xs
xsm
sm
md
lg

จี้รัฐปั๊มศก.ตรงจุดม.44ปลดล็อคโครงการรัฐ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาคเอกชนมองเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังยังคงทรงตัว รอเม็ดเงินการลงทุนภาครัฐเข้าหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ แนะปัดฝุ่นโครงการสร้างถนนสี่เลน - เร่งซ่อมบำรุง สร้างถนนคอนกรีต ใช้งบประมาณน้อย กระจายรายได้สู่แรงงานในพื้นที่ ด้านกรมทางหลวงชนบทยืนยันรัฐบาลจัดสรรงบประมาณเท่าที่มี ด้าน"คมนาคม"ยิ้มรับ ม.44 ปลดล็อค EIA ดันประมูลมอเตอร์เวย์ "บางใหญ่-กาญจนบุรีและบางปะอิน-โคราช" ฉลุยครบในปีนี้ ส่วน รถไฟทางคู่ 4 สาย และรถไฟฟ้าสีม่วงใต้ จ่อชงครม.ขออนุมัติพร้อมลุยหาผู้รับเหมา เทกระจาดประมูลงานมูลค่ารวมกว่า 1.3 แสนล้าน

นายพงษ์ดิษฐ์ พจนา ประธานกรรมการ บริษัท แมกซ์ เมทัล คอร์ปอแรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ MAX กล่าวแสดงทรรศนะ เศรษฐกิจทั้งปี 2559 น่าจะยังคงทรงตัวต่อจากปี 2558 เห็นได้จากหลายองค์กรออกมาประกาศปรับเป้าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือ GDP ปี 59 ลงเหลือเฉลี่ย 3% เหตุเพราะปัจจัยกระตุ้นเศรษฐกิจหลายปัจจัยยังทรงตัวทั้งภาคการส่งออก หนี้ภาคครัวเรือนที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องล่าสุดอยู่ที่ประมาณ 83% ต่อ GDP อีกทั้งเม็ดเงินที่รัฐบาลจะใช้ในโครงการเม็กกะโปรเจก 3 ล้านล้านบาทโดยมุ่งเน้นไปที่ระบบรางก็ยังไม่มีความชัดเจน

“เท่าที่เห็นภาคการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานในประเทศทรงตัว เพราะไตรมาส 1/59 ไม่มีความชัดเจน เศรษฐกิจในประเทศ สภาพัฒน์ปรับลด GDP เหลือ 3% สวนทางกับหลายประเทศในกลุ่ม CLMV ที่ ณ ปัจจุบันการก่อสร้างเติบโตสูงมาก โดยเฉพาะเมียนมาร์ และกัมพูชาเนื่องจากพึ่งเปลี่ยนแปลงการปกครองและก้าวสู่การเป็นประเทศกำลังพัฒนา บริษัทที่มีความพร้อมมุ่งขยายฐานตลาดออกไปในกลุ่มประเทศ CLMV น่าจะถูกต้องแล้ว”

ประธานกรรมการ MAX คาดว่าเศรษฐกิจครึ่งปีหลังน่าจะดีขึ้นกว่าในช่วงครึ่งปีแรก โดยคาดหวังว่ารัฐบาลจะเร่งรัดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาอีกหลายโครงการ อีกทั้งหลายกระทรวงต้องเร่งรัดการใช้งบประมาณปี 59 ให้จบก่อนสิ้นปีงบประมาณ ทั้งนี้อยากให้รัฐบาลกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยโครงการลงทุนระยะสั้น ด้วยการนำโครงการทางถนนที่อยู่ในแผนลงทุนทั้งโครงการเปลี่ยนถนนลูกรังให้เป็นถนนลาดยางหรือถนนคอนกรีต โครงการซ่อมถนนชำรุดทั่วประเทศ เนื่องจากใช้งบประมาณน้อยกว่าประมาณหมื่นล้านบาท ใช้ระยะเวลาการก่อสร้างน้อยกว่า อีกทั้งยังสามารถกระจายรายได้ลงสู่ท้องถิ่นได้อย่างรวดเร็วเพราะเกิดการจ้างงานในพื้นที่

“ระหว่างรอโครงการขนาดใหญ่เราสามารถหยิบจับมาลงทุนก่อนเพื่อเป็นการรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจเมื่อระบบรางมาถึง การซ่อมบำรุงใช้งบประมาณไม่มากเท่าก่อสร้างโครงการใหม่ สิ่งใกล้ตัวและลืมคิดคือถนนในประเทศ ถือโอกาสเศรษฐกิจทรงตัวพัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐานเช่นถนน การก่อสร้างเป็นประโยชน์มากเพราะสามารถกระจายเม็ดเงินได้อย่างรวดเร็วและเข้าถึงประชาชนในพื้นที่ได้โดยตรงเพราะเมื่อมีงานก็ต้องมีการจ้างแรงงานในพื้นที่ รัฐควรพิจารณา ถนนชนบทสร้าง ลูกรังลาดยาก ขยายช่องทางหรือปรับปรุงถนนทรุดทั่วประเทศ จะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างรวดเร็ว” นายพงษ์ดิษฐ์ กล่าว

ด้านนายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน อธิบดีกรมทางหลวงชนบท ระบุ ณ ปีงบประมาณ 2559กรมทางหลวงชนบนได้รับงบประมาณ 46,077 ล้านบาท แบ่งเป็นประมาณการก่อสร้างถนนใหม่ 40% และงบประมาณการซ่อมบำรุง 60% โดยมีถนนที่ยังคงเป็นทางลูกรังที่ยังต้องลาดยาง หรือสร้างใหม่ให้เป็นถนนคอนกรีตอีก 2,000 กิโลเมตร(กม.)ทั่วประเทศ เป็นถนนภายในชุมชน หรือ ถนนเชื่อมระหว่างชุมชน โดยเรามีงบประมาณปี 59 ใช้ในการสร้างถนนลาดยางทั่วประเทศ 1,000 กม. และปี 60 หากเราสามารถทำได้อีก 1000 กม.ก็ถือว่าเสร็จสมบูรณ์ หลังจากนั้นการพิจารณาจัดสรรงบประมาณจะเพิ่มสัดส่วนเป็นการใช้เพื่อการซ่อมบำรุง 70% และการสร้างใหม่ 30% ตามปริมาณงานที่เปลี่ยนไป

“การดูแลรับผิดชอบถนนสายรองรัฐบาลมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 2 ส่วนคือกรมทางหลวงชนบทสังกัดกระทรวงคมนาคม และองค์การบริหารงานส่วนท้องถิ่น สังกัดกระทรวงมหาดไทย ดังนั้นที่มาของงบประมาณจึงมาจาก 2 หน่วยงาน ในส่วนที่เรารับผิดชอบทางทั่วประเทศ เราดูแลถนนสายรองที่แยกออกจากสายทางหลัก ซึ่งกรมทางหลวงดูแล โดยเป็นการแยกเข้าไปยังแหล่งท่องเที่ยว แหล่งเพาะปลูก แหล่งชุมชน ฯลฯ ส่วนถนนภายในชุมชน หมู่บ้านเป็นส่วนที่องค์การบริหารงานส่วนท้องถิ่น อบจ. อบต. รับไปดูแล”

ม.44ปลดล็อคEIAโครงการรัฐ

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า จากคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 แก้กฎหมายสิ่งแวดล้อม ให้สามารถดำเนินการหาเอกชนผู้รับผิดชอบโครงการได้ ระหว่างรอผลการพิจารณา EIA ซึ่งส่งผลดีต่อการดำเนินโครงการของกระทรวงคมนาคมที่ศึกษาแล้วเสร็จและมีความพร้อมในการประกวดราคา จะสามารถนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ขออนุมัติโครงการคู่ขนานไปได้ และหากครม.อนุมัติ หน่วยงานเจ้าของโครงการจะประกวดราคาหาผู้รับเหมารอไว้ก่อนเมื่อ EIA ผ่านค่อยลงนามสัญญา

โดยในส่วนของ แผนปฏิบัติการ (Action Plan) ด้านคมนาคมขนส่งระยะเร่งด่วน ปี 2558- 2559 จำนวน 20 โครงการ วงเงินรวมประมาณ 1.79 ล้านล้านบาทนั้น ล่าสุด พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สอบถามความคืบหน้า ซึ่งส่วนใหญ่โครงการยังเป็นไปตามแผน แม้จะไม่มี ม. 44 มาช่วยเรื่องลดเวลาการรอผลEIA อนุมัติก่อนเสนอครม.ก็ตาม แต่ยอมรับว่า มีโครงการที่ได้รับประโยชน์จาก ม.44 คือ รถไฟทางคู่ มอเตอร์เวย์และรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ ที่ขณะนี้อยู่ในขั้นตอน EIA

เช่น มอเตอร์เวย์สายบางใหญ่-กาญจนบุรี ระยะทาง 96 กิโลเมตร วงเงินลงทุนประมาณ 55,620 ล้านบาท อยู่ระหว่างทำทบทวนรายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม(EIA) ใหม่ เพราะเป็นข้อมูลค่อนข้างเก่า โดยจะนำข้อมูลเดิมมาปรับปรุงในส่วนพื้นที่ที่มีการเปลี่ยนแปลง ส่วนสายบางปะอิน-นครราชสีมา ระยะทาง 196 กิโลเมตร วงเงิน 84,600 ล้านบาทนั้น มีการปรับแบบบางส่วน จึงต้องสำรวจพื้นที่เพิ่มเติมและทำ EIA ในจุดที่แก้ไข เพราะแบบเดิมบางส่วนขวางทางน้ำ และบางส่วนเปลี่ยนแปลงไปตามการร้องเรียนของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ ซึ่ง ครม.อนุมัติโครงการมอเตอร์เวย์ไปแล้ว ดังนั้น หลังจากนี้กรมทางหลวงสามารถทำทีโออาร์ เปิดประมูลหาผู้รับเหมาได้เลย โดยจะลงนามสัญญาได้เมื่อEIA ได้รับอนุมัติแล้ว

โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ขนาดรางความกว้าง 1 เมตร (Meter Gauge) ขณะนี้อยู่ที่ EIA จำนวน 2 เส้นทางคือ ลพบุรี-ปากน้ำโพ วงเงิน 24,918.74 ล้านบาทและนครปฐม-หัวหิน วงเงิน 20,036 ล้านบาท ซึ่งจะนำเสนอสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ไปคู่ขนาน หาก บอร์ดสศช.เห็นชอบในเดือนเม.ย.ได้จะเสนอครม.ขออนุมัติต่อไปในต้นพ.ค.นี้ ส่วนทางคู่ช่วง มาบกะเบา-ชุมทางจิระ วงเงิน 29,853 ล้านบาท และประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร วงเงิน 17,290 ล้านบาท สภาพัฒน์ฯให้ความเห็นชอบแล้ว และเสนอไปครม.ก่อนแล้ว

ส่วนรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน - ราษฎร์บูรณะระยะทาง 23.6 กม. วงเงินลงทุนรวม 131,171.94 ล้านบาท ซึ่งต้องเสนอรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ต่อขยายขยายเส้นทางอีก 5กม.ถึงถนนวงแหวนด้านใต้ นั้นหากคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) เห็นชอบ จะเสนอเข้าครม.ขออนุมัติโครงการได้ก่อนเช่นกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น