xs
xsm
sm
md
lg

เปิดรายงาน 3 ฉบับ “สตง.-ผู้ตรวจ สปน.” พบโครงการบริหารจัดการขยะมูลฝอย มหาดไทย มีกลิ่น!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เปิดรายงาน 3 ฉบับ “สตง.-ผู้ตรวจ สปน.” พบโครงการบริหารจัดการขยะมูลฝอย มหาดไทย มีกลิ่น 2 โครงการเดิมยุค 10 ปีก่อน ส่งข้อมูลถึง รมว.มหาดไทย ช่วยแก้ไขปัญหา-เอาผิดต่อผู้ที่เกี่ยวข้อง เป็น 2 โครงการ บ่อฝังกลบขยะมูลฝอย เทศบาลเมืองเดชอุดม 64.07 ล้าน ที่สร้างผิดวัตถุประสงค์ และบ่อกำจัดขยะเทศบาลนครอุบลราชธานี 75.24 ล้านบาท เสร็จปี 2542 แต่ใช้ประโยชน์ไม่ได้ ด้านรายงานโครงการจัดการขยะมูลฝอยและสิ่งแวดล้อม “ผู้ตรวจ สปน.” พบปัญหาเฉพาะพื้นที่ ทำรัฐเสียประโยชน์ 2,577.5314 ล้านบาท

วันนี้ (20 ก.พ.) มีรายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้เผยแพร่รายงาน 2 ฉบับว่าด้วย โครงการการบริหารจัดการขยะมูลฝอย ของกระทรวงมหาดไทยงบประมาณ ประกอบด้วย 1. รายงานการตรวจสอบการดำเนินงานโครงการการบริหารจัดการขยะมูลฝอย ของ เทศบาลนครอุบลราชธานี กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทยงบประมาณ จำนวนทั้งสิ้น 75.24 ล้านบาท และ 2. โครงการการบริหารจัดการขยะมูลฝอยของเทศบาลเมืองเดชอุดม กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย งบประมาณ จำนวน ทั้งสิ้น 64.07 ล้านบาท

อ่านรายงานฉบับเต็ม http://www.oag.go.th/th/inspection-results

บ่อฝังกลบขยะมูลฝอย เทศบาลเมืองเดชอุดม 64.07 ล้าน สร้างผิดวัตถุประสงค์

รายงานฉบับแรก รายงานเมื่อ 1 ก.พ. 2560 ระบุถึงโครงการก่อสร้างระบบบ่อกำจัดขยะมูลฝอยแบบฝังกลบ เทศบาลเมืองเดชอุดม จังหวัดอุบลราชธานี จากการตรวจสอบการดำเนินงานโครงการ พบว่า มีประเด็นข้อตรวจพบจำนวน 1 ประเด็น และ 2 ข้อสังเกตดังนี้

ข้อตรวจพบที่ 1 ประชาชนในพื้นที่ส่วนใหญ่คัดค้านไม่ให้เทศบาลเมืองเดชอุดม นำขยะมาทิ้งในโครงการ

ข้อสังเกตที่ 1 การสำรวจความคิดเห็นของประชาชนไม่ถูกต้อง

ข้อสังเกตที่ 2 การก่อสร้างบางรายการไม่เป็นไปตามแบบรูปรายการและเงื่อนไขสัญญาจ้าง ซึ่งสรุปรายละเอียดได้ดังนี้

ข้อตรวจพบที่ 1 ประชาชนในพื้นที่ส่วนใหญ่คัดค้านไม่ให้เทศบาลเมืองเดชอุดม นำขยะมาทิ้งในโครงการ

การดำเนินโครงการฯ ของเทศบาลเมืองเดชอุดมจะต้องเป็นไปตามแนวทางของ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 67 ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วย การรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ. 2548 มติของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2551 ลงวันที่ 18 มิถุนายน 2551 ครั้งที่ 2/2551 ลงวันที่ 18 มิถุนายน 2551 ได้กำหนดให้ โครงการของเทศบาลเมืองเดชอุดมที่ผ่านการเห็นชอบให้สนับสนุนงบประมาณภายใต้แผนปฏิบัติการ เพื่อการจัดการสิ่งแวดล้อมในระดับจังหวัด ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2552 จัดให้มีการรับฟังความ คิดเห็นจากประชาชนตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ. 2548 และคู่มือการจัดทำโครงการศึกษาความเหมาะสมและออกแบบรายละเอียดระบบจัดการ มูลฝอยแบบครบวงจร สำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ตามหนังสือสำนักนโยบายและแผน สิ่งแวดล้อม ที่ สผ วว 0802/12377 ลงวันที่ 14 สิงหาคม 2539) รวมทั้งสัญญาจ้างที่ปรึกษาเพื่อศึกษาความเหมาะสมและออกแบบฯ เลขที่ 1/2550 ลงวันที่ 10 มกราคม 2550 ผู้รับจ้าง บริษัท เอ็นทิค จำกัด ในสัญญากำหนดขอบเขตการศึกษาที่เกี่ยวข้อง ดังนี้ ข้อ 2.1.2 พื้นที่ศึกษาเป็นพื้นที่ที่จะใช้ ดำเนินการจัดทำระบบจัดการมูลฝอย และข้อ 2.2.1 ข้อ 9 เพื่อให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องและผู้มีส่วนได้ส่วน เสียมีส่วนร่วม มีการยอมรับและมีส่วนรับผิดชอบในการดำเนินโครงการ

ผลการตรวจสอบ โครงการก่อสร้างระบบกำจัดขยะมูลฝอยเพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณภายใต้ แผนปฏิบัติการเพื่อการจัดการสิ่งแวดล้อมในระดับจังหวัด ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2552 โดยมี วัตถุประสงค์ของโครงการเพื่อปรับปรุงสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยเดิมเป็นระบบกำจัดขยะมูลฝอยที่ ถูกต้องตามหลักสุขาภิบาลและเพื่อให้สามารถรองรับมูลฝอยของเทศบาลและองค์การบริหารส่วน ตำบลข้างเคียงได้ ตามแนวทางของคู่มือการจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อการจัดการสิ่งแวดล้อมในระดับจังหวัด ประจำปีงบประมาณ 2552 ระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และได้รับจัดสรรงบประมาณ เพื่อดำเนินการก่อสร้าง จำนวน 64.07 ล้านบาท เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 5 กันยายน 2555 ณ วันที่ตรวจสอบโครงการฯ ยังก่อสร้างไม่แล้วเสร็จ คงเหลืองานงวดสุดท้าย วงเงิน 2,300,760.00 บาท ได้แก่ งานก่อสร้างคันทาง ลงถนนลูกรังทุกสายในโครงการ ระบบระบายน้ำ งานรั้วลวดหนามและงาน ปรับภูมิทัศน์ภายในโครงการ

จากการตรวจสอบเอกสาร สังเกตการณ์งานก่อสร้าง สอบทานแบบสอบถามและสอบถามผู้ที่มีส่วนได้เสียในพื้นที่ตำบลกลาง พบว่า ประชาชนในพื้นที่ส่วนใหญ่คัดค้านไม่ให้เทศบาลฯ นำขยะมูล ฝอยมาทิ้งในโครงการ และในพื้นที่ตำบลกลาง โดยไม่มีเงื่อนไข ดังนี้

1. ผู้บริหารองค์การบริหารส่วนตำบลกลาง ตำบลกลาง อำเภอเดชอุดม เป็นหน่วยงานราชการส่วนท้องถิ่นเจ้าของพื้นที่โครงการก่อสร้างระบบกำจัดขยะมูลฝอยของเทศบาลเมืองเดชอุดม มีหนังสือจากนายกองค์การบริหารส่วนตำบล (นายทนงศักดิ์ ลาภาพันธ์) เลขที่ อบ 74201/1024 ลง วันที่ 28 เมษายน 2559 แจ้งว่าไม่ยินยอมให้เทศบาลเดชอุดม นำขยะมาทิ้งในพื้นที่โครงการ ไม่ ต้องการชดเชยเยียวยาทุกชนิด ไม่มีหน่วยงานใดที่สามารถเจรจาเพื่อหาข้อสรุปและแนวทางแก้ไขให้ บ่อกำจัดขยะมูลฝอยของเทศบาลเมืองเดชอุดมสามารถเปิดใช้งานได้อย่างแน่นอน และจะดำเนินการ ต่อต้านทุกรูปแบบ เนื่องจากสถานที่ก่อสร้างไม่มีความเหมาะสมที่จะก่อสร้างขยะมูลฝอยตั้งแต่แรก และมีข้อเสนอแนะให้เทศบาลฯ ควรนำไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นๆ

2. สมาชิกสภาขององค์การบริหารส่วนตำบล กำนันและผู้ใหญ่บ้านทุกหมู่บ้านในพื้นที่ตำบล กลางที่ดำรงตำแหน่งในปี 2559 และก่อนปี 2559 ได้ร่วมประชุมกับเจ้าหน้าที่ตรวจสอบของสำนักงาน การตรวจเงินแผ่นดิน เมื่อวันที่ 16-17 พฤษภาคม 2559 เวลา 08.30-12.00 น. ณ ห้องประชุมสภาของ องค์การบริหารส่วนตำบลกลาง มีข้อสรปุการประชุมเป็นเอกฉันท์ว่าไม่ให้เทศบาลเมืองเดชอุดมนำขยะ มาทิ้งในพื้นที่โครงการ เนื่องจากบ่อกำจัดขยะมูลฝอยและเส้นทางขนส่งขยะมูลฝอยอยู่ใกล้ชุมชน/โรงเรียน และมีที่นาของประชาชนอยู่ติดกับบ่อขยะจำนวน 15 แปลง รวมทั้งมีความเห็นให้เทศบาลฯ นำโครงการพื้นใช้ประโยชน์อย่างอื่น เช่น สวนสาธารณะ บ่อเลี้ยงปลา หรืออื่นๆ ตามความเหมาะสมที่ ไม่ใช่การกำจัดขยะมูลฝอย เป็นต้น

3. ประชาชนในพื้นที่ที่มีส่วนได้เสียกับโครงการส่วนใหญ่ไม่ต้องการให้เทศบาลฯ นำขยะเข้ามาทิ้งในพื้นที่โครงการ จากการตรวจสอบประชาชนในพื้นที่โครงการ 6 หมู่บ้านที่มีผลกระทบต่อการนำขยะมาทิ้งในโครงการ ได้แก่ หมู่ที่ 1 หมู่ที่ 2 หมู่ที่ 8 หมู่ที่ 11 หมู่ที่ 14 และหมู่ที่ 15 โดยใช้วิธี ตรวจสอบความถูกต้องของแบบลงความคิดเห็นในโครงการก่อสร้างระบบกำจัดขยะมูลฝอย และสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมผู้ตอบแบบลงความคิดเห็นฯ ดังกล่าว จากการตรวจสอบแบบลงความคิดเห็นของประชาชนที่เห็นด้วยกับโครงการทั้งหมด จำนวน 353 ราย สามารถมาให้ข้อมูลกับเจ้าหน้าที่ตรวจสอบได้จำนวน 165 ราย พบว่ามีประชาชนในพื้นที่เพียง 7 รายที่ยินยอมให้เทศบาลฯ นำขยะมาทิ้งในพื้นที่โครงการได้ คิดเป็นร้อยละ 4.24 ของจำนวนประชาชนที่มาให้ข้อมูล และประชาชนส่วนใหญ่ในพื้นที่คัดค้านไม่ให้นำขยะมาทิ้งในโครงการ จำนวน 158 ราย คิดเป็นร้อยละ 95.74 ของจำนวนประชาชนที่มาให้ข้อมูล

ผลกระทบ 1. การดำเนินโครงการก่อสร้างระบบกำจัดขยะมูลฝอยของเทศบาลเมืองเดชอุดม มีความล่าช้ากว่า แผนที่กำหนด ซึ่งตามแบบเสนอโครงการกำหนดระยะเวลาแล้วเสร็จปีงบประมาณ 2552 และผูกพัน งบประมาณปีงบประมาณ 2552-2553 (ตามแผนที่ได้รับการสนับสนุนและแผนปฏิบัติการสิ่งแวดล้อม) ปัจจุบันผู้รับจ้างยังก่อสร้างไม่แล้วเสร็จตามสัญญาและยังไม่สามารถทดลองระบบฝังกลบขยะมูลฝอยได้ คิดเป็นระยะเวลา 6 ปี นับจากปีงบประมาณ 2553 ถึงปีงบประมาณ 2559

2. เกิดความขัดแย้งและขาดความสามัคคีของประชาชนที่อาศัยอยู่ในเขตพื้นที่ตำบลกลาง ระหว่าง ประชาชนผู้ที่เห็นด้วยกับการดำเนินโครงการกับประชาชนผู้ไม่เห็นด้วยในการดำเนินโครงการก่อสร้าง ระบบกำจัดขยะมูลฝอยของเทศบาลเมืองเดชอุดม ส่งผลกระทบต่อทัศนคติของประชาชนที่ได้รับความ เดือดร้อนจากการกำจัดขยะมูลฝอยที่ไม่ถูกวิธีและหลักสุขาภิบาล หรือจากการที่ได้รับข้อมูลข่าวสาร ในเรื่องความเดือดร้อนจากขยะมูลฝอยทางสื่อสารมวลชน และประชาชนขาดความเชื่อมั่นในการกำจัด ขยะมูลฝอยของหน่วยงานภาครัฐ ส่งผลให้การจะเข้าไปใช้ประโยชน์ในโครงการดังกล่าวเป็นไปได้ยากยิ่งขึ้น

3. ส่งผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม เนื่องจากการก่อสร้างระบบกำจัดขยะมูลฝอยของเทศบาลเมืองเดชอุดม ไม่สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ของโครงการในการนำขยะมูลฝอยไปกำจัดได้ตามหลักสุขาภิบาลและไม่สามารถเป็นศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยรวมแห่งที่ 6 จังหวัดอุบลราชธานี ตามเจตนารมณ์ ของกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ส่งผลให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นที่เป็นกลุ่มร่วมเครือข่าย (Culster) สูญเสียโอกาสที่จะเข้าร่วมทิ้งขยะมูลฝอยอย่างถูก สุขลักษณะ จำนวน 36 แห่ง

4. องค์กรปกครองท้องถิ่นอื่นที่มีความพร้อมสูญเสียโอกาสในการใช้งบประมาณเพื่อก่อสร้างระบบกำจัดขยะมูลฝอย และส่งผลให้เทศบาลเมืองเดชอุดมต้องสูญเสียงบประมาณตั้งแต่ปี 2552-2558 จำนวนเงินทั้งสิ้น 2.85 ล้านบาท ในการนำขยะมูลฝอยไปกำจัดที่เทศบาลเมืองวารินชำราบ อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งมีระยะทางห่างจากเทศบาลเมืองเดชอุดมประมาณ 45 กิโลเมตร

ทั้งนี้ โครงการนี้ก่อสร้างตั้งแต่ปี 2555 กำหนดเสร็จเดือนมิถุนายนปี 2557 แต่ปัจจุบันยังไม่เสร็จ เพราะชาวบ้านไม่มั่นใจกับระบบ จึงคัดค้าน ปัญหาเกิดขึ้นตอนนี้ยังไม่มีการขยายสัญญา แต่มีการแก้ไขแบบก่อสร้างบางส่วน ทั้งนี้ เทศบาลนครอุบลราชธานี ระบุว่าระหว่างนี้ ได้ให้ผู้รับจ้างหยุดงานไปก่อน ยังเหลืองวดงานสุดท้ายยังไม่ส่งมอบค่างานกว่า 2 ล้านบาท เป็นงานคันดิน ถนนดิน รั้วรอบโครงการ ซึ่งไม่ใช่งานหลักที่เป็นงานระบบกำจัดขยะ

รายงานของ สตง.ระบุถึงความบกพร่องในงานก่อสร้างบ่อฝังกลบขยะมูลฝอย ของเทศบาลเมืองเดชอุดม พบว่า ทำไม่ถูกต้องตามรูปแบบ จึงเกิดความชำรุด และผู้รับจ้างยอมรับทำผิดจริง แต่เหตุใดคนคุมงานจึงตรวจรับมอบงาน ถือว่าทำผิดแบบแผนราชการอยู่ในความรับผิดชอบของคนคุมงานและผู้รับจ้าง

ขณะที่ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาขยะ ได้ยื่นร้องขอให้ศาลปกครองตัดสินชี้ขาดประเด็นให้ยกเลิกโครงการ แต่ศาลปกครองชั้นต้นยกคำร้อง จึงอุทธรณ์ศาลปกรองสูงสุดรอการตัดสินคดี โครงการนี้จัดทำประชาคมโดยอำเภอเดชอุดม โดยผู้ว่าราชการจังหวัดขณะนั้นสั่งการให้อำเภอเดชอุดมเร่งแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น แต่ยังไม่สำเร็จ เพราะยังมีชาวบ้านคัดค้าน คือขยะในชุมชนเขาจัดการกันเองได้ แต่นี่นำขยะจากชุมชนอื่นมาทิ้ง เขาเลยคัดค้าน ที่สำคัญจุดที่ก่อสร้างบ่อฝังกลบขยะอยู่ในที่สูง ชาวบ้านจึงกังวลว่า น้ำเสียจากขยะจึงซึมไหลเข้าสู่แหล่งน้ำและพื้นที่การเกษตรของชาวบ้าน

 
 
บ่อกำจัดขยะเทศบาลนครอุบลราชธานี 75.24 ล้านบาท เสร็จปี 2542 ใช้ประโยชน์ไม่ได้

รายงานอีกฉบับ รายงานเมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2560 ระบุถึงโครงการบ่อกำจัดขยะเทศบาลนครอุบลราชธานี จากการตรวจสอบการดำเนินงานโครงการก่อสร้างระบบกำจัดขยะมูลฝอยเทศบาลนคร อุบลราชธานี พบว่า มีประเด็นข้อตรวจพบ จำนวน 1 ประเด็น ดังนี้

1. การก่อสร้างบ่อกำจัดขยะมูลฝอยของเทศบาลนครอุบลราชธานี ไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้และสิ่งก่อสร้างชำรุดสูญหาย การดำเนินโครงการก่อสร้างระบบกำจัดขยะ ต้องเป็นไปตามวัตถุประสงค์หลักเพื่อ การกำจัดขยะมูลฝอยเป็นไปอย่างถูกต้องตามหลักสุขาภิบาล และเพื่อกำจัดขยะให้มีประสิทธิภาพมาก ขึ้น และเป็นไปตามหนังสือกระทรวงมหาดไทย ที่ มท 0413/ว 984 ลงวันที่ 14 กรกฎาคม 2531 เรื่องการรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อย มีหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องในการออกแบบวิธีการ กำจัดขยะมูลฝอยแบบฝังกลบ ได้แก่ การเลือกพื้นที่ ต้องไม่เป็นพื้นที่น้ำท่วมไม่ทำให้เกิดการปนเปื้อน แก่แหล่งน้ำทั้งน้ำใต้ดินและผิวดิน ศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศ เช่น ปริมาณน้ำฝน สูงสุด ต่ำสุด และค่าเฉลี่ย และเป็นที่ยอมรับของชุมชนและประชาชนมีส่วนร่วม รวมทั้งควบคุมและ ตรวจสอบพัสดุประจำปีของเทศบาลนครอุบลราชธานี ให้เป็นไปตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่า ด้วยการพัสดุของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2535 ที่กำหนดไว้

ผลการตรวจสอบ โครงการก่อสร้างระบบการจัดขยะของเทศบาลนครอุบลราชธานี ดำเนินการก่อสร้างในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติบ้านดอนเม้า ตำบลแจระแม อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี จำนวน 300 ไร่ ได้รับจัดสรรงบประมาณผูกพันจากกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม ปีงบประมาณ 2539-2540 จำนวนเงินทั้งสิ้น 75,240,000.00 บาท เริ่มก่อสร้างตั้งแต่ 21 สิงหาคม 2539 และก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อปี 2542

จากการตรวจสอบสังเกตการณ์งานก่อสร้าง และตรวจสอบเอกสารที่เกี่ยวข้อง มีผลการ ตรวจสอบ 2 ประเด็น ดังนี้

1. สิ่งก่อสร้างของโครงการไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้ตามวัตถุประสงค์ของโครงการ ปัจจุบันสิ่งก่อสร้างส่วนใหญ่ชำรุดและสูญหายจนไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้ และไม่สามารถปรับปรุง แก้ไขให้ใช้งานได้ตามวัตถุประสงค์ของโครงการ หรือหากปรับปรุงจะต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก เพื่อดำเนินการ ได้แก่ บ่อกำจัดขยะมูลฝอย บ่อบำบัดน้ำเสีย ท่อระบายแก๊ส ระบบคลองระบายน้ำรอบ บ่อฝังกลบขยะ อาคารป้อมยาม อาคารสำนักงาน อาคารโรงซ่อมบำรุงอาคารโรงจอดรถเครื่องจักรกล ระบบไฟฟ้า ระบบระบายน้ำ ระบบประปา และสิ่งก่อสร้างส่วนประกอบอื่นๆ

2. ไม่ควบคุมและตรวจสอบทรัพย์สินของโครงการ จากการตรวจสอบเอกสาร พบว่ามีการ ตรวจสอบความชำรุดเสียหายของทรัพย์สินของโครงการฯ ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2549 หลังจากนั้นไม่มีรายงานตรวจสอบทรัพย์สินของโครงการ ไม่เคยแต่งตั้งคณะกรรมการสอบหา ข้อเท็จจริง และไม่มีการสั่งการจากหัวหน้าฝ่ายบริหารของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นให้ ดำเนินการตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินที่ชำรุดเสียหายและสูญหายของโครงการ แต่อย่างใด

ผลกระทบ 1. ทำให้รัฐสูญเสียงบประมาณเนื่องจากไม่ได้ใช้ประโยชน์จากสิ่งก่อสร้าง จำนวนเงินทั้งสิ้น 75,240,000.00 บาท ประกอบด้วยงบประมาณค่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาออกแบบ จำนวนเงิน 2,980,000.00 บาท และงบประมาณค่าก่อสร้างบ่อกำจัดขยะมูลฝอย จำนวนเงิน 72,260,000.00 บาท

2. เทศบาลนครอุบลราชธานี ต้องเสียงบประมาณเพิ่มขึ้นจากการที่ต้องนำขยะมูลฝอยไปกำจัด ที่บ่อกำจัดขยะมูลฝอยของเทศบาลเมืองวารินชำราบ อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งมี ค่าใช้จ่ายประมาณ 9.6 ล้านบาทต่อปี

3. ส่งผลให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นที่มีความพร้อมในด้านสถานที่กำจัดขยะมูลฝอย สูญเสียโอกาสในการใช้งบประมาณจากภาครัฐเพื่อแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม

4. การก่อสร้างระบบกำจัดขยะมูลฝอยของเทศบาลนครอุบลราชธานีไม่สามารถบรรลุ วัตถุประสงค์ของโครงการได้เนื่องจากไม่สามารถนำขยะมูลฝอยไปกำจัดตามหลักสุขาภิบาลและไม่ เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกระทรวงมหาดไทยที่ต้องการให้เทศบาลทุกแห่งมีการดำเนินงานด้านการ กำจัดขยะมูลฝอยและสิ่งปฏิกูลโดยถูกสุขลักษณะได้

โครงการนี้สร้างแล้วเสร็จปี 2542 แต่ปี 2543 ก็ไม่ได้ใช้งาน มีขยะตกค้าง จากนั้นปี 2545 น้ำเกิดท่วมใหญ่ มีคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนขณะนั้น มีนายชัย ชิดชอบ เป็นประธาน มาตรวจสอบหลังได้รับเรื่องร้องเรียนมาไกล่เกลี่ยให้มีการใช้บ่อกำจัดขยะ โดยแก้ไขถมถนนให้สูงขึ้น แล้วไร่นาชาวบ้านจะทำอย่างไร

โครงการนี้ใช้งบของกระทรวงวิทยาศาสตร์ สนับสนุนให้เทศบาลนครอุบลราชธานีดำเนินโครงการ ยังพบว่า โครงการนี้ก่อสร้างในพื้นที่ไม่เหมาะสม น้ำท่วมซ้ำซาก อยู่ในที่ลุ่ม ขณะที่หัวหน้าฝ่ายช่างยอมรับว่าหลังสร้างเสร็จปี 2543 เปิดใช้งานไม่ได้ เพราะชาวบ้านคัดค้าน จากนั้นก็ปล่อยทิ้งไว้เลยนับจากนั้น ปัจจุบันขยะของเทศบาลนำไปทิ้งที่บ่อกำจัดขยะอำเภอวารินชำราบที่เดิมที่เคยใช้ และก็ใช้มาจนถึงปัจจุบันนี้

ขณะที่ สตง.สรุปผลการตรวจสอบโครงการนี้ ปัญหาเกิดจากความต้องการใช้งบ โดยไม่ศึกษาสภาพพื้นที่ โดยทั้ง 2 โครงการ สตง.ได้ทำหนังสือถึงกระทรวงมหาดไทยให้ช่วยมาแก้ไขปัญหานี้ และเอาผิดต่อผู้ที่เกี่ยวข้อง

ทั้งนี้ สตง.สรุปว่า การสร้างบ่อขยะที่นี่ชาวบ้านชุมชนนี้ไม่ได้รับประโยชน์โดยตรงจากโครงการนี้ เพราะกำจัดขยะกันได้เองในแต่ละครัวเรือน บางส่วนไปฝังกลบทำปุ๋ย และคัดแยกขยะไปขาย เรื่องนี้สะท้อนว่าฝ่ายการเมืองหรือฝ่ายปกครองจะทำอะไร อย่าเพียงแต่ถือว่ามีอำนาจตามกฎหมาย โดยไม่รับฟังเสียงสะท้อนจากชาวบ้าน

รายงานผู้ตรวจ สปน.-กระทรวง พบปัญหาเฉพาะพื้นที่ อ้างรัฐเสียประโยชน์ 2,577.5314 ล้านบาท

มีรายงานจากทำเนียบรัฐบาลว่า ขณะที่เมื่อเร็วๆนี้ ผู้ตรวจสำนักนายกรัฐมนตรี สำนักปลัดสำนายกรัฐมนตรี และผู้ตรวจราชการกระทรวงรายงานผลการตรวจราชการแบบบูรณาการ ของผู้ตรวจราชการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 (Annual Inspection Report : Fiscal Year 2016) ประเด็นนโยบายการจัดการขยะมูลฝอยและสิ่งแวดล้อม เผยแพร่เมื่อวันที่ 7 ก.พ. 2560

อ่านรายงานฉบับเต็ม http://www.opm.go.th/opmportal/multimedia/grichin/Documents/AIR/2016/AIR_2016__garbage.pdf

โดยในรายงานตอนหนึ่งระบุว่า จากผลการตรวจติดตามสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยที่ประสบปัญหาไม่สามารถก่อสร้างหรือเปิดดำเนินการได้ จำนวน 18 แห่ง พบว่ายังไม่ได้รับการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม โดยบางแห่งมีความพยายามที่จะ เปิดดำเนินการแล้วหลายครั้ง เช่น องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ แต่ก็ยังมีปัญหาการต่อต้านจากประชาชนในพื้นที่ ทำให้สถานที่กำจัดขยะดังกล่าวต้องปิดดำเนินการเนื่องจากมีการจัดการขยะไม่ถูกหลักวิชาการ และระบบกำจัดขยะไม่มีประสิทธิภาพ ทำให้เกิดมลพิษส่งผลกระทบต่อประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณใกล้เคียง และบางแห่งไม่สามารถตกลงกับประชาชนในพื้นที่ได้ จึงปล่อยเป็นที่รกร้าง ไม่มีการใช้ประโยชน์จากสถานที่กำจัดขยะมูลฝอย ทำให้สูญเสียโอกาสในการจัดการขยะมูลฝอยเพื่อแก้ไขปัญหาขยะมูลฝอยในพื้นที่ ซึ่งสามารถจัดเป็นกลุ่มปัญหา สรุปได้ ดังนี้ 1. ประชาชนคัดค้าน ทำให้ไม่สามารถเปิดดำเนินการได้ มีจำนวน 8 แห่ง ใช้งบประมาณ 535.1 ล้านบาท ได้แก่ เทศบาลเมืองปทุมธานี เทศบาลเมืองฉะเชิงเทรา เทศบาลนครอ้อมน้อย จังหวัดสมุทรสาคร เทศบาลเมืองทุ่งสง เทศบาลเมืองนครศรีธรรมราช เทศบาลเมืองกาญจนบุรี เทศบาลนครอุบลราชธานี เทศบาลเมือง เดชอุดม จังหวัดอุบลราชธานี เทศบาลตำบลบ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี

2. ประชาชนคัดค้าน เนื่องจากการจัดการขยะไม่ถูกหลักวิชาการ ทำให้ต้องปิดดำเนินการ จำนวน 7 แห่ง ใช้งบประมาณ 1,788.531 ล้านบาท ได้แก่ เทศบาลนครสมุทรสาคร เทศบาลเมืองคูคต จังหวัดปทุมธานี เทศบาลเมืองสมุทรสงคราม องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ เทศบาลเมืองนครนายก องค์การบริหารส่วน จังหวัดชลบุรี เทศบาลเมืองชัยนาท

3. การจัดการขยะอยู่ใน อปท.ต่างพื้นที่ มีจำนวน 1 แห่ง ใช้งบประมาณ 230.9 ล้านบาท ได้แก่ เทศบาลนครเชียงราย

4. ประชาชนคัดค้าน ทำให้ไม่สามารถก่อสร้างได้ มีจำนวน 2 แห่ง ได้รับงบประมาณใน การก่อสร้าง 332 ล้านบาท ได้แก่ เทศบาลเมืองตาก เทศบาลเมืองนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์

ทำให้รัฐบาล สูญเสียโอกาสในการบริหารจัดการเพื่อแก้ไขปัญหาขยะมูลฝอย และสูญเสียงบประมาณไปอย่างสูญเปล่ากับการก่อสร้างเป็นเงินทั้งสิ้น 2,577.5314 ล้านบาท กระทรวงมหาดไทยควรตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงของโครงการทั้ง 18 แห่ง และศึกษาผลกระทบจากการดำเนินโครงการ
 

สปน.เสนอแนะรัฐบาลตั้งคณะกรรมการเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง

ด้าน นายจิรชัย มูลทองโร่ย ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในปี 2559 ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรีและผู้ตรวจราชการกระทรวงได้ร่วมกันลงพื้นที่เพื่อตรวจติดตามการดำเนินงานตามนโยบายสำคัญเร่งด่วนของรัฐบาล ในส่วนของโครงการจัดการขยะมูลฝอยและสิ่งแวดล้อม จากการตรวจติดตามการดำเนินงานภายใต้แผนงานบูรณาการการบริหารจัดการขยะและสิ่งแวดล้อม ด้านการจัดการขยะ และปัญหาเฉพาะพื้นที่ พบว่ามีกรณีสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยที่มีการก่อสร้างแล้วเสร็จแต่ไม่สามารถเปิดดำเนินการได้ และกรณีที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณในการก่อสร้าง แต่ไม่สามารถดำเนินการก่อสร้างได้ รวมจำนวน 18 แห่ง

ผู้ตรวจฯ จึงได้มีข้อเสนอแนะให้กระทรวงมหาดไทยร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดตั้งคณะกรรมการเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าว และมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ และกรมประชาสัมพันธ์ ดำเนินการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชน นักเรียน ชุมชน และภาคเอกชนให้มีจิตสำนึก เห็นความสำคัญในการลดและคัดแยกขยะต้นทางอย่างจริงจัง

นอกจากนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้นำข้อเสนอแนะดังกล่าว ไปเป็นแนวทางในการปรับปรุงแก้ไขการดำเนินการในด้านต่างๆ ส่งผลต่อการพัฒนาและนำไปสู่การปฏิบัติอย่างมีประสิทธิภาพ อาทิ การให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ให้ความสำคัญต่อการลดปริมาณขยะมูลฝอยโดยการให้ชุมชนมีการคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทางจากชุมชนนำร่อง และขยายผลไปยังชุมชนอื่นๆ ส่งผลให้ประชาชนเข้าใจและมีทัศนคติที่ดีต่อการมีส่วนร่วมในการจัดการขยะภายในครัวเรือนของตนเองมากขึ้น ทำให้ปริมาณขยะที่ อปท.ต้องนำไปกำจัดลดลง ประหยัดงบประมาณในการจัดการขยะ อีกทั้งยังสามารถนำขยะมารีไซเคิลเป็นสิ่งประดิษฐ์เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับครัวเรือนและชุมชนได้อีกทางหนึ่งด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น