ผลสอบไทยพาณิชย์ส่อระบบไพโรเจนทำงานขัดข้อง ปล่อยสารเคมีดับฝุ่นควันที่เจาะกำแพงทำให้มีผู้ก่อนเสียชีวิตเพราะขาดอากาศหายใจ ผลนิติเวชเผยชัด ทั้ง 8 รายสมองขาดออกซิเจน พฐ.คาดระบบเซ็นเซอร์มีปัญหา ตำรวจเตรียมเรียกผู้รับเหมาและวิศวกรมาสอบเพิ่ม ยันขณะเกิดเหตุไม่มีประกายไฟแต่มีสัญญาณเตือนภัยดังขึ้น ก่อนมีคนเข้าช่วยเหลือ จ่อเอาผิด 1-2 บริษัท ล่าสุดไทยพาณิชย์ช่วยผู้เสียชีวิตคนละ1แสนบาท บาดเจ็บ3หมื่นบาท
จากเหตุการณ์ชั้นใต้ดินธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) สำนักงานใหญ่ เกิดระเบิดและเพลงไหม้ เมื่อคืนวันที่ 13 มี.ค.ที่ผ่านมา วานนี้ (14 มี.ค.) พล.ต.ต.เจริญ ศรีศศลักษณ์ ผบก.น.2 เปิดเผยว่า พนักงานสอบสวน สน.พหลโยธิน ได้สอบปากคำพนักงานของธนาคารไทยพาณิชย์ที่เห็นเหตุการณ์จำนวน 3 ราย โดยสอบถามถึงระบบรักษาความปลอดภัย และระบบกล้องวงจรปิดของอาคารดังกล่าวซึ่งคำให้การเป็นประโยชน์ อีกทั้งเมื่อคืนที่ผ่านมาได้ทำการสอบปากคำคนเจ็บบางส่วน รวมถึงญาติผู้เสียชีวิตไปแล้ว 7 ราย ซึ่งพยานทั้งหมดให้การไปในทิศทางเดียวกัน
เจ้าหน้าที่เตรียมออกหมายเรียกผู้ที่เกี่ยวข้อง 3 ฝ่าย ประกอบด้วย บริษัทรับเหมาที่รับช่วงต่อบริษัท เมก้า แพลนเน็ต จำกัด (มหาชน) วิศวกรออกแบบอาคาร และวิศวกรความปลอดภัยเข้าให้ปากคำกรณีดังกล่าวต่อไป ขณะนี้ทางเจ้าหน้าที่ยังไม่ยืนยันว่า สาเหตุมาจากความประมาทของผู้รับเหมา หรือความผิดพลาดของระบบ ซึ่งอยู่ระหว่างรวบรวมพยานหลักฐาน คาดว่าใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์
พล.ต.ท.ศานิตย์ มหถาวร รรท.ผบช.น. เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เร่งรัดการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานทั้งหมดเพื่อเร่งพิสูจน์ทราบถึงสาเหตุในครั้งนี้ และเชื่อว่าเมื่อผลการตรวจสอบออกมาจะเป็นที่น่าพอใจของทุกฝ่าย
ส่วนการดำเนินคดีกับบุคคลที่เกี่ยวข้องนั้น อาจจะต้องดำเนินคดีอย่างน้อย 1-2 บริษัท และหากพยานหลักฐานครบถ้วนสมบูรณ์ก็จะดำเนินคดีทันที และเร่งรัดให้ดำเนินการโดยเร็วที่สุด
"ต้องเข้าใจและยอมรับระบบความปลอดภัยทรัพย์สินของพี่น้องประชาชนมีอยู่จะให้ใครเข้าออกอะไรได้ง่ายก็คงเป็นเรื่องลำบากก็เป็นหน้าที่ของทุกธนาคารอยู่แล้วในเรื่องของประตูนิรภัยต่างๆ คำว่านิรภัยก็ต้องนิรภัยจริงๆ ไม่ใช่ว่าใครจะเข้าออกได้ง่ายๆ ขณะนี้พยายามลงพื้นที่ตรวจสอบจุดเกิดเหตุ โดยที่เกิดเหตุมีพื้นที่ใหญ่ พร้อมทั้งตรวจสอบระบบไพโรเจน เครื่องตรวจจับควัน ตรวจดูว่าใครทำอะไร ตรงไหน ที่ทำให้ระบบดับเพลิงอัตโนมัติทำงาน โดยหลักการทำงานของระบบดังกล่าวมีการตั้งค่าการตรวจจับปริมาณของควัน ธนาคารต้องการปรับปรุงระบบจากระบบเดิมคือ ไพโรเจน เป็น ไนโตรเจน ซึ่งระบบไพโรเจนเป็นระบบดับเพลิงอัตโนมัติเมื่อเกิดกลุ่มควันจะปล่อยสารเคมีออกมาเพื่อทำการดับไฟ ส่วนไนโตรเจน เป็นระบบดับเพลิงที่มีความปลอดภัยมากกว่าเมื่อเกิดกลุ่มควันจะทำการดับไฟโดยที่ไม่มีการปล่อยสารเคมี ขอยืนยันว่าขณะเกิดเหตุไม่มีการเกิดประกายไฟใดๆ และมีสัญญาณเตือนภัยดังแต่ไม่มีเจ้าหน้าที่คนใดออกมา กระทั่งมีไฟว์แมนของธนาคารเข้าไปช่วยเหลือ" รรท.ผบช.น.กล่าว
ด้านศูนย์เอราวัณได้สรุปยอดผู้เสียชีวิต จำนวน 8 ราย และได้รับบาดเจ็บ 11 ราย โดยรายชื่อผู้เสียชีวิต ประกอบด้วย 1. นายวิรัตน์ ดีดพิณ 2. นายพีรพัฒน์ กอยประโคน 3. นายสายฝน แล้นโคตร 4. นายเพชร มหาสนิท 5. นายนัฒฐวุฒิ นาสมพงษ์ ทั้ง 5 รายเสียชีวิตในที่เกิดเหตุ 6. นางกรรณิการ์ สินศีริ เสียชีวิตที่ รพ.เกษมราษฎร์ 7. นายยุทธนา คนกลาง 8. นางวิไล ขันทอง เสียชีวิตที่ รพ.วิภาวดี
ส่วนรายชื่อผู้ได้รับบาดเจ็บประกอบด้วย 1. นายจีระศักดิ์ สมดี 2. นายสมจิต สัมโย 3. นายใส บุตรโสภา 4. นายถาวร สัมโย นำส่ง รพ.เมโย 5. นายวิชัย โพธิราษฎร์ 6. นายวิเชียร บุตรโสภา นำส่ง รพ.เกษมราษฎร์ 7. นายศรัน แคนหนอง นำส่ง รพ.เปาโล โชคชัย และผู้สูญหาย 1 ราย คือ นายฉัตรชัย ขันทอง
ผลชันสูตร 8 ศพสมองขาดออกซิเจน
พล.ต.ต.พรชัย สุธีรคุณ ผู้บังคับการสถาบันนิติเวชวิทยา โรงพยาบาลตำรวจ เปิดเผยผลการตรวจชันสูตรศพเบื้องต้นทั้ง 8 ราย พบว่า มีสาเหตุเดียวกัน สันนิษฐาน คือ สมองขาดออกซิเจน ซึ่งจะต้องเก็บตัวอย่างเลือด ปัสสาวะ ส่งไปยังห้องปฏิบัติการ ตรวจอย่างละเอียด เนื่องจากไม่เคยพบผู้เสียชีวิตจากสารนี้มาก่อน โดยกรณีที่เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกที่มีการเสียชีวิตจากสารไพโรเจน ที่ทำหน้าที่เป็นสารดับเพลิง จะทำให้ก๊าซออกซิเจนในอากาศหมดไป
ขณะที่ในส่วนของสีสมอง พบว่า แตกต่างจากผู้เสียชีวิตปกติ ที่สมองจะมีสีซีด แต่ในกรณีนี้ ผู้เสียชีวิตมีสมองสีชมพูสดมากขึ้นกว่าปกติ ซึ่งต้องส่งไปตรวจวิเคราะห์อย่างละเอียด ว่าสารเคมีชนิดดังกล่าวมีปฏิกิริยากับสมองอย่างไร อย่างไรก็ตามสำหรับสารไพโรเจน หากสูดดมเกิน 15 นาที จะทำใหหมดสติและเป็นอันตรายถึงชีวิต ในลักษณะค่อยๆ หมดสติ จนไม่รู้สึกตัว
ด้าน พล.ต.ต.ธวัชชัย เมฆประเสริฐสุข ผู้บังคับการกองพิสูจน์หลักฐานกลาง เปิดเผยว่า อยู่ระหว่างตรวจสอบระบบเซ็นเซอร์ของอุปกรณ์ป้องกันอัคคีภัย ในห้องนิรภัยที่ใช้จัดเก็บเอกสาร ว่ามีความบกพร่องหรือไม่ รวมถึงอุปกรณ์ ที่ช่างนำเข้าไปใช้ในการซ่อมบำรุง ว่าสิ่งใดที่เป็นปัจจัยให้ระบบป้องกันอัคคีภัยทำงาน จนมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ
ซึ่งช่างได้เข้าไปภายในห้องนิรภัยที่ใช้จัดเก็บเอกสาร เพื่อเปลี่ยนระบบป้องกันอัคคีภัยจากไพโรเจน เป็นระบบไนโตรเจน ซึ่งธนาคารต้องการเปลี่ยนเพื่อป้องกันความปลอดภัยมากขึ้น และมีการใช้เครื่องมือภายใน ทำให้เครื่องตรวจจับควันทำงาน ซึ่งคาดว่าอาจเกิดจากการจับฝุ่นจำนวนมากได้ จนระบบไพโรเจนทำงาน และมีสัญญาณแจ้งเตือนแล้ว ยืนยันว่าขณะเกิดเหตุไม่ได้เกิดระเบิดหรือเพลิงไหม้ ส่วนคราบสีดำที่เพดานและพื้น คาดว่าจะเป็นร่องรอยการทำปฏิกิริยาของสารเคมี
วสท.ข้องใจไพโรเจนพิษน้อยตายมาก
นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย (วสท.) ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า วสท.ได้ร่วมกับทางกองพิสูจน์หลัก และสำนักผังเมืองในการตรวจสอบที่เกิดเหตุพบว่า ที่เกิดเหตุอยู่ที่ห้องนิรภัยมั่นคงของธนาคาร ซึ่งใช้ระบบแอโร ซอฟต์ในการดับไฟ แทนการใช้สปริงเคิลที่อาจจะทำให้อุปกรณ์หรือทรัพย์สินต่างๆ เสียหายได้ และได้ตั้งข้อสังเกตใน 3 ข้อเพื่อให้ทราบถึงสาเหตุที่เกิดขึ้นและทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 8 คน
1.เกิดอะไรขึ้นทำให้ระบบดับเพลิงทำงานโดยที่ไม่ได้มีเพลิงไหม้ 2.ระบบแอโร ซอฟต์ที่ใช้ไพโรเจนในการดับไฟนั้น ตามข้อมูลของบริษัทที่ติดตั้งบอกไว้ว่า มีความเป็นพิษน้อยมาก และไม่จำกัดออกซิเจน แล้วทำไมจึงมีผู้เสียชีวิต
3.ทำไมผู้เสียชีวิตจึงหนีไม่ทัน เนื่องจากตามปกติแล้วเมื่อเกิดเหตุประตูห้องควรเปิด ไม่ใช่ปิด
นายสุชัชวีร์กล่าวว่า ระบบการดับเพลิงแบบนี้ ถูกนำมาใช้แทนระบบสปริงเกิลที่ใช้น้ำ โดยเฉพาะในห้องเก็บเอกสาร คอมพิวเตอร์ ที่น้ำอาจทำให้เกิดความเสียหาย ซึ่งสำนักงานธนาคารส่วนใหญ่ก็จะใช้ระบบนี้ ดังนั้น จึงควรมีการรีเช็คระบบที่ใช้อยู่ เพื่อไม่ให้เกิดเหตุอย่างที่เป็นอยู่
"คงต้องขอความร่วมมือทั้งในส่วนของธนาคาร บริษัทเจ้าของระบบ ในการให้ข้อมูลต่างๆ ซึ่งพรุ่งนี้ (15 มี.ค.) ก็น่าจะรู้ได้ในเบื้องต้นในเรื่องที่ว่าทำไมระบบถึงทำงานโดยไม่ได้เกิดเพลิงไหม้ ส่วนที่เหลือก็คงต้องตรวจสอบกันต่อไป"
รศ.ดร.วีรชัย พุทธวงศ์ ประธานหลักสูตรนิติวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ให้คำตอบไว้ว่า ไพโรเจน เป็นระบบป้องกันอัคคีภัยรูปแบบหนึ่ง โดยถังดับเพลิงแบบไพโรเจน มีการใช้มานานและใช้กันทั่วโลก ซึ่งเป็นเทคโนโลยีอวกาศใช้ในระบบของนาซา นิยมใช้ในห้องเก็บเอกสาร ที่ไม่สามารถใช้สปริงเกอร์น้ำได้ เพราะเอกสารจะเปียกขาดชำรุด ให้นึกถึงแก๊สน้ำตา ที่เวลาจะใช้ต้องดึงสลัก เพื่อเกิดระเบิดกลายเป็นควันออกมา ไพโรเจนก็เช่นเดียวกัน จะมีการจุดระเบิดทำให้เกิดควัน ซึ่งก็คือก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และก๊าซไนโตรเจน ซึ่งก๊าซทั้ง 2 ตัวนี้จะช่วยในการดับไฟ
"ตัวกระป๋องไพโรเจนจะติดอยู่บนเพดาน ห่างลงมาประมาณเมตรครึ่ง เวลาทำงานจะมีเซ็นเซอร์ตัวหนึ่ง ในการดักจับสัญญาณควันหรือความร้อน ถ้าปริมาณควันในห้องนั้นมีมากพอที่จะทำให้เซ็นเซอร์ทำงาน เซ็นเซอร์ก็จะส่งสัญญาณไปที่กระปุกไพโรเจน ก่อนที่ตัวกระปุกจะระเบิดปล่อยควันออก ฉะนั้นหากมีคนอยู่จะทำให้ขาดอากาศหายใจ หรือในกรณีที่เจ้าหน้าที่กู้ภัยไม่ทราบว่าระบบดับเพลิงเป็นแบบไพโรเจน ทำให้คิดว่าอาจเป็นควันไฟ และเข้าไปโดยไม่มีถังออกซิเจน ก็จะทำให้เกิดอันตรายได้" รศ.ดร.วีรชัยระบุ
ด้าน รศ.สิริวัฒน์ ไชยชนะ เลขาธิการ วสท. ยืนยันว่า ในส่วนของโครงสร้างอาคารที่เกิดเหตุ เชื่อว่าไม่มีปัญหาเนื่องจากไม่ได้รับความเสียหายจากเพลิงไหม้ อีกทั้งความร้อนที่เกิดขึ้นจากการปล่อยสารเคมีก็เกิดขึ้นในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ เท่านั้นแต่ขณะเดียวกันก็ยอมรับว่า สาเหตุที่ทำให้เจ้าหน้าที่ที่อยู่ใกล้ที่เกิดเหตุหมดสติทันที เริ่มจากการที่สารเคมี ปล่อยออกมาพร้อมกับความร้อนที่สูงถึง 3 - 400 องศา ประกอบกับเจ้าหน้าที่ส่วนหนึ่งนั้นอยู่ในรัศมีไม่เกิน 10 เมตร จึงทำให้หมดสติเกือบทันที
คาดสว่านเจาะกำแพงฝุ่นคลุ้งกระตุ้น
ด้าน พ.ต.ท.ดร.บัณฑิต ประดับสุข อุปนายกสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมป์ กล่าวว่า จากการตรวจสอบพบว่าภายในห้องเป็นห้องนิรภัยเก็บเอกสารประเภทกระดาษ คาดว่าตอนเกิดเหตุผู้รับเหมาคงใช้สว่านเจาะผนังคอนกรีต จึงทำให้มีฝุ่นฟุ้งไปถูกเครื่องตรวจจับควัน ซึ่งโดยปรกติแล้วตัวตรวจจับควันจะมีสองจุดตรวจ จะทำงานต่อเมื่อทั้งสองจุดตรวจพบอนุภาค ซึ่งในกรณีนี้ฝุ่นที่เกิดจากการเจาะผนังคอนกรีต น่าจะไปทำให้ตัวตรวจจับทำงาน แก๊สไพโรเจนที่ใช้ดับเพลิงจึงดูดจับออกซิเจนออกไป
นายญนน์ โภคทรัพย์ กรรมการผู้จัดใหญ่ธนาคารไทยพาณิชย์ ระบุว่า ธนาคารเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และพร้อมรับผิดชอบกรณีที่มีผู้เสียชีวิต โดยจะเป็นเจ้าภาพจัดงานศพ พร้อมจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้กับผู้บาดเจ็บ โดยยืนยันว่า ธนาคารให้ความสำคัญกับการดูแลทรัพย์สินของลูกค้า โดยมีการติดตั้งระบบที่ดีที่สุดได้มาตรฐานระดับโลกในการดูแลเอกสาร จึงมีการปรับปรุงระบบใหม่ให้ดียิ่งขึ้น พร้อมว่าจ้างนักดับเพลิง หรือ ไฟว์แมน ผู้เชี่ยวชาญเข้ามาปฏิบัติการในพื้นที่ โดยขอให้ทุกฝ่ายอย่าตื่นตระหนกกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ขณะเดียวกันยืนยันว่า เอกสารทั้งหมดปลอดภัย เพราะอาคารที่เกิดเหตุไม่ได้รับความเสียหาย
SCB โยนความผิดผู้รับเหมา
ทั้งนี้ หลังเกิดเหตุหรือเมื่อกลางดึกวันที่ 13 มี.ค. ธนาคารฯ ขอชี้แจงว่า ไม่ได้เกิดเหตุเพลิงไหม้ และไม่ได้เกิดเหตุระเบิดแต่อย่างใด ขณะนี้ได้ควบคุมสถานการณ์เรียบร้อยแล้วค่ะ จากการสอบสวนเบื้องต้นของเจ้าพนักงานตำรวจคาดว่าอาจจะเป็นอุบัติเหตุที่เกิดจากความประมาทของผู้รับเหมาที่เข้ามาปรับปรุงระบบการป้องกันอัคคีภัยของอาคารเพิ่มเติม โดยการทำงานได้ไปกระตุ้นให้สารดับเพลิง (แก๊สไพโรเจน) ทำงาน ซึ่งหลักการของแก๊สไพโรเจนจะทำให้ออกซิเจนหมดไป จึงทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต
ต่อมาในช่วงเย็นวันที่ 14 มี.ค.ธนาคารไทยพาณิชย์ชี้แจง (ฉบับที่ 2) ระบุว่าพื้นที่ดังกล่าวอยู่ระหว่างการดำเนินงานปรับปรุงระบบป้องกันอัคคีภัยเพิ่มเติม เพื่อให้มีประสิทธิภาพที่ดียิ่งขึ้น จากปัจจุบันที่ใช้ระบบก๊าซไพโรเจนเป็นสารตั้งต้นในการป้องกันอัคคีภัยมาเป็นระบบ Clean Agent ซึ่งเป็นระบบที่ใช้ก๊าซไนโตรเจนในการดับเพลิง ซึ่งยังคงประสิทธิภาพในการป้องกันอัคคีภัยด้วยมาตรฐานระดับสากล โดยได้มีการว่าจ้างบริษัท เมก้า แพลนเน็ต จำกัด ให้เป็นผู้เข้ามาดำเนินการ ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนมีนาคม 2559 ธนาคารรู้สึกซาบซึ้งและขอขอบพระคุณเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายที่ได้มาดูแลสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและปฏิบัติงานอย่างเต็มความสามารถ
จากเหตุการณ์ดังกล่าวธนาคารได้ให้ความช่วยเหลือค่าใช้จ่ายในการประกอบพิธีทางศาสนาแก่ผู้ที่เสียชีวิตรายละ 100,000 บาท สำหรับผู้ที่ได้รับบาดเจ็บและรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลนั้น ผู้บริหารของธนาคารได้เข้าเยี่ยมทุกรายและได้มอบความช่วยเหลือเบื้องต้นรายละ 30,000 บาท
สำหรับธนาคารไทยพาณิชย์สำนักงานใหญ่แห่งนี้ ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 8 ก.พ. 58 ได้เกิดเหตุเพลิงไหม้ที่ห้องเก็บเอกสารชั้น 10 ทำให้เจ้าหน้าที่ดับเพลิงเสียชีวิต 1 ราย
ทางด้านนายอานนท์ วังวสุ นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย กล่าวว่า กรณีที่เกิดขึ้นนั้นบริษัทประกันภัยคงจะต้องไปดูในรายละเอียดของกรมธรรม์ประกันก่อสร้างว่าได้ทำไว้ร่วมกันอย่างไร แต่โดยทั่วไปหากเป็นกรมธรรม์ภัยระหว่างก่อสร้างที่บริษัทประกันวินาศภัยที่ขายกันอยู่ทั่วไป จะไม่คุ้มครองกรณีนี้ รวมไปถึงกรณีลูกจ้างของผู้บริษัทผู้รับเหมาที่เสียชีวิต หรือแม้แต่พนักงานธนาคารไทยพาณิชย์ หากแต่จะคุ้มครองกรณีประชาชนทั่วไปหรือลูกค้าที่มาใช้บริการเท่านั้น หรือกรณีสมมุติว่า เกิดกำลังก่อสร้างแล้วไปทำตึกข้างๆพัง หรือทำให้น้ำรั่ว หรือแก๊สรั่วส่งผลไปทำให้ผู้อื่นเสียชีวิต กรณีเช่นนี้อยู่ในเงื่อนไขที่ประกันก่อสร้างให้ความคุ้มครอง
"กรณีนี้คงต้องดูว่าบริษัทรับเหมาก่อสร้างได้มีการซื้อประกันอุบัติส่วนบุคคล( PA )ให้กับพนักงานลูกจ้างของตัวเองไว้หรือไม่ ซึ่งหากซื้อก็จะได้รับความคุ้มครอง "