xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

เมื่อเจ้าสัว “เบียร์ช้าง” เบียดเจ้าสัว “ซีพี” ขึ้นแท่นมหาเศรษฐีอันดับ 1 ของไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -คงเป็นเรื่องที่ต้องบันทึกเอาไว้เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงอันดับของ “มหาเศรษฐีไทย” เป็นที่เรียบร้อยแล้วจากการจัดอันดับของ “นิตยสารฟอร์บส์” โดยเที่ยวนี้ “อันดับ 1” ตกเป็นของ “นายเจริญ สิริวัฒนภักดี” เจ้าสัวเบียร์ช้างที่เบียดแซง “นายธนินท์ เจียรวนนท์” เจ้าสัวซีพี จนต้องหล่นไปอยู่อันดับ 2

เป็นเจ้าสัวเบียร์ช้างที่เพิ่งใช้เงิน 3,400 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 122,400 ล้านบาทผ่านกลุ่มบริษัททีซีซี กรุ๊ป เพื่อซื้อหุ้น “บิ๊กซี” 58.6 เปอร์เซ็นต์จาก “คาสิโนกรุ๊ป” ประเทศฝรั่งเศส และก้าวขึ้นมาเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่แทน พร้อมทั้งเตรียมทำเทนเดอร์ออฟเฟอร์เพื่อขอซื้อหุ้นจาก “กลุ่มเซ็นทรัล” ของ “ตระกูลจิราธิวัฒน์” ซึ่งถือเอาไว้ 25 เปอร์เซ็นต์

ข้อมูลของฟอร์บส์รายงานเอาไว้ว่า ในปีนี้ประเทศไทยมีเศรษฐีติดอันดับรวยสุดในโลกของฟอร์บส์ถึง 16 คน โดยนายเจริญ สิริวัฒนภักดี วัย 71 ปี แห่งเบียร์ช้าง ผงาดขึ้นมาครองอันดับ 1 ด้วยทรัพย์สิน 10,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อยู่อันดับ 94 ของโลก แซงนายธนินท์ เจียรวนนท์ จากซีพี ที่หล่นมาอยู่อันดับ 2 ของไทย และอันดับ 171 โลก ด้วยทรัพย์สิน 6,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ขณะที่ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ผู้หลบหนีคดี วัย 66 ปี หล่นจากอันดับ 7 มารั้งอันดับ 10 ของไทย และอยู่อันดับ 1,121 ของโลก ด้วยทรัพย์สิน 1,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจากเดิมราว 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 3,500 ล้านบาท
       
แม้จะจนลงไปบ้าง แต่นายทักษิณก็ยังคงดำรงความเป็นมหาเศรษฐีของไทยและของโลกเฉกเช่นเดียว

       โดยอันดับมหาเศรษฐีในไทยที่ฟอร์บส์ระบุว่ามีทรัพย์สินตั้งแต่ 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขึ้นไปประจำปี 2016 ได้แก่ 1.เจริญ สิริวัฒนภักดี (เบียร์ช้าง) มีทรัพย์สิน 10,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อันดับ 94 ของโลก 2.ธนินท์ เจียรวนนท์ (ซีพี/ธุรกิจหลากหลาย) มีทรัพย์สิน 6,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อันดับ 171 ของโลก 3.วาณิช ไชยวรรณ (ไทยประกันชีวิต) มีทรัพย์สิน 3,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อันดับ 421 ของโลก 4.ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ (บางกอกแอร์เวย์ส) มีทรัพย์สิน 2,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อันดับ 612 ของโลก 5.วิชัย ศรีวัฒนประภา (คิง เพาเวอร์) มีทรัพย์สิน 2,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อันดับ 612 ของโลก 6.กฤตย์ รัตนรักษ์ (ช่อง 7) มีทรัพย์สิน 2,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อันดับ 666 ของโลก 7.จรัญ เจียรวนนท์ (ธุรกิจหลากหลาย) มีทรัพย์สิน 2,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อันดับ 854 ของโลก 8.สุเมธ เจียรวนนท์ (ธุรกิจหลากหลาย) มีทรัพย์สิน 2,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อันดับ 854 ของโลก 9.มนตรี เจียรวนนท์ (ธุรกิจหลากหลาย) มีทรัพย์สิน 2,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อันดับ 854 ของโลก
      
10.ทักษิณ ชินวัตร (นักลงทุน) มีทรัพย์สิน 1,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อันดับ 1,121 ของโลก 11.วิชัย ทองแตง (นักลงทุน) มีทรัพย์สิน 1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อันดับ 1,198 ของโลก 12.วิลเลียม ไฮเน็ค (โรงแรม) มีทรัพย์สิน 1,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อันดับ 1,275 ของโลก 13.คีรี กาญจนพาสน์ (บีทีเอส) มีทรัพย์สิน 1,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อันดับ 1,367 ของโลก 14.ทองมา วิจิตรพงศ์พันธุ์ (พฤกษาเรียลเอสเตท) มีทรัพย์สิน 1,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อันดับ 1,367 ของโลก 15.สุรินทร์ อุปพัทธกุล (โทรคมนาคม/ลอตเตอรี่/ประกัน) มีทรัพย์สิน 1,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อันดับ 1,577 ของโลก 16.สุดธิดา รัตนรักษ์ (สื่อสารมวลชน/อสังหาริมทรัพย์) มีทรัพย์สิน 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อันดับ 1,694 ของโลก 

กล่าวสำหรับความร่ำรวยของ “เจ้าสัวเจริญ” เป็นที่รับรู้กันและปฏิเสธไม่ได้ว่าที่มาของความร่ำรวยคือธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ตั้งแต่แม่โขง แสงโสม จนถึงเบียร์ รวมหลายสิบแบรนด์ที่สามารถเข้าถึงทุกกลุ่มลูกค้าเป้าหมายในตลาด ตั้งแต่ระดับรากหญ้า จนถึงระดับไฮเอนด์

เพียงแต่ “เจ้าสัวเจริญ” ก็ไม่ได้หยุดอยู่เพียงเท่านั้น ยังมีธุรกิจอีกมากมายที่อยู่ในอาณาจักรของเขา อันได้แก่ 1.อาหารและเครื่องดื่ม ทั้งแอลกอฮอล์ นอนแอลกอฮอล์ เครื่องดื่มน้ำอัดลม เสริมสุข เอฟแอนด์เอ็น ไทยเบฟ โออิชิ เป็นต้น และแต่ละบริษัทในเครือ ก็มีระบบลอจิสติกส์ ที่แข็งแกร่งทั้งสิ้น 2.กลุ่มอุตสาหกรรมและการค้า อย่างเช่น บีเจซี หรือเบอร์ลี่ยุคเกอร์ ซึ่งมีสินค้าอุปโภคและบริโภคมากมายหลายแบรนด์ ทั้งที่เป็นสินค้าของตัวเองและที่นับจัดจำหน่าย 3.กลุ่มอสังหาริมทรัพย์และค้าปลีก ที่มีทั้งโรงแรม ศูนย์การค้า คอนโดมิเนียม อาคารสำนักงาน พลาซ่า เป็นต้น 4 .กลุ่มธุรกิจประกันภัยทั้งชีวิต วินาศภัย และ 5.กลุ่มธุรกิจเกษตรและอุตสาหกรรม

กล่าวสำหรับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์นั้น เสี่ยเจริญเริ่มจากการลงทุนในที่ดินเมื่อ 30 ปีที่ผ่านมา จนกลายมาเป็น 6 สายธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ภายใต้ “ทีซีซีแลนด์ กรุ๊ป” ที่ครบวงจร และกำลังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

กลุ่มทีซีซีแลนด์ กรุ๊ป ได้เดินหน้าขยายอาณาจักรอสังหาริมทรัพย์ อย่างจริงจังเมื่อปี 2550 ด้วยการที่บริษัท อเดลฟอส จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทพัฒนาอสังหาฯ ในกลุ่มทีซีซีแลนด์ กรุ๊ป เข้าซื้อกิจการของบริษัทยูนิเวนเจอร์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งปัจจุบัน ยูนิเวนเจอร์ ได้ขยายธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ครอบคลุมการพัฒนาอาคารชุดพักอาศัยเพื่อขาย ภายใต้บริษัทแกรนด์ ยูนิตี้ ดีเวลล๊อปเม้นต์ จำกัด และโครงการอาคารสำนักงานปาร์คเวนเจอร์ อีโคเพล็กซ์ และโรงแรม ดิ โอกุระ เพรสทีจ กรุงเทพฯ และต่อมาในปี 2555 ยูนิเวนเจอร์ ได้เข้าเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในบริษัท แผ่นดินทอง พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นต์ จำกัด (มหาชน)

กระทั่งในปี 2556 การเจรจาซื้อหุ้นบริษัทยักษ์ใหญ่ เฟรเซอร์ แอนด์ นีฟ (F&N) มูลค่า 3.4 แสนล้านบาท ของบริษัท ไทย เบฟเวอเรจ (ไทยเบฟ) และบริษัท ทีซีซี แอสเซท ของกลุ่มเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี เป็นผลสำเร็จ ยังผลให้กลุ่มของเจ้าสัวเจริญ กลายมาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัทกรุงเทพบ้านและที่ดิน จำกัด (มหาชน) หรือ เคแลนด์โดยปริยาย ซึ่งเคแลนด์ เป็นบริษัทพัฒนาคอนโดมิเนียมและบ้านเดี่ยวระดับไฮเอนด์ ถือหุ้นรวม 79.78%

ทั้งนี้ การลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ของเจ้าสัวเจริญ เริ่มเมื่อ 30 ปีที่ผ่านมา จนกลายมาเป็น 6 สายธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ภายใต้ “ทีซีซีแลนด์ กรุ๊ป” ที่ครบวงจร และกำลังขยายตัวอย่าง แผ่กิ่งก้านสาขาอย่างเติบโตและมั่นคง โดยกลุ่ม ทีซีซี เริ่มเข้าสู่กิจการโรงแรมเต็มตัวเมื่อลงทุนในกิจการโรงแรมเครืออิมพีเรียล และจัดตั้งบริษัท ทีซีซี โฮเทลส์ กรุ๊ป เพื่อพัฒนาธุรกิจและขยายการลงทุนอย่างต่อเนื่องทั้งในและต่างประเทศ

ทำให้ปัจจุบันมีโรงแรมและรีสอร์ทที่อยู่ภายใต้การบริหารถึง 51 แห่งใน 11 ประเทศ มีจำนวนห้องพักรวมทั้งสิ้นกว่า 10,000 ห้อง ทีซีซี โฮเทลส์ กรุ๊ปยังได้ร่วมมือกับพันธมิตรกับกลุ่มผู้บริหารโรงแรม ระดับโลกที่มีเครือข่ายการตลาดและแบรนด์ที่เข้มแข็ง ให้ดำเนินการบริหารโรงแรมเพื่อให้สอดรับกับความต้องการของแต่ละกลุ่มลูกค้าในทำเลที่ต่างกัน

นอกจากนี้ กลุ่มทีซีซี แลนด์ยังดำเนินธุรกิจด้านอาคารสำนักงานของผู้บริหารพื้นที่สำนักงานให้เช่าบนใจกลางย่านธุรกิจ (CBD) ของกรุงเทพมหานครมีพื้นที่รวมกว่า 1 ล้าน 5 แสน ตารางเมตร โดยมุ่งที่จะพัฒนาให้ทุกอาคารมีคุณภาพ ได้มาตรฐานสากล อีกทั้ง มุ่งมั่นในการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยให้เป็นโครงการชั้นนำในแต่ละกลุ่มลูกค้า ควบคู่ไปกับคุณภาพและทำเลที่ดีที่สุดเพื่อตอบรับไลฟ์สไตล์ปัจจุบัน

ส่วนบริษัท เอ็น.ซี.ซี. แมนเนจเม้นท์ แอนด์ ดิเวลลอปเม้นท์ จำกัด ซึ่งเป็นผู้บุกเบิกธุรกิจการบริหารศูนย์การประชุมแห่งแรกของประเทศไทย ได้แก่ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2534 ให้เป็นที่รู้จักทั้งในประเทศและต่างประเทศ

เมื่อปลายปีที่ผ่านมาเจ้าสัวเจริญ ได้มีนโยบายให้บริษัทในเครือนำที่ดินที่มีอยู่รวมกันกว่า 3 แสนไร่ไปพัฒนาหรือบริหารจัดการ เพื่อก่อให้เกิดรายได้ให้บริษัทและส่งเสริมให้ชุมชนมีความก้าวหน้า ทั้งในภาคธุรกิจการเกษตร อสังหาริมทรัพย์ ค้าปลีก และนิคมอุตสาหกรรม เป็นต้น ส่งผลให้ผู้บริหารในแต่ละกลุ่มธุรกิจต่างศึกษาและเตรียมนำเสนอแผนการพัฒนาและลงทุนธุรกิจในระยะยาว

กล่าวสำหรับประวัติของ “เจ้าสัวเจริญ” มีการเขียน เรียบเรียงจำนวนมาก สรุปได้ว่า เขามีชื่อจีน “โซวเคียกเม้ง” เกิดเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2487 บิดามีอาชีพ ”ขายหอยทอด” ใช้เวลาเรียนถึง 8 ปีเพื่อให้จบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนเผยอิง เพราะสอบตกเรียนซ้ำชั้น แต่มีข้อดีทำให้มีเพื่อนหลายรุ่น และมีเวลานานพอที่จะหาเลี้ยงชีพด้วยการขายของเล็กๆ น้อยๆ เมื่อเขา 11 ปี ได้รับจ้างเข็นรถส่งสินค้า ย่านสำเพ็ง ทรงวาด จากนั้นก็ขยับเป็นพ่อค้าหาบของขาย
ปี 2504 ได้เป็นลูกจ้างของชาวจีนที่อพยพมาอยู่เมืองไทยคนหนึ่ง ในบริษัทย่งฮะเส็ง และห้างหุ้นส่วนจำกัด แพนอินเตอร์ ที่จัดส่งสินค้าให้โรงงานสุราบางยี่ขั้น และเพียงปีเดียวเขาได้เป็น ”ซัพพลายเออร์” ให้โรงงานสุราบางยี่ขันเอง นำมาสู่การรู้จักกับนายจุล กาญจนลักษณ์” ผู้เชี่ยวชาญการปรุงรสสุรา โดยเฉพาะสูตร ”แม่โขง” และคุ้นเคยกับเจ้าสัว เถลิง เหล่าจินดา” ผู้มีอำนาจในการจัดซื้ออุปกรณ์ทุกอย่างของโรงงาน โซวเคียกเม้ง” กลายเป็นขุนพลคู่ใจของเจ้าสัวเถลิงในเวลาไม่นาน เพราะความอ่อนน้อมถ่อมตน และมีสัมมาคารวะ กลยุทธ์ และเคล็ดลับในการทำธุรกิจสุราจึงเป็นของเขาในที่สุด

เมื่ออยู่ในวงการของเจ้าสัวแล้ว จึงได้มีโอกาสพบกับ ”วรรณา แซ่จิว” หรือปัจจุบันคือ ”คุณหญิงวรรณา สิริวัฒนภักดี” บุตรสาวของเจ้าสัวกึ้งจู แซ่จิว
ปี 2518 บริษัทธารน้ำทิพย์ ผู้ผลิต ”ธาราวิสกี้” ของ ”พงส์ สารสิน” และ ”ประสิทธิ์ ณรงค์เดช” ประสบภาวะขาดทุนและประกาศขาย กลุ่มเจ้าสัวเถลิงและ “เจริญ” จึงเข้าซื้อกิจการ ซึ่งก็คือบริษัทแสงโสมในปัจจุบัน

ปี 2529 “เจริญ” ที่ได้กลายเป็น ”เจ้าสัว” ไปแล้ว ได้เข้าสู่ธุรกิจธนาคาร และการเงิน ด้วยความช่วยเหลือของ ”พ่อตา” เข้าไปซื้อหุ้นในธนาคารมหานคร บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์มหาธนกิจ ซื้อหุ้นในบริษัทอาคเนย์ประกันภัย และอีกหลายกิจการ

ปี 2537 ซื้อกิจการกลุ่มโรงแรมอิมพีเรียล ที่มีโรงแรมในเครือจำนวนมากจากนายอากร ฮุนตระกูล และจากนั้น ”เจ้าสัวเจริญ” ก็ขยายธุรกิจอย่างไม่เคยหยุดยั้ง จนกระทั่งถึงปัจจุบัน โดยมีทายาท 5 คน พร้อมสานต่อ คือ อาทินันท์ วัลลภา ฐาปน ฐาปนี และปณต

ปรัชญาการดำเนินธุรกิจที่เป็นเลื่องลือของเจ้าสัว ”เจริญ” คือ การซุ่มซ่อนยาวนาน สะสมทุน รอคอยโอกาส ที่สำคัญ “คุณธรรมน้ำมิตร” ที่ว่า ”บุญคุณต้องทดแทน” ทำให้เส้นทางของ ”เจ้าสัวเจริญ” ยังมีโอกาสอีกยาวไกล

ขณะที่มหาเศรษฐีของโลก นิตยสารฟอร์มส์รายงานว่า บิล เกตส์ ยังคงครองความเป็นบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในโลก ด้วยทรัพย์สินสุทธิราว 75,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐโดยประมาณ น้อยกว่าปีที่แล้ว 4,200 ล้านดอลลาร์ ส่วนอันดับ 2 เป็นของอามันซิโอ ออร์เตกา นักธุรกิจชาวสเปนวัย 67 ปี ผู้ร่วมก่อตั้งเครือข่ายบริษัทค้าปลีกเสื้อผ้า ซารา มีทรัพย์สิน 67,000 ล้านดอลาร์

ส่วนมาร์ก ซัคเคอร์เบิร์ก ซีอีโอเฟซบุ๊ก เป็นบุคคลที่มีผลงานดีที่สุดในรอบปี ด้วยมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้น 11,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยฟอร์บส์จัดอันดับให้ชายวัย 31 ปีผู้นี้อยู่อันดับ 6 ด้วยทรัพย์สินสุทธิ 44,600 ดอลลาร์สหรัฐ เป็นรอง เจฟฟ์ เบซอส ผู้ก่อตั้งอเมซอนดอทคอม ที่มีทรัพย์สิน 45,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อยู่ 1 อันดับ ขณะที่ทั้งคู่ก้าวขึ้นมาติดท็อปเทนเป็นปีแรก

อย่างไรก็ตาม เป็นปีที่ไม่ดีนักสำหรับเหล่ามหาเศรษฐี โดยจากข้อมูลของฟอร์บส์พบว่ามีมหาเศรษฐีระดับ 1,000 ล้านดอลลาร์ขึ้นไป เหลือแค่ 1,810 คน ลดลงจากปีก่อน 16 คน และมีทรัพย์สินสุทธิรวมกันลดลง 570,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เหลือ 6.48 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ

นอกจากนี้ ยังเป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี 2010 ที่ทรัพย์สินของมหาเศรษฐีเฉลี่ยต่อคนลดลงอยู่ที่ 3,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ น้อยกว่าปีที่ผ่านมา 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยฟอร์บส์ระบุว่า ปัจจัยสำคัญ คือ ความผันผวนในตลาดหุ้น ราคาน้ำมันที่ตกต่ำ และดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้น แต่มีอยู่แค่ 2 คนที่สามารถรักษาอันดับเดิมเอาไว้ได้ โดยเกสต์ครองหมายเลข 1 เป็นปีที่ 3 ติดต่อกัน และนายวอร์เรน บัฟเฟต์ ซึ่งอยู่ในอันดับ 3 ด้วยมูลค่าทรัพย์สิน 60,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่นายการ์ลอส สลิม เจ้าพ่อโทรคมนาคมเม็กซิโก หล่นไปอยู่อันดับ 4 ด้วยทรัพย์สินที่ลดลงจาก 77,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เหลือ 50,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ฟอร์บส์ระบุด้วยว่า มีอยู่ 221 คนที่หลุดจากรายอันดับมหาเศรษฐีในปีนี้ แต่ก็มีหน้าใหม่เข้ามาแทน 198 คน โดยอเล็กซานดรา อันเดรเซน ชาวเดนมาร์กวัย 19 ปี เป็นมหาเศรษฐีอายุน้อยที่สุด ส่วนแคธารีนา พี่สาวของเธอวัย 20 ปี ตามมาเป็นอันดับ 2 และมีผู้หญิง 190 คน ที่ติดอันดับมหาเศรษฐีจากการประกาศของฟอร์บส์ในปีนี้ โดยมาดามลิเลียน เบตตองกูร์ต เจ้าของธุรกิจลอรีอัล ครองหมายเลข 1 ในส่วนของสตรี แต่รั้งอันดับ 11 ของมหาเศรษฐีทั้งหมด ด้วยทรัพย์สิน 36,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
     
ทั้งนี้ สหรัฐฯ ยังคงเป็นชาติที่มีมหาเศรษฐีมากที่สุด 540 คน ตามมาด้วยจีนแผ่นดินใหญ่ 251 คน และเยอรมนี 120 คน ส่วนรัสเซียติดอันดับมา 77 คน ฮ่องกง 69 คน และบราซิล 23 คน
       


กำลังโหลดความคิดเห็น