xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ศังกราจารย์…ผู้ทำลายพุทธศาสนาในชมพูทวีป ธัมมชโย...ผู้ทำลายพุทธศาสนาในสยามประเทศ??

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศังกราจารย์
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ย้อนรอยประวัติศาสตร์ความเลื่อมสลายของพุทธศาสนาในดินแดนชมพูทวีป มีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับปราชญ์นักศาสนาผู้ยิ่งใหญ่ชาวอินเดียนาม 'ศังกราจารย์' ที่ถูกจารึกเอาไว้ว่าเป็น 'ผู้ทำลายพุทธศาสนา' ได้ถึงรากอย่างแยบยลและแนบเนียนที่สุด ด้วยยุทธศาสตร์ 'ทำลายโดยไม่ให้รู้ว่าทำลาย '

ศังกราจารย์ เจ้าลัทธิไศวะ หรือลัทธิศิวะอวตาร ถูกกล่าวขานในฐานะปราชญ์ผู้สามารถล้มล้างพุทธศาสนาในอินเดีย หากเปรียบเทียบกับไทยก็คลับคล้ายคลับคลากับกรณี พระเทพญาณมหามุนี (พระธัมมชโย) เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ที่อาศัยความตื้นเขินของปุถุชนสร้างรัฐธรรมกาย และคณะศิษยานุศิษย์ที่ยอมพลีกายถวายหัว

ศังกราจารย์ ถือเป็นเจ้าลัทธิผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งของโลก อ้างอิงจากกรณีศึกษาการล่มสลายพุทธศาสนาในอินเดีย ผ่านบทความเรื่อง 'ธรรมกายโมเดล : การล่มสลายของพุทธเหมือนในอินเดีย' โดย พระมหาพงศ์นรินทร์ ฐิตวํโส ธรรมอาสาปกป้องพระธัมมวินัยจากปรัปวาท ความว่า

“ลำพังการที่คนคนหนึ่งคิดจะก่อตั้งลัทธิอะไรขึ้นมาได้นั้นก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย แต่ท่านศังกราจารย์นั้นสามารถทำได้มากกว่านั้น ท่านสามารถที่จะดูดดึงศาสนิกชนชาวพุทธไปเป็นสาวกของตนเองได้อย่างแนบเนียน จนล้มพุทธศาสนาที่เป็นคู่แข่งลงได้ แล้วใช้เป็นฐานในการพัฒนาและปฏิรูปลัทธิใหม่ของตน จนสืบต่อมาได้อย่างยิ่งใหญ่และกลายเป็นศาสนาสำคัญของโลกในยุคปัจจุบันได้สำเร็จ”

กล่าวถึงประวัติโดยย่อ ศังกราจารย์ นามจริงคือ ศังกระ หรือ อาทิ ศังกระ (Adi Shankara) เกิดที่เมืองเกราลา (Kerala) มีชีวิตอยู่ระหว่าง พ.ศ. 1331 - 1363 เป็นปราชญ์นักการศาสนาชาวอินเดียใต้ ต่อมาได้เดินทางโต้วาทะ เผยแพร่ลัทธิของตนไปยังทั่วอินเดีย ได้รับการนับถือโดยทั่วกันว่าเป็น 'องค์อวตารของพระศิวะ' และเป็นผู้ประพันธ์คัมภีร์ปุราณะ คัมภีร์เวทานตะ อรรถกถาอธิบายลัทธิเวทานตะ และก่อตั้งลัทธิอไทวตะเวทานตะ (non-dualism : ปฏิเสธของคู่ แต่นิยมบูชาพระเจ้าองค์เดียวเป็นสิ่งสูงสุด) แต่เป็นที่จดจำของคนทั่วไปในชื่อ ลัทธิไศวะ หรือ ลัทธิศิวะอวตาร ศังกราจารย์ เป็นผู้ก่อตั้งวัดและพระที่มีลักษณะเดียวกันกับสถาบันสงฆ์ เรียกว่าเลียนแบบพุทธศาสนากลายๆ เข้าครอบงำพุทธศาสนาอย่างแนบเนียน พร้อมทั้งยกระดับลัทธิพราหมณ์เป็นศาสนาฮินดู

การเที่ยวถกเถียงโต้วาทะไปทั่วทุกแห่งหนแถบนอกเมืองของอินเดีย คือวิธีการกำจัดพระพุทธศาสนาที่สำคัญที่สุดของศังกราจารย์ โดยที่ไม่แยแสคนในเมือง เพราะเขารู้ว่าต่อให้พุทธศาสนาในเวลานั้นจะอ่อนแอเพียงใดคนในเมืองก็ยังคงศรัทธาอย่างเข้มแข็ง

อ้างอิงตอนหนึ่งของบทความเรื่อง อะไรคือมูลเหตุแห่งการเสื่อมสูญของพุทธศาสนาในอินเดีย โดย กรุณา กุศลาสัย เปิดเผยว่า ในอินเดียสมัยโบราณมีการโต้วาที (ศาสตรารฺถ) กันในเรื่องของศาสนาที่เป็นสาธารณะ โดยเปิดให้ประชาชนทุกลัทธิความเชื่อถือเข้าฟังได้ ผลของการโต้วาทีมีอิทธิพลของความเชื่อของคนในยุคนั้นมาก ปรากฏว่าในการโต้วาทีเหล่านั้น ปราชญ์ฝ่าย พราหมณ์ - ฮินดู เช่น ท่านกุมาริละ และท่านศังกราจารย์ ได้ชื่อว่าเป็น ผู้พิชิตปราชญ์ฝ่ายพุทธ

ไม่เพียงเท่านั้น ศังกราจารย์ตีวงล้อมเมืองด้วยการจัดคณะนักบวชฮินดูเลียนแบบคณะสงฆ์ในพุทธศาสนา ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ที่มีการตีแผ่ผ่านหนังสือกาลานุกรมโดยพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) ได้ก่อตั้งวัดและสังฆะ ตั้งวัดใหญ่ขึ้น 4 ทิศ เรียกว่า 'มัฐ' ตามอย่างวัดในพุทธศาสนาที่เรียกว่า 'วิหาร' เปรียบเสมือนศูนย์ระดมพลระดับภูมิภาค ซึ่งเรียกศรัทธาจากผู้คนตามชนบทได้อย่างดี และได้รับความนิยมบางแห่งถึงกลับมีการเปลี่ยนวัดพุทธเป็นวัดฮินดู

ศังกราจารย์สร้างเรื่องพระศิวะอวตาร ความว่า แต่งความเป็นคัมภีร์ศังกรทิควิชยะว่า เหล่าเทพยดาได้มาร้องทุกข์ต่อองค์ศิวะพระอิศวรเป็นเจ้าว่า พระวิษณุได้เข้าสิงร่างของพระพุทธเจ้าแล้วดำเนินการให้ประชาชนดูหมิ่นพราหมณ์ รังเกียจระบบวรรณะ และละเลิกบูชายัญ ทำให้เหล่าเทพยดาไม่ได้รับเครื่องเซ่นสังเวย ขอให้พระองค์ช่วย พระศิวะจึงได้อวตารลงมาเป็นศังกราจารย์ เพื่อกู้คำสอนของพระเวท ให้การบูชายัญและระบบวรรณะกลับฟื้นคืนมา

นอกจาก การโต้วาทะไปทั่วแล้วยังร่วมมือกับ กุมาริละ ผู้ร่วมทำงานกำจัดพุทธศาสนา เที่ยวชักจูงใจ กษัตริย์และผู้มีกำลังทรัพย์ผู้มีอำนาจทั้งหลายให้เลิกทำนุบำรุงอุปถัมภ์พุทธศาสนา

ยุทธศาตร์ของศังกราจารย์ ค่อยๆ กลืนพุทธศาสนาไปทีละเล็กทีละน้อยอย่างแนบเนียน โดยเฉพาะการใช้หลักคิดความเชื่อเหนือจริงมาชักจูง ยกตนอุปโลกน์ว่าเป็นองค์อวตารของพระศิวะ ปรุงแต่งรูปของเรื่องเล่าและคัมภีร์ จนเกิดเป็น ลัทธิไศวะ หรือ ศิวะอวตาร พร้อมทั้งแต่งคำสอนในลัทธิตนให้มาเกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้า กล่าวคือ ทำเนียนว่าตนนั้นบูชาพระพุทธเจ้า แต่กลับยกพระศิวะเป็นสิ่งสูงสุด ที่สำคัญยังอุปโลกน์ตนเป็นองค์อวตาร

ศังกราจารย์สร้างเรื่องว่า พระพุทธเจ้าเป็นปางที่ 9 ของพระนารายณ์ อันปรากฏอยู่ในคัมภีร์ปุราณะ ซึ่งเป็นอุบายอันแยบยลที่ล้อกับความเชื่อของพุทธศาสนิกชนที่มีมาแต่ดังเดิม นั่นเท่ากับว่าหลอมรวมพุทธศาสนิกชนเป็นหนึ่งเดียวกับลัทธิของเขาไปโดยปริยาย จนได้รับการยกย่องว่ามีความสามารถในการจัดตั้งและบริหารจัดการ ขณะที่ปราชญ์ทางศาสนายกย่องเช่นเดียวกันว่า ศังกราจารย์ คือ ผู้กอบกู้ลัทธิพราหมณ์ เป็นบุคคลสำคัญที่ปฏิรูปลัทธิพราหมณ์ขึ้นมาเป็นศาสนาฮินดู ดังที่กล่าวข้างต้น

“พระภิกษุสงฆ์ในพุทธศาสนาติดอยู่กับลาภยศสรรเสริญทรัพย์สินเงินทองความร่ำรวย อยู่ในเมืองใหญ่ๆ ละเลยวัดและชาวบ้านในชนบทที่ห่างไกล จึงทำให้ลัทธิศิวะอวตารนี้ค่อยๆ ยึดวัดในพุทธศาสนาของเดิมมาเป็นวัดในลัทธิของตนได้อย่างแนบเนียน แต่ในมุมของชาวบ้านนั้น ไม่รู้สึกว่าพุทธศาสนาจะหมดหรือเสื่อมสูญไปตรงไหน เพราะยังได้ทำพิธีกรรมและบูชาพระพุทธเจ้าอยู่เช่นเดิม วัดก็ยังมีพระของลัทธิไศวะมาอยู่ประจำคอยทำพิธีกรรมให้ เพียงแต่เพิ่มการบูชาพระศิวะและเทพเจ้าองค์อื่นๆ เพิ่มขึ้นมา และยกย่องให้พระศิวะเป็นสิ่งสูงสุด และนับถือท่านศังกราจารย์ในฐานะเป็นองค์อวตารของสิ่งสูงสุด ศาสนิกชนชาวพุทธที่มีมาแต่เดิมจึงกลายไปเป็นสาวกของนิกายศิวะอวตารได้ด้วยความเต็มใจ” พระมหาพงศ์นรินทร์ ฐิตวํโส ระบุและวิเคราะห์สาเหตุความเลื่อมสลายของพุทธศาสนาในอินเดีย ภายใต้การทำลายล้างของ ศังกราจารย์ ความว่า

1. การแฝงตัวเข้ามาอยู่ในกลุ่มพระภิกษุในพุทธศาสนา ตามประวัติว่ากันว่าท่านศังกราจารย์ได้เข้ามาเรียนองค์ความรู้ทางพุทธศาสนาในมหาวิทยาลัยนาลันทาด้วย ระหว่างนั้นก็ได้คบค้าสมาคมกับพระภิกษุที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญทางพุทธศาสนาเป็นจำนวนมาก ทำให้ทั้งรู้องค์ความรู้ต่างๆในพุทธศาสนา อีกทั้งยังรู้เห็นถึงพฤติกรรมที่เป็นจุดอ่อนต่างๆ ของพระภิกษุในพุทธศาสนาได้เป็นอย่างดีด้วย

2. จากการที่ได้เข้ามาคลุกคลีและศึกษาคำสอนในพุทธศาสนา ทำให้ศังกราจารย์สามารถนำ Know how ที่เป็นจุดแข็งของพุทธศาสนามาปรับใช้ คือการก่อตั้งวัดและสังฆะเลียนแบบพุทธศาสนา และการปรับประยุกต์พิธีกรรมและคำสอนทางพุทธไปเป็นของตน จนทำให้ชาวบ้านยอมรับได้โดยง่าย

3. การไม่ปฏิเสธพระพุทธเจ้า แต่เชื่อมความเชื่อให้พระพุทธเจ้ามาอยู่ในลัทธิของตน พร้อมๆ กับค่อยแทรกความเชื่อเรื่องพระศิวะเป็นสิ่งสูงสุด จนกระทั่งเมื่อชาวบ้านเกิดการหลงเชื่อมากขึ้นแล้ว ก็สถาปนาตนเองให้อยู่ในสถานะที่สูงสุดคือองค์อวตารของพระศิวะ ที่อยู่เหนือกว่าพระพุทธเจ้า

4. การให้ความสำคัญในการก่อตั้งและพัฒนาวัดให้ดี และกระจายสาขาออกสู่ชนบท

5. การให้ความสำคัญกับการสั่งสมและพัฒนาบุคลากรให้เป็นพระที่มีความสามารถในการเผยแผ่ทั้งบุคลิกภาพและความสามารถ และมีความคล้ายคลึงกับพระในพุทธศาสนาทำให้ชาวบ้านยอมรับได้ง่าย จนมีสำนวนว่า “รูปร่างเป็นพระ แต่ความรู้ไม่เป็นพุทธ” (จากการที่ท่านเคยอยู่ร่วมกับพระภิกษุในพุทธศาสนาจึงรู้ว่าตรงไหนเป็นจุดอ่อน ก็มาปรับให้พระในลัทธิของตนดูดีกว่าเหนือกว่าพระของพุทธที่มีมาแต่เดิม)

6. แนวทางการสอนและประกอบพิธีกรรมที่ปรับประยุกต์ไปจากพุทธนั้น ทำให้ชาวบ้านไม่รู้สึกว่าเป็นลัทธิใหม่ ก็ยังเป็นชาวพุทธที่บูชาพระพุทธเจ้าอยู่เพียงแต่เพิ่มเทพเจ้าที่บูชาขึ้นมาเท่านั้น

7. พระในพุทธศาสนา มีความประพฤติย่อหย่อน หลงติดในลาภยศสรรเสริญ ความร่ำรวยในทรัพย์สินเงินทองชีวิตที่ฟุ้งเฟ้อสุขสบายในเมืองใหญ่ ด้านหนึ่งก็ทำให้ละเลยการศึกษาและปฏิบัติตนตามพระธรรมวินัย อีกด้านหนึ่ง ก็ทำให้ละเลยการออกเผยแผ่ให้การศึกษากับชาวพุทธในชนบท ละเลยการดูแลวัดพุทธในชนบทจนกลายเป็นวัดร้างและถูกกลืนไปเป็นวัดของลัทธิศิวะอวตารไปในที่สุด
พระธัมมชโย
ความเลื่อมสลายของพุทธศาสนาในอินเดียโดยยุทธศาสตร์อันแยบยลของ ศังกราจารย์ ที่ถูกจารึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์ คือบทเรียนครั้งสำคัญให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้ และอย่างที่กล่าวในข้างต้นหากเปรียบ ศังกราจารย์ ในยุคปัจจุบันจะเป็นใครไปเสียสิได้นอกจาก 'พระเดชพระคุณหลวงพระธัมมชโย' จากธรรมกายโมเดลก่อร่างสร้างรัฐธรรมกาย

ฉันใดก็ฉันนั้น พระเดชพระคุณฯ ท่านอุปโลกน์ตนว่าเป็น 'อวตารพระต้นธาตุต้นธรรม' ผู้เป็นใหญ่เหนือพระพุทธเจ้าทุกพระองค์ในจักรวาล ใช้บารมีหลวงพ่อสด ยกตนขึ้นเป็นใหญ่ สะสมสาวกขึ้นไปสร้างบารมีด้วย นำพิธีกรรมคำสอนบิดเบือนมาปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องลัทธิของตน แทรกแซงความคิดชาวบ้านจิตอ่อนด้วยการชวนเชื่ออ้างบุญนำทางจนเป็นที่ยอมรับ มีผู้ให้ความเคารพนับถือจำนวนมากดังที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน ขณะที่ชาวบ้านไม่ล่วงรู้เลยแม้แต่น้อยว่าแก่นแท้ของพุทธศาสนากำลังถูกทำลาย

โดยข้อความบางช่วงบางตอนจากบทความเรื่อง ธรรมกายโมเดลฯ อธิบายความเชื่อมโยงของผู้นำศาสนาทั้ง 2 ยุค ด้วยยุทธศาสตร์ลักษณะใกล้เคียงกันซึ่งกลืนกินพุทธศาสนาอย่างแยบยลไม่แตกต่างกัน ความว่า

“ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ลัทธิธรรมกายค่อยๆ ได้รับความนิยมจนกลืนพุทธศาสนาไปได้อย่างแนบเนียน ก็คือการใช้หลักของความเชื่อเหนือจริงที่เกินกว่าคนทั่วไปจะคิดได้ โดยอุปโลกน์ว่าตนนั้นเป็นพระโพธิสัตว์ ที่มีบารมีสูงส่งกว่าพระสมณโคดม พระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน โดยมีหน้าที่มาสร้างบารมี เพื่อรวบรวมกองทัพธรรมไปเกิดพร้อมกันในแดนโพธิสัตว์ชื่อ ดุสิตบุรี

“และจะลงมาเกิดเป็นมนุษย์เพื่อประกาศาสนาธรรมโดยพร้อมกันในภพหน้า โดยอ้างหลวงพ่อสด เป็นสิ่งหลอกล่อมวลชนแต่เมื่อเข้าภายในแล้วกลับยกย่องธัมชโยเหนือสิ่งอื่นใด และยังสร้างความเชื่อเกินจริงเช่น แม่ชีปัดระเบิดปรมาณู ในรูปของเรื่องเล่าและแต่งเป็นคัมภีร์ จนก่อเกิดเป็นลัทธิธรรมกาย และแต่งคำสอนในลัทธิของตนให้มาเกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้าเสีย คือ สถาปนาธรรมใหม่ เช่น อายตนะนิพพาน และ พระต้นธาตุต้นธรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่มีอยู่ในคำสอนของพุทธศาสนาเถรวาท

“...ในส่วนของชาวพุทธเองก็มีจุดอ่อนมากมายเนื่องด้วยถูกทำให้ออกห่างจากการศึกษาและปฏิบัติมานาน จึงขาดความรู้ความเข้าใจพื้นฐานที่ถูกต้อง มีลักษณะไปทางความเชื่องมงายได้ง่าย โดยเฉพาะถ้าเกี่ยวข้องกับเรื่องอภินิหาร การให้โชคลาภ การนำความร่ำรวยการเป็นเศรษฐีมาเป็นตัวล่อ ลักษณะเช่นนี้ย่อมง่ายที่จะชักจูง โน้มน้าวชาวพุทธส่วนใหญ่ในประเทศไทยให้เข้ามาเป็นสาวก และยอมรับซึมซับคำสอนตามความเชื่อในลัทธิใหม่ได้อย่างง่ายดายเช่นกัน เมื่อเหตุปัจจัยของพุทธบริษัทเป็นเช่นนี้ เหตุการณ์ซ้ำรอยประวัติศาสตร์อย่างในยุคของท่านศังกราจารย์จึงไม่ยากที่จะ เกิดขึ้น เพราะมันก็กำลังดำเนินไปอยู่อย่างเข้มข้นมิใช่หรือ??...

“...การเปิดช่องให้ลัทธิความเชื่อนอกศาสนาแอบแฝงเข้ามาครอบงำกลืนกินพุทธศาสนาจากจุดอ่อนอันร้ายแรงนี้ ตามรอยอย่างท่านศังกราจารย์ จนทำให้พุทธศาสนาที่แท้จริงตามพระธรรมวินัยของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าต้องเสื่อมสลายหมดไปจากผืนแผ่นดินไทยในที่สุด โดยที่ทั้งพระและชาวพุทธนั้นอาจจะไม่รู้ตัวเลยว่าตนเองได้มีส่วนทำให้พุทธศาสนาได้สูญสิ้นไปแล้วซ้ำรอยชาวพุทธในชมพูทวีปนั่นเอง...”

บทเรียนจากประวัติศาสตร์ ความเลื่อมสลายของพุทธศาสนาในอินเดีย ชี้ชัดให้เห็นแล้วว่าเพียงแค่รู้จุดอ่อนก็ไม่ใช่เรื่องยากที่จะทำลายพุทธศาสนา บวกกับความอ่อนแอขององค์ประกอบในสังคมก็ล้วนเป็นส่วนสำคัญบ่งชี้ความอยู่รอดของศาสนา ซึ่งแท้จริงแล้ว ศังกราจารย์อาจเป็นเพียงองค์ประกอบหนึ่งที่เข้ามาผสมปนเปทำลายพุทธศาสนาให้เสื่อมสลายไปจากอินเดียโดยบริบูรณ์

….................

เรียบเรียงข้อมูลจาก : บทความเรื่อง ธรรมกายโมเดล การล่มสลายของพุทธเหมือนในอินเดีย ผู้เขียน พระมหาพงศ์นรินทร์ ฐิตวํโส, บทความเรื่อง อะไรคือมูลเหตุแห่งการเสื่อมสูญของพุทธศาสนาในอินเดีย ผู้เขียน กรุณา กุศลาสัย, หนังสือกาลานุกรม พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)



กำลังโหลดความคิดเห็น