ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ตัดจบไปอย่างรวดเร็ว สำหรับดรามาในโลกโซเชี่ยล ระหว่าง “วันเฉลิม อยู่บำรุง” กับเด็กชายคนหนึ่งใน “กลุ่มวันพอยท์” เมื่อ “ไผ่ ลิกค์” หรือ “ไผ่ วันพอยท์” หัวโจกของกลุ่มก๊วนชื่อดังแห่งยุคโร่มาถึง “บ้านริมคลอง” ที่พำนักของฝ่ายแรกเพื่อ “เคลียร์ใจ”
ก่อนจะมีการโพสต์ภาพจุ๊บแก้มเพื่อยืนยันว่า ไม่มีอะไรค้างคาใจกัน พร้อมข้อความที่ระบุว่า “จบข่าวสั้น...เข้าใจตรงกันนะ”
ทำเอาคอหนังบู๊ หนังแอ็กชั่น นิยมเสพฮาร์ดคอร์ เสียดายกันเป็นแถบๆ เพราะนึกกันไปว่า จะเกิดศึกล้างแค้นระหว่าง 2 ตระกูลดัง
ต้นสายปลายเหตุของเรื่องยังไม่มีความชัดเจน แต่ที่แน่ๆตัวละครคือ “กาโม่” อาชวิน อยู่บำรุง ลูกชายสุดหล่อของ “พ่อวัน” และหลานชายสุดรักของ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง นักการเมืองชื่อก้อง ที่เหมือนจะไปมีเรื่องมีราวกระทบกระทั่งกับจาก “เด็กคนหนึ่ง” จนนำมาซึ่งการโพสต์ข้อความท้าทายผ่านยเฟซบุ๊กไปถึง “หนุ่มกาโม่” และติดปลายนวมพาดพิงไปถึงทั้ง “พ่อวัน - ปู่เฉลิม”
พลันที่ “พ่อวัน” ทราบเรื่อง ก็ได้โพสต์ข้อความในเชิงตำหนิไปถึงเด็กน้อยคนดังกล่าว ประมาณว่า ทำไมเด็กสมัยนี้ถึงชอบทำตัวเป็นนักเลงกัน ก่อนตบท้ายตักเตือนไปว่า ว่า “ไอ้หนูเอ๊ย...ระวังพ่อ แม่จะเดือดร้อนนะลูก”
โพสต์ถัดมาต่างหากที่ทำเอาคนทั้งประเทศถึงกับสะดุ้ง เมื่อ “พ่อวัน” ล็อกเป้าไปที่ “กลุ่มวันพอยท์” ด้วยประโยคที่ว่า “แก๊งวันพอยท์ชักจะใหญ่โตกันใหญ่แล้วนะ” เหตุเพราะสืบทราบว่า คู่กรณีของ “หนุ่มกาโม่” สังกัดก๊วนนี้ ที่ผ่านมาก็มักมีคนที่อ้างชื่อว่าอยู่ “วันพอยท์” หาเรื่องลูกชายของตัวเองบ่อยครั้ง
แต่ประโยคที่เด็ดกว่านั้นคือคำถามเชิงประกาศศักดาไปในคราวเดียวที่ว่า “อยากรู้จังว่าโตทันวันเหลิมกันมั้ย!!!”
ทำเอาคนอายุมากกว่า 30 ปีรำลึกความหลังวีรกรรมของ “วันเหลิม” ขึ้นมาทันที
การย้อนรำลึกถึงวีรกรรม-วีรเวรของ “วันเหลิม” ช่างเข้าก๊านน เข้ากัน …. กับกระแส “วอนนาบียุค 90s” ซึ่งเป็นหัวข้อฮิตในโลกโซเชียลช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา โดยมีการพูดคุยกันว่า วัยรุ่นยุคปี 90 ใช้ชีวิตกันยังไง ทั้งในแง่การสื่อสาร ไลฟ์สไตล์ และแฟชั่น
ช่วงปลายยุคปี 90s ถือเป็น “ช่วงพีค” ของ 3 หนุ่มทายาท “สารวัตรเหลิม” เลยก็ว่าได้ เพราะใครๆก็ต้องรู้จัก “โต้ง - หนุ่ม - ชาย” หรือที่มีชื่อและยศรับราชการเป็นตำรวจในขณะนั้น “ร.ต.ต.อาจหาญ - ร.ต.ต.วันเฉลิม - ดวงเฉลิม” เป็นอย่างดี แต่ก็รู้จักในภาพของ “เด็กเกเร - ลูกผู้มีอิทธิพล” มากกว่าด้านอื่นๆ
“ศูนย์ข้อมูลมติชน” ได้รวบรวมสถิติเหตุการณ์ที่ลูกชาย ร.ต.อ.เฉลิมทั้ง 3 คน เข้าไปพัวพันในช่วงเวลา นับจากปี 2540 - 2544 ซึ่งขณะนั้น “สารวัตรเฉลิม” เป็นรองหัวหน้าพรรคความหวังใหม่ และมีตำแหน่งสำคัญในรัฐบาลหลายตำแหน่ง ไว้ได้ถึง 12ครั้ง และมีการนำมาแชร์ต่อๆกันในสังคมออนไลน์ ในหัวข้อ “วีรกรรม3พี่น้องอยู่บำรุง ทำสถิติ 4 ปี 12คดี”
ไล่ตั้งแต่ เหตุการณ์ที่ 1 วันที่ 12 เมษายน 2540 เวลา 02.00 น.เศษ “ร.ต.ต.วันเฉลิม” ซึ่งติดตาม “ร.ต.อ.เฉลิม” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยในขณะนั้น ไปตรวจราชการที่ จ.ภูเก็ต และได้ไปเที่ยวเอเลี่ยนผับ กับพรรคพวกกลุ่มใหญ่ ก่อนมีเรื่องกับกลุ่มวัยรุ่นเจ้าของพื้นที่ ปรากฏว่ามีคนถูกยิง 2 คน และบาดเจ็บอีกจำนวนมาก “ร.ต.ต.วันเฉลิม” ตกเป็นหนึ่งในจำเลยในเหตุการณ์นั้นด้วย
2. วันที่ 27 มีนาคม 2541 เวลา 01.45 น. “ร.ต.ต.วันเฉลิม” กับพวก ถูกกล่าวหาว่าก่อเหตุทะเลาะกับกลุ่มวัยรุ่น ซึ่งหนึ่งในนั้นมีแฟนสาวของลูกชาย “จ่ามี” สิทธิพร ขำอาจ ส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ คู่ปรับของ “ร.ต.อ.เฉลิม” ร่วมอยู่ด้วย ที่ “ฟิวเจอร์ผับ” โรงแรมเจ้าพระยาปาร์ค แต่เนื่องจากไม่มีพยานยืนยันว่า “ร.ต.ต.วันเฉลิม” ร่วมลงมือ เมื่อเดือนกันยายน 2541 อัยการจึงสั่งไม่ฟ้อง
3. วันที่ 1 สิงหาคม 2541 เวลา 23.00 น. “ร.ต.ต.วันเฉลิม” ถูกแจ้งความดำเนินคดีฐานทำร้ายร่างกาย “อัครเดช สุขรังสรรค์” บุตรชาย “ประสาน สุขรังสรรค์” อดีตรองอธิบดีกรมการปกครอง จนได้รับบาดเจ็บสาหัส ที่ “ทอรัสผับ” ในพื้นที่ สน.ทองหล่อ
4. วันที่ 1 ตุลาคม 2541 เวลา 01.30 น. เป็นคิวของพี่ชายคนโต เมื่อ “ร.ต.ต.อาจหาญ” ถูกแจ้งความดำเนินคดีฐานทำร้ายร่างกายอดีตแฟนสาวที่บริเวณลานจอดรถหน้า “นาซีซัสผับ” ในพื้นที่ สน.ทองหล่อ ก่อนที่ “หนุ่มโต้ง” จะพาดาราสาวคนหนึ่งมาเป็นพยานว่า ไม่ได้ทำร้ายร่างกายอดีตแฟนเก่า
5. ย่างสู่ปี 2542 คราวนี้เป็นแพ็คคู่ 2 ศรีพี่น้อง “ร.ต.ต.อาจหาญ - ร.ต.ต.วันเฉลิม” ตกเป็นผู้ต้องหาในคดีใช้ใบเกณฑ์ทหาร หรือ สด.43 ปลอม สมัครเข้ารับราชการตำรวจ จนเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2542 ทั้งคู่จึงได้ประกาศขอลาออกจากราชการ แต่หลังจากนั้นอีกเพียง 2 วัน วันที่ 4 มีนาคม 2542 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) กลับไม่อนุมัติให้ลาออก แต่มีคำสั่งให้ “ร.ต.ต.อาจหาญ - ร.ต.ต.วันเฉลิม” ออกจากราชการแทน และถูกดำเนินคดีอาญา ฐานปลอมแปลงเอกสารราชการและใช้เอกสารราชการปลอม
6. วันที่ 29 พฤษภาคม 2542 “ร.ต.ต.วันเฉลิม” ตกเป็นผู้ต้องหาอีกครั้ง เมื่อนักศึกษามหาวิทยาลัยชื่อดัง กล่าวหาว่าถูกทำร้ายร่างกาย โดยบุกเข้าไปตบตีในงานปาร์ตี้ที่ “โรงแรมรอยัลการ์เด้นซีวิว” อ.บางละมุง จ.ชลบุรี
7. วันที่ 11 กรกฎาคม 2542 เวลา 01.30 น. “วันเฉลิม - ดวงเฉลิม” ตกเป็นข่าวเมื่อผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ แจ้งความว่ากักขังหน่วงเหนี่ยว และถูก บริษัท วัชรพล จำกัด เจ้าของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐแจ้งความทำให้เสียทรัพย์ ที่ สน.มักกะสัน จากกรณีที่ผู้สื่อข่าวไทยรัฐไปถ่ายรูปทำข่าวเหตุทะเลาะวิวาทที่ “เรดบาร์” ย่านอาร์ซีเอ แต่ถูก “ร.ต.ต.วันเฉลิม” กับพรรคยื้อแย่งเอากล้องและฟิล์มไป รวมทั้งแสดงอาการคุกคามด้วยการทุบรถของนักข่าวด้วย ที่สุด “ร.ต.อ.เฉลิม” ต้องออกโรงไปขอขมานักข่าวและช่างภาพถึงโรงพิมพ์ไทยรัฐ และขอไม่ให้เอาความ ก่อนจัดรายการเตะฟุตบอลกระชับมิตรความสัมพันธ์ระหว่าง ทีมอยู่บำรุงกับทีมข่าวอาชญากรรมไทยรัฐ
8. วันที่ 26 กรกฎาคม 2542 คราวนี้เป็นคิวของ “หนุ่มชาย” ที่พาพวกไปก่อเหตุทะเลาะวิวาทกับกลุ่มนักเที่ยวที่ “สปาร์คผับ” ชั้นใต้ดิน โรงแรมดิ เอมเมอรัลด์ ย่านรัชดาภิเษก มีการยิงปืนขึ้นฟ้า 2 นัด แต่โชคดีไม่มีพยานใดกล้ายืนยันหรือมาให้ปากคำซัดทอดถึง “ดวงเฉลิม” เลยรอดตัวไป
9. วันที่ 26 กันยายน 2542 เวลา 03.15 น. เป็น “ดวงเฉลิม” ก่อเรื่องอีกครั้ง เมื่อพาพรรคพวกไปกดออดที่บ้านของ “เพื่อนสาว” ย่านพระราม 9 แต่สาวเจ้าไม่อยู่บ้าน จึงเข้าใจหลบหน้า เลยอาละวาดกวาดกระถางต้นไม้วางอยู่ริมรั้วตกแตกเสียหาย แม่ของฝ่ายหญิงต้องโทรศัพท์แจ้งตำรวจ เพราะเกรงว่า “หนุ่มชาย” ก่อเหตุรุนแรงมากกว่านั้น ร้อนถึงผู้เป็นพ่อ “ร.ต.อ.เฉลิม” ต้องโทรศัพท์มาเคลียร์ขอไม่ให้เอาเรื่องเด็ก
10. วันที่ 26 มกราคม 2543 “ร.ต.ต.วันเฉลิม” กับพวกก่อเหตุรุมทำร้าย “ลูกชายเจ้าของโรงแรม” จนบาดเจ็บสาหัส หลังจากเขม่นกันเรื่องผู้หญิง เหตุเกิดที่ “บริท 99 คลับ” ย่านเพชรบุรีตัดใหม่ คราวนั้น “ร.ต.อ.เฉลิม” ประกาศว่า ต่อไปนี้จะสั่งห้ามลูกชายเที่ยวผับและมีเรื่องอีกเด็ดขาด เพื่อเตรียมลงสมัคร ส.ส.ในปี 2544 สำหรับคดีนี้ศาลพิพากษายกฟ้องเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2544 เนื่องจากหลักฐานฝ่ายโจทก์อ่อน ระหว่างนั้น 3 พี่น้องได้หายหน้าหายตาไปจากสังคมหลายเดือน จนมีข่าวลือว่าถูกนำไป “คุมประพฤติ” นอกพื้นที่ กทม.
11. วันที่ 12 ตุลาคม 2543 หลังไม่ตกเป็นข่าวอื้อฉาวมากว่า 9 เดือน น้องนุชสุดท้อง “ดวงเฉลิม” ก็ก่อเหตุทะเลาะวิวาทอีกครั้งกับนักศึกษาเอแบค ที่ “คาเฟ่เรคคอร์ด” พื้นที่ สน.ทองหล่อ เหตุการณ์วันนั้นสังคมไม่ได้จับจ้องไปที่ “หนุ่มชาย” แต่วิพากษ์วิจารณ์พฤติกรรมของ “สารวัตรเฉลิม” ผู้พ่อที่เดินทางไปรับตัวบุตรชายที่ สน.ทองหล่อ และยืนด่ากราดทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ และผู้สื่อข่าวด้วยใบหน้าแดงก่ำ จนตกเป็นจำเลยไปพร้อมกับลูก ฐานหมิ่นประมาทตำรวจ และเป็นจำเลยสังคมฐานเกรี้ยวกราด หยาบคายเกินเหตุ ถือเป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ครั้งหนึ่งที่ยังพอหาชมคลิปย้อนหลังกันได้อยู่
12. เหตุการณ์สำคัญ และร้ายแรงที่สุดจนกลายเป็นการปิดตำนาน “3พี่น้องอยู่บำรุง” ไปโดยปริยาย เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2544 เวลา 01.30 น. “ดาบยิ้ม” ด.ต.สุวิชัย รอดวิมุติ ตำรวจกองปราบปรามที่เข้าไปปฏิบัติหน้าที่ใน “ทเวนตี้ผับ” โรงแรมเจ้าพระยาปาร์ค ถ.รัชดาภิเษก ได้ถูกยิงเสียชีวิต โดยมี “วันเฉลิม - ดวงเฉลิม” อยู่ในเหตุการณ์ และเป็นคนน้อง “ดวงเฉลิม” ที่ตกเป็นผู้ต้องหา แต่หลังเกิดเหตุได้หายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย และถูกออกหมายจับในวันเดียวกัน “หนุ่มชาย” หายตัวไปกว่าครึ่งปีก่อนจะไปโผล่เข้ามอบตัวที่สถานทูตไทยในมาเลเซีย เมื่อเช้าวันที่ 2 พฤษภาคม 2545 ก่อนถูกส่งตัวกลับมาดำเนินคดี ยังมีความพยายามของ “ร.ต.อ.เฉลิม” นำตัว “ไอ้ปื๊ด” เฉลิมชนม์ บุริสมัย เข้ามอบตัวพร้อมสารภาพว่าเป็นคนลั่นไก แต่ทางการสืบสวนของตำรวจขณะนั้น เห็นว่า “ไอ้ปื๊ด” ไม่ใช่ผู้เกี่ยวข้องกับคดี สุดท้าย “ศาลอาญา” พิพากษายกฟ้อง
หลังจากนั้นเป็นต้นมาก็ไม่ปรากฏข่าวอื้อฉาวเกี่ยวกับ “3พี่น้องอยู่บำรุง” โดย “อาจหาญ - วันเฉลิม” ที่ได้ออกจากราชการก็ลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.หลายครั้ง แต่ก็ไม่เคยได้รับเลือก ก่อนได้รับแต่งตั้งเป็นข้าราชการการเมืองหลายครั้ง ส่วน “ดวงเฉลิม” ได้เข้ารับราชการทหารยศร้อยตรี โดยทั้ง 3 คนเหมือนจะตัดขาดจากการออกย่ำราตรีที่มักเป็นสาเหตุให้เกิดเรื่องไปโดยสิ้นเชิง แต่ก็ยังมีประเด็นให้สังคมวิพากษ์วิจารณ์อยู่บ่อยครั้ง
ตั้งแต่การเปลี่ยนชื่อของ “วันเฉลิม - ดวงเฉลิม" ที่ตัดชื่อพ่อออกเหลือเพียง “วัน - ดวง" ตามคำแนะนำของ โหรที่บอกมีชื่อพ่อไปผูกด้วยไม่เหมาะ มาจนเรื่องหน้าที่การงาน อย่าง “หนุ่มวัน” กับบทบาท “มิสเตอร์แฮปปี้ ทอยเล็ต” หรือ “มิสเตอร์ส้วม” เมื่อครั้งที่เป็นผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข หรือกรณีของ “หนุ่มดวง” ที่ค้ำถ่อจากนายทหารยศ ร.ต.เข้าเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจยศ ร.ต.อ.ประจำศูนย์ฝึกอบรมกองบัญชาตำรวจนครบาล (บช.น.) ในสมัยรัฐบาล “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ที่มีรองนายกรัฐมนตรี กำกับดูแล สตช.ชื่อ “ร.ต.อ.เฉลิม” ก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก เนื่องจากสังคมยังเชื่อว่า “หนุ่มดวง” มีส่วนเกี่ยวข้องและเป็นผู้สังหาร “ดาบยิ้ม” นั่นเอง
จากวีรกรรมในอดีต ทำให้หลายๆครั้ง “3 พี่น้องอยู่บำรุง” มักถูกนำมาหยอกเย้าเป็น “มุกตลก” ที่ร่ำลือกันว่า เพียงแค่มองหน้า หรือเหยียบเท้าในผับ ก็อาจจะเจ็บตัวไปนอนหยอดน้ำข้าวต้มได้ หรือหากโชคร้ายหน่อยก็อาจจะไม่มีชีวิตได้หยอดน้ำข้าวต้มด้วยซ้ำ อีกทั้งว่ากันว่าเวลาที่จะเกิดเหตุวิวาท “อยู่บำรุงบราเทอร์ส” มักเอ่ยปากถามคู่กรณีในเชิงประกาศศักดาว่า “มึงรู้ไหมกูลูกใคร??” แทบทุกครั้ง จนกลายเป็นสโลแกนประจำตระกูลมาจวบจนทุกวันนี้ไปโดยปริยาย
ตัดภาพกลับมาวันนี้ดูเหมือน “พ่อวัน” กำลังอยู่ในช่วงปรับลุคตัวเองครั้งใหญ่ จากเด็กหนุ่มวัยคะนองมาสู่บทบาทคุณพ่อที่แสนดี มีครอบครัวอบอุ่น อย่างน้อยๆก็เพื่อเส้นทางการเมืองที่ยังไม่ถึงฝั่งฝันได้เป็น ส.ส.ตามรอยบิดาเสียที อาจมีแฉลบออกนอกลู่ไปบ้างกับกรณีที่มีผู้หญิงคนหนึ่งโพสต์เฟซบุ๊กว่าถูกสามีที่เป็นลูกนักการเมืองชื่อดังทำร้ายร่างกายไม่นานมานี้ แต่เรื่องก็เงียบไป
ส่วนสโลแกนติดตัวประเภท “มึงรู้ไหมกูลูกใคร??” ก็พยายามสลัดทิ้ง หันมาดันแคมเปญ #ใจถึงพึ่งได้ เข้ามาแทน
ที่สำคัญช่วงนี้ “พ่อวัน” ยังดูสนุกสนานกับการอัปเดตชีวิตในโลกโซเชียล โพสต์รูปภาพ-ข้อความได้วันละ 4-5 ครั้งแบบไม่รู้จักเบื่อ เมื่อมีเรื่องราวที่กระทบคนใกล้ตัวอย่างลูกชายสุดเลิฟ “พ่อวัน” ก็ใช้พื้นที่ในการปกป้องคนในครอบครัว เช่นเดียวกับเมื่อเกิดข่าวลือว่า “สารวัตรเหลิม” เสียชีวิต “ลูกวัน” ก็ใช้ช่องทางนี้ลงภาพยืนยันว่า คุณพ่อสุขภาพแข็งแรงเช่นกัน
เมื่อถอดรหัสโพสต์ของ คู่กรณีของ “หนุ่มกาโม่” ที่เรียกตัวเองว่า “กันต์ ตลาดน้อย” ก็จะพบว่า หลายประโยคสะท้อนว่า “หนุ่มกาโม่” เองไม่ได้มีพฤติกรรมชอบใช้กำลังอย่างที่ “พ่อวัน” ระบุไว้จริง โดยเฉพาะประโยคหนึ่งที่ว่า “สุดท้ายมึงก็หนีกลับ … กูอยู่คนเดียว อยู่กันเป็นสิบไม่กล้ารุมกู” หมายถึงฝ่าย “หนุ่มกาโม่” มีพวกมากกว่าแต่ก็ไม่ได้เข้าไปรุมทำร้าย
ตรงนี้ไม่อยากคิดว่า หาก “หนุ่มกาโม่” มีจิตวิญญาณ “นักรบ” เช่นเดียวกับ “พ่อหนุ่ม - ลุงโต้ง” หรือ “อาชาย” ในอดีต เจ้าหนุ่ม “กันต์ ตลาดน้อย” จะมีสภาพเป็นอย่างไร หรือจะยังมีโอกาสมาโพสต์ข้อความด่าทอแบบนี้หรือไม่
ตามอุปนิสัยและหลักปฏิบัติของ “บ้านอยู่บำรุง” ความปลอดภัยของคนในครอบครัวต้องมาเป็นที่หนึ่ง การจะเดินทางไปไหนมาไหนต้องมี “ทีมงาน” หรือ “การ์ด” ตามไปเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะกับ “หนุ่มกาโม่” ที่กลายเป็นเซเลปคนดัง จากทั้งหน้าตาอันหล่อเหลา และงานในวงการบันเทิง ทั้งพ่อทั้งปู่ย่อมหวงยิ่งกว่าไข่ในหิน พวกที่อยู่กันเป็นสิบที่ “กันต์ ตลาดน้อย” เอ่ยถึง คงไม่ใช่เพื่อรุ่นราวคราวเดียวกันทั้งหมด เชื่อว่าส่วนใหญ่ในกลุ่มนั้นเป็น “การ์ด” ที่ทั้งพ่อทั้งปู่ส่งมาดูแลมากกว่า จะว่าไปก็ถือเป็นโชคดีของ “เจ้าหนูกันต์” เหมือนกันที่งานนี้ยังไม่เจ็บตัว
ขณะที่กระแสวิพากษ์ถึงพฤติกรรม “พ่อวัน” ก็อาจจะมีในแง่ลบบ้างในเรื่องถ้อยคำที่ดูข่มขู่คุกคามเด็กรุ่นลูก อย่างการไปโพสต์ที่เฟซบุ๊กของเด็กว่า “ปากดีนักนะมึง กูเป็นพ่อกาโม่ ลูกกูไปทำอะไรให้มึง” เป็นต้น แต่ในทางกลับกันก็พอมีเสียงชื่นชมให้กำลังใจที่แสดงออกในฐานะพ่อบังเกิดเกล้าในการปกป้องบุตรชายของตัวเองพอสมควรเช่นกัน
คนซวยงานนี้น่าจะเป็นหนุ่มสังคมอย่าง “ไผ่ วันพอยท์” ที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ แค่ถูกระบุว่าเป็นหัวหน้าแก๊งมีชื่อ จนต้องออกหน้าเคลียร์เพื่อในจบเรื่อง ทั้งในฐานะผู้ใหญ่ เพื่อนร่วมพรรค และในฐานะพี่น้องกอดคอเที่ยวด้วยกันมา ก็อย่างที่ “พ่อวัน” โพสต์ไว้ในคอมเมนต์ประโยคหนึ่งว่า “ไผ่ มันก็น้องชายผม ไผ่มันอาจจะไม่รู้เรื่องก็ได้”
ซึ่งก็คงจะจริง เพราะวันนี้ชื่อเสียงของ “วันพอยท์” เป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะในวงการรถซิ่ง-รถแข่ง หนุ่มน้อยใหญ่อยากเท่ อยากแอกอาร์ท ก็พยายามดันตัวเองเข้าไปในกลุ่ม ให้มีนามสกุลพ่วงท้ายเป็น “วันพอยท์” กับเขาบ้าง เมื่อสมาชิกมากขึ้นๆ ก็ยากจะพิสูจน์ว่า คนไหนจริง คนไหนแอบอ้าง
ผู้ใหญ่เคลียร์กันได้ไม่บานปลายก็ถือเป็นเรื่องที่ดี ส่วนเด็กก็ควรจับมานั่งคุยกันให้จบกันด้วยดีทั้งสองฝ่าย ไม่งั้นปล่อยไว้ก็อาจจะมีเรื่องบาดหมาง จนต้องใช้ความรุนแรงตัดสินปัญหาให้เดือดร้อนกันอีก
อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ “พ่อวัน” ก็คงไม่ผิดที่จะแสดงบทบาทคนเป็นพ่อที่ต้องปกป้องลูก แต่อาจจะแสดงออกเกินไปซักหน่อยในเชิงช่มขู่ “เด็กเมื่อวานซืน” ที่ตัวเองเรียก ส่วนเรื่องลูกก็ต้องระวังไม่ให้ท้ายเกินพอดี เดี๋ยวจะกลายเป็นประเภท “พ่อแม่รังแกฉัน” จนลูกสร้างความเดือดร้อนมาให้ไม่เว้นแต่ละวัน
เรื่องแบบนี้ลองถาม “สารวัตรเหลิม” ดูซิ ในฐานะ “ยอดคุณพ่อ” ที่เคยเดือดร้อนเพราะ “ลูกบังเกิดเกล้า” มาแล้วนักต่อนัก.