xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ปิดม่านดราม่า 'โขน' วัฒนธรรมร่วมอุษาคเนย์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -มติเป็นเอกฉันท์สำหรับประเด็นร้อนระดับประเทศ กรณีวิวาทะศิลปะการแสดงโขน “โขน เป็นศิลปะของกัมพูชาแต่เพียงผู้เดียว ไม่ใช่ของไทย” อันมีต้นเรื่องมาจากพลเมืองเน็ตเขมรเฮละโลเรียกร้องผ่านโซเชียลมีเดียจนเป็นเรื่องราวใหญ่โต ทว่า สืบเสาะจากบันทึกประวัติศาสตร์นั้นไซร้ประจักษ์แจ้งว่า โขนเป็นวัฒนธรรมร่วมของอาเซียนในภูมิภาคอุษาคเนย์ อ้างอิงจากการค้นพบหลักฐานทางประวัติศาสตร์โบราณคดีในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

หมายความว่าโขนไม่ได้มีเฉพาะในไทยหรือกัมพูชาเท่านั้น โขนยังมีในลาว เมียนมา อินโดนีเซีย ฯลฯ เพราะเป็นศิลปะการแสดงที่ปรากฏหลักฐานทางประวัติศาสตร์ชัดเจนจึงถือเป็น ‘วัฒนธรรมร่วมอุษาคเนย์’

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้สำนักข่าวพนมเปญโพสต์ ประเทศกัมพูชา รายงานข่าวว่าทางการไทยเตรียมเสนอขึ้นทะเบียนการแสดงละครโขนเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมต่อ องค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) พร้อมระบุด้วยว่า โขนของกัมพูชานั้นมาจากการแสดงในเรื่องรามเกียรติ์ วรรณคดีที่มีรากฐานมาจากมหากาพย์รามายณะในภาษาสันสกฤต และเชื่อว่าโขนราชสำนักของไทยมีรากเหง้ามาจากกัมพูชา โดยอ้างข้อความจากหนังสือเรื่อง แอคติ้ง : แอน อินเตอร์เนชั่นแนล เอ็นไซโคลพีเดีย เขียนโดย เบธ ออสเนส ความว่า การแสดงละครโขนของกัมพูชาถูกนำเข้ามาในไทยในสมัยที่ไทยรุกรานกัมพูชา ก่อนที่ไทยจะพัฒนาจากต้นฉบับเป็นละครโขนแบบไทย

หลังการรายงานข่าวชิ้นนี้เผยแพร่ออกไป เกิดกระแสคัดค้านและต่อต้านโดยเฉพาะประชากรหนุ่มสาวชาวเขมร พวกเขาออกมาโพสต์ภาพและข้อความคัดค้านผ่านสังคมออนไลน์ โดยมีเนื้อหาสำคัญว่า “โขน เป็นศิลปะของกัมพูชาแต่เพียงผู้เดียว ไม่ใช่ของไทย” ปลุกกระแสชาตินิยมจนกลายเป็นวาระระดับชาติ

แต่ยังไม่ทันไรดราม่าโขนก็ปิดม่านลงอย่างบริบูรณ์ เพราะจำนนต่อหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ชี้ชัดว่าเรื่องที่มีการกล่าวอ้างไม่เป็นความจริง ดังที่กล่าวไว้ข้างต้นว่าโขนถือเป็นวัฒนธรรมร่วมอุษาคเนย์

ในประเด็นนี้ อัครพงษ์ ค่ำคูณ นักวิชาการจากวิทยาลัยนานาชาติ ปรีดี พนมยงค์ ให้สัมภาษณ์ผ่านสำนักข่าวบีบีซีไทย ความว่า กรณีที่เกิดขึ้นถือเป็นการแสดงความไม่มีวุฒิภาวะของทั้ง 2 ชาติ เพราะทั้งไทยและกัมพูชาล้วนรับเอาอิทธิพลดังกล่าวมาจากอินเดีย และนำมาประยุกต์ให้เป็นการแสดงของตัวเอง

เราต้องทำความเข้าใจว่าเรื่องวัฒนธรรมเป็นเรื่องการสร้างชาติ คนที่ออกมาตื่นเต้นหรือกล่าวหาคนอื่นว่าแย่งวัฒนธรรมของชาติตนเองไป ไม่ใช่คนที่รักชาติอย่างถูกวิธี คือคนที่ใช้ความเป็นชาติเพื่อไปทำลายชาติอื่น เป็นเรื่องของคนใจแคบ เห็นชาติตัวเองดีกว่าคนอื่น เป็นการยกตนข่มท่าน

ทั้งนี้ เห็นว่าไทยยังควรจะจดทะเบียน โขน เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้อยู่ต่อไป การจดทะเบียนจะช่วยแสดงให้เห็นถึงการมีวัฒนธรรมที่ดีของไทย และหาทางส่งเสริมคุณค่า และควรวางเฉยต่อท่าทีของกัมพูชา ซึ่งที่ผ่านมาได้นำเอาวัฒนธรรมร่วมหลายอย่างไปจดทะเบียน อาทิ หนังใหญ่ และการแสดงโขนในแบบของกัมพูชา ที่เรียกว่า ละโคนพระกรุณา เป็นต้น

ส่วนท่าทีของประเทศไทย วีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ชี้แจ้งว่า ขณะนี้ไทยยังไม่ได้เข้าร่วมภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ (Intangible Cultural Heritage : ICH) ของ ยูเนสโก ซึ่งอยู่ระหว่างที่กระทรวงการต่างประเทศ ขอเข้าภาคีอนุสัญญา อย่างไรก็ดี การที่ประเทศกัมพูชาได้เสนอการแสดงโขนเข้าสู่รายการตัวแทนมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาตินั้น เป็นเรื่องที่ควรยินดีเพราะกัมพูชาได้เข้าสู่ภาคีอนุสัญญาแล้ว และตามหลักเกณฑ์ประเทศสมาชิกที่เข้าสู่อนุสัญญา สามารถเสนอรายชื่อมรดกทางวัฒนธรรมได้ ซึ่งไม่ได้มีข้อจำกัดเพียงประเทศใดประเทศหนึ่งเท่านั้นที่สามารถเสนอได้ เมื่อประกาศผลแล้ว จะเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่นำมาซึ่งความภาคภูมิใจให้กับประเทศนั้นๆ ไม่ได้เป็นการจดลิขสิทธิ์ หรือแสดงความเป็นเจ้าของ แต่เป็นการประกาศความโดดเด่นที่แสดงการยอมรับให้กับคนทั่วโลก และสามารถสร้างและรวบรวมองค์ความรู้ในเรื่องต่างๆ เพื่อให้เกิดการสืบทอดสู่คนรุ่นหลัง

ที่สำคัญคือ การที่ประเทศกัมพูชาจะเสนอโขนซึ่งมีความคล้ายคลึงกับไทย ก็จะเป็นในแบบฉบับของเขา ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับประเทศไทย วธ. คาดว่าจะนำเสนอการแสดงโขนขึ้นทะเบียนในปีหน้า

วีระ อธิบายต่อไปว่า การขึ้นทะเบียนจะมี 2 ประเภท คือ ประเภทที่อยู่ในประเทศ และประเภทแบบภูมิปัญญาที่หลายประเทศมีคล้ายกัน เช่น แทงโก้ ก็มีการขึ้นทะเบียนทั้งของ อุรุกวัย เปรู และอาร์เจนติน่า หรืออย่าง กิมจิ ทางเกาหลีใต้ขึ้นก่อน และ 2 ปีต่อมาเกาหลีเหนือก็ขอขึ้นตาม

เรื่องเหล่านี้ไม่ได้มีข้อจำกัดว่าจะต้องขึ้นประเทศได้เพียงหนึ่งเดียว ซึ่งถ้ากัมพูชามีแนวคิดที่จะขึ้นทะเบียนโขนเป็นมรดกโลก ไทยก็สามารถทำได้เพราะถือว่าเป็นวัฒนธรรมร่วม เช่น ก่อนหน้านี้ กัมพูชา ขึ้นหนังใหญ่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมประจำชาติ ไทย และอินโดนีเซีย ก็สามารถดำเนินการได้เช่นกัน ขึ้นอยู่ว่าไทยจะพิจารณาเรื่องใดมาขอขึ้นทะเบียนก่อน ซึ่งโขนไม่ได้มีเฉพาะในกัมพูชา แต่ยังมีในลาว เมียนมา ไทย อินเดีย และอินโดนีเซีย จึงคิดว่าเรื่องนี้ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร

ด้าน รศ.ดร.ศรีศักร วัลลิโภดม นักวิชาการด้านโบราณคดีและนักมานุษยวิทยา เปิดเผยข้อมูลผ่านสื่อมวลชน ความว่า โขนเป็นนาฏศิลป์ที่ราชสำนักไทยนำดัดแปลงขึ้นมาจากพิธีกรรมของกัมพูชา เมื่อคราวที่กัมพูชาเป็นอาณานิคมเดียวกันกับเรา แต่แตกต่างกันโดยวิธีการนำเสนอ โขนของกัมพูชาเป็นลักษณะของพิธีกรรมในราชสำนัก พบได้ในพิธีกรรมเกษียรสมุทรของศาสนาฮินดู ซึ่งมีหลักฐานตามฝาผนังโบราณสถานนคร แต่กัมพูชามักเข้าใจว่าโขนบ้านเราเป็นของเขา เพราะยึดฝาผนังกำแพงวัดพระแก้ว (วัดพระศรีรัตนศาสดารามราชวรมหาวิหาร) ที่เกิดขึ้นภายหลังฝาผนังโบราณสถานกัมพูชา

"ต้องแยกระหว่างโขนละครที่เป็นการละเล่นกับโขนที่เป็นพิธีกรรม ซึ่งกัมพูชามีมาก่อน เราไม่ได้ทำตามแต่เป็นรูปแบบที่ปรุงแต่งขึ้นใหม่ บ้านเรานับถือพุทธศาสนามาตลอด จึงมีการนำมาดัดแปลงไม่ได้ทำตามพิธีกรรมฮินดูเหมือนกัมพูชา กระแสที่ชาวกัมพูชาออกมาโพสต์ภาพและข้อความดังกล่าวอาจเป็นความเข้าใจผิดที่เกิดจากความเป็นชาตินิยมที่ฝรั่งสร้างขึ้นตั้งแต่คราวเขาพระวิหารแล้ว”

อย่างไรก็ตาม กระทรวงวัฒนธรรมและศิลปะ ของประเทศกัมพูชา ได้ออกหนังสือชี้แจงกรณีที่เกิดขึ้นเป็นภาษากัมพูชา แปลเป็นภาษาไทยมีเนื้อหาความว่า...

ในนามเป็นรัฐสมาชิกขององค์การยูเนสโก กัมพูชา ได้ให้สัตยาบันเป็นรัฐภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการปกป้องมรดกวัฒนธรรมอรูป ซึ่งได้อนุญาตให้กัมพูชาได้ลงทะเบียน นาฏศิลป์เขมร หรือ ระบำพระราชทรัพย์เขมร ในบัญชีมรดกวัฒนธรรมอรูปของมนุษยชาติ เมื่อปี 2546

ต่อมา ได้จัดบัญชีรายชื่อมรดกวัฒนธรรมอรูปที่มีความสำคัญ เช่น หนังใหญ่ โขนกระจับปี่ยาว การทอผ้าไหม ฯลฯ เตรียมยื่นแก่องค์การยูเนสโก ปรากฏว่า หนังใหญ่ได้รับการลงทะเบียนเป็นมรดกโลกวัฒนธรรมอรูป เมื่อวันที่ 25 พ.ย. 2548 และการชักเย่อ เมื่อวันที่ 2 ธ.ค. 2558 และเมื่อเดือน มี.ค. 2558 กระทรวงฯ ได้จัดส่งเอกสารที่เกี่ยวข้องกระจับปี่ยาวไปยังองค์การยูเนสโกเป็นที่เรียบร้อย และกำลังศึกษาจัดเอกสารที่เกี่ยวข้องกับ เพลงอารักษ์ และ โขน เพื่อเสนอขอลงทะเบียนเป็นมรดกโลกวัฒนธรรมอรูปในปีข้างหน้านี้

อย่างไรก็ตาม ขอเรียนสาธารณชนทราบว่า สำหรับกิจการลงทะเบียนมรดกโลก หรือมรดกโลกวัฒนธรรมอรูปของมนุษยชาติ คือต้องปฏิบัติไปตามหลักกฎหมาย และนิติวิธีสำคัญที่องค์การยูเนสโกกำหนดให้สำหรับทุกชนชาติและทุกประเทศทั่วโลก มิใช่ทำขึ้นไปตามการประกาศ การคิดเห็น หรือตามอารมณ์ของผู้ใดผู้หนึ่งหรือประเทศใดประเทศหนึ่ง ขอเรียนว่า คณะทำงานที่เชี่ยวชาญของกระทรวงวัฒนธรรมและศิลปะ ได้กำลังพยายามดำเนินการทุกวิธีตามที่ทำได้ โดยมีความประสงค์เพื่อปกป้องผลประโยชน์ร่วมของประเทศชาติ

..ก็เป็นอันว่าจบบริบูรณ์สำหรับดรามาโขนระดับชาติ โดยเฉพาะพลเมืองเน็ตไม่ต้องเถียงกันให้เสียเวล่ำเวลา โปรดทราบโดยทั่วกันว่า “โขนเป็นวัฒนธรรมร่วมแห่งอุษาคเนย์”



กำลังโหลดความคิดเห็น