ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -บนถนนสายเจ้าพ่อเมืองกรุง “ปอ ประตูน้ำ”หรือ นายไพจิตร ธรรมโรจน์พินิจ ถือเป็นผู้กว้างขวางระดับแนวหน้า หากย้อนกลับไป 20-30 ปีไม่มีใครไม่รู้จัก “เฮียปอ” ด้วยบุคลิกเป็นคนอารมณ์ดี ควักง่าย จ่ายสะดวก เขาจึงเปรียบเสมือนศูนย์กลาง เป็นตู้กับข้าวสำหรับคนมีสี ไล่ไปจนถึงนักเลงรุ่นเล็กยันรุ่นใหญ่ และแน่นอนว่า ธุรกิจที่สร้างความร่ำรวยอันถือเป็นรากแก้ว เป็นกระดูกสันหลัง ก็คือ “บ่อนกาสิโน”ขนาดใหญ่ หรือที่รู้จักในนาม“บ่อน ประตูน้ำ” ตั้งอยู่หลังตลาดฝั่งตรงข้ามกับศูนย์การค้าอินทรา
ด้วยชัยภูมิที่เหมาะสม เปิดบริการนักพนันอยู่ใจกลางกรุงเทพฯ บ่อนเฮียปอ จึงเป็นที่นิยมของบรรดาเซียนๆ หากนึกถึงบรรยากาศเก่าๆ ช่วงเศรษฐกิจบูมสุดขีด จนกรุงเทพฯยามราตรีไม่เคยหลับเคยนอน ถนนเพชรบุรีทั้งสายกลายเป็นสวรรค์ของนักเที่ยว และเป็นพื้นที่เศรษฐกิจ เงินทองไหลมาเทมา ทั้งสถานบริการ อาบ อบ นวด คาเฟ่ หรือตลาดโต้รุ่ง แท็กซี่- สามล้อ ขวักไขว่กันตลอดทั้งคืน นับเป็นช่วงบันเทิงเริงรมย์กันอย่างสุดขีด ประชาชนทำมาหากินคล่อง ขณะเดียวกันในอีกซีกหนึ่งที่เป็นมุมมืดบ่อนการพนัน ก็คือไอ้ตัวร้าย ทำหน้าที่สูบเงินพวกหลงผิด ยิ่งหามาง่ายๆ ก็หมดไปง่ายๆ
บ่อน “ประตูน้ำ”จึงเสมือนตลาดนัดนักท่องราตรี มีตั้งแต่ระดับหมอนวด-แขกนักเที่ยวที่ยังติดลมไม่อยากกลับบ้าน พร้อมรสนิยมชอบเสี่ยง ยันถึงพ่อค้า นักธุรกิจขาใหญ่ หรือระดับ วีไอพี. และแน่นอนว่าในสถานที่อโคจรแบบนั้นต้องมีนักเลง มือปืน หรืออาชญากร แฝงตัวปะปนอยู่ด้วย ทั้งที่มาเล่นพนันเอง มาในฐานะบอดี้การ์ดผลพวงที่เกิดจากบ่อนประตูน้ำ ยังมีตัวละครสำคัญโลดแล่นอยู่ในยุทธจักรนักเลงอีกหลายคน ทั้งที่ยังมีชีวิตอยู่ และหมดลมหายใจไปแล้วอาทิ ไฝ ประตูน้ำ ตู่ ประตูน้ำ ตุ่ม ประตูน้ำ และปุ่น ประตูน้ำ เป็นต้น
บ่อนพนันทุกแห่งของกรุงเทพฯ รวมทั้งบ่อนประตูน้ำ จึงประหนึ่งโรงเตี้ยมอันเป็นที่พบปะของบรรดาเจ้ายุทธจักร ด้วยเหตุที่มีเรื่องกระทบกระทั่งกันบ่อยๆ ถึงขั้นหัวร้างข้างแตกบ้าง หรืออาจล้มตายกันไปข้าง บ่อนแห่งนี้จึงกำหนดมาตรฐานนักเสี่ยงโชคแบ่งเป็นนักเล่นทั่วไป และระดับพรีเมี่ยม หรือ“วีไอพี” ซึ่งลูกค้าที่จะเข้าไปใช้บริการในระดับ”วี”ได้นั้น จะต้องมีฐานะการเงินสามารถแลกชิปตามที่บ่อนกกำหนดได้ ส่วนที่เหลือก็คือ“ขาใหญ่”ที่ปรากฏเป็นข่าวทราบกันดีในสังคม มีทั้งภรรยาเจ้าพ่อ และ คนมีสี
อย่างที่บอกไว้ว่า บ่อนพนันก็คือตู้กับข้าวของใครหลายคน ทั้งตำรวจท้องที่ ตำรวจนอกหน่วย แม้แต่อดีตทหารใหญ่บางนาย เจ้าพ่อ-นักเลง ล้วนได้รับการดูแลจากเจ้าของบ่อนทั้งสิ้น
แต่ใช่ว่าจะมีแต่เจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือนักเลงหัวไม้เท่านั้นที่เจือสมกับบ่อน กิจการผิดกฎหมายนี้ยังต้องมีสายสัมพันธ์ที่ดีกับฝ่ายการเมืองด้วย และเป็นที่มาของข่าวลือว่า นายไพจิตร ธรรมโรจน์พินิจ มีความสนิทสนมกับนักการเมืองหนุ่มอนาคตไกลคนหนึ่ง เขาเป็นใครไปไม่ได้ ถ้าไม่ใช่ นายวีระ มุสิกพงศ์ หรือปัจจุบันเปลี่ยนชื่อมาเป็น “วีระกานต์”แกนนำคนเสื้อแดง ตั้งแต่เมื่อครั้งลงสมัครเลือกตั้ง ส.ส.เขตพญาไท ในนามพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อปี พ.ศ. 2518 ซึ่งขณะนั้น นายวีระ มีอายุเพียง 28 ปี ถือเป็นดาวรุ่ง-เลือดใหม่ ของพรรคประชาธิปัตย์
แม้บ่อนจะหลบอยู่ในซอกหลืบหลังตลาดประตูน้ำ อาจอำพรางความสนใจของผู้คนได้ แต่ในความจริงนับว่าท้าทายกฎหมาย และมีผู้ที่ได้รับผลประโยชน์จากเม็ดเงินเพียงไม่กี่กลุ่ม กระแสเงินหมุนเวียนเข้ากระเป๋า “เฮียปอ” ถ้าจะเปรียบให้เห็นภาพก็คือ เหมือนกับ “น้ำรอระบาย” ในเวลานี้ กล่าวคือ รอรับทรัพย์ทุกวันโดยมีลูกค้าหน้าใหม่ๆ หมุนเวียนเข้ามาราวแมลงเม่าไม่กลัวกองไฟ
ปี 2527 ชะตาของเจ้าพ่อกาสิโน ตกต่ำสุดขีด จนถึงระเห็ดเข้าคุก เมื่อเกิดคดี 2 มือปืนพระกาฬ บุกยิงเสี่ยนักพนันรายหนึ่งในเขตพื้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยา ต่อมาเจ้าหน้าที่สืบทราบว่า คนตายมีความขัดแย้งกับ ปอ ประตูน้ำ อย่างรุนแรง และติดตามจับกุม 2 มือปืนซึ่งมีความสนิทชิดเชื้อในฐานะองครักษ์ประจำตัวเจ้าพ่อบ่อนได้ แม้ผู้ต้องหาไม่ซัดทอด แต่ตำรวจมีพยานหลักฐานเพียงพอ นายไพจิตร ธรรมโรจน์พินิจ ตกเป็นผู้ต้องหาใช้จ้างวานฆ่า ติดคุกนานหลายเดือน แต่ที่สุดก็หลุดออกมาได้โดยสังคมเล่าลือกันว่า อาจจะด้วยบารมีของเพื่อนเก่าที่ชื่อ “วีระ มุสิกพงศ์”ซี่งขณะนั้นเบ่งบานบารมีอย่างเต็มที่ มีตำแหน่งเป็นรมช.มหาดไทย
อย่างที่ทราบๆกันว่า อาชีพเจ้าของบ่อนพนันย่อมมีปัญหาหนักๆ เข้ามาให้แก้ไขอยู่เรื่อยๆ
วันหนึ่งมีตำรวจสายแข็งจากกองปราบปราม คิดจะทำหน้าที่รักษากฎหมายขึ้นมาอย่างฉับพลัน วางแผนนำกำลังปิดล้อม และเข้าไปจับกุมนักพนันจนกลายเป็นศึก“คนสีเดียวกัน” เมื่อตำรวจท้องที่ทราบเรื่อง จึงรีบแจ้งไปตามสายบังคับบัญชา
ตำรวจนครบาลในฐานะเจ้าที่โดย ผบก.น.1 ในขณะนั้น บัญชาการด้วยตัวเองสั่งปิดถนน ล้อมตำรวจกองปราบฯ ไม่ยอมให้นำผู้ต้องหาพนันไปที่ไหน มีการเจรจาต่อรองกันนับชั่วโมง จนยุติลงที่ให้เป็นปฏิบัติการร่วม และมอบตัวผู้ต้องหาส่ง สน.พญาไท ดำเนินคดี
เรื่องนี้เป็นข่าวใหญ่โต มีคำถามมากมาย แต่ไม่ได้คำตอบ เพราะคำตอบต่างฝ่ายต่างรู้กันอยู่ กล่าวคือตำรวจกองปราบ (บางคน)ในตอนนั้นร่วมเป็นสมาชิกร่วมรับผลประโยชน์ด้วย การรับผลประโยชน์ก็คือ การให้ไฟเขียวจึงเข้าทำนอง“จ่ายแล้วจับ”
อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ครั้งนั้นเริ่มเปิดแผล บ่อนประตูน้ำ ในฐานะผู้มีอิทธิพลและเป็นที่ซ่องสุมมือปืนจากความสำเร็จในธุรกิจสีเทาอาณาจักรของ ปอ ประตูน้ำ ขยายไปสู่ธรกิจสีขาว ทั้งตลาดธรรมโรจน์พินิจ หรือตลาดสำโรง กิจการตึกแถว และร้านขายทอง ฐานะความร่ำรวยไม่มีความจำเป็นต้องแบกรับกับปัญหาต่างๆ จากการทำบ่อนกาสิโนอีกต่อไป
แม้จะไม่มีคำยืนยัน หรือหนังสือบริคณห์สนธิ แต่สังคมคนทำบ่อน หรือบรรดาตำรวจที่มีส่วนเกี่ยวข้องรับรู้ว่า กิจการบ่อนพนันของ เฮียปอ กำลังถ่ายโอนให้ “ตี๋พจน์-เจ้หมวย”น้องเขยและน้องสาว เป็นผู้บริหารจัดการแทนทั้งหมด
แต่ปรากฏว่า ในช่วง 2-3 ปี ภายใต้การดูแลของ“ตี๋พจน์ -เจ้หมวย”เกิดมีปัญหาขัดเคืองใจ จนต้องขอยึดคืนมาทำเอง “เฮียปอ”กลับลำ ไม่หันหลังประกาศล้างมือในอ่างทองคำ หวนมาทำบ่อนอีก ส่วน“ตี๋พจน์ -เจ้หมวย”ต้องออกไปหาทำเลเพื่อเดินต่อไปในเส้นทางนี้ และไปลงตัว ณ สถานที่แห่งหนึ่ง ภายในซอยเอกมัย 30
มรสุมลูกใหญ่กระหน่ำเข้ามาอย่างไม่รู้ตัว เมื่อเข้าสู่ยุคพล.ต.อ.เสรีพิศุทธิ์ เตมียาเวส ก้าวขึ้นเป็นผบ.ตร. อย่างเต็มตัวเมื่อปี 2550 บ่อนประตูน้ำ ถูกตำรวจบุกทะลายครั้งใหญ่ได้ผู้ต้องหา 262 คน เงินสดของกลางและชิป รวมกว่า 150 ล้านบาท
ในระหว่างตำรวจกำลังสาละวนกับการรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อเอาผิดกับ ปอ ประตูน้ำ ฐานเป็นเจ้าของบ่อน นายไพรจิตร ธรรมโรจน์พินิจ ปรากฏตัวขึ้นในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นการบุกเดี่ยวเข้าพบ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธิ์ เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงต่างๆ ท่ามกลางวงล้อมของนักข่าวประจำกรมฯ และมีการโต้ตอบกันอยู่หลายนาที
ผลของการถูกบุกจับบ่อนในครั้งนั้น กลายเป็นการปิดตำนานบ่อนประตูน้ำ อย่างถาวร นายไพจิตร เริ่มเดินสายธรรมะ โดยเป็นที่ทราบกันดีว่า เขาคือศิษย์เอกของหลวงพ่อเกษม เขมโก นักบุญแห่งเมืองรถม้า และอาจเป็นไปได้ว่า ด้วยกิจการอื่นๆ อันเป็นธุรกิจสีขาว มีรายได้เป็นกอบเป็นกำ สามารถดำรงชีพได้อย่างสบายๆ อีกทั้งคดีความเก่าที่ยังคงตามมาหลอกหลอน นั่นคือ การบุกรุกป่าชายเลนที่ จ.ตราด “เฮียปอ”จึงตัดสินใจหันหลังให้กับวงการบ่อนพนันนับแต่นั้นมา พร้อมกับทุ่มเทให้กับกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวกับหลวงพ่อเกษม อย่างเต็มที่ รวมทั้งการสร้าง"ท้าวเวสสุวรรณ" องค์ใหญ่ที่สุดในโลก มีขนาดสูง 14 เมตร กว้าง 12 เมตร มูลค่ากว่า 20 ล้านบาท เพื่อเป็นอนุสรณ์ให้กับหลวงพ่อฯ
คำพิพากษาศาลฎีกาให้จำคุก 12 ปี ในวัยที่ นายไพจิตร ธรรมโรจน์พินิจ มีอายุ 75 ปี นับเป็นวิบากกรรมอันสุดแสนสาหัส แม้จะร่ำรวย มีทรัพย์สินเงินทองมากมายมหาศาล แต่บั้นปลายชีวิตที่ควรพักผ่อน-อบอุ่นอยู่ในบ้านกับลูกหลาน กลายเป็นเรือนจำ มองไปทิศไหนมีแต่กำแพงล้อมรอบ อิสระภาพที่ทำได้แค่เพียงแหงนมอง ขึ้นฟ้า เห็นความเปลี่ยนแปลงของเดือน-ตะวัน ไปอีกยาวนาน