xs
xsm
sm
md
lg

แก่นวิชชาลัย

เผยแพร่:   โดย: ไพรัตน์ แย้มโกสุม

หลาน : ตาดูหมอให้หน่อย

ตา : อือ...ตั้งใจฟัง รวมพลังให้เป็นหนึ่ง

คนเรามีสองประเภท คือคนดี และคนชั่ว

คนดี = อายชั่ว กลัวบาป

คนชั่ว = ไม่อายชั่ว ไม่กลัวบาป

รากของคนดี (รากดี) = กุศลมูล

รากของคนชั่ว (รากเน่า) = อกุศลมูล

กุศลมูล คือรากเหง้าของกุศล หรือต้นตอของความดี = อโลภะ อโทสะ อโมหะ

อกุศลมูล คือรากเหง้าของอกุศล หรือต้นตอของความชั่ว = โลภะ โทสะ โมหะ

ตนเป็นเช่นไร คนอื่นก็เป็นเช่นนั้น ต่างกันตรงที่มากหรือน้อย มีหรือไม่มีเท่านั้นแล

“สิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี สิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้จึงไม่มี”

สรรพสิ่งหรือสิ่งทั้งหลายทั้งปวง ก็มีเพียงเท่านี้ ตถตา-เช่นนั้นเอง เอวัง-จบ

หลาน : สาธุๆๆ

ตา : อมิตาพุทธ-สติปัญญาเป็นแสงสว่างไม่มีที่สิ้นสุด

แก่นวิชชาลัย

เมื่อเห็นแก่น ก็ย่อมเห็นเปลือก หรือเห็นเปลือก ก็เห็นแก่น เพราะทั้งเปลือกและแก่น เป็นสองด้านของชีวิตเหมือนสองด้านของเหรียญอันเดียวกัน

“แก่น” คือส่วนแข็งของไม้ มีสีเข้ม อยู่ถัดจากกระพี้เข้าไป หรือแก่นคือ หลัก, เนื้อแท้, สาระสำคัญ เช่น แก่นของเรื่อง

“กระพี้” เนื้อไม้ที่อยู่ระหว่างเปลือกกับแก่น โดยปริยายหมายถึง ไม่เป็นแก่นสาร ไม่เป็นเนื้อแท้ ไม่เป็นคุณประโยชน์

“เปลือก” คือ สิ่งที่หุ้มอยู่ภายนอกของสิ่งต่างๆ เช่น ต้นไม้ ผลไม้ หรือสัตว์บางชนิดโดยปริยาย หมายถึงลักษณะที่คล้ายคลึงเช่นนั้น เช่น ดีแต่เปลือก

“วิชชา” คือ วิชา หรือความรู้แจ้ง เช่น วิชชา 3 วิชชา 8

“วิชา” คือความรู้ที่ได้จากการฝึกฝนเล่าเรียน (บ.วิชชา : ส.วิทยา)

“อาลัย” คือห่วงใย หรือคิดถึงด้วยความเสียดาย หรือที่อยู่ เช่น ชลาลัย ถ้าห่วงใยด้วยความผูกพัน ขนาดคร่ำครวญถึงเรียกว่า อาลัยอาวรณ์

อาลัย คือที่อยู่ ที่อยู่ของความรู้มีมากคำต่างๆ นานา เช่น โรงเรียน วิทยาลัย มหาวิทยาลัย สถาบัน สถานศึกษา วิชชาลัย เป็นต้น

คำแต่ละคำ หากรู้ซึ้งถึงแก่นหรือราก ก็จะเข้าใจและเข้าถึงความหมายของคำนั้นๆ

ดังนั้น...แก่นวิชชาลัย = แก่น+วิชชา+อาลัย

ความหมายโดยรวม แล้วแต่จะแปลกัน

ผมแปลง่ายๆ ว่า... “ศูนย์เรียนรู้สู่วิชชา” หรือ “ศูนย์เรียนรู้สู่พุทธะ”

วิชชา คือความรู้แจ้ง หรือความรู้วิเศษ

วิชชา 3 ได้แก่...

1. ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ คือญาณเป็นเหตุระลึกขันธ์ที่อาศัยอยู่ในก่อนได้ หรือระลึกชาติได้

2. จุตูปปาตญาณ คือญาณกำหนดรู้จุติ และอุบัติแห่งสัตว์ทั้งหลาย อันเป็นไปตามกรรม หรือเห็นการเวียนว่ายตายเกิดของสัตว์ทั้งหลาย (เรียกอีกอย่างว่า ทิพพจักขุญาณ)

3. อาสวักขยญาณ คือญาณหยั่งรู้ในธรรม เป็นที่สิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย หรือความรู้ที่ทำให้สิ้นอาสวะ หรือความตรัสรู้

(วิชชา 3 นี้เรียกสั้นๆ ว่า ญาณ 3)

วิชชา 8 ได้แก่...

1. วิปัสสนาญาณ (ญาณในวิปัสสนา, ญาณที่เป็นวิปัสสนา) คือปัญญาที่พิจารณาเห็นสังขาร คือนามรูปโดยไตรลักษณ์ มีต่างกันออกไปเป็นชั้นๆ ต่อเนื่องกัน

2. มโนมยิทธิ (ฤทธิ์สำเร็จด้วยใจ, ฤทธิ์ทางใจ) คือนิรมิตกายอื่นออกจากกายนี้ ดุจชักไส้จากหญ้าปล้อง ชักดาบจากฝัก หรือชักงูออกจากคราบ

3. อิทธิวิธา หรืออิทธิวิธี คือแสดงฤทธิ์ต่างๆ ได้

4. ทิพพโสต คือหูทิพย์

5. เจโตปริยญาณ คือความรู้ที่กำหนดใจผู้อื่นได้

6. ปุพเพนิวาสานุสสติ คือระลึกชาติได้

7. ทิพพจักขุ คือตาทิพย์

8. อาสวักขยญาณ คือความรู้ที่ทำให้สิ้นอาสวะ

...(พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม, พระพรหมคุณาภรณ์-ป.อ.ปยุตฺโต)
วิชา และวิชชาเป็นสองด้านของชีวิตเหมือนสองด้านของเหรียญอันเดียวกัน

วิชา-ความรู้ทางโลก

วิชชา-ความรู้ทางธรรม

ผู้มีวิชาเพียงอย่างเดียว มักจะไม่ “อายชั่วกลัวบาป” ไม่เชื่อกฎแห่งกรรม ไม่เชื่อบาปบุญคุณโทษจึงทำชั่วทุกประเภท เช่น โลภ โกรธ หลง เป็นต้น ได้อย่างปกติธรรมดา

ผู้ที่มีทั้งวิชาและวิชชา จะไม่กล้าทำความชั่วโดยเด็ดขาด เพราะเชื่อกฎแห่งกรรม เชื่อบาปบุญคุณโทษ ระลึกชาติได้ เห็นการเวียนว่ายตายเกิดของตนเองและสรรพสัตว์ทั้งหลาย กระทั่งสูงสุดเป็นผู้สิ้นแล้วซึ่งอาสวะทั้งหลาย

“รู้-ละ-วาง” คือทางแห่งอิสรภาพอันแท้จริง ที่ทำให้ชีวิตดำรงอยู่อย่างปกติธรรมดาและสันติสุข

จิตใจเป็นหนึ่ง

แปลกไหม? บางคนพูดมาก แต่คนฟังก็ยังไม่เข้าใจ หรือคนพูดมาก ก็ไม่เข้าใจคำพูดของตัวเองเช่นกัน? จึงพูดไปฝอยไป วางฟอร์มเป็นผู้รู้มากประมาณนั้น

บางคนพูดน้อยหรือไม่พูดเลย คนฟังหรือคนเห็นกลับซาโตริ หรือบรรลุธรรม ฉับพลันทันที

ท่านครูบาฮวงโป ปรมาจารย์เซน กล่าวว่า...

“พระพุทธเจ้าทั้งปวง และสัตว์โลกทั้งสิ้น ไม่ได้เป็นอะไรเลย นอกจากเพียงจิตหนึ่ง (One Mind) นอกจากจิตหนึ่งนี้แล้ว มิได้มีอะไรตั้งอยู่เลย”

พระพุทธเจ้า ตรัสว่า...

“มโนปุพฺพงฺคมา ธมฺมา-ธรรมทั้งหลาย มีใจนำหน้า”
หนังสือวัชรปรัชญาปารมิตาสูตร หรือวัชรสูตร บันทึกไว้ว่า...

“สังขตธรรมทั้งปวง ดุจฝันมายาฟองน้ำรูปเงา
ดุจนิศาชลและอสนี ควรพินิจด้วยอาการเช่นนี้แล”

มิรู้ว่าใครกล่าว แต่ผมจำมิรู้ลืม...

“พุทธภาวะที่แท้จริง คือภาวะแห่งปรมานุตตรสุญญตา-ความว่างสูงสุด ไม่มีอะไรยิ่งกว่า”

ผมว่าเอง มันผุดขึ้นเมื่อ 12042559 เวลา 16.40 น. ณ แก่นวิชชาลัย...

“สิ่งทั้งมวลล้วนว่างเปล่า เพราะสิ่งทั้งมวลล้วนสมมติ”

นั่นคือ ความเป็น “หนึ่ง” หรือ “เอก” หรือ “One” หมายถึงชั้นที่ 1, ลำดับที่ 1 โดยปริยายหมายถึงดีเลิศ หรือสำคัญ

“เอกจิต” คือความคิดจำเพาะถึงสิ่งอย่างเดียว หรือความคิดอันหนึ่งอันเดียว หรือความคิดต้องกัน (ถูกกัน)

กรณีการภาวนาหรือบริกรรม “พุทโธ” ก็คือ เอกจิต หายใจเข้า-พุท หายใจออก-โธ พุท-โธๆๆๆๆๆ ไปเรื่อยๆ จนกระทั่งพุท-โธหายเหลือแต่ความว่างเปล่า นั่นแหละคือ...พุทธภาวะที่แท้จริง

การปฏิบัติธรรมแบบต่างๆ นั้น ไม่ต้องทำอะไรมาก แค่บริกรรมพุท-โธไปเรื่อยๆ ในที่สุดพุทธภาวะก็จะผุดขึ้น ตื่นรู้ เบิกบานด้วยตนเอง

พระหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน ท่านสอนว่า...

“ยืนก็นึกถึงพุทโธ เดินก็นึกถึงพุทโธ นั่งก็นึกถึงพุทโธ นอนก็นึกถึงพุทโธ จนกระทั่งหลับนี้เรียกว่าตามเสด็จพระพุทธเจ้าอยู่ตลอดเวลา”

นี่คือ...วิธีง่ายๆ ที่ทำให้ “จิตใจเป็นหนึ่ง” จนกระทั่ง “จิตไร้จิต”

ทุกสิ่งลึกซึ้ง

คำว่า “ลึกซึ้ง” หมายถึงลึกยิ่ง โดยปริยายหมายเอาว่า มีความคิดละเอียดหลายชั้น เช่นเขาเป็นคนลึกซึ้ง

สิ่งทั้งหลายทั้งปวง “ถ้ามองเป็น ก็เห็นธรรม” มองเป็นก็มองให้ลึกซึ้งนั่นเอง
เด็ดดอกหญ้าริมถนน หมองหม่นถึงดวงดาว, ฉันนั่งดื่มตะวันยามรุ่งอรุณ, ตัดต้นไม้สักหนึ่งต้นคือทำลายคนทั้งโลก, ฉันเห็นผู้คนกำลังฆ่าตัวเอง ขณะที่ปากพร่ำเพ้อฉันรักตัวเองที่สุดจนสุดโลกหล้า, นักการเมืองหรือผู้มีอำนาจบาตรใหญ่ทั้งหลาย มักอ้างเพื่อประชาชนหรือประเทศชาติอยู่เสมอ แต่ภายใต้คำกล่าวสวยหรู มันเพื่อตัวเองและพวกพ้องทั้งนั้น (ถ้ารากมันเน่า) ฯลฯ

วลีหรือประโยคเหล่านี้ ถ้ามองผิวเผินก็ไร้สาระ ถ้ามองลึกซึ้ง ก็เห็นสัจธรรมที่ว่า... “สิ่งทั้งมวลล้วนสัมพันธ์กัน” หรือ “สิ่งทั้งมวลล้วนอาศัยกัน” มันเป็นไปตามหลักอิทัปปัจจยตา... “สิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี-สิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้จึงไม่มี”

มีเรื่องเล่าขำขันที่ลึกซึ้งให้ฟัง...

มูลล่า นัสรูดิน เป็นเจ้าของนกแก้วตัวเล็กๆ สองตัว เขาไปหาสัตวแพทย์ “ข้าเป็นกังวลกับนกของข้ามาก” เขากล่าว “ตลอดหนึ่งสัปดาห์ที่ผ่านมา พวกมันไม่ได้ถ่ายเลย”

สัตวแพทย์ก้มลงดูที่พื้นกรง แล้วถามว่า “ปกติท่านใช้รูปแผนที่โลก รองรับขี้นกพวกนี้หรือ”

“เปล่า” มูลล่า นัสรูดิน ตอบ “ข้าเพิ่งใช้มันเมื่อวันเสาร์ที่แล้วนี่เอง เพราะว่าตอนนั้นกระดาษหนังสือพิมพ์มันหมดพอดี”

“นั่งไงล่ะ” หมออุทานออกมา “นกแก้วพวกนี้ เป็นสัตว์ที่อ่อนไหวมาก พวกมันคงจะอั้นอึเอาไว้ เพราะมันคิดว่า โลกเรามีเรื่องไร้สาระมากเกินกว่าที่จะรับได้อีกแล้ว”

จบเรื่องเล่า...

ขนาดนกมันยังไม่ยอมให้ขี้ของมันไปแปดเปื้อนกับโลกอันไร้สาระ พอเทียบกับสำนวนปัจจุบันได้ว่า...ขนาดหมามันยังไม่มอง

“ขำ” จน “ขันแตก” คือขันธ์ 5 (รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ) แตกสลายไป ไม่เหลืออะไร ซึ่งก็คืออนัตตาหรือสุญญตานั่นแล

ย่อมถึงสุญญา

เมื่อเห็นทุกสิ่งหรือสิ่งทั้งหลายทั้งปวง แม้จะต่างกันอย่างไร แต่ก็ลึกซึ้งด้วยกันทั้งนั้น ความคิดอันลึกซึ้งนี่เอง ย่อมเข้าถึงสุญญตาหรือสุญญตา-ความว่างเปล่า หรืออนัตตา-ความไม่มีตัวตน

ผมไม่ใช่นักเขียน เพียงแต่ชอบคิดชอบเขียน เมื่อเกิดอารมณ์อยากเขียน ไม่ค่อยมีตัวอย่างอะไรเพื่อเสริมความเข้าใจ จึงขออนุญาตนำตัวอย่างจากท่านผู้รู้มาเล่าสู่กันฟัง...

พระพุทธเจ้า ตรัสว่า...มีคนอยู่สองประเภท พวกแรกคือพวกที่เข้าถึงความเจริญแท้ โดยการสดับตรับฟัง และพวกที่สองคือ พวกที่ต้องปฏิบัติหามรุ่งหามค่ำ ประเภทที่สองนี้ อาจจะดูธรรมดาสามัญ แต่ท่านจะประหลาดใจ หากรู้ว่าพวกที่สองนี้มีความสำคัญค่อนข้างมาก

พวกแรกนั้น พระองค์เรียกว่า สวากขา (Shravaka) ซึ่งเป็นคำเดียวกันกับที่ มหาวีระ ใช้เรียกผู้ที่เข้าถึงความจริงแท้ โดยการสดับตรับฟัง

ส่วนพวกที่สอง พระองค์เรียกว่า สาธุ (Sadhu) ผู้ซึ่งไม่อาจเข้าถึงได้ด้วยการสดับตรับฟัง แต่เป็นผู้ที่ต้องปฏิบัติ เพราะเชาวน์ปัญญาของพวกเขายังมีไม่มากพอ

กล่าวอีกนัยหนึ่ง เชาวน์ปัญญาคือการปลดแอก การได้สดับตรับฟังอย่างถูกต้อง บางสิ่งบางอย่างจะเกิดขึ้นในตัวท่านเอง

ดังนั้น ทุกๆ สถานการณ์จึงถือเป็นโอกาส เซนเรียกสภาวะนี้ว่า มูซิน (Mu Sin)

มูซิน หมายถึงสภาวะที่ปราศจากจิตที่ชอบคิด เป็นเชาวน์ปัญญาล้วนๆ ไม่มีความคิดวิ่งไปมา มีแต่เพียงเปลวไฟแห่งการรู้ตัวทั่วพร้อม

ในสภาวะเช่นนี้ ผู้ที่สังเกตไม่ได้อยู่แยกกับสิ่งที่ถูกสังเกตอีกต่อไป ผู้ที่สดับตรับฟัง ไม่ได้อยู่แยกจากผู้พูดอีกต่อไป ในชั่วขณะนั้นการสื่อสารจะเกิดขึ้น ในชั่วขณะนั้นการส่งผ่านได้เกิดขึ้น ทุกสิ่งจะเกิดขึ้นเอง ไม่ว่าข้าพเจ้าจะเงียบ จะพูด หรือจะยกไม้ยกมือก็ตาม

ท่านต้องอยู่ในสภาวะมูซิน มันเป็นสภาวะที่ไร้ซึ่งอัตตาตัวตน ไม่มีเขตแดนแบ่งกั้น ในสภาวะเช่นนี้เท่านั้น ที่พระเจ้า หรือนิพพานเกิดขึ้นได้

มีกลอนไฮกุ อันโด่งดังของท่านบาโซ กล่าวว่า...

ในสระเก่า

กบกระโดด

ป๋อม!

มันถูกกล่าวขานกันว่า ท่านบาโชกำลังนั่งอยู่ข้างสระอันเก่าแก่ และมีกบอยู่ตัวหนึ่งเกาะอยู่บนก้อนหิน มันต้องเป็นช่วงเวลาเช้าที่มีแดดจ้า และกบก็เพลิดเพลินไปกับการอาบแดดอยู่เป็นแน่ ท่านบาโชนั่งอยู่ตรงนั้นอย่างเงียบๆ ท่านคงกำลังอยู่ในสภาวะมูซิน

ในสระเก่า

กบกระโดด

ป๋อม!

เล่ากันว่า แค่เพียงได้ยินเสียงกบกระโดดลงไปในสระน้ำดังป๋อมเท่านั้น มันทำให้ท่านบาโชรู้แจ้ง แค่เสียงป๋อม ก็เพียงพอแล้วที่จะทำให้ท่านตื่นรู้

ใช่แล้ว ในสภาวะมูซิน แค่เสียงป๋อมเท่านั้นก็เพียงพอแล้ว

ผู้ว่าฯ คนนี้ต้องเป็นผู้ที่มีเชาวน์ปัญญาค่อนข้างมาก เพียงแค่ยืนอยู่ที่หน้าประตู ท่านก็เข้าสู่สภาวะมูซินแล้ว เมื่อผู้ดูแลวัดเดินกลับมาพร้อมกับคำขอโทษว่า ท่านอาจารย์ไม่เต็มใจที่จะให้เข้าพบโดยได้ปฏิเสธว่า “ข้าไม่ต้องการพบชายคนนั้น” ป๋อม บางสิ่งบางอย่างได้เกิดขึ้นในชั่วขณะนั้นเอง ผู้ว่าฯ ได้ตระหนักถึงความผิดพลาดของตัวเอง แล้วเขาก็กลายเป็นคนใหม่ที่แตกต่างไปอย่างสิ้นเชิง เขาไม่ได้เป็นคนเดิมอีกต่อไป

ใช่แล้วล่ะ มันอาจเกิดขึ้นได้เพียงแค่ชั่วขณะสั้นๆ เท่านั้น มันเป็นเรื่องของความเข้าใจล้วนๆ เสียงกู่ร้องของนกเขาก็อาจเป็นเสียงป๋อมได้ เสียงสายลมที่พัดผ่านต้นไม้ก็อาจเป็นเสียงป๋อมได้ ทุกอย่างล้วนเป็นไปได้ สิ่งที่เป็นไปไม่ได้จะกลายเป็น-เป็นไปได้ หากท่านอยู่ในสภาวะมูซิน และเซนก็ไม่มีอะไรมากไปกว่าวินัยของการที่จะทำอย่างไรให้ท่านได้เข้าถึงสภาวะมูซิน สภาวะซึ่งปราศจากจิตที่ชอบคิดใดๆ

...(เซน : หนทางอันย้อนแย้ง, โอโช-เขียน, ดร.ประพนธ์ ผาสุขยืด-แปล, สนพ.ฟรีมายด์)

“แก่นวิชชาลัย
จิตใจเป็นหนึ่ง
ทุกสิ่งลึกซึ้ง
ย่อมถึงสุญญา”

เคยคิดเคยฝันอยากสร้างสถานศึกษาสักแห่ง นามว่า “แก่นวิชชาลัย” (Kaenvijjalai) คิดฝันมานาน ฝันนั้นไม่ยอมเป็นจริง เพราะเรามองเพียงด้านวัตถุ อาคารสถานที่ บุคลากร เงินทุน อย่างที่โลกมองกันเท่านั้น พอพลิกใจเข้าหา “มโนปุพฺพงฺคมา ธมฺมา-ธรรมทั้งหลาย มีใจนำหน้า” เท่านั้นแหละ “ปิ้งแวบ” หรือ “ป๋อม” ฉับพลันทันที

“แก่นวิชชาลัย” เกิดขึ้นแล้วที่ใจฉัน จะเป็นอะไร หรือไม่เป็นอะไร ก็ด้วยใจฉัน มันอิสสระว่างเปล่า เบาสบาย โลกไร้สาระได้ โลกก็ย่อมมีสาระได้ เมื่อมีได้ที่ใจหรือภายใน ก็ย่อมมีได้ที่ภายนอก 5555 ตถตา-เท่านั้นเอง
กำลังโหลดความคิดเห็น