xs
xsm
sm
md
lg

ทำบุญด้วยเงินบาป : การก่อเหตุแห่งบาป

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง

ที่มาแห่งบุญหรือบุญกิริยาวัตถุ พระพุทธองค์ตรัสไว้ 3 ประการคือ

1. ทานมัย บุญกิริยาวัตถุ บุญอันเกิดจากการให้ทรัพย์สินเงินทอง ข้าวของเครื่องใช้ รวมไปถึงการให้ความรู้ การให้ธรรม และการให้ชีวิตที่เรียกอภัยทาน

2. สีลมัย บุญกิริยาวัตถุ บุญอันเกิดจากการรักษาศีล เริ่มตั้งศีล 5 หรือนิจศีล สำหรับสาธุชนคนทั่วไป ศีล 8 สำหรับอุบาสก อุบาสิกา ศีล 227 ข้อสำหรับภิกษุ ศีล 311 ข้อสำหรับภิกษุณี ศีล 100 ข้อสำหรับสามเณร

3. ภาวนามัย บุญกิริยาวัตถุ บุญอันเกิดจากการเจริญภาวนา จะเป็นสมถภาวนา หรือวิปัสสนาภาวนาก็ได้

ในที่มาแห่งบุญ 3 ประการดังกล่าวข้างต้น ปุถุชนคนทั่วไปจะนิยมทำบุญด้วยการให้ ซึ่งเป็นที่ง่ายและสะดวกสบาย เพราะเพียงแต่มีปัจจัยไทยทาน ก็ทำบุญได้แล้ว ในบางรายที่มีทรัพย์สินเงินทองมากมายก่ายกองไม่ลงมือทำเองด้วยซ้ำ แต่ให้คนใช้ทำแทน แค่นี้ก็นึกว่าได้ทำบุญแล้ว

อันที่จริง ถ้าจะให้การทำบุญด้วยการให้ทานได้ผลบุญมาก ตามนัยแห่งคำสอนของพระพุทธองค์แล้ว การทำบุญด้วยการให้หรือทานมัย จะต้องประกอบด้วยทานสมบัติ 3 ประการคือ

1. เขตตสมบัติ คือ ปฏิคาหก หรือผู้รับทานเป็นผู้ประพฤติดี ปฏิบัติชอบ ประกอบด้วยคุณธรรม

2. ไทยธรรมสมบัติ คือ สิ่งที่ให้เป็นของบริสุทธิ์ได้มาโดยชอบธรรม และเหมาะสมเป็นประโยชน์แก่ผู้รับ

3. จิตตสมบัติ คือ ทายกหรือผู้ให้ด้วยความตั้งใจ คิดจะให้เป็นประโยชน์อย่างแท้จริง ทั้งมีเจตนาบริสุทธิ์ 3 กาล คือ ก่อนให้มีใจยินดี ขณะให้มีจิตผ่องใส และให้แล้วมีใจเบิกบาน

ส่วนบุญที่เกิดจากรักษาศีล และจากการเจริญภาวนานั้น ทำได้ยากกว่าบุญที่เกิดจากการให้ทาน บุญอันเกิดจากการรักษาศีล หมายถึงการรักษากายและวาจาให้เป็นปกติ ปราศจากการทุจริต และวจีทุจริต อันเป็นความชั่วทางกายและวาจา

ศีลจะเกิดขึ้นแก่ปุถุชนได้ ก็ด้วยสมาทานวิรัติ คือการงดเว้นหลังจากที่ได้รับศีลจากพระสงฆ์ และรักษาไว้ 1 วันกับ 1 คืน

แต่สำหรับอริยบุคคล คือพระโสดาบันขึ้นไป ศีลเกิดขึ้นหลังจากได้บรรลุธรรมเรียกว่า สัมปัตตวิรัติ คืองดเว้นได้โดยไม่ต้องสมาทาน เช่น เมื่อมีเมตตาก็จะไม่ฆ่าสัตว์ เป็นต้น

ด้วยเหตุที่การทำบุญด้วยการให้ทานง่ายกว่าการทำบุญด้วยการรักษาศีล และเจริญภาวนานี้เอง ปกติชนคนทั่วไป จึงนิยมทำบุญด้วยการให้ทานเป็นส่วนใหญ่

แม้การทำบุญด้วยการให้ทานจะง่าย และสะดวกสบายเพราะเพียงมีปัจจัยไทยทาน ก็ทำบุญได้แล้ว จะเห็นได้จากการที่คนร่ำรวยในบางรายไม่ลงมือทำบุญด้วยตนเอง แต่ใช้ทำแทนและเพียงแค่นี้ก็ได้ชื่อว่าได้ทำบุญแล้ว

ส่วนที่มาของบุญอีก 2 ประการคือ สีลมัย และภาวนามัยนั้น ขึ้นอยู่กับตัวบุคคลผู้ต้องการบุญอันเกิดจากศีลและภาวนาเป็นหลัก เช่น ถ้าต้องการบุญอันเกิดจากศีล ก็จะต้องรักษาศีล อันเป็นการควบคุมกาย และวาจาของตนเองให้ปราศจากทุจริตทางกาย และวาจาซึ่งจะต้องใช้สติและสัมปชัญญะตลอดเวลาในทุกอิริยาบถ ยิ่งถ้าต้องการบุญอันเกิดจากการภาวนาด้วยแล้ว จะยิ่งต้องใช้ความอดทน อดกลั้นในการควบคุมจิตของตนมิให้โลดแล่นไปตามความต้องการ ภายใต้การบงการของโลภะ โทสะ และโมหะ จึงเป็นการทำบุญที่ยากกว่าการให้ทาน

ด้วยเหตุนี้ ปุถุชนคนหนาด้วยกิเลสทั้งหลาย จึงเลือกที่จะทำบุญด้วยการให้ทาน เพราะแค่มีของจะให้และมีผู้รับก็ทำได้แล้ว ส่วนว่าทำทานแล้วจะได้บุญมากหรือน้อย คนส่วนใหญ่ให้ความสนใจน้อย

ดังนั้น การทำบุญด้วยการให้จึงใช่ว่าทุกคนทำแล้วจะได้บุญเสมอเหมือนด้วยกันทุกคน ทั้งนี้เนื่องจากว่าการทำบุญ ถ้าจะให้ได้บุญมากจะต้องประกอบด้วยทานสมบัติ 3 ประการดังกล่าวแล้ว โดยเฉพาะข้อ 1 และข้อ 2

ในปัจจุบัน ชาวพุทธในประเทศไทยมีอยู่ไม่น้อยที่ทำบุญด้วยการให้ทาน โดยขาดองค์ประกอบข้อ 1 และข้อ 2 ทั้งนี้ด้วยเหตุปัจจัยดังต่อไปนี้

1. ในปัจจุบันปฏิคาหก หรือผู้รับที่มีศีลสมบูรณ์หาได้ยาก เมื่อเทียบในครั้งพุทธกาลซึ่งมีอริยสงฆ์ให้เลือกเพื่อเป็นการรับทานอยู่จำนวนมาก

2. ในปัจจุบัน ผู้คนในสังคมจำนวนไม่น้อยที่ทำอาชีพไม่สุจริต หรือคิดคดโกงผู้อื่น ดังนั้นรายได้ของคนเหล่านี้นับได้ว่าเป็นเงินปนเปื้อนด้วยบาป และถ้านำมาทำบุญก็จะไม่ได้บุญ ในทางตรงกันข้าม จะกลับได้บาปดังเช่นกรณีของนายศุภชัย ศรีศุภอักษร ผู้บริหารสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน คลองจั่น เป็นต้น

อีกประการหนึ่ง ในการทำบุญด้วยการให้ทาน ควรยึดหลักพุทธพจน์ 3 ประการคือ

1. มีศรัทธามาก แต่มีทรัพย์น้อย ก็ทำบุญแต่น้อย

2. มีทรัพย์มาก แต่มีศรัทธาน้อย ก็ทำบุญได้แต่น้อย

3. มีทรัพย์มาก และมีศรัทธามากจึงทำบุญได้มาก

ดังนั้น ทั้งทายก และปฏิคาหกควรจะได้จดจำธรรม 3 ประการนี้ไว้จะได้ไม่ทำบุญได้บาป ดังกรณีของนายศุภชัย ศรีศุภอักษร และพระธัมมชโย ซึ่งกำลังเดือดร้อนจากการทำบุญได้บาปอยู่ในขณะนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น