xs
xsm
sm
md
lg

ยื่นตีความกม.ประชามติ จำกัดสิทธิฯ-โทษแรงเกิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (10 พ.ค.) นายจอน อึ๊งภากรณ์ ผู้อำนวยการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw)พร้อมด้วย นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นายไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ อดีตสมาชิกวุฒิสภา เป็นตัวแทนนักวิชาการกว่า 100 คน เข้ายื่นหนังสือต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ผ่านนายรักษเกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้ตรวจสอบ และเสนอเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ว่า พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรธน. ใน มาตรา 61 ขัดต่อรธน. หรือไม่
ทั้งนี้ เนื่องจากบทบัญญัติดังกล่าวมีคำว่า “รุนแรง ก้าวร้าว และปลุกระดม”ซึ่งไม่เคยมีคำนิยามอยู่ในกฎหมายใดมาก่อน ประชาชนไม่สามารถเข้าใจได้ว่า การแสดงออกอย่างไรจะผิดกฎหมาย ส่วนที่กำหนดห้ามใช้ถ้อยคำหยาบคาย แม้คำนี้จะเป็นสิ่งที่ไม่ควร แต่ไม่ใช่การกระทำผิดกฎหมาย จึงเห็นว่า บทบัญญัติดังกล่าวเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนเกินขอบเขต ไม่มีเหตุอันสมควร อีกทั้งบทกำหนดโทษก็มีความรุนแรงเกินไป ไม่ได้สัดส่วนกับการกระทำที่เป็นเพียงแค่การแสดงความคิดเห็น ซึ่งอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปีนั้น เทียบได้กับความผิดฐานฆ่าคนตาย โดยประมาท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291
นอกจากนั้น ในทางปฏิบัติ ยังปรากฏข้อเท็จจริงว่าเจ้าหน้าที่รัฐตีความกฎหมายอย่างกว้าง มีการรื้อนิทรรศการการเมืองเรื่องรัฐธรรมนูญ ของนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 25 เม.ย. มีความพยายามจับกุมนักวิชาการมหาวิทยาลัยมหิดล ที่แจกเอกสารรณรงค์ ไม่รับร่างรธน. โดยไม่ระบุเหตุผลที่ชัดเจนว่า ขัดกฎหมายอย่างไร และยังมีการเข้าแจ้งความดำเนินคดีกับผู้โพสต์เฟซบุ๊ก วิจารณ์ร่างรธน. ด้วยถ้อยคำหยาบคาย ของกรรมการการเลือกตั้ง ซึ่งการทำประชามติร่างรธน. ประชาชนจำเป็นต้องได้รับข้อมูลอย่างรอบด้าน เพียงพอเพื่อประกอบการตัดสินใจ บรรยากาศของสังคมที่เปิดกว้างสำหรับการสื่อสารแลกเปลี่ยนข้อมูล และความคิดเห็นในหมู่ประชาชน เพื่อให้สาธารณชนได้เรียนรู้เข้าใจข้อดีข้อเสียของร่างรธนง ก่อนร่วมกันออกเสียงประชามติ แต่การที่กฎหมายดังกล่าวมีบทกำหนดโทษสูงทำให้ประชาชนหวาดกลัวในการสื่อสารหรือแลกเปลี่ยนข้อมูล ในขณะที่รัฐบาลเดินหน้าสื่อสารข้อมูลฝ่ายเดียว การบังคับใช้กฎหมายเช่นนี้ จะส่งผลให้การทำประชามมติสูญเสียความชอบธรรม
" การยื่นเรื่องครั้งนี้ ไม่ได้มีเจตนาจะล้มการทำประชามติ ตรงกันข้ามคือ ต้องการให้ประชาชนได้แสดงความคิดเห็นอย่างเต็มที่ แต่มาตรา 61 ของกฎหมายดังกล่าว ทำให้ประชาชนเกร็งในการแสดงความคิดเห็น ซึ่งขัดหลักการการความคิดเห็นของประชาชนที่เป็นสิทธิเสรีภาพที่ได้รับการรับรองไว้ในรธน. ของไทยทุกฉบับ จึงอยากให้มีการส่งเรื่องนี้ให้ศาลฯ วินิจฉัยโดยเร็ว
ด้าน นพ.นิรันดร์ กล่าวว่า ตนกังวลว่ากฎหมายดังกล่าวจะขยายความขัดแย้งและความรุนแรงในสังคมไทยขึ้นมาอีก ทั้งที่ไม่ควรเกิดขึ้น แม้การทำประชามติจะเป็นเรื่องที่ดีในการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย แต่เป้าหมายการทำประชามติ ก็เพื่อให้ประชาชนเป็นเจ้าของรธน.ฉบับนี้ บรรยากาศของสังคมจึงต้องเปิดกว้าง ไม่ใช่สังคมในความเงียบ ความกลัว ประชาชนไม่อยากพูดความจริง ทั้งที่กระบวนการทำประชามติ คือการมีส่วนร่วมของประชาชน จึงควรเปิดกว้างในการแสดงความคิดเห็น การรับรู้ข้อมูล
ทั้งนี้ การที่จะรับหรือไม่รับร่างรธน.นั้น ไม่เกี่ยวกับตัวรัฐบาล หรือ คสช. แต่เป็นเนื้อหาของรธน. หากไม่รับ ก็ไม่ใช่การต่อต้านรัฐบาล แต่เป็นประโยชน์ของรัฐบาลและ คสช.มากว่า รัฐธรรมนูญยังมีเนื้อหาที่จะต้องปรับแก้ อย่าไปติดกับดักคู่ตรงข้ามว่า หากรับแล้วเป็นพวกรัฐบาล หากไม่รับเป็นฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล
ขณะที่นายไกรศักดิ์ กล่าวว่า ควรเปิดกว้างให้ประชาชนได้แสดงความคิดเห็นและวิพากษ์วิจารณ์ในร่างรธน.ได้ เพราะหากสร้างบรรยากาศที่เต็มไปด้วยความหวาดกลัวไม่มีการแสดงความคิดเห็น ไม่มีการรณรงค์ ประชาชนก็จะไม่เข้าใจเนื้อหาร่างรธน. เพราะส่วนใหญ่ไม่ค่อยเข้าใจภาษากฎหมาย
ขณะที่ นายรักษเกชา กล่าวว่า เข้าใจว่าเรื่องดังกล่าวเป็นกรณีเร่งด่วน ก็จะเร่งเสนอต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน พิจารณาเพื่อมีความเห็นต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น