xs
xsm
sm
md
lg

สดุดี “บรรหาร” บนความจริง

เผยแพร่:   โดย: สุนันท์ ศรีจันทรา

หลังถึงแก่อนิจกรรม เสียงสรรเสริญยกย่องนายบรรหาร ศิลปอาชา อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 21 อดีตหัวหน้าพรรคชาติไทย ดังกระดึ่มตามมาทันที

แต่เสียงสดุดีที่ได้ยินนั้น มาจากบรรดานักการเมืองที่อยู่ในขั้วแนวคิด และพฤติกรรมเดียวกับนายบรรหารแทบทั้งสิ้น ขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่ พูดถึงการจากไปของนายบรรหารในอีกแง่มุมที่แตกต่าง

สังคมไทยถือว่า คนที่จากโลกไปแล้ว จะอโหสิกรรมให้กัน ต้องไม่พูดถึงพฤติกรรมในแง่ร้าย แต่พยายามพูดถึงสิ่งดีๆ

การแสดงความไว้อาลัย เป็นประเพณีปฏิบัติอันดีงาม และมีความพยายามสรรหาคำไว้อาลัยอย่างสุดซึ้ง เพื่อเป็นเกียรติกับคนตาย

การถึงแก่อนิจกรรมของนายบรรหารก็เช่นกัน มีความพยายามประดิษฐ์คำไว้อาลัยสวยหรู เพื่อเชิดชูเกียรติประวัติ และไม่เป็นไร เมื่อนักการเมืองประเภทเดียวจะ “ยก” กันเอง

เพียงแต่อย่า “เชิดชู” อย่างเกินจริง และชี้นำสังคมให้เกิดความเข้าใจผิดๆ เท่านั้น โดยเฉพาะบทบาททางการเมืองของนายบรรหาร

นายบรรหารโดดเข้าสู่การเมืองมากว่า 40 ปี ยึดพื้นที่สุพรรณเป็นฐานที่มั่น และทุ่มงบประมาณแผ่นดินเพื่อพัฒนาฐานที่มั่นตัวเอง จนซื้อใจคนสุพรรณได้

เลือกตั้งเมื่อไหร่ นายบรรหารชนะเมื่อนั้น

แม้จะเป็นรัฐมนตรีหลายกระทรวง แม้จะเป็นหัวหน้าพรรคชาติไทย แต่ภาพลักษณ์การเป็นพ่อค้าเต็มตัว ทำให้คนไม่คาดคิดว่า นายบรรหารจะก้าวมาไกลถึงขนาดเป็นนายกรัฐมนตรีได้ แต่นายบรรหารก็ทำให้คนที่ประเมินการเมืองไทยดีเกินไป ต้องหัวใจสลาย

เพราะหลังการเลือกตั้งปี 2538 พรรคชาติไทยได้รับเสียงข้างมาก นายบรรหารได้ก้าวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี แต่ถูกโจมตีเรื่องการคอร์รัปชันอย่างหนัก จนต้องลาออกไป

ตั้งแต่เริ่มเล่นการเมือง และก้าวขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี จนถึงแก่อนิจกรรม นายบรรหารเป็นเพียงนักการเมืองคนหนึ่งเท่านั้น ไม่ได้มีผลงานในเชิงสร้างสรรค์อันทรงคุณค่าควรแก่การจดจำ ไม่ได้นำระบบการเมืองไทยให้หลุดพ้นจากวงจรอุบาทว์

ไม่ได้ทำให้ปัญหาการทุจริตหมดไป แต่รัฐบาลนายบรรหารมีภาพลักษณ์ของรัฐบาลที่เต็มไปด้วยการทุจริตด้วยซ้ำ

การสดุดีใดๆ เพื่อไว้อาลัยนายบรรหาร ควรอยู่บนพื้นฐานความเป็นจริง เพราะถ้าสดุดีเกินจริง จะทำให้สังคมสำคัญผิดในข้อเท็จจริงของพฤติกรรมนักการเมือง

สังคมคนรุ่นนี้คงไม่ต้องกลัวความเข้าใจผิด เพราะนายบรรหารเป็นนักการเมืองประเภทไหน พฤติกรรมเป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไป แต่สังคมคนรุ่นต่อไปอาจรู้ไม่ทัน และอาจถูกมอมเมาในความเชื่อผิดๆ ได้

นักการเมืองด้วยกัน ขั้วเดียวกัน พฤติกรรมเหมือนกันหรือเป็นพวกเดียวกัน จะเชิดจะชูนายบรรหารอย่างไร จะถึงขั้นยกย่องให้เป็นวีรบุรุษ ก็ปล่อยให้เป็นเรื่องของพวกนักการเมืองไป

เพราะนักการเมืองทำได้ทุกอย่าง ยิ่งเป็นพวกเดียวกัน มีผลประโยชน์ร่วมกัน หลับหูหลับตาเชียร์กันได้อยู่แล้ว

ยุคที่นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี นายบรรหารออกมาชมออกมาเชียร์อย่างสุดลิ่มทิ่มประตูตลอด จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ เมื่อบรรดาลูกสมุนนางสาวยิ่งลักษณ์จะออกมาชมนายบรรหารอย่างหยดย้อย โดยไม่รู้สึกอายชาวบ้าน

คนจากไปแล้ว ถ้าจะสดุดีพอหอมปากหอมคอ คงไม่มีใครอยาก “ขัด” แต่เมื่อยกย่องสรรพคุณเกินจริง เชิดนายบรรหารเป็นนักการเมืองที่ทำคุณประโยชน์ใหญ่หลวง เพื่อที่จะยกหางตัวเองเท่านั้น จึงกลายเป็นการสร้างเรื่องโกหกตอแหลกลางงานศพ

นายบรรหารปิดฉากอย่างสงบ บทบาททางการเมืองเป็นอย่างไร รู้อยู่แก่ใจทุกคน ส่วนนักการเมืองพวกเดียวกันที่ออกมาสรรเสริญเยินยอ ยกย่องให้เป็นวีรบุรุษทางการเมืองนั้น เป็นเพียงการแสดงละครบทหนึ่งเท่านั้น

คนทั่วไป คนที่ไม่ใช่นักการเมือง ไม่เคยร่วมสังฆกรรม ไม่เคยมีผลประโยชน์ใดๆ ร่วมกัน ไม่ได้มีพระเดชพระคุณกัน แค่แสดงความไว้อาลัยนายบรรหารตามมารยาทของสังคมไทยก็พอแล้ว

อย่าสดุดีด้วยคำตอแหลเหมือนนักการเมืองเลย จะทำให้สังคมต้องสับสนในบทบาททางการเมืองที่ว่างเปล่าของ “บรรหาร” เปล่าๆ

หรือใครว่า “บรรหาร ศิลปอาชา” มีคุณูปการกับประเทศอย่างไร ช่วยบอกให้ฟังหน่อย และใครว่ามีปณิธานที่ต้องสืบทอดต่อไป ช่วยบอกทีได้ไหมว่า มีปณิธานดีๆอะไรที่ควรสืบทอด
กำลังโหลดความคิดเห็น