xs
xsm
sm
md
lg

"วิษณุ"หารือ"ทีวีดิจิทัล" แก้ปมรายได้ไม่คุ้มทุน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (20มิ.ย.) นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมหารือ เรื่องปัญหาการร้องเรียนของเอกชนผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล โดยมีตัวแทนจาก กสทช. และตัวแทนสถานีโทรทัศน์ดิจิทัล ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม
ทั้งนี้ นายวิษณุ กล่าวว่า ตนเป็นตัวแทนรัฐบาล มารับฟังปัญหาของ บริษัทเอกชนที่ประมูลโทรทัศน์ดิจิทัล 15 ราย ที่ประสบปัญหา และได้ยื่นเรื่องร้องเรียนมาถึงนายกฯ อ้างว่าที่ประสบปัญหา ซึ่งส่วนใหญ่ระบุปัญหาที่คล้ายกันคือ ระบุว่า ภาครัฐมีหน้าที่ต้องทำอะไรบางอย่าง แต่ไม่ได้ทำ อุปมาคล้ายกับบริษัทรับเหมาก่อสร้าง ที่เวลาจะสร้างอะไรรัฐต้องส่งพื้นที่ให้ แต่เมื่อรัฐไม่ส่งพื้นที่ให้ เขาก็ไปสร้างอะไรไม่ได้ เป็นต้น เราจึงต้องรับฟังว่าปัญหาคืออะไร และต้องการให้แก้ไขอย่างไร
อย่างไรก็ตาม เราคงจะต้องพิจารณาเรื่องที่เขาแจ้งความต้องการมา ว่าฟังขึ้นหรือไม่ เพราะหากรัฐจะช่วยเหลือ ต้องมีคำตอบที่อธิบายสังคมได้ว่า การช่วยเหลือไม่เป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนจนเกินสมควร และมีความไม่เป็นธรรมหรือไม่ ซึ่งตนจะรวบรวมรายละเอียดเพื่อรายงานให้นายกฯ และคสช.ได้รับทราบต่อไป
นายวิษณุ กล่าวว่า ปัญหาส่วนใหญ่ที่พบคือ เขาระบุว่า รัฐไม่ได้ปฏิบัติส่วนที่รัฐต้องทำให้ครบถ้วน แต่ยังไม่ขอลงรายละเอียด เพราะบางเรื่องมีการฟ้องร้องคดี โดย กสทช. เป็นจำเลยอยู่ในศาลปกครองขณะนี้ 11 คดี เรียกค่าเสียกว่าหมื่นล้านบาท
ส่วนเรื่องของปัญหารายได้ของสถานี ถือเป็นปัญหาหนึ่งที่มีการพูดคุย แต่เราคิดไปไกลกว่านั้นว่า ส่วนที่กระทบกับรายได้ของเอกชน ก็เป็นความเสี่ยงของเขาที่เข้ามาบริหาร แต่กำลังดูว่า มีผลกระทบต่อส่วนรวมหรือไม่ และเท่าที่ฟังก็พบว่ามีบ้าง จึงต้องขอเวลาไปตรวจสอบดูก่อนว่าจริงหรือไม่ ซึ่งต้องรับฟังข้อมูลจาก กสทช.ด้วย หากรับฟังแล้วได้ข้อสรุปจึงจะระบุได้ว่าสุดท้ายจะใช้ทางใดในการแก้ปัญหา หรือจะไม่ทำอะไรเลย
อย่างไรก็ตาม ทางกสทช.ชี้แจงว่า จะคลี่คลายปัญหาในส่วนที่รับผิดชอบแล้ว แต่ติดขัดเพียงข้อกฎหมายก็ไปต่อไม่ได้ แต่อย่าเพิ่งไปพูดลึกถึงขนาดว่าจะต้องใช้กฎหมายพิเศษอะไร
ทั้งนี้ ปัญหาหลักที่เห็นได้ชัดเจน มีข้อเดียวและตรงกันหมดทั้ง 15 ราย คือ ประกอบกิจการแล้วไม่สามารถทำให้คุ้มทุน หรือมีการโฆษณาได้ตามที่คิดไว้ เพราะรัฐเป็นฝ่ายที่ไม่ปฏิบัติตามสิ่งที่รัฐได้สัญญาไว้ ค้ลายกับว่า รัฐไม่ได้ส่งของตามที่สัญญาทางเอกชน จึงไม่สามารถนำของนั้นไปทำให้เกิดรายได้ ทั้งนี้ จะมีการเชิญพูดคุยกันอีกหลายรอบกับผู้ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งรัฐบาลไม่ใช่ผู้ที่เกี่ยวข้อง แต่เดิมที กสทช.จะช่วย แต่ติดกฎหมาย จึงโยนมาที่รัฐบาลว่าจะทำอย่างไรได้บ้าง หากจะต้องแก้กฎหมาย รัฐยินดีถ้าเป็นประโยชน์ ถ้าไม่เป็นประโยชน์ ก็ไม่ทำ
"เมื่อพูดเรื่องข้อกฎหมายขึ้นมา ทาง กสทช.ได้อธิบายว่า รัฐได้แก้ปัญหาแล้ว ไม่ใช่ไม่ทำ จึงเถียงกันอยู่อย่างนี้ และเป็นคดีอยู่ในศาลปกครอง เรื่องนี้มีการประมูลทั้งหมด 24 ช่องสัญญาณ มีบริษัทประมูล 20 บริษัท เป็นมูลค่ารวมกันทั้งหมด 54,000 ล้านบาท และจ่ายเงินกันไปแล้ว 3 งวด เป็นเงินประมาณ 25,000 ล้านบาท และที่มีปัญหาคือ ส่วนที่เหลืออีก 3 งวด คือในปี 60-62 เป็นเงินกว่า 25,000 ล้านบาท มีอายุสัมปทาน 15 ปี
กำลังโหลดความคิดเห็น