ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -การจัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ แยกออกมาจากศาลอาญา เพื่อให้การพิจารณาคดีคอร์รัปชั่นเป็นไปอย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น อาจนับว่าเป็นผลงานที่เป็นรูปธรรมที่สุดอันหนึ่งของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2558 คณะรัฐมนตรี(ครม.)ได้เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ที่ร่างโดยสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.)
หลังจากนั้่น ครม.ได้เสนอเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และ สนช.ได้มีมติรับหลักการวาระแรก เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2559
ความคืบหน้าล่าสุด วันที่ 9 มิถุนายนที่ผ่านมา ร.อ.ทินพันธุ์ นาคะตะ ประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ได้แถลงว่า ที่ประชุม สนช.จะพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ วาระ 2 และวาระ 3 ในวันที่ 10 มิถุนายนนี้ และคาดว่าจะดำเนินการจัดตั้งศาลและรับดำเนินคดีทุจริตและประพฤติมิชอบได้ประมาณวันที่ 1 ตุุลาคม 2559
ร.อ.ทินพันธุ์ ยังได้บอกถึงความเป็นมาของ พ.ร.บ.นี้ว่า ก่อนรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ คดีทุจริตและประพฤติมิชอบอยู่ในความรับผิดชอบของศาลอาญา แต่ในท่ามกลางปัญหาการทุจริตมีมากและทวีความรุนแรงขึ้นจึงยากที่ศาลปกติจะรับมือกับปัญหาการทุจริตได้ไหว พล.อ.ประยุทธ์จึงมีแนวคิดที่จะให้มีการปฏิรูปครั้งสำคัญโดยให้มีการตรา พ.ร.บ.จัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ เพื่อแก้ไขปัญหาให้มีประสิทธิภาพและรวดเร็ว อีกทั้งยังสอดคล้องกับการผลักดันของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และ สปท. ที่มีความเห็นสอดคล้องตรงกันว่าการทุจริตและประพฤติมิชอบเป็นปัญหาและอุปสรรคสำคัญในการพัฒนาประเทศ
ร.อ.ทินพันธุ์กล่าวต่อว่า สปท.ได้เสนอร่าง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ขึ้นเป็นศาลชำนัญพิเศษ มีฐานะเป็นกรม ซึ่งได้รับความเห็นชอบและสนับสนุนจากกระทรวงยุติธรรม และนายกรัฐมนตรีได้ตัดสินใจให้มีการปฏิรูปโดยจัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบขึ้นเป็นศาลชำนัญพิเศษ มีฐานะเป็นกรมเมื่อปลายปี 2558 แล้วร่าง พ.ร.บ.นี้
“การมีศาลฯ ดังกล่าวจะทำให้การดำเนินดดีมีประสิทธิภาพและรวดเร็วขึ้น และเมื่อถึงวันนั้นกรรมชั่วจะติดปีกบินหรือลอยนวลอีกต่อไปไม่ได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่สังคมไทยรอกันมาช้านาน และถือเป็นความสำเร็จของ สปท.ในการผลักดันเรื่องนี้ให้สำเร็จลุล่วงได้” ประธาน สปท.กล่าว
สำหรับ ร่าง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบนี้ มีความยาว 20 มาตรา มีสาระสำคัญ คือ ให้มีการจัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ เป็นศาลที่ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญเฉพาะอยู่ในระบบของศาลยุติธรรม มีฐานะเช่นเดียวกับ ศาลภาษีอากร ศาลแรงงาน ศาลเยาวชนและครอบครัว เป็นต้น ไม่ใช่เป็นศาลที่มีอำนาจแยกต่างหากเหมือนศาลปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญ
ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ตามร่าง พ.ร.บ.นี้ จะมีทั้งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง และศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค
โดยศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางนั้นยกฐานะขึ้นมาจากแผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่รัฐในศาลอาญา และจะเปิดทำการเมื่อมีการประกาศในพระราชกฤษฎีกา ให้มีขอบเขตตลอดกรุงเทพมหานคร จังหวัดสมุทรปราการ สมุทรสาคร นครปฐม นนทบุรี และปทุมธานี แต่คดีทุจริตและประพฤติมิชอบที่เกิดขึ้นนอกจังหวัดเหล่านี้ก็สามารถยื่นฟ้องที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางได้ ทั้งนี้ให้อยู่ในดุลยพินิจของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางที่จะรับฟ้องหรือไม่รับฟ้องคดีนั้น
ส่วนศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค จะเปิดทำการเมื่อใดให้ประกาศเป็นพระราชกฤษฎีกา และจะต้องระบุเขตอำนาจศาลและกำหนดที่ตั้งศาลในเขตศาลนั้นด้วย
เมื่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบเปิดทำการแล้วห้ามมิให้ศาลชั้นต้นอื่นรับคดีที่อยู่ในอํานาจศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบไว้พิจารณาพิพากษา
ให้ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบเป็นศาลชั้นต้น ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม และให้นำบทบัญญัติแห่งพระธรรมนูญศาลยุติธรรมมาใช้บังคับแก่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบโดยอนุโลม
สำหรับคดีที่จะอยู่ในเขตอำนาจของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ได้แก่
-คดีอาญาที่ฟ้องให้ลงโทษเจ้าหน้าที่ของรัฐในความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการหรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรมตามประมวลกฎหมายอาญา ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่หรือทุจริตต่อหน้าที่ตามกฎหมายอื่น หรือความผิดอื่นอันเนื่องมาจากการประพฤติมิชอบ
-คดีอาญาที่ฟ้องให้ลงโทษเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือบุคคลที่กระทำความผิดฐานฟอกเงิน หรือกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการทำความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานรัฐ(ฮั้วประมูล) กฎหมายว่าด้วยการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ หรือกฎหมายอื่นที่มีวัตถุประสงค์ในหารป้องกันการทุจริตและประพฤติมิชอบ
-คดีฟ้องขอให้ริบทรัพย์สินเนื่องจากเหตุร่ำรวยผิดปกติ
-คดีเกี่ยวกับการยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินอันเป็นเท็จ
-คดีความผิดเกี่ยวกับการให้สินบนเจ้าหน้าที่ เป็นต้น
ทั้งนี้ คดีที่อยู่ในอำนาจของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และคดีที่อยู่ในอำนาจศาลเยาวชนและครอบครัวอยู่แล้ว จะไม่อยู่ในอำนาจของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบที่จะตั้งขึ้นใหม่นี้
ส่วนผู้พิพากษาที่จะมาทำหน้าที่ในศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ จะต้องเคยเป็นผู้พิพากษามาแล้วไม่น้อยกว่า 10 ปี และศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบทุกศาลจะต้องมีผู้พิพากษาหัวหน้าคณะศาลฯ ซึ่งแต่งตั้งมาจากผู้ที่เคยเป็นผู้พิพากษาหัวหน้าศาลมาก่อน
ในศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางและในศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาคให้มีอธิบดีผู้พิพากษาศาลละ 1 คน กับให้มีรองอธิบดีผู้พิพากษาศาลละ 1 คน แต่ในกรณีที่มีความจําเป็นเพื่อประโยชน์ในทางราชการ จะกําหนดให้มีรองอธิบดีผู้พิพากษาเพิ่มขึ้นได้แต่ต้องไม่เกิน 3 คน
ร่าง พ.ร.บ.นี้ยังได้กําหนดบทเฉพาะกาลในกรณีที่ยังไม่ได้เปิดทําการศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ให้ศาลชั้นต้นที่มีอยู่พิจารณาพิพากษาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบต่อไปได้และกรณีเมื่อมีการเปิดทําการศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง และศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค ให้ศาลชั้นต้นที่มีคดีทุจริตและประพฤติมิชอบค้างพิจารณาอยู่คงมีอํานาจพิจารณาต่อไปจนเสร็จ
ส่วนรายละเอียดวิธีพิจารณาคดีของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบนั้น ครม.ได้เสนอร่าง พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของ สนช.แล้ว โดยมีทั้งหมด 49 มาตรา และที่ประชุม สนช.มีมติเห็นชอบรับหลักการวาระแรก เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2559 ที่ผ่านมา ซึ่งก็คาดว่าจะผ่านวาระ 3 และประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้มีผลบังคับใช้หลังจาก ร่าง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ไม่นานนัก
จึงเป็นที่คาดหมายว่า ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบก็จะเปิดทำการได้ตามกำหนดในราววันที่ 1 ตุุลาคม 2559 แต่ประเด็นที่ต้องจับตาก็คือว่า หลังจากศาลนี้เปิดทำการแล้ว คนที่ทำกรรมชั่วจะติดปีกบินหรือลอยนวลไม่ได้อีกต่อไป ตามคำพูดของประธาน สปท.จริงหรือไม่