xs
xsm
sm
md
lg

ภูมิอากาศแกว่งรุนแรง สุดขั้วและรวดเร็วมาก ราวกับลูกตุ้มนาฬิกา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ประสาท มีแต้ม

เมื่อสัปดาห์ที่แล้วผมได้กลับไปบ้านเกิดที่อำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช พบว่าอากาศร้อนมาก แต่ก็บอกเล่าไม่ได้ว่ามันร้อนขนาดไหนกัน อย่างไรก็ตาม ผมมีตัวชี้วัดที่ชัดเจน คือ น้ำในคูถนนหน้าบ้านที่เคยใช้รดน้ำต้นไม้ รดผักมาตลอดได้แห้งเกือบสนิทเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2515 เป็นต้นมา ที่ว่าเกือบสนิทก็เพราะว่ายังสามารถค่อยๆ ตักไปรดผักสวนครัวได้วันละ 4-5 ถัง ต้นขนุนตายหมด 3 ต้น แต่กอบวบที่อยู่ใกล้ๆ คูดังกล่าวยังสวยงามพอสมควร ขากลับพี่ยังตัดให้ผมเอากลับมากินถึง 3 ลูก

บ้านหลังที่ผมพักเป็นบ้านเดิมของพ่อแม่ จนถึงวันนี้ยังไม่ได้ต่อน้ำประปา (แม้จะมีประปาหมู่บ้านแล้ว) แต่เรามีบ่อเก็บน้ำฝนไว้ใต้ดิน สร้างไว้ตั้งแต่ปี 2537 จนถึงวันนี้น้ำยังไม่เคยหมดเลยครับ เรารองน้ำฝนจากหลังคาบ้าน มาเก็บไว้ในบ่อที่ฝาด้านบนเป็นระเบียงบ้าน สามารถใช้สอยได้ตามปกติ ไม่รกหูรกตา (ดังรูป)

ประเด็นที่ผมนำมาเล่าก็เพื่อจะบอกว่า แม้ภายใต้สถานการณ์วิกฤตทางธรรมชาติที่รุนแรงมากเพียงใด แต่หากเรารู้จักวางแผนป้องกันก็สามารถผ่อนหนักเป็นเบาได้บ้าง ไม่มากก็น้อย

เช่น ประเทศอินเดียสามารถลดการระเหยของน้ำในคลองชลประทานด้วยการทำโซลาร์เซลล์คร่อมคลอง ประเทศอังกฤษสามารถลดการระเหยของน้ำในคลองประปาได้ถึง 90% ด้วยการติดโซลาร์เซลล์ ในขณะที่สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าได้อีก 20% ประเทศสเปนป้องกันไฟป่า (ซึ่งกำลังเป็นปัญหาใหม่ทั่วโลก)ด้วยการเก็บไม้ผุออกจากป่าไปทำพลังงานชีวมวลผลิตไฟฟ้า เป็นต้น

หลังกลับจากบ้านเกิด ผมได้โพสต์บทความเรื่อง “Climate pendulum is swinging rapidly from El Niño to La Niña” (ซึ่งเขียนโดย Andrew Freedman) ได้มีเพื่อนในเฟซบุ๊กคนหนึ่งตั้งคำถามว่า

“มีบ้างไหมที่ไม่เกิด เอลนีโญและลานีญาพร้อมกันในปีเดียว”

ผมได้ตอบไปว่า “มีครับ และในบางปีก็ไม่เกิดทั้งสองอย่าง แต่ค่อนข้างจะนานมาแล้ว”

เมื่อพบว่า มีผู้สนใจในเรื่องนี้ และในโอกาสที่ปรากฏการณ์ “ซูเปอร์เอลนีโญ” และ “ลานีญา” กำลังจะตามมาซึ่งยังไม่มีใครสามารถบอกได้ว่าจะรุนแรงแค่ไหน จะเป็น “ซูเปอร์ลานีญา” หรือไม่ ผมจึงขอถือโอกาสเขียนถึงเรื่องนี้เสียเลย

ตัวชี้วัดว่าเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญและลานีญา

คำว่า “El Nino” และ “La Nina” เป็นภาษาสเปนแปลว่า “เด็กผู้ชาย” และ “เด็กผู้หญิง” ตามลำดับ แต่ได้ถูกนำมาใช้เรียกชื่อปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่เกี่ยวกับภูมิอากาศที่มีสาเหตุหลักมาจากการเพิ่มขึ้นหรือลดลงของอุณหภูมิของผิวน้ำทะเลในมหาสมุทรแปซิฟิกบริเวณที่อยู่ทางตอนใต้ของเส้นศูนย์สูตรไปเล็กน้อยระหว่างประเทศอินโดนีเซีย (ในทวีปเอเชีย) และประเทศเปรู (ในทวีปอเมริกาใต้) บริเวณที่ใช้วัดอุณหภูมิเฉลี่ยเรียกว่า “Nino 3.4” ผมได้แนบภาพทั้งบริเวณและสถิติอุณหภูมิเฉลี่ยของผิวน้ำมาให้ดูด้วยครับ กรุณาอย่าตกใจกับความซับซ้อน ไม่ได้มีอะไรยุ่งยาก แต่หากรู้สึกขี้เกียจก็ข้ามไปอ่านข้างล่างเลยครับ

นักวิทยาศาสตร์จะวัดอุณหภูมิของผิวน้ำทะเลในบริเวณดังกล่าว แล้วนำมาหาค่าเฉลี่ยราย 3 เดือน ถ้าอุณหภูมิของผิวน้ำทั้งบริเวณสูงกว่าหรือเท่ากับ + 0.5 องศาเซลเซียสเมื่อเทียบกับช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา ก็จะถือว่าเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญ แต่ถ้าต่ำกว่าหรือเท่ากับ -0.5 องศาเซลเซียสก็ถือว่าเกิดปรากฏการณ์ลานีญา

ถ้าอยู่ในช่วงลบ 0.5 ถึงบวก 0.5 ก็ยังถือว่าเป็นช่วงปกติ

จากภาพดังกล่าว เป็นช่วงเวลาตั้งแต่ปี 2493 ถึงปี 2559 รวม 66 ปี สิ่งที่ผมอยากให้สังเกต 4 ประการคือ

(1) ในช่วงแรกๆ ประมาณปี 2495 อุณหภูมิเฉลี่ยของน้ำทะเลมากกว่า 0.5 องศาเซลเซียสก็จริง แต่ก็ไม่ได้สูงมาก แต่เราจะเห็นว่าในปีหลังๆ จะสูงขึ้นเรื่อยๆ และในปี 2559 อุณหภูมิดังกล่าวสูงถึง 2.3 องศาเซลเซียสและสูงที่สุดตั้งแต่มีการบันทึกมา จึงขอสรุปว่าเกิดรุนแรงขึ้นจนมีคนตั้งชื่อว่า “ซูเปอร์เอลนีโญ”

(2) ช่วงเวลาของการเกิดเอลนีโญครั้งนี้ยาวนานที่สุด (เราอาจจะสังเกตไม่ได้จากรูปข้างบน) คือนานถึง 13 เดือนแล้ว (แต่ยังไม่จบ) ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายน 2558 เพราะอุณหภูมิเฉลี่ยในช่วง 3 เดือน คือ กุมภาพันธ์ถึงเมษายน 2559 ยังสูงถึง 1.6 องศา ในขณะที่ค่าเฉลี่ยเดือนมกราคมถึงมีนาคม 2559 เท่ากับ 1.9 องศา ถ้าถอยหลังไปอีก 1 เดือนก็เท่ากับ 2.2 องศา ในขณะที่เดือนเมษายน 2559 เดือนเดียวอุณหภูมิลดลงมาเหลือ 1.2 ซึ่งนักวิเคราะห์บอกว่ามันลดลงอย่างรวดเร็วมาก แต่ก็ยังไม่มีใครทราบว่ามันจะลดลงจนเป็นลบ 0.5 องศา (ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ลานีญา) ในเดือนไหน (หมายเหตุ : เขาวัดอุณหภูมิเฉลี่ยทุก 3 เดือน ผลลัพธ์ที่ได้จึงไม่ควรจะเปลี่ยนมาก)

(3) ช่วงเวลาปกติ (คือไม่มีทั้งเอลนีโญและลานีญา) ที่ยาวที่สุดคือ นานถึง 52 เดือนในช่วงปี 2502 ถึง 2506 (ช่วงที่รวมเอากรณีผู้ใหญ่ลีตีกลองประชุมซึ่งถือเป็นช่วงเวลาที่ได้นำประเทศไทยและประเทศอื่นๆ เข้าสู่แผนพัฒนาประเทศทั่วโลก หลังจากเลิกสงครามโลกครั้งที่สองใหม่ๆ) ช่วงปกติที่นานรองจากที่กล่าวแล้วคือนาน 35 เดือนเกิดขึ้นในช่วง 2554 และมกราคมถึงมีนาคม 2558

(4) จำนวนครั้งที่เกิดเอลนีโญ 21 ครั้ง ในขณะที่เกิดลานีญา 17 ครั้ง

สาเหตุของการเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญและผลกระทบ

ในสภาพปกติ สภาพภูมิอากาศในมหาสมุทรแปซิฟิกบริเวณใต้เส้นศูนย์สูตรเล็กน้อย จะอยู่ภายใต้ระบบอุณหภูมิของอากาศและกระแสน้ำ รวมทั้งความเอียงของโลก ผมมีคำอธิบายโดยย่อไว้ในรูปแล้วครับ

แต่ในช่วงที่เกิดเอลนีโญ กระแสน้ำที่เคยไหลจากฝั่งประเทศเปรูไปสู่ออสเตรเลีย กลับเปลี่ยนทิศทางคือไหลย้อนจากฝั่งออสเตรเลียไปสู่ประเทศเปรู กระแสลมในอากาศที่เรียกว่า The Walker Circulation ก็แยกออกเป็นสองวง ส่งผลให้ฝนซึ่งเคยตกในแถบประเทศอินโดนีเซียกลับไปตกในมหาสมุทร

สำหรับในช่วงลานีญา มวลอากาศเย็นจากประเทศเปรูก็จะพัดเข้าสู่แถบประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งรวมทั้งประเทศไทยเราด้วยซึ่งจะนำฝนมาสู่แถบนี้ด้วย

แต่ที่เป็นปัญหาน่ากังวลก็คือ สภาพภูมิอากาศแทนที่จะค่อยเป็นค่อยไป แต่มันกลับเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน สุดขั้วและรวดเร็วราวกับลูกตุ้มนาฬิกาที่แกว่งซ้ายทีขวาที ธรรมชาติจะปรับตัวรับสภาพการเปลี่ยนแปลงที่ฉับพลันได้ทันหรือไม่

ลองคิดดูซิครับ ตอนที่เกิดแล้งจัดรุนแรง แถมด้วยไฟป่าในหลายพื้นที่ หากเกิดสภาพฝนตกหนักรุนแรง โอกาสที่ดินจะเกิดสไลด์ ถล่ม เกิดน้ำท่วมฉับพลันก็ย่อมมีสูง การเปลี่ยนอย่างรวดเร็วเกินไปจะมีปัญหาดังนี้แหละครับ

ถ้าเทียบกับคนเรา ถ้าใครที่มีอาการท้องผูกสลับกับท้องเสียบ่อยๆ ก็ต้องถือว่าผิดปกติจนต้องปรึกษาแพทย์ ระบบธรรมชาติก็เป็นเช่นเดียวกันนั้นแล ต่างกันตรงที่ว่าใครจะเป็นแพทย์ให้แก่โลกใบนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น