xs
xsm
sm
md
lg

มะเร็งต่อมไทรอยด์…ไม่น่ากลัวอย่างที่คิด (1)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

มะเร็งต่อมไทรอยด์…ไม่น่ากลัวอย่างที่คิด (1)
ผศ.ดร.นพ. สืบวงศ์ จุฑาภิสิทธิ์
ภาควิชาศัลยศาสตร์
ต่อมไทรอยด์ คืออะไร
ต่อมไทรอยด์ เป็นอวัยวะในร่างกายบริเวณคอ และเป็นต่อมไร้ท่อที่ใหญ่ที่สุดในร่างกาย (ต่อมไร้ท่อ หมายถึง ต่อมที่สร้างสารที่เรียกว่า “ฮอร์โมน” ในต่อม และปล่อยฮอร์โมนนั้นเข้าสู่กระแสเลือดและไปทำงานในอวัยวะอื่นในร่างกาย)
ต่อมไทรอยด์ จะอยู่บริเวณหน้าหลอดลมใต้ท่อกระดูกไทรอยด์ (ลูกกระเดือกในผู้ชาย) ต่อมนี้มีสองข้างซ้าย ขวา และมีแนวเชื่อมกันตรงกลางคล้ายปีกผีเสื้อ แต่ละข้างจะมีขนาดประมาณ 4-5x1.5-2.0 เซนติเมตร และมีน้ำหนักประมาณ 15-25 กรัม
หน้าที่ของต่อมไทรอยด์ คืออะไร
ต่อมไทรอยด์ มีหน้าที่ที่สำคัญ คือ สร้างไทรอยด์ฮอร์โมนเพื่อควบคุมระบบการเผาผลาญพลังงานในร่างกาย โดยที่ไทรอยด์ฮอร์โมนจะถูกสร้างจากต่อมไทรอยด์ และส่งเข้าสู่กระแสเลือดไปยังอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย และใช้ในกระบวนการเมตาบอลิสมที่อวัยวะต่างๆ
โดยสารตั้งต้นที่มีความสำคัญในการสร้างไทรอยด์ฮอร์โมน คือ สารไอโอดีน และหากร่างกายมีภาวะที่ไทรอยด์ฮอร์โมนสูงหรือต่ำเกินไป ก็จะทำให้ระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกายผิดปกติไปได้ นั่นคือ หากร่างกายมีไทรอยด์ฮอร์โมนมากเกินไป ก็จะมีกระบวนการเผาผลาญพลังงานมากตลอดเวลา ทำให้เกิดอาการใจสั่น เหนื่อยง่าย กินจุ น้ำหนักลด หัวใจเต้นเร็ว เหงื่อออกตามฝ่ามือ ท้องเสีย เป็นต้น ในทางตรงกันข้าม หากร่างกายมีไทรอยด์ฮอร์โมนน้อยเกินไป ก็จะเกิดอาการเฉื่อยชา ไม่กระฉับกระเฉง น้ำหนักเพิ่ม อาจมีอาการขาบวม ท้องผูก ขี้หนาว เป็นต้น
ภาวะไทรอยด์เป็นพิษ หรือไฮเปอร์ไทรอยด์ คืออะไร
ภาวะไทรอยด์เป็นพิษ หรือไฮเปอร์ไทรอยด์ คือ ภาวะที่มีไทรอยด์ฮอร์โมนในเลือดมากกว่าปกติ ทำให้เกิดอาการดังกล่าวข้างต้นได้ ทั้งนี้ภาวะไฮเปอร์ไทรอยด์อาจจะเกิดร่วมกับการมีก้อนหรือไม่มีก้อนที่ต่อมไทรอยด์ก็ได้ สาเหตุส่วนใหญ่ของภาวะไฮเปอร์ไทรอยด์ มักเกิดจากโรคที่เรียกว่า Graves’ disease โดยที่ผู้ป่วยโรคนี้อาจจะมีความผิดปกติอย่างอื่นร่วมด้วยได้ เช่น ตาโปน หัวใจเต้นผิดจังหวะ เป็นต้น ภาวะไฮเปอร์ไทรอยด์ สามารถวินิจฉัยได้ด้วยการเจาะตรวจระดับไทรอยด์ในเลือดและส่วนใหญ่แล้วสามารถรักษาได้ด้วยการกินยา ไม่จำเป็นต้องผ่าตัดรักษาแต่อย่างใด การกินยาจะต้องกินอย่างสม่ำเสมอ อย่างต่อเนื่องสักพักหนึ่ง แล้วจึงสามารถลดระดับยาลงมาได้ และส่วนใหญ่สามารถหยุดยาได้ในที่สุด อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยที่มีปัญหาการรักษาด้วยยากิน อาจต้องได้รับการรักษาด้วยสารรังสีไอโอดีน หรือที่เรียกกันว่า การกลืนแร่ หรืออาจจะได้รับการผ่าตัดเพื่อรักษาก็ได้ ในกรณีที่การรักษาด้วยยากินไม่เป็นผล
ภาวะไทรอยด์เป็นพิษเป็นโรคเดียวกับมะเร็งไทรอยด์หรือไม่
ภาวะไทรอยด์เป็นพิษ ไม่ได้เป็นโรคเดียวกับมะเร็งไทรอยด์ โดยปกติแล้วผู้ป่วยที่เป็นโรคของต่อมไทรอยด์มักจะมาพบแพทย์ด้วยอาการผิดปกติอยู่ 2 แบบ คือ ความผิดปกติของการสร้างฮอร์โมน และมีก้อนที่คอ
ผู้ป่วยที่มีไทรอยด์เป็นพิษ จะมาพบแพทย์ เพราะมีการสร้างไทรอยด์ฮอร์โมนมากเกินไป จึงมีอาการเหนื่อยง่าย ใจสั่น น้ำหนักลด เหงื่อออกตามมือตามเท้า โดยที่อาจมีหรือไม่มีก้อนที่คอเลยก็ได้ ในขณะที่ผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งต่อมไทรอยด์จะมีอาการมีก้อนที่คอ โดยที่ก้อนดังกล่าวจะไม่ได้สร้างไทรอยด์ฮอร์โมนมากกว่าปกติทำให้ไม่มีอาการดังกล่าวข้างต้น
เมื่อไรจึงจะสงสัยว่าเป็นมะเร็งต่อมไทรอยด์
ผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งต่อมไทรอยด์ จะมาพบแพทย์ด้วยอาการก้อนที่คอ โดยที่ก้อนนั้นมักจะเคลื่อนที่ขึ้นลงได้ตามจังหวะการกลืน ก้อนดังกล่าวมักจะไม่มีอาการเจ็บแต่อย่างใด ถ้าคลำไปที่ก้อนจะพบว่าก้อนมีลักษณะแข็ง อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่ก้อนที่ต่อมไทรอยด์มักจะไม่ใช่ก้อนมะเร็ง แต่เป็นเนื้องอกอย่างอื่นที่ไม่ใช่เนื้อร้าย ดังนั้น เมื่อผู้ป่วยมีก้อนที่ต่อมไทรอยด์ จึงจำเป็นต้องทำการตรวจก้อนเพิ่มเติมอย่างละเอียดเสมอ เพื่อวินิจฉัยโรคให้ได้ว่า เป็นก้อนมะเร็งหรือไม่

กิจกรรมดี ๆ
#คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลและกรมประมงเชิญชวนเที่ยวงาน “วันประมงน้อมเกล้าฯ ครั้งที่ 28” ระหว่างวันที่ 1 - 10 ก.ค. 59 ณ ศูนย์การค้าฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต ให้คำปรึกษาและตรวจสุขภาพเบื้องต้น (จ-ศ เวลา 13.00 – 17.00 น. (50 คน/วัน)...ฟรี) พิเศษ คลินิกสุขภาพตา (3,10 ก.ค. เวลา 10.00 -15.00น. (200 คน/วัน)...ฟรี ) และฟังเสวนาเรื่อง “โรคตาที่พบบ่อยและปัญหาสายตาที่เกิดจากการใช้เทคโนโลยีปัจจุบัน” (3 ก.ค. เวลา 14.00 - 15.00 น...ฟรี)
กำลังโหลดความคิดเห็น