ณ บ้านพระอาทิตย์
โดย...ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
โครงการกำจัดขยะมูลฝอยตกค้างจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งเดิมมีแผนงานจากกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยเลือกการขนส่งขยะมูลฝอยที่สะสมตกค้างกว่า 2 แสนตันของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ไปเผาเพื่อผลิตเป็นพลังงานไฟฟ้าที่โรงปูนซิเมนต์ทีพีไอ อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี ซึ่งใช้งบประมาณ 134 ล้านบาท กลายมาเป็น “เปลี่ยนแผน” ใช้งบประมาณที่เพิ่มขึ้นเป็นกว่า 531 ล้านบาท โดยงบประมาณของกระทรวงมหาดไทย จริงหรือไม่? และด้วยเหตุผลใด?
การเปลี่ยนแผนงานที่ว่านั้นก็คือการขนย้ายขยะมูลฝอยของเก่า ออกจากพื้นที่เดิม 5 กิโลเมตร แล้วทำการฝังกลบ และก่อสร้างสถานที่กำจัดขยะนำร่องแห่งใหม่ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และแทนที่จะมีการจัดจ้างด้วย “วิธีการประกวดราคา” ก็กลับดำเนินการจ้างด้วย “วิธีพิเศษ” (หมายถึงเรียกเจรจาตกลงหรือต่อรองราคา) จำนวนเงิน 369 ล้านบาทให้กับบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวลล็อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) และยังใช้ “วิธีพิเศษ” ในการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดการขยะมูลฝอยให้แก่บริษัท ดีเอวัน จำกัด จำนวน 8.9 ล้านบาท ตลอดจนจัดงบประมาณหาครุภัณฑ์สำหรับโครงการก่อสร้างสถานที่กำจัดขยะนำร่องอีกประมาณกว่า 152 ล้านบาท รวมเป็น 531 ล้านบาท ด้วยเหตุผลใด?
และเพราะเหตุใด ภายหลังการเปลี่ยนแผนงานที่ใช้งบประมาณมากขึ้น และเร่งรีบจัดจ้างด้วย “วิธีพิเศษ”แทนการประกวดราคาในการกำจัดขยะมูลฝอยสะสมที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยานั้น นอกจากนายอภิชาต โตดิลกเวชช์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยาจะไม่ต้องถูกตั้งกรรมการสอบสวนเพื่อหาข้อเท็จจริงใดๆแล้ว ก็กลับได้รับความไว้วางใจจาก กระทรวงมหาดไทย ของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ยิ่งกว่าเดิม ด้วยการแต่งตั้งให้มาเป็นอธิบดีกรมพัฒนาชุมชนในเดือนกันยายน พ.ศ. 2558 อีกด้วย?
ที่เป็นเช่นนั้นได้ก็เพราะแม้แต่ พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ก็น่าจะเห็นดีเห็นงามในการเปลี่ยนแผนงานดังกล่าวด้วยใช่หรือไม่ เพราะพลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา ก็ได้แสดงความเห็นมาก่อนหน้านี้เกี่ยวกับการกำจัดขยะเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2558 ว่า:
“หากต้องการจะดูตัวอย่างก็ได้ มีโครงการนำร่องแล้วที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา”
คำถามที่กล่าวมาข้างต้นแม้จะยังไม่ได้รับคำตอบจากการชี้แจงใดๆ แต่อย่างน้อยก็แสดงให้เห็นว่า ถ้ารัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา มีความห่วงใยในการแก้ไขวิกฤตขยะมูลฝอยจริง การเปลี่ยนแผนและงบประมาณการกำจัดขยะมูลฝอยสะสมตกค้างที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา 224,000 ตัน ก็ย่อมแปลว่า โรงปูนซิเมนต์ทีพีไอก็ย่อมมีกำลังเหลือที่จะรับขยะมูลฝอยตกค้างในที่อื่นๆแทนได้อีกอย่างน้อย 224,000 ตันเช่นเดียวกัน จริงหรือไม่?
โรงปูนซิเมนต์นครหลวง และโรงปูนซิเมนต์ทีพีไอ ซึ่งได้เปลี่ยนแหล่งเชื้อเพลิงเพื่อให้ได้พลังงานความร้อนเพื่อใช้ในการผลิตปูนซิเมนต์จาก “ถ่านหิน” มาเป็น “ขยะ” นั้น วัตถุพลอยได้จากการเผาขยะก็ยังสามารถนำมาใช้เป็นส่วนผสมของปูนซิเมนต์เพื่อลดกากขยะขี้เถ้าหลังการเผาให้ไม่ต้องกองเป็นภูเขาเกินความจำเป็นอีกด้วย
แต่จุดเด่นของการส่งเผาขยะมูลฝอยที่สะสมตกค้าง โรงปูนซิมนต์นครหลวง และโรงปูนซิเมนต์ทีพีไอ ที่เปลี่ยนเชื้อเพลิงเป็นขยะเพื่อทดแทนถ่านหินนั้น คือไม่กระทบต่อผังเมือง ไม่ต้องหาสถานที่ใหม่ในการกำจัดขยะ ไม่ต้องมีการทุจริตซื้อที่ดิน ไม่ต้องสร้างโรงไฟฟ้าขยะในสถานที่ใหม่ ไม่เปลี่ยนผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รัฐบาลไม่ต้องเสียงบประมาณลงทุนเกินความจำเป็น ไม่ต้องมีประชาชนเดือดร้อนออกมาประท้วงต่อต้าน และสามารถดำเนินการกำจัดขยะได้โดยทันที ไม่ต้องรอความล่าช้าในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะแห่งใหม่
แต่โรงปูนซิเมนต์ทีพีไอ ที่อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรีนั้น สามารถต่อยอดจนขยายการเผาขยะเพิ่มขึ้นไปเป็นการผลิตกระแสไฟฟ้าได้อีกด้วย โดยทุกวันนี้มีความสามารถที่จะรับขยะได้ถึงวันละ 5,000-6,000 ตัน ซึ่งถ้าผลิตเต็มความสามารถในปลายปี 2559 แล้วก็จะสามารถผลิตไฟฟ้าได้สูงถึง 160 เมกะวัตต์
แต่ใครจะเชื่อว่าในขณะที่รัฐบาลกำลังบอกว่าขยะล้นประเทศ และเป็นวาระแห่งชาติที่ต้องเร่งกำจัด แต่กลับปรากฏว่าขยะมูลฝอยที่ส่งให้โรงปูนซิมนต์ทีพีไอเผานั้นกลับมีเพียงวันละ 1,000 ตันเท่านั้น และยังเหลือความสามารถในการเผาขยะได้อีกวันละ 4,000-5,000 ตัน !!!
ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น?
ปัญหาสำคัญส่วนหนึ่งของขยะ ก็คือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นบางแห่ง เพลิดเพลินกับการใช้งบประมาณกำจัดขยะเอง เพราะปริมาณขยะเป็นอะไรที่ตรวจสอบได้ยาก มลพิษที่เกิดขึ้นก็ไม่ได้เอื้ออำนวยให้มีการตรวจสอบได้ง่าย แถมยังมีการเกิดเพลิงไหม้ขยะอยู่เป็นประจำ (ทั้งอุบัติเหตุและจงใจ) ดังนั้นการใช้งบประมาณเพื่อกำจัดขยะไม่ว่าจะฝังกลบหรือเผาทำลายนั้น ก็มีโอกาสทุจริตฉ้อราษฎร์บังหลวงกับงบประมาณที่ได้ง่ายกว่าโครงการอย่างอื่น จริงหรือไม่?
ยิ่งถ้ามีการจัดจ้างกำจัดขยะโดยวิธีพิเศษ ก็จะยิ่งเกิดโอกาสรั่วไหลได้ง่ายมากขึ้น เพราะจะไม่มีการเปรียบเทียบจากการแข่งขันในราคาตลาดโดยวิธีประกวดราคาให้มาอ้างอิง จริงหรือไม่?
ดังนั้นจึงเกิดปัญหาที่ซ่อนเร้นอยู่ คือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นบางแห่ง “หวงขยะ” เพราะมันเป็นแหล่งทำมาหากินอันสำคัญของนักการเมืองท้องถิ่นและข้าราชการท้องถิ่นบางกลุ่ม รวมถึงนักการเมืองระดับชาติบางคนด้วย
ด้วยเหตุผลนี้โรงปูนซิเมนต์ทีพีไอจึงประกาศ “รับซื้อขยะ” ทั่วประเทศ โดยถ้าเป็นขยะที่ไม่ได้แยกมาก็ซื้อราคาตันละประมาณ 150 บาท ถ้าขยะอยู่ไกลหน่อยก็รับซื้อแบบเพิ่มค่าขนส่งให้เป็นราคาตันละ 300 บาท และหากมีการคัดแยกขยะแล้วก็ขึ้นอยู่กับวัตถุดิบที่ให้ปริมาณความร้อน ถ้าการให้ความร้อนสูงก็อาจจะรับซื้อถึง 800-900 บาทต่อตัน ซึ่งทุกวันนี้ก็มีการขนส่งขยะไปขายที่โรงปูนซิเมนต์ทีพีไอ แม้จะมีระยะทางไกลถึงจังหวัดชลบุรีก็ยังส่งมาเผาที่โรงปูนซิเมนต์ทีพีไอได้ ทั้งๆที่ระยะทางห่างกันมากกว่า 200 กิโลเมตร
ลองคิดดูว่าถ้าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่ต้องเสียงบประมาณมาทำลายขยะเอง และใช้วิธีเสียงบประมาณขนส่งไปที่โรงปูนซิเมนต์ และได้รับเงินค่าขยะอีกต่างหากนั้น ถือว่าน่าจะได้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ในการการประหยัดงบประมาณแผ่นดินเพื่อกำจัดขยะ
ดังนั้นความจริงแล้วไม่ต้องมาถกเถียงทะเลาะกับชาวบ้าน เรื่องโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะกับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ที่ ตำบลเชียงรากใหญ่ อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี ที่จะรวมขยะ 64 แห่ง วันละ 1,500 ตัน มาป้อนให้โรงไฟฟ้าขยะเชียงรากใหญ่ (ซึ่งใกล้กับแหล่งน้ำดิบในการผลิตน้ำประปาของกรุงเทพมหานครเพียง 1 กิโลเมตร) เพราะถ้ากระทรวงมหาดไทยเปลี่ยนแผนงานการกำจัดขยะที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาแล้ว ก็แปลว่า โรงปูนซิเมนต์ทีพีไอ ก็สามารถกำจัดขยะที่อื่นๆแทนขยะพระนครศรีอยุธยาที่หายไปจากการเปลี่ยนแผนของกระทรวงมหาดไทยได้ถึง 224,000 ตัน ภายใน 6 เดือน เช่นกัน และยังเหลือกำลังการกำจัดขยะมากเกินกว่าวันละ 1,800 ตัน ได้อีกด้วย และเชื่อว่าน่าจะเจรจากับปูนซิเมนต์ทีพีไอในการรับซื้อเพื่อชดเชยช่วยค่าขนส่งให้กับแผนขยะที่จังหวัดปทุมธานีได้อีกด้วย
ที่ต้องคำนึงถึงอันตรายจากโรงไฟฟ้าเชียงรากใหญ่ให้มากๆ ก็เพราะ เมื่อวันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2559 นายชัยวัฒน์ วรพิบูลพงศ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการประปานครหลวง ในฐานะตัวแทนของสหภาพแรงงานของการประปานครหลวง ได้พูดเอาไว้ในเวทีเสวนาวิชาการ "ธรรมาภิบาลเพื่อการจัดการขยะอย่างยั่งยืน : กรณีศูนย์กำจัดขยะและโรงไฟฟ้าเชียงรากใหญ่" จัดโดย มูลนิธิบูรณะนิเวศ วิทยาลัยป๋วย อึ้งภากรณ์ คณะสังคมวิทยาและมนุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวเอาไว้ความตอนหนึ่งว่า:
"จุดที่ตั้งของโครงการนี้อยู่ห่างจากแห่งน้ำดิบสำแล ที่ใช้ผลิตน้ำประปาให้กรุงเทพมหานครเพียง 1 กิโลเมตร จึงมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดการปนเปื้อน โดยเฉพาะในช่วงน้ำท่วม และอาจส่งผลให้คุณภาพน้ำที่จะใช้ผลิตน้ำประปามีคุณภาพต่ำ กระทบต่อชาวกรุงเทพมหานครกว่า 12 ล้านคนที่บริโภคน้ำประปา
ผมไม่เห็นด้วยกับการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะที่เชียงรากใหญ่ เพราะพื้นที่ดังกล่าวนั้นเป็นแหล่งผลิตน้ำประปาที่สำคัญที่สุดให้กับกรุงเทพฯ วันนี้เรามีน้ำดิบที่มีคุณภาพระดับโลก หล่อเลี้ยงคนกรุงเทพฯหลายสิบล้านคน แต่จะเอาโรงไฟฟ้าขยะมาตั้งใกล้กับแหล่งน้ำ โดยไม่ได้คำนึงว่าผลกระทบจะเกิดอะไรบ้าง เอาแค่สารตัวเดียวที่เผาออกมา ซึ่งขอเรียกง่ายๆว่า สารก่อมะเร็ง แค่ตัวนี้ตัวเดียวก็พอ ถามว่าคนกรุงเทพฯ ยอมให้มีการสร้างได้หรือไม่"
ยิ่งทุกวันนี้ขยะระยะทางไกลจากชลบุรียังส่งไปเผาที่โรงปูนซิเมนต์ทีพีไอที่จังหวัดสระบุรีได้ เหตุใดจะส่งขยะจากปทุมธานีไปเผาที่โรงปูนซิเมนต์จังหวัดสระบุรี ซึ่งใกล้กว่ามากจะทำไม่ได้ จริงไหม?
และเนื่องจากโรงปูนซิเมนต์ทีพีไอมีขยะไม่พอที่จะเผา และความสามารถในการเผาขยะยังมีเหลือมากถึงวันละ 4,000-5,000 ตัน ที่ผ่านมาโรงปูนซิเมนต์ทีพีไอจึงได้เคยแจ้งความจำนงขอซื้อขยะจากกรุงเทพมหานคร ตันละ 300 บาท แต่กรุงเทพมหานครไม่ขายขยะให้ แต่ใช้เลือกงบประมาณรายจ่ายจ้างส่งไปฝังกลบที่จังหวัดอื่นแทน โดยมีการส่งตีความซึ่งได้ผลแบบแปลกประหลาดว่าขยะที่ไม่มีการใช้ประโยชน์จึงถูกทำลายด้วยงบประมาณรายจ่ายได้ แต่ถ้าหากจะนำขยะไปสร้างประโยชน์ใดๆแล้วให้ถือเป็นทรัพย์สินและเมื่อมีมูลค่าเกิน 1,000 ล้านบาท จะต้องให้เอกชนดำเนินการตามขั้นตอนของ พระราชบัญญัติ การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ ซึ่งจะต้องผ่านการคัดกรองหลายขั้นตอน ดังนั้นกรุงเทพมหานครจึงไม่สามารถขายให้เอกชนได้
แปลกไหม? ขยะถูกกำจัดโดยใช้งบประมาณรายจ่ายสิ้นเปลืองโดยรัฐทำได้ แต่เอกชนจะมาซื้อขยะไม่ต้องเสียเงินและยังแถมเงินให้กลับขายไม่ได้ ทั้งๆที่ในความเป็นจริงก็มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหลายจังหวัดก็ใช้งบประมาณขนส่งขยะไปเผาและขายให้ที่โรงปูนซิเมนต์ทีพีไอได้
ถ้าพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เห็นว่าขยะล้นประเทศเป็นวิกฤติที่ต้องเร่งแก้ไขจริง ก็ควรจะใช้คำสั่งมาตรา 44 ตามรัฐธรรมนูญ ปลดล็อคข้ออ้างการหวงขยะเป็นสิ่งแรก และให้เปิดประมูลขยะตกค้างทั้งหลาย เพื่อทำลายหรือแปรรูปอย่างถูกสุขลักษณะ ให้เกิดความโปร่งใสอย่างแท้จริง จะดีกว่าหรือไม่?
และจะดีกว่าหรือไม่ที่กระทรวงมหาดไทยจะเลิกยึดติดหลักคิดหรือนโยบายว่าให้กำจัดขยะหรือสร้างโรงไฟฟ้าขยะในรัศมีไม่เกิน 4 กิโลเมตร เพื่อให้เกิดการแข่งขันการกำจัดขยะอย่างเสรีโดยไม่ต้องล็อกสเปคเรื่องระยะทาง
เพราะช่องว่างการทุจริตจึงเกิดในอีกรูปแบบหนึ่งที่เอาประโยชน์ทั้งขึ้นทั้งร่องที่หนักกว่านั้น คือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นบางแห่งเสียงบประมาณทำการจัดจ้างเอกชนไปกำจัดขยะ แต่เอกชนเหล่านั้นแทนที่ได้งบประมาณไปกำจัดขยะ แต่กลับขนส่งขยะไปขายต่อให้โรงปูนซิเมนต์ทีพีไอเผาอีกต่อหนึ่ง
ผลก็คือเกิดการเสียงบประมาณซ้ำซ้อน นอกจากงบประมาณของรัฐจะเข้ากระเป๋าเอกชนเต็มๆ โดยไม่ได้เกิดรายจ่ายการกำจัดขยะตามวัตถุประสงค์ของงบประมาณแล้ว ส่วนแบ่งผลประโยชน์ใต้โต๊ะข้าราชการและนักการเมืองก็มากขึ้นไปด้วย และแถมได้เงินจากการขายขยะให้โรงปูนซิเมนต์ทีพีไออีกต่อหนึ่ง
และนี่คือเหตุผลว่าทำไม “องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นบางแห่งถึงต้องหวงขยะ”ต่อไป และมีแรงจูงใจให้รายงานยอดขยะล้นเมืองเกินความเป็นจริงให้มากๆไว้ก่อน จริงหรือไม่ !!!?
แต่อีกรูปแบบหนึ่งของการหวงขยะที่มองข้ามไปไม่ได้ คือ บางจังหวัดมีการใช้งบประมาณโกงปริมาณการกำจัดขยะมากๆ จนน่าเกลียด เอกชนที่ได้รับงบประมาณจึงไม่ส่งขยะให้โรงปูนซิเมนต์ทีพีไอ เพราะจะเกิดการตรวจสอบชั่งน้ำหนักแล้วมาชนยอดจนรู้ความลับว่าขยะที่รายงานในการเบิกเงินงบประมาณนั้นมันมากกว่าความเป็นจริงอย่างมหาศาล!!!
จึงอย่าเพิ่งแปลกใจถ้าจะมีเหตุเพลิงไหม้ตามบ่อขยะทั่วประเทศหลายครั้ง เพราะนอกจากอุบัติเหตุเพลิงไหม้ขยะเพราะมีก๊าซชีวภาพเกิดขึ้นแล้ว ก็อาจจะถูกตั้งข้อสังเกตและคำถามถึงการวางเพลิงเพื่อทำลายหลักฐาน เหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นกับสต๊อกในโกดังข้าว ลำไย ฯลฯ ได้หรือไม่?
การโกงขั้นสำคัญอีกประการหนึ่ง คือการที่นักการเมืองหรือผู้ทรงอิทธิพลในท้องถิ่น ดำเนินการกว้านซื้อที่ดินราคาถูกๆเพื่อผูกขาดการขายที่ดินในพื้นที่เป้าหมายที่จะทำโรงไฟฟ้าขยะและโรงไฟฟ้าทุกประเภท กลุ่มคนเหล่านี้หูตาไว หรือไม่ก็ได้รับสัญญาณรู้ไส้ล่วงหน้าว่าจะใช้พื้นที่ใด และจะมีสารพัดมาตรการในการปลดล็อกผังเมืองให้กับธุรกิจอะไร จะปลดล็อกการจัดทำรายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (EIA)แบบไหน และจะปลดล็อกสารพัดสิทธิชุมชนอย่างไร เมื่อร่วมมือกับทหารบางกลุ่มที่ตกเป็นเครื่องมือ รวมถึงกลุ่มอันธพาลท้องถิ่นในการข่มขู่ปิดปากปิดเสียงประชาชน ก็ยิ่งทำให้ที่ดินที่เคยกว้านซื้อมานั้นได้ราคาที่ดินสูงขึ้นเพราะเหตุว่าโรงไฟฟ้าที่จะกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและประชาชนเป็นไปได้และสะดวกง่ายมากขึ้น จริงไหม?
และอย่าแปลกใจเลยว่าคนที่กว้านซื้อที่ดินที่นำมาให้โรงไฟฟ้าทุกประเภทซื้อต่ออีกทอดหนึ่งนั้น จะมีคนแวดวงนักการเมืองหลายกลุ่มทั่วประเทศได้รับประโยชน์หรือเกี่ยวข้องไปด้วย จึงไม่ควรจะแปลกใจว่าทำไมประชาชนตาดำๆจึงแทบไม่เห็นนักการเมืองออกมาเป่านกหวีดเคลื่อนไหวปกป้องในเรื่องสิทธิชุมชน ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และสุขภาพของประชาชนจากโครงการสารพัดโรงไฟฟ้าและขยะเลย
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้กล่าวในรายการ “คืนความสุขให้คนในชาติ” ความตอนหนึ่งเมื่อวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2559 ว่า:
“วันนี้ไม่ว่าจะเพื่อนหรือใครก็แล้วแต่ ถ้าทุจริตผมไม่ละเว้น”
ลงมือทำเรื่องกำจัดขยะและโรงไฟฟ้าขยะให้โปร่งใสเป็นบุญตา ให้รู้ว่าที่พูดนั้นทำจริง!!!