วงการหุ้นประเมิน JAS อาจทิ้งใบอนุญาต 4G หลังบอร์ดอนุมัติทุ่ม 6 พันล้านบาท จากกระแสเงินสดคงเหลือทั้งหมด 7.1 พันล้านบาท ซื้อหุ้นคืน 20% ในราคาหุ้นละ 5 บาท ประกอบกับกำลังเผชิญปัญหาแบงก์ไม่ปล่อยกู้เพื่อนำไปจ่ายค่าประมูลงวดแรก 21 มี.ค.นี้ ด้านโบรกเกอร์มองปรับแผนเก็บหุ้นก่อนเพิ่มทุนขายพีพี แต่ต้องการรักษาอำนาจการบริหารไว้ แนะราคาเป้าหมาย 4.46 บาท ตลาดหลักทรัพย์ฯ สั่งแขวน H ห้ามซื้อขายหลังราคาหุ้นพุ่งเกือบชนซิลลิ่ง บวก 26.45% ที่ราคาหุ้นละ 3.92 บาท ขณะที่ DTAC จ้องเสียบทันที
นายพิชญ์ โพธารามิก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ JAS เปิดเผยว่า มติที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทอนุมัติการซื้อหุ้นคืน 20% ของหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมด หรือประมาณ 1,426 ล้านหุ้น ในราคาประมาณหุ้นละ 5 บาท ซึ่งต้องใช้เงินซื้อหุ้นคืนรวมทั้งสิ้นประมาณ 6,000 ล้านบาท
สำหรับการซื้อหุ้นคืนครั้งนี้ บริษัทจะใช้วิธีการเสนอซื้อจากผู้ถือหุ้นของบริษัทเป็นการทั่วไป (เทนเดอร์ออฟเฟอร์) ภายหลังได้การอนุมัติจากผู้ถือหุ้นในการประชุมสามัญประจำปี (ทั้งนี้ JAS ยังไม่กำหนดวันประชุมผู้ถือหุ้น) โดยสาเหตุของการซื้อหุ้นคืนเพื่อเพิ่มอัตราผลตอบแทนให้แก่ส่วนของผู้ถือหุ้น (ROE) รวมถึงเพิ่มอัตรากำไรสุทธิต่อหุ้น (EPS) และเป็นการส่งสัญญาณแก่ผู้ลงทุนถึงสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งของกลุ่มบริษัทด้วย
ทั้งนี้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ได้ประกาศขึ้นเครื่องหมาย H ห้ามซื้อขายเป็นการชั่วคราวหุ้นบมจ.จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล (JAS)และใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ (DW) ที่มีหลักทรัพย์ JAS เป็นหลักทรัพย์อ้างอิง ตั้งแต่การซื้อขายรอบบ่าย เนื่องจากยังไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับราคาเสนอซื้อหุ้นคืนครั้งนี้
อย่างไรก็ตามเมื่อเวลา 16.15 น.ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ปลดเครื่องหมาย H หลังจากบริษัทชี้แจงเพิ่มเติมว่า ราคาซื้อคืนประมาณ 5.00 บาทต่อหุ้นเป็นราคาที่ “ยังไม่แน่นอน”ต้องรอ ทั้งนี้ราคาที่แน่นอนจะกำหนดได้ในการประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ ครั้งถัดไป
ด้านความเคลื่อนไหวราคาหุ้น JAS วานนี้ (7 มี.ค.) ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากหลายวันก่อน โดยปิดการซื้อขายภาคเช้าที่ 3.48 บาท เพิ่มขึ้นจากวันก่อน 0.38 บาท หรือ 12.26% ขณะที่ก่อนตลาดหลักทรัพย์ฯ จะขึ้นเครื่องหมาย H เมื่อเวลา 14.45 น. ราคาซื้อขายอยู่ที่ 3.92 บาท เพิ่มขึ้น 0.82 บาท หรือ 26.45% มูลค่าการซื้อขาย 5.22 พันล้านบาท
หลังจากที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ปลดเครื่องหมาย H ราคาหุ้น JAS ค่อนข้างผันผวน ทำจุดสูงสุดที่ 3.96 บาท ต่ำสุดที่ 3.12 บาท ก่อนจะปิดการซื้อขายที่ราคา 3.70 บาท ปรับตัเพิ่มขึ้น 0.60 บาท มูลค่าการซื้อขายรวมตลอดทั้งวัน 8.03 พันล้านบาท
นายเอกรินทร์ วงษ์ศิริ นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทรีนีตี้ แนะนำ "Trading Buy" ที่ราคาเป้าหมายที่ 4.46 บาท เนื่องจากประเมินว่าการซื้อหุ้นคืนสูงถึง 20% ในช่วงนี้ มีความเป็นไปได้ที่บริษัทมีแผนจะเพิ่มทุนให้กับนักลงทุนเฉพาะเจาะจง (PP) แต่บริษัทไม่ต้องการให้อำนาจการควบคุม (Control Dilution)ของนายพิชญ์ ผู้บริหารเดิมมีสัดส่วนต่ำเกินไป
“ปัจจุบัน JAS มีหุ้นจนทะเบียนชำระแล้ว 7,133,530,653 หุ้น และคุณพิชญ์ ถือหุ้นอยุ่ 25.85% เราได้ทำการศึกษากรณีที่บริษัทจะเพิ่มทุนภายหลัง ด้วยสัมมุตติฐานว่าจำนวนที่เพิ่มทุนภายหลังอาจจะมากกว่า หุ้นซื้อคืน แต่ไม่ทำให้ Control Dilution ของคุณพิชญ์ ต่ำเกินไปจากประเด็นนี้น่าจะทำให้ราคาของหุ้น ขยับขึ้นมาในช่วงสั้นได้ แต่อย่างไรก็ดีต้องตามในการที่ บริษัทจะสามารถหา Bank Guarantee มาได้ทันในวันที่ 21 มี.ค.นี้ แต่เรายังเชื่อว่าแบงก์กรุงเทพฯ พร้อมที่จะให้การสนับสนุน JAS” นายเอกรินทร์ กล่าว
ก่อนหน้านี้มีรายงานว่า นายพิชญ์ โพธารามิก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ JAS และบริษัท แจส โมบาย บรอดแบนด์ กำลังอยู่ระหว่างการเจรจาอย่างสุดความสามารถกับสถาบันการเงินเพื่อขอวงเงินกู้ และออกแบงก์การันตีให้แก่ JAS เพื่อไปจ่ายค่าใบอนุญาต 4จี บนคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิรตซ์ งวดที่ 1 วงเงิน 8,040 ล้านบาท
แต่เมื่อบอร์ด JAS มีมติทำเทนเดอร์ออฟเฟอร์ ในราคาหุ้นที่ 5 บาทต่อหุ้น ได้มีกระแสคาดว่า JAS จะทิ้งใบอนุญาต 4G เพราะหากพิจารณาจากงบการเงินล่าสุด JAS มีกระแสเงินสด 7.1 พันล้านบาท ซึ่งหากนำเงินมาซื้อหุ้นคืน เท่ากับว่าจะไม่มีเงินสดเพื่อนำไปลงทุนโครงข่าย
ขณะเดียวกันนักลงทุนสาย VI ก็ประเมินเหตุผลที่ JAS ประกาศซื้อหุ้นคืนที่ราคา 5 บาท ว่า เพื่อต้องการดันราคาหุ้นให้กลับไปสู่พื้นฐานเดิมของธุรกิจบรอดแบนด์ ที่โบรกเกอร์คาดว่าหากไม่ลงทุน 4G JAS จะมีมูลค่าพื้นฐานที่ราว 5-6 บาท
ล่าสุดนายลาร์ส นอร์ลิ่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC เปิดเผยว่า หากบริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล หรือ JAS จ่ายเงินค่าประมูลใบอนุญาต 4G คลื่นความถี่ 900 MHz ไม่ทันตามกำหนดเวลาวันที่ 21 มีนาคมนี้ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)ยึดคืนเพื่อมีการจัดประมูลใหม่ภายใน 2-3 เดือน โดยจะใช้ราคาตั้งต้นการประมูลที่ 75,000 ล้านบาท ซึ่งบริษัทฯ มีความสนใจที่จะเข้าร่วมประมูลใหม่อีกครั้ง แต่ทั้งนี้ คงต้องนำเรื่องดังกล่าวหารือภายในคณะกรรมการบริษัทเพื่อศึกษาความคุ้มค่าต่อการลงทุน