ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -เรื่องร้ายๆ ที่เกิดขึ้น ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) นับวันยิ่งพบพิรุธ! ขณะที่โศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ก็เกิดให้เห็นเป็นประจักษ์ ทิ้งปมเงื่อนงำปริศนาที่ยังสางไม่หลุด ทั้งร่ำลือกันอีกว่าอุบัติเหตุหลายครั้งหลายคราที่เกิดขึ้นมีความเชื่อมโยงกับ 'อำนาจลี้ลับ' งานนี้หมอดูหมอเดาก็ว่ากันไป แต่ที่แน่ๆ เหตุสะเทือนขวัญ กรณีระบบดับเพลิงอัตโนมัติ 'ไพโรเจน' ขัดข้องเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 8 ศพ บริเวณชั้นใต้ดิน B2 ห้องเก็บเอกสารสำคัญในตึก SCB Park เผย 'ข้อพิรุธ' ออกมาอย่างต่อเนื่อง
ย้อนกลับไปเมื่อต้นปี 2558 เกิดเหตุการณ์เพลิงไหม้ ห้องเอกสาร บริเวณชั้น 10 ตึก SCB Park ที่ทำการใหญ่สำนักงานใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2558 เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 1 ราย และที่ถูกจับตามองอย่างหนักว่าอุบัติเหตุเจ้ากรรมเกิดจาก “ความตั้งใจ” เพราะมีความเชื่อมโยงกับ “คดียักยอกเงิน 1.6 พันล้านบาทของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.)” กลายๆ ว่าสร้างสถานการณ์เพื่อทำลายเอกสารสำคัญในคดีดังกล่าวที่ทาง SCB มีส่วนเกี่ยวข้อง
ไล่หลังเพียงปีเศษ กลางดึกของคืนวันที่ 13มีนาคม 2559 กรณีระบบดับเพลิงอัตโนมัติ “ไพโรเจน” ขัดข้องบริเวณ ชั้นใต้ดิน B2 ห้องเก็บเอกสารสำคัญ ในตึก SCB Park ธนาคารไทยพาณิชย์ ซึ่งครั้งนี้สร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวงมีผู้เสียชีวิตทันที 8 ศพ ซึ่งเกิดความเคลือบแคลงสงสัยไม่แพ้กัน เพราะสถานที่เกิดเหตุเป็นห้องเก็บเอกสารสำคัญ
ข้อพิรุธในห้องนิรภัย
ปฏิกิริยาของกลุ่มควันจากฝุ่นละอองขณะคนงานก่อสร้างเข้าทำการต่อเติมเพื่อวางระบบป้องกันอัคคีภัย ภายในห้องมั่นคง ธนาคารไทยพาณิชย์ สำนักงานใหญ่ เมื่อทำปฏิกิริยากับระบบดับเพลิงอัตโนมัติ ส่งผลให้ระบบดับเพลิงปล่อยสารเคมี “ไพโรเจน(Pyrogen)” ออกมา โดยสารดังกล่าวจะทำหน้าที่ดูดจับออกซิเจนออกไปจนหมด เพื่อยุติเพลิงไหม้ และป้องกันเอกสารถูกทำลายจากระบบดับเพลิงแบบน้ำ กลายเป็น ชนวนเหตุของโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่สร้างความสูญเสีย เพราะมีผู้ติดอยู่ภายในห้องนิรภัยจนขาดหายใจเสียชีวิตไป 8 ราย และได้รับบาดเจ็บอีกหลายราย
ความเสียหายที่เกิดขึ้นตกเป็นข้องกังขาอย่างหนัก เริ่มตั้งแต่การปฏิบัติงานของบริษัทผู้รับเหมาที่ต้องทราบดีว่าการเข้าไปยุ่งย่ามกับระบบดับเพลิงนั้นต้องปิดระบบเสียก่อนเพื่อความปลอดภัยและเป็นการป้องกันมิให้สารไพโรเจนปล่อยออกมา
ตามรายงานข่าวระบุว่า เหตุระบบดับเพลิงขัดข้องภายในห้องนิรภัยสำหรับเก็บเอกสารสำคัญ ชั้นใต้ดิน ตึก SCB Park เป็นจุดที่เจ้าหน้าที่กู้ภัยเข้าช่วยเหลือยากลำบาก เพราะต้องใช้การสแกนนิ้วมือถึงจะเปิดเข้าไปได้ แม้เจ้าหน้าที่ตัดสินใจใช้เครื่องตัดถ่างพังประตูแต่ก็ไม่ทันการณ์เพราะฤทธิ์ของสารไพโรเจนดูดไล่อากาศออกจนหมดเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตถึง 8 ราย
สำหรับเรื่องระบบความปลอดภัยของห้องนิรภัยที่กลายเป็นอุปสรรคสำคัญในการหนีเอาชีวิตรอดและเป็นอุปสรรคต่อปฏิบัติการกู้ภัยนั้น ศ.ดร.เอกสิทธิ์ ลิ้มสุวรรณ อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอุปนายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ อธิบายว่า ระบบป้องกันอัคคีภัยในห้องนิรภัย นิยมติดตั้งระบบดับเพลิงแบบแก๊ส (Gas System) เป็นระบบดับเพลิงอัตโนมัติแบบใช้สารเคมีแทนน้ำ เพื่อป้องกันความเสียหาย มักติดตั้งในห้องจัดเก็บกระดาษเก็บ เอกสารสำคัญ หรือในห้องเซิร์ฟเวอร์ระบบคอมพิวเตอร์ หากเกิดควันหรือเพลิงไหม้ ประตูห้องนิรภัยจะถูกปิดล็อกอัตโนมัติ ซึ่งผนังที่ปิดทึบก็เพื่อไม่ให้มีการหมุนเวียนของอากาศ สกัดกั้นไม่ให้ไฟลุกลามไปยังห้องอื่นๆ
“โดยเฉพาะห้องนิรภัยเป็นพื้นที่ที่มีความปลอดภัยสูงมาก มักจะสร้างไว้เพื่อเก็บรักษาเอกสารสำคัญ เพชรนิลจินดา ข้าวของมีค่าต่างๆ จึงออกแบบไว้อย่างแข็งแรงคงทน ห้องนิรภัยบางแห่งต่อให้เขวี้ยงระเบิดหรือเจาะอุโมงค์ก็ไม่สามารถเข้าได้ นอกจากนี้ยังมีการวางระบบป้องกันความปลอดภัยต่างๆ ทั้งสัญญาณกันขโมย รหัสลับในการเปิด - ปิดประตู สแกนนิ้ว มีกล้องวงจรปิด มีเจ้าหน้าที่คอยเฝ้า รวมทั้งมอบหมายให้ผู้มีอำนาจทำหน้าที่ถือกุญแจฉุกเฉินเพียงไม่กี่คน”
ศ.ดร.เอกสิทธิ์ อธิบายหลักการสำคัญและตั้งข้อสังเกตต่อไปว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นบทเรียนและกรณีศึกษาที่สำคัญ ทั้งเรื่องของการตรวจสอบระบบป้องกันความปลอดภัยในห้องนิรภัยอยู่เป็นประจำว่าใช้งานได้ดีหรือไม่ การวางมาตรการควบคุมดูแลหากเกิดเหตุฉุกเฉินอย่างไร และเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องต้องรู้จักและมีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับระบบดับเพลิงอัตโนมัติ
ทางด้าน ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) ให้ข้อมูลหลังเข้าตรวจสอบที่เกิดเหตุระบบดับเพลิงอัตโนมัติภายในห้องมั่นคงฯ ธนาคารไทยพาณิชย์ สำงานใหญ่ ความว่า หลังจากไพโรเจนการทำปฏิกิริยายุติการเกิดลูกโซ่ในการเกิดความร้อนโดยไม่ใช้น้ำเลย ซึ่งบริษัทมีการโฆษณาก๊าซนี้ไม่มีพิษรุนแรง ไม่มีการกำจัดออกซิเจน มีความเป็นพิษต่ำ ประเด็นนี้จึงเป็นสิ่งที่ต้องกลับไปตรวจสอบต่อไป ซึ่งการทำงานในลำดับแรกนั้น วสท. ต้องการหาคำตอบ 3 ข้อคือ 1. ทำไมระบบถึงทำงานทั้งที่ไม่มีการเกิดเพลิงไหม้ 2. ระบบทำงานมาแล้ว และไม่มีการกำจัดออกซิเจน แต่ทำไมถึงเกิดผู้เสียชีวิตถึง 8 ราย และ 3. เมื่อเกิดเหตุทำไมถึงหนีออกมาไม่ได้
ตามหลักการของการปรับปรุงระบบการป้องกันอัคคีภัยของอาคารจะต้องมีการตัดการทำงานของดับเพลิงด้วยสารไพโรเจนเสียก่อน แต่เหตุในที่เกิดเหตุครั้งนี้ที่เกิดขึ้นไม่มีการตัดระบบดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม ข้อเท็จจริงคลี่คลายตามลำดับจากการสืบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดย พล.ต.ท.ศานิตย์ มหถาวร รรท.ผบช.น เปิดเผยหลังจากสอบพยายานแล้วมากกว่า 26 ปาก เบื้องต้นพบว่า ธนาคารฯ ได้ทำสัญญาว่างจ้าง บริษัท เมก้า แพลนเน็ต จำกัด ให้เปลี่ยนระบบป้องกันอัคคีภัย ขณะ บ.เมก้า ได้ว่าจ้างผู้รับเหมาให้รับช่วงต่ออีกประมาณ 3 บริษัท โดยในสัญญาระบุว่า หากมีการว่าจ้างบริษัทรับช่วงต่อต้องได้รับความยินยอมจากธนาคารฯ แต่กลับเป็นการกระทำโดยพลการ
กลายเป็นประเด็นที่ต้องตรวจสอบต่อไปว่า บริษัทที่ได้รับการว่าจ้างต่อนั้นได้มาตรฐานความปลอดภัยหรือไม่? นอกจากบริษัทรับเหมาที่รับช่วงต่อ ยังมีการเรียกสอบวิศวกรออกแบบอาคาร, วิศวกรความปลอดภัย ฯลฯ ซึ่งต้องรอดูผลกันต่อไป
อย่างไรก็ตาม ผู้บริหารบริษัทผู้รับผิดชอบดูแลระบบดับเพลิงตึก SCB Park ได้เข้ามอบตัวหลังถูกออกหมายจับ โดยมี นายอดิศร โฟดา กรรมการผู้มีอำนาจลงนาม และนายณพงศ์ สุขสงวน กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เมก้า แพลนเน็ต จำกัด ในฐานความผิด ไม่ปฏิบัติตามสัญญาว่าจ้าง และใช้คนงานไม่มีความรู้ทำงาน ถือว่ากระทำโดยประมาท มีโทษจำคุก 10 ปี ปรับ 20,000บาท ซึ่งทั้งคู่ได้ยื่นประกันตัวเป็นเงินกว่า 500,000 บาท
ต่อมาผู้บริหารของ บ.เมก้า ได้ตั้งโต๊ะแถลงข่าวว่าได้ทำมาตรฐานตามกระทรวงแรงงาน และมีประสบการณ์ติดตั้งระบบไพโรเจนมานานกว่า 10 ปี ไม่เคยมีปัญหา ชี้แจ้งว่าในวันเกิดเหตุพนักงานของบริษัทฯ ได้เข้าไปปรับปรุงระบบป้องกันอัคคีภัยจากระบบเดิมที่อาคารได้ว่าจ้างบริษัทอื่นติดตั้งระบบไพโรเจนไว้เป็นระบบไนโตรเจนแทน แต่ปฏิเสธที่จะให้ข้อมูลเกี่ยวกับรายละเอียดในการปรับปรุงทั้งด้านเทคนิค และขั้นตอนการติดตั้งระบบไนโตรเจนนั้นต้องยุ่งเกี่ยวกับระบบไพโรเจนหรือไม่ รวมถึงการปิดระบบ และบุคคลที่เข้าไปทำงานในวันเกิดเหตุ เนื่องจากอยู่ในขั้นตอนการพิสูจน์ข้อเท็จจริงของเจ้าหน้าที่ตำรวจ
ใครบ้างต้องรับผิดชอบ
ดูเหมือนว่าธนาคารไทยพาณิชย์จะลอยตัว อาจไม่ต้องร่วมชะตากรรมเป็น “ผู้ต้องหาร่วม” เพราะทางเจ้าพนักงานแจ้งว่าไม่มีฐานความผิดใด ซึ่งก่อนหน้านั้นทางธนาคารฯ ออกหนังสือชี้แจ้งอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น โดยสรุปใจความสำคัญได้ว่า
“จากการสอบสวนเบื้องต้นเจ้าพนักงานตำรวจคาดว่า อาจจะเป็นอุบัติเหตุที่เกิดจากความประมาทของผู้รับเหมา ที่เข้ามาปรับปรุงระบบการป้องกันอัคคีภัยของอาคารเพิ่มเติม โดยการทำงานได้ไปกระตุ้นให้สารดับเพลิง (แก๊สไพโรเจน) ทำงาน ซึ่งหลักการของแก๊สไพโรเจน จะทำให้ออกซิเจนหมดไป จึงทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต ทางธนาคารขอแสดงความเสียใจมายังผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิต สำหรับสาเหตุในรายละเอียดอยู่ระหว่างการสอบสวนจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ ในเบื้องต้นธนาคารจะให้ความดูแลช่วยเหลืออย่างเหมาะสม และความคืบหน้าจะขอชี้แจงในลำดับต่อไป ทั้งนี้ อาคารและทรัพย์สินไม่ได้รับความเสียหาย ธนาคารไทยพาณิชย์ สำนักงานใหญ่ จึงเปิดให้บริการตามปกติ”
โดยทาง พล.ต.ท.ศานิตย์ เปิดเผย ขณะนี้ (17 มี.ค.) ยังไม่มีหลักฐานที่จะดำเนินคดีกับธนาคารไทยพาณิชย์ ในฐานประมาทร่วมได้ ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ตำรวจปฏิบัติงานกันอย่างเต็มกำลัง พิจารณาจากหลักพยานหลักฐานให้ชัดเจนก่อนจะขอศาลออกหมายจับผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ทั้งบุคคล และนิติบุคคล อย่างไรก็ตาม ยังอยู่ระหว่างการรวบรวมพยายานหลักฐาน เพื่อที่จะนำไปสู่การออกหมายจับเพิ่มเติมต่อไป
สำหรับ การสืบสวนทางเจ้าหน้าที่ตำรวจให้ข้อมูลว่า จะสอบลงรายละเอียดในเรื่องของการทำงานต่างๆ ทั้งทางด้านวิศวกรรม รวมทั้งด้านเทคนิคของผู้ชำนาญการ เบื้องต้นแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ส่วนแรก เรื่องของอุปกรณ์ที่ใช้ในวันเกิดเหตุ ส่วนที่สอง เรื่องของระบบขั้นตอนของการทำงาน และส่วนที่สาม เรื่องของตัวบุคคล ต้องตรวจสอบว่าขั้นตอนใดที่ทำให้เกิดความผิดพลาดและเกิดเหตุได้อย่างไร
เหตุการณ์ครั้งนี้ต้องคลี่คลายต้นสายปลายเหตุให้เป็นที่ประจักษ์ ยังมีประเด็นที่ต้องสืบสาวกันต่อไปอีกหลายวาว่า 'ใคร' ที่ต้องรับผิดชอบจากเหตุการณ์อันน่าเศร้าสลดครั้งนี้กันแน่
โดยข้อมูลจากชุดสืบสวน แสดงให้เห็นความเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ ระบบดับเพลิงอัตโนมัติ ไพโรเจน ขัดข้องเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 8 ศพ โดย ธนาคารได้ว่าจ้าง บ.เมก้า แพลนเน็ต เข้ามาที่ดูแลระบบอัคคีภัย ซึ่งผู้รับเหมารายนี้ทำการว่าจ้างบริษัทอื่นเข้ามารับช่วงโดยพลการอีกทอดหนึ่ง ขณะที่การดูแลระบบรักษาความปลอดภัย ธนาคารฯ ได้ว่าจ้าง JLL หรือ บริษัท โจซแลง ลาไซน์ ฉะนั้น ในวันเกิดเหตุตามหลักการต้องมีคนของบริษัทเหล่านี้อยู่ในที่เกิดเหตุ แต่ประเด็นถูกจับตามองคือ คนที่เสียชีวิตรวมทั้งบาดเจ็บหนีรอดออกมานั้นมีเพียง คนงาน และ รปภ.ซึ่งจะเห็นว่าพวกเขาที่ไม่มีความรู้เรื่องระบบ มีการต้องข้อสงสัยว่าทำไมไม่มี วิศวกร หรือ ที่ตัดสินใจ สามารถตัดระบบเข้ามากำกับการดูแล ซึ่งคงต้องติดตามผลการสอบสวนของเจ้าพนักงานต่อไป
อย่างไรก็ตาม เรื่องร้าย ๆ ของ SCB ในครั้งนี้ ทำเอาบอร์ดฯ ถึงกับกุมขมับ ยิ่งเมื่อ “อ.มาศ เคหาสน์ธรรม” ซินแสฮวงจุ้ยชื่อดังมาทักว่า “มันเกิดเรื่องร้ายขึ้นอีกแล้ว ตามที่เตือนเอาไว้ เคยโพสต์ไว้ตั้งแต่ปีก่อนว่าอาคารของธนาคารไทยพาณิชย์ พิงทิศร้ายที่สุดในรอบ 12 ปี การไปตกแต่งซ่อมแซมจะก่อให้เกิดเหตุร้าย โดยในปีนี้ 2559 หลังพิงเอียงไปทางทิศใต้ ยังเป็นทิศร้ายต่อเนื่อง เมื่อวานนี้ผู้รับเหมาไปเปลี่ยนระบบดับเพลิงใหม่ ที่ห้องมั่นคงชั้นใต้ดินเอสซีบีปาร์ค ปรากฏว่าระบบเก่าเกิดทำงาน ปล่อยแก๊สเคมีไปทำให้ออกซิเจนหมด จึงทำให้คนขาดอากาศ มีคนเสียชีวิตไป 8 คน ขอแสดงความเสียใจด้วยครับ ห้ามไปเคาะ ตอก เจาะ ทุบรื้อ ตัดต้นไม้ ขุดดิน ก่อสร้าง ต่อเติม คือห้ามตกแต่งและซ่อมแซมภายใน ฮวงจุ้ยธนาคารไทยพาณิชย์ สำนักงานใหญ่ (เอสซีบี ปาร์ค พลาซ่า) ที่ไฟไหม้ ลองวัดองศาดู พบว่าปีที่ผ่านมา หน้าหันหลังพิงอยู่ในแกนองศาของทิศแตก (ส่วยผั่ว) ซึ่งเป็นทิศร้ายที่สุดในรอบ 12 ปี ในทางฮวงจุ้ย และเท่าที่เคยได้ยินมา ตึกนี้มีการวางฮวงจุ้ยตั้งแต่แรก โดยซินแสจากฮ่องกง ซึ่งในความเห็นของตน ถือว่าทำได้ให้ถูกต้องตามหลักวิชาในภาพรวม คือ มีสวนขนาดใหญ่เป็นเหม่งตึ้ง ถึง 3 ชั้น (ฟ้า-คน-ดิน) และมีอาคารบริวารโอบอุ้มล้อมรอบ แต่ข้อที่ยังไม่ถูกต้อง คือ รูปทรงของตัวอาคารหลัก ซึ่งเป็นอาคารประธาน กลับมีลักษณะเอียงเบี้ยวไม่สมดุล” ก็ยิ่งเครียดไปกันใหญ่
สุดท้ายเมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2559 ที่ผ่านมาก็ปรากฏเป็นข่าวการนิมนต์ “เจ้าคุณธงชัย” พระพรหมมังคลาจารย์ (ธงชัย ธมฺมธโช) แห่งวัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร มาปัดเป่าเภทภัย ประพรมน้ำมนต์ภายใน SCB Park โดยมีนายอานันท์ ปันยารชุน นายกกรรมการธนาคาร ดร.วิชิต สุรพงษ์ชัย ประธานกรรมการบริหาร และผู้บริหารธนาคารฯ นำพนักงานหลายหลายชีวิตร่วมรับน้ำมนต์เพื่อเป็นขวัญกำลังใจในการ ปฏิบัติหน้าที่กันต่อไป
และแน่นอนว่า นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ผู้บริหารธนาคารไทยพาณิชย์เครียด เพราะนับจากเกิดเหตุนับเนื่องจากคดียักยอกเงิน สจล. และเหตุการณ์เพลิงไหม้ ห้องเอกสาร บริเวณชั้น 10 ตึก SCB Park เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2558 เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 1 ราย บรรดา “บิ๊กๆ” ก็วิตกกังวลมาโดยตลอด และได้มีการทำพิธีทางศาสนามาอย่างต่อเนื่อง