xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ห้าม!!! มอ’ไซค์ ขึ้นสะพานทางข้าม – ลอดอุโมงค์ ผิดที่โครงสร้างพื้นฐาน ด่า ตร. ไม่ได้?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ข้อบังคับว่าด้วยเรื่อง ห้ามรถมอเตอร์ไซค์วิ่งบนสะพานข้ามแยกและลอดใต้อุโมงค์ ถือเป็นเรื่องเก่าเล่าใหม่ที่กลับมาตกย้ำว่าถนนเมืองไทยไม่ได้ออกแบบเพื่อพาหนะสอง ล้ออย่าง ‘มอเตอร์ไซค์’ และล่าสุด ตกเป็นประเด็นร้อนอีกครั้ง หลังทางการประกาศห้ามมอเตอร์ไซค์วิ่งบนสะพานทางร่วมทางแยก 39 แห่ง และอุโมงค์ 6 แห่ง ในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 30 มีนาคม 2559 ที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม ข้อห้ามดังกล่าวมีอำนาจบังคับใช้ตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาแต่ไหนแต่ไรแล้ว เพียงแต่ว่าที่ผ่านมา ผู้ขับขี่บางรายอาจยังฝ่าฝืนด้วยเหตุบางประการ หรืออย่างในอดีตเองก็มีกรณีประชาชนดำเนินคดีฟ้องร้องเจ้าพนักงานจราจรในข้อห้ามดังกล่าว แต่ท้ายที่สุดศาลก็พิจารณายกฟ้อง

ย้อนกลับไปที่เรื่องของโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม การออกแบบถนนเมืองไทยไม่ได้คำนึงถึงผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์เป็นสำคัญตั้งแต่ต้น ซึ่งเป็นโจทย์ที่ผู้เกี่ยวข้องต้องหาแนวทางแก้ปัญหาร่วมกัน เพราะเมื่อดูบ้านใกล้เมืองเคียงอย่างประเทศมาเลเซียเองก็มี ‘เลนมอเตอร์ไซค์’ เป็นช่องทางพิเศษสำหรับผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์โดยเฉพาะ

ขณะเดียวกัน เมื่อมีช่องโหว่ตั้งแต่ต้น การบังคับใช้กฎหมาจราจรเพื่อควบคุมดูแลความปลอดภัยบนท้องถนน จึงกลายเป็นปัญหาตามมา ไม่เพียงข้อบังคับที่ย้อนแย้งในเชิงปฏิบัติ ยังรวมถึงการใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบของผู้บังคับใช้กฎหมายเอง

ล่าสุด กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) ได้ออกข้อบังคับเจ้าพนักงานจราจรในเขตกรุงเทพมหานคร (ชั่วคราว) ว่าด้วยการห้ามรถบางชนิด และล้อเลื่อนลากเข็นเดินบนสะพานข้ามทางร่วมทางแยก และในอุโมงค์ลอดทางแยก พ.ศ.2559 โดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 ห้ามจักรยานยนต์ จักรยานยนต์สามล้อ รถจักรยาน และล้อเลื่อนลากเข็นทุกชนิดวิ่งบนสะพานทางร่วมทางแยก 39 แห่ง และอุโมงค์ 6 แห่ง ในกรุงเทพฯ ซึ่งอยู่ระหว่างช่วงทดลอง 90 วัน ก่อนจะประเมินผล

โดยระบุเหตุผลกำกับไว้ว่า ปัจจุบันมีปริมาณรถมากขึ้นและไม่ได้จัดช่องทางจราจรไว้สำหรับรถที่มีความเร็วต่ำ เช่น รถจักรยานยนต์ รถจักรยาน รถยนต์สามล้อ และล้อเลื่อนลากเข็น ทำให้เกิดความไม่เป็นระเบียบเรียบร้อย รวมทั้งส่งผลกระทบต่อปัญหาจราจร อันเป็นสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุ

ทั้งนี้ สะพานข้ามทางร่วมทางแยก 39 แห่ง ประกอบไปด้วย

1.สะพานยกระดับข้ามแยกคอลงตัน 2.สะพานยกระดับข้ามแยกอโศกเพชร 3.สะพานข้ามแยกรามคำแหง 4.สะพานข้ามแยกประชาสงเคราะห์ 5.สะพานข้ามแยกสามเหลี่ยมดินแดง 6.สะพานข้ามแยกตึกชัย 7.สะพานข้ามแยกราชเทวี 8.สะพานข้ามแยกประตูน้ำ 9.สะพานข้ามแยกยมราช 10.สะพานข้ามแยกกำแพงเพชร 11.สะพานข้ามแยกรัชดา-ลาดพร้าว 12.สะพานข้ามแยกสุทธิสาร 13.สะพานข้ามแยกรัชโยธิน 14.สะพานข้ามแยกประชานุกูล 15.สะพานข้ามแยกวงศ์สว่าง 16.สะพานข้ามแยกวงเวียนบางเขน 17.สะพานยกระดับถนนสุวินทวงศ์ 18.สะพานยกระดับข้ามแยกร่มเกล้า ถนนรามคำแหง 19.สะพานยกระดับข้ามแยกลาดบัวขาว ถนนรามคำแหง 20.สะพานยกระดับข้ามแยกมีนบุรี 21.สะพานข้ามแยกสถานีบรรทุกสินค้าไอซีดี ถนนเจ้าคุณทหาร 22.สะพานข้ามแยกลำสาลี 23.สะพานยกระดับถนนรามคำแหง 24.สะพานข้ามแยกศรีอุดม 25.สะพานข้ามแยกประเวศ 26.สะพานข้ามแยกบางกะปิ 27.สะพานไทย-เบลเยี่ยม 28.สะพานข้ามถนนนางลิ้นจี่ 29.สะพานข้ามแยกรัชดาพระราม 4 30.สะพานภูมิพล 1 31.สะพานข้ามแยกคลองตัน 32.สะพานข้ามแยกศรีนครินทร์ 33.สะพานไทย - ญี่ปุ่น 34.สะพานข้ามแยกบรมราชชนนี 35.สะพานข้ามแยกบางพลัด 36.สะพานข้ามแยกพระราม 2 37.สะพานข้ามแยกตากสิน 38.สะพานข้ามแยกนิลกาจ 39.สะพานข้ามแยกบางพฤกษ์

อุโมงค์ 6 แห่ง ประกอบด้วย

1.อุโมงค์วงเวียนบางเขน 2.อุโมงค์พัฒนาการ - รามคำแหง 24 3.อุโมงค์ทางลอดแยกศรีอุดม 4.อุโมงค์ทางลอดแยกบรมราชชนนี 5.อุโมงค์ทางลอดแยกบางพลัด 6.อุโมงค์ทางลอดแยกท่าพระ

ยกเว้นกรณีบางสะพานที่ไม่สามารถไปทางพื้นราบได้ เช่น สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า ฯลฯ แต่มีข้อแม้ว่ามอเตอร์ไซค์ต้องชิดขอบทางด้านซ้าย เป็นต้น ขณะเดียวกันในเส้นทางผู้ขับขี่สามารถหลีกเลี่ยงใช้เส้นทางอื่นได้ ซึ่งข้อบังคับดังกล่าวจะเริ่มบังคับใช้นับตั้งแต่วันที่ 30 มีนาคม2559 เป็นต้นไป

หากฝ่าฝืนจะถูกจับกุมทันทีและมีอัตราโทษปรับ ตั้งแต่ 500 -1,000 บาท ในข้อหาฝ่าฝืนเครื่องหมายบนพื้นทาง เพื่อความปลอดภัยและลดอุบัติเหตุบนท้องถนน

แม้เป็นข้อบังคับระบุชัดเจนใน พ.ร.บ.จราจรฯ แต่ที่ผ่านมาการบังคับใช้กฎหมายยังอะลุ้มอล่วยต่อผู้กระทำผิด ยังพบผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์ฝ่าฝืนกฎจนเจนตา ทั้งยังมีข้อกังขาเรื่องการปฏิบัติงานของเจ้าพนักงานจราจรที่ไม่โปร่งใส ตั้งด่านจับมอเตอร์ไซค์ฝ่าฝืนขึ้นสะพานข้ามแยกทั้งที ดันไปตั้งดักอยู่อีกฟากฝั่ง งานนี้ก็โดนจับปรับจนอ่วมอรทัย รวมทั้งอุบัติเหตุซิ่งหนีด่านที่ตกเป็นข่าวมานักต่อนักแล้ว
การประกาศใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดในครั้งนี้จึงถูกจับตาเป็นพิเศษ

พล.ต.ต.ปิยะพันธ์ ปิงเมือง รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ออกมาเปิดเผยว่าข้อบังคับที่มีการประกาศใช้นั้นก็เพื่อประโยชน์ต่อตัวผู้ขับขี่เอง แน่นอน เป็นภารกิจสำคัญตามนโยบายของ บิ๊กแป๊ะ - พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ผู้ตระหนักด้านงานจราจรเรื่องการขับขี่ปลอดภัยบนท้องถนน โดยเน้นย้ำว่าตำรวจจราจรมีหน้าที่ 2 ส่วนคือ 1.บังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด 2. ให้บริการประชาชนสัญจรโดยสะดวก

“การที่จะเอารถจักรยานยนต์ขึ้นไปบนสะพาน เวลาเกิดเหตุเฉี่ยวชน ผู้ขับขี่จะเสียเปรียบ เพราะเราทำผิดกฎหมายตั้งแต่ต้น อยากให้ยึดถือกฎหมายเป็นหลัก มันเป็นความปลอดภัยของผู้ขับขี่เอง ไม่มีใครได้ประโยชน์ ผู้ขับขี่เองได้ประโยชน์ ช่วงนี้ใกล้เทศกาลสงกรานต์จึงต้องกวดขันมากขึ้นเพื่อให้อุบัติเหตุบนท้องถนนลดน้อยลง พี่น้องประชาชนจะได้เดินทางไปเที่ยวอย่างมีความสุข”

แต่ผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์ที่ได้รับผลกระทบจากเส้นทางที่มีผลบังคับใช้กฎหมายดูท่าจะไม่เห็นด้วยเสียทีเดียว มีการรวมตัวคัดค้านด้วยการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ ผูกริบบิ้นสีดำ บริเวณด้ามกระจกหรือแฮนด์คันเร่ง

ขณะเดียวกัน สังคมออนไลน์มีการแชร์ภาพมอเตอร์ไซค์จำนวนมากรวมตัวประท้วง ‘ปิดสะพานภูมิพล’ แต่งานนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจพิสูจน์ทราบออกมาเปิดเผยภายหลังว่า ภาพมอเตอร์ไซค์อันเนื่องแน่นนั้น เป็นผลพวงเนื่องมาพวกเขาไม่กล้าลงจากสะพานเพราะมีด่านตรวจจับอยู่บริเวณด้านล่างของอีกฝั่งหนึ่ง

มีข้อมูลเปิดเผยว่าการก่อสร้างสะพานได้ทำไว้รองรับกับรถทุกชนิด ทั้งรถจักรยานยนต์ รถยนต์ และรถบรรทุก แต่จากกายภาพของสะพาน โดยเฉพาะสะพานที่มีความสูงมาก ยกตัวอย่าง สะพานภูมิพล ที่สูงจากพื้นน้ำถึง 50 เมตร ทำให้เป็นอุปสรรคในการขี่รถมอเตอร์ไซค์ เนื่องจากความสูงดังกล่าวทำให้มีลมแรงที่มาจากทั้งอ่าวไทยและรถยนต์ที่วิ่งด้วยความเร็วสูง

ด้าน พล.ต.ต.ปิยะพันธ์ เปิดเผยสาเหตุที่ห้ามมอเตอร์ไซค์ขึ้นสะพานข้ามแยกและอุโมงค์อ้างอิงข้อมูลจากกรมทางหลวงชนบท โดยสำนักก่อสร้างสะพานได้ออกมาชี้แจงว่า สะพานบางแห่งโดยเฉพาะสะพานภูมิพล บริเวณวงแหวนพระประแดง เป็นสะพานที่มีความสูงทำให้เกิดกระแสลมแรงจึงห้ามรถจักรยานยนต์ รถสามล้อ ขับขี่บนสะพานสุ่มเสี่ยงเกิดอันตราย

ทั้งนี้ ผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์สามารถสัญจรทางเรือข้ามฟากแทน จากพระประแดง - ถนนพระราม 3 ใต้สะพานภูมิพล ตรงบริเวณคลองลัดโพธิ์ เพื่อความปลอดภัย เนื่องจากโครงสร้างของสะพานไม่ได้ออกแบบเฉพาะเจาะจงสำหรับรถมอเตอร์ไซค์ และการฝ่าฝืนที่ผ่านมาทำให้เกิดอุบัติเหตุอยู่บ่อยครั้ง ฉะนั้น กรุณาปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด เพราะเป็นกฎหมายที่นำมาบังคับใช้เป็นพื้นฐานการควบคุมความปลอดภัยบนท้องถนน

อย่างไรก็ตาม ผู้ขับขี่จำนวนหนึ่งตั้งคำถามว่า การนำมอเตอร์ไซค์ข้ามเรือนั้นปลอดภัยอย่างที่กล่าวอ้างจริงหรือไม่ ทั้งความแออัดเบียดในช่วงชั่วโมงเร่งด่วน รวมทั้งมีอุปกรณ์ป้องกันใดที่การันตี บางส่วนเกิดคำถามว่าเป็นประชาชนคนไทยเสียภาษีเหมือนกันแต่ทำไมถึงใช้สะพานไม่ได้ ขณะเดียวกัน มรข้อเรียกร้องเรื่อง ‘เลนมอเตอร์ไซค์’ ตามมาด้วย

ที่แน่ๆ งานนี้ทำเอาผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์โอดครวญกันเป็นแถบ เพราะรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจว่า กฎหมายปฏิบัติต่อพวกเขาไม่ต่างจากลูกเมียน้อย อย่างไรก็ตาม ความเคลื่อนไหวของผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง มีการรวมตัวเพื่อคัดค้านข้อบังคับที่ลิดรอดสิทธิของพวกเขา โดยมีแกนนำสำคัญอย่างเฟซบุ๊กดัง ‘ชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม’ เป็นตัวตั้งตัวตีในการเรียกร้องสิทธิและออกแถลงการณ์หลายฉบับ โดยมีเนื้อหา แถลงการณ์ฉบับที่ 1 เรื่อง การยื่นหนังสือต่อผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ความว่า

“เรียนพี่น้องประชาชนและสมาชิกทุกท่าน ตามที่ชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม ได้ประกาศเชิญชวนพี่น้องประชาชนผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ ที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่งของกองบัญชาการตำรวจนครบาล ที่ห้ามรถจักรยานยนต์ขึ้นสะพานและลอดอุโมงค์ ซึ่งในขณะนี้ มีพี่น้องประชาชนผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ได้รับความเดือดร้อนเป็นวงกว้าง ตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก 2522 ปัจจุบัน พ.ศ.2559 เป็นระยะเวลา 37 ปีแล้ว ที่ พ.ร.บ.ฉบับนี้ ไม่มีการแก้ไข และที่สำคัญ คำสั่งฉบับนี้ ไม่ได้มีสถาบันหรือหน่วยงานใด ๆ ของรัฐ นำผลวิจัยการศึกษาเรื่อง การใช้รถจักรยานยนต์ข้ามสะพานหรือลอดอุโมงค์ จะทำให้เกิดอุบัติเหตุ มาประกอบการออกคำสั่ง และไม่ได้มีข้อมูลทางสถิติว่า รถจักรยานยนต์ที่ขึ้นสะพาน หรือลอดอุโมงค์ ประสบอุบัติเหตุได้รับบาดเจ็บ หรือเสียชีวิต กี่ราย มาประกอบการออกคำสั่ง มีแต่คำกล่าวอ้างของผู้ออกคำสั่ง ว่าเป็นรูปของคณะกรรมการ ในการพิจารณาการออกคำสั่ง ซึ่งก็ไม่รู้ว่ามีตัวตนหรือไม่

“ดังนั้น จากการที่ทางชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรมเป็นแกนนำในการเชิญชวนผู้ได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้ ไปยื่นหนังสือต่อท่านผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นผู้ใหญ่ที่รับฟังความเห็นทุกด้าน ที่ประชาชนได้รับความเดือดร้อนมาโดยตลอด แต่โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กลับไม่เคารพความคิดเห็นที่มาจากความเดือดร้อนของประชาชน แถลงข่าวว่า ไม่ทบทวนคำสั่งที่ทำให้ประชาชนผู้ใช้รถจักรยานยนต์เดือดร้อนเป็นวงกว้างจำนวนมาก กลับใช้พฤติการณ์ข่มขู่ประชาชน ที่จะมายื่นหนังสือในวันที่ 5 เมษายน 2559 ด้วยการอ้าง พ.ร.บ.ชุมนุม การมายื่นหนังสือของประชาชนในครั้งนี้ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเมือง แต่เป็นเรื่องของความเดือดร้อนของประชาชนอย่างแท้จริง และประชาชนทุกคน ต่างก็ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ตลอดระยะเวลา ผู้ที่ขับขี่รถจักรยานยนต์ เปรียบเสมือนลูกเมียน้อย ที่ต้องขับขี่รถจักรยานยนต์ชิดซ้าย ตามรถ ขสมก. โดยไม่มีเลนพิเศษให้ เมื่อออกขวา ก็จะถูกตำรวจจราจรจับทันที เมื่อโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้สัมภาษณ์ไปในเชิงข่มขู่ ในการที่จะจัดการกับผู้ที่มายื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรม ให้ทบทวนคำสั่งดังกล่าว”

แม้ข้อห้ามใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก 2522 การนำกฎหมายฉบับเก่ามาใช้เกิดเป็นกระแสวิพากษ์เล็ดลอดออกมาว่าล้าหลังบ้าง ทว่า ข้อมูลเรื่องความปลอดภัยเชิงวิชาการมีการเปิดเผยจาก นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) ความว่า การออกแบบสะพานข้ามแยกมีวัตถุประสงค์เพื่อระบายรถในช่วงที่การจราจรติดขัด ซึ่งมอเตอร์ไซค์สามารถขับลัดเลาะจนอยู่ตำแหน่งด้านหน้าได้ เป็นเหตุผลหนึ่งที่ไม่มีความจำเป็นต้องใช้สะพานข้าม รวมทั้งเหตุผลด้านความปลอดภัย

"การห้ามไม่ให้รถมอเตอร์ไซค์ขึ้นสะพานข้ามแยกเป็นเหตุผลด้านความปลอดภัย เนื่องจากความเร็วของรถยนต์ต่างจากรถมอเตอร์ไซค์ รถยนต์เวลาขับเร็วแล้วเกิดอุบัติเหตุจะมีระบบป้องกันที่ดีกว่า ทั้งเข็มขัดนิรภัย ถุงลมนิรภัย ต่างจากรถมอเตอร์ไซค์ที่แทบไม่มีอะไรป้องกันเลย ยิ่งถ้าสะพานข้ามแยกยาวๆ ปล่อยให้รถมอเตอร์ไซค์วิ่งปนกับรถยนต์จะอันตรายมาก เพราะเวลาถนนโล่ง รถจะวิ่งเร็วมาก ยกตัวอย่างสะพานข้ามแยกรัชโยธิน ทางยาวๆ รถมาเร็วๆ ถ้าเกิดอุบัติเหตุขณะที่มีมอเตอร์ไซค์อยู่บนสะพาน โอกาสที่คนขี่มอเตอร์ไซค์จะบาดเจ็บรุนแรงและเสียชีวิตมีสูงมาก เช่นเดียวกับ กรณีห้ามมอเตอร์ไซค์เข้าช่องทางด่วนและขึ้นบนทางด่วน เพราะไม่สามารถควบคุมความเร็วของรถได้เลย

“ส่วนเรื่องอุโมงค์ลอด ตามหลักวิชาการด้านความปลอดภัยบนท้องถนนระบุว่า เวลากลางวันขณะที่เราขับรถ ม่านตาจะหรี่ลงเพื่อไม่ให้มีแสงเข้ามามากเกินไป พอลงอุโมงค์ ม่านตาจะต้องมีการปรับตัวขยายขึ้นทันที ทำให้สายตาของคนขับรถช่วงนั้นจะเบลอไปประมาณครึ่งวินาที ไม่สามารถโฟกัสวัตถุข้างหน้าได้ ประกอบกับมอเตอร์ไซค์เป็นวัตถุขนาดเล็กไม่เหมือนรถยนต์ที่มีวัตถุขนาดใหญ่ ทำให้มองเห็นไม่ชัด อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุขึ้นได้ นอกจากนี้ยังมีปัจจัยด้านความเร็วด้วย จะสังเกตได้ว่าก่อนลงอุโมงค์ ถนนจะถูกออกแบบให้รถไม่ชลอความเร็วลง เพราะไม่รู้ว่าข้างในอาจมีรถติดหรือมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นหรือเปล่า"

ด้าน ผศ.ดร.วิชุดา เสถียรนาม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดเผยสั้นๆ ว่า ประเด็นที่เกิดขึ้นนั้นต้องย้อนมองปัญหาเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน เพราะประเทศไทยออกแบบถนนเอื้อสำหรับรถยนต์ ขณะเดียวกัน อุบัติเหตุจากการขับขี่มอเตอร์ไซค์เพิ่มสูงขึ้นโดยมีโครงสร้างพื้นฐานเป็นปัจจัยการเกิดอุบัตเหตุ ด้านผู้บังคับใช้กฎหมายอย่างเจ้าหน้าที่ตำรวจ จึงต้องนำมาตรการปลอดภัยมาใช้เพื่อสร้างความปลอดภัยบนท้องถนนให้มากที่สุด ยกตัวอย่าง มอเตอร์ไซค์คันเล็กซอกแซกขึ้นสะพาน แต่ไปอยู่ในตำแหน่งที่รถยนต์มองไม่เห็นยิ่งเกิดเหตุบนสะพานยิ่งอันตรายต่อผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์เอง

อย่างไรก็ตาม ความเคลื่อนไหวจากผู้ได้รับผลกระทบจากข้อบังคับ ห้ามมอเตอร์ไซค์ ขึ้นสะพานทางข้ามและลอดอุโมงค์ ทั้ง 45 จุด ส่วนหนึ่งเข้ายื่นหนังสือฯ ขอผ่อนผันขึ้นสะพานข้ามแยกและลอดอุโมงค์ รวมทั้งมีการรวบรวมรายชื่อ ‘ยื่นฟ้องศาลปกครอง’ ในวันที่ 25 เมษายน 2559 เพราะได้รับผลกระทบจากการออกคำสั่งห้ามของเจ้าหน้าที่ฯ โดยไม่คำนึงถึงความเดือดร้อนของประชาชน

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2546 มีผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ นายธนวัฒน์ เจริญชัยสมบัติ ได้ยื่นฟ้องศาลปกครองเพื่อให้เพิกถอนคำสั่งเจ้าพนักงานจราจร ที่ห้ามรถจักรยานยนต์ขึ้นบนสะพานข้ามแยกในกรุงเทพฯ 27 แห่ง โดยผู้ร้องให้เหตุผลว่าคำสั่งดังกล่าวสร้างภาระให้แก่ผู้ขับขี่เป็นอย่างมาก และเป็นการจำกัดสิทธิของผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์

ต่อมาปี 2551 ศาลได้พิพากษา ‘ยกฟ้อง' โดยมีคำพิพากษาสรุปสาระสำคัญได้ดังนี้ การออกข้อบังคับเจ้าพนักงานจราจร เป็นไปตามอำนาจหน้าที่ตามที่กฎหมาย ส่วนข้ออ้างว่าคำสั่งเป็นการสร้างภาระแก่ผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์ ข้อเท็จจริงของสะพานข้ามสร้างขึ้นเพื่อระบายการจราจรพื้นราบให้คล่องตัวขึ้นไม่ใช่เพื่ออำนวยความสะดวกส่วนตน ขณะเดียวกัน การขับขี่ขึ้นสะพานต้องเร่งเครื่องใช้แรงฉุดมากกว่าปกติ ย่อมเกิดอันตรายแก่ผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์และผู้ขับขี่รถประเภทอื่นๆ

‘โปรดอยู่ในความสงบ’ แล้วเข้าใจเสียหน่อยว่าถนนเมืองไทยไม่ได้ออกแบบมาเพื่อ ‘สิงห์นักบิด’ แถมตัวอย่างการฟ้องร้องก็มีให้ศึกษากันแล้ว งานนี้คงต้องติดตามกันต่อยาวๆ ว่าความเคลื่อนไหวของเครือข่ายผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์จะมีผลกระทบมากพอ ที่จะกระตุ้นให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ออกมาแก้ปัญหาคั่งค้างของโครงสร้างพื้นฐาน อำนวยความสะดวกแก่ผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์ได้หรือไม่?



กำลังโหลดความคิดเห็น