื้อเรื่องเป็นอย่างไรคงต้องติดตามเอาเอง แต่ส่วนที่เกี่ยวข้องกับที่จั่วหัวไว้อยู่ตรงนี้ครับ ตอนหนึ่งในเนื้อเรื่อง เปาบุ้นจิ้น แม้ว่าจะไม่ได้ทำหน้าที่เกี่ยวกับการสู้รบ แต่ก็เกิดความสงสัยว่าเหตุใดกองทัพของคู่อริมักจะเอาชนะในการสู้รบบริเวณชายแดนที่ติดกันเสมอๆ ราวกับรู้แผนการรบของฝ่ายตนล่วงหน้า เปาบุ้นจิ้นจึงนำข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมาประมวลแล้วพบว่า ทุกครั้งก่อนจะมีการรบกันนั้น ฝ่ายตรงข้ามจะส่งทูตมาเจรจาก่อนทุกครั้งไป ต่อจากนี้คงเดาได้แล้วว่าเปาบุ้นจิ้นค้นพบอะไรและในที่สุดเปาบุ้นจิ้นจะทำอย่างไรเพื่อให้ฝ่ายตนเองเอาชนะได้
ตรงนี้แหละครับประเด็นสำคัญ เปาบุ้นจิ้นนำข้อมูลมาประมวลผลและได้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างการได้ชัยชนะของฝ่ายตรงข้ามกับพฤติกรรมก่อนการสู้รบ และเมื่อได้ค้นพบความสัมพันธ์นั้นแล้วก็นำมาซึ่งข้อสรุปและการดำเนินการ และนั่นก็คือการหาองค์ความรู้จากข้อมูลที่มีอยู่อันเป็นกระบวนการที่เราเรียกกันว่าการทำเหมืองข้อมูลในปัจจุบันนั่นเอง ซึ่งที่จริงก็มีหลายวิธี แต่วิธีที่เปาบุ้นจิ้นใช้ก็นับเป็นวิธีหนึ่ง
คราวนี้คงชัดเจนแล้วนะครับว่า ข้อมูลและการหาองค์ความรู้จากข้อมูลนั้นมีความสำคัญ ไม่ว่าจะนำไปใช้กับการใด หากนำมาใช้ในราชการก็อาจส่งผลถึงการรักษาเอกราชเอาไว้ได้ดังเช่นที่เปาบุ้นจิ้นทำ และคงไม่ต้องสงสัยว่าหากนำมาใช้ในธุรกิจจะส่งผลอย่างไร และถ้าเราไม่นำข้อมูลที่มีอยู่มาใช้ให้เกิดประโยชน์จะส่งผลเสียหรือเสียโอกาสอะไรไปบ้าง ลองคิดดูว่าหากเปาบุ้นจิ้นไม่ค้นพบความสัมพันธ์ตามที่กล่าวไว้ในวรรคก่อนคงต้องพ่ายแพ้ต่อไปจนอาจเสียเอกราชไปก็ได้
ขึ้นต้นด้วยของโบราณแต่ลงท้ายมาทันสมัยซะงั้น!
หมายเหตุ : บทความนี้เป็นความเห็นของผู้เขียนเท่านั้น สำนักบรรณสารการพัฒนาและสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ไม่จำเป็นต้องมีความเห็นไปในทางเดียวกัน