xs
xsm
sm
md
lg

“ปลายเหตุการเมืองไทย”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: วิทยา วชิระอังกูร


ถามจริงๆ เถิดนะครับผมแค่สงสัยแบบคนมีความรู้น้อยว่า ตกลงรัฐธรรมนูญที่เขียนขึ้นใหม่ เรายังคงจะจำกัดวงให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่นิติบัญญัติเพียงอย่างเดียวใช่หรือไม่?

ถ้าใช่ เราก็ไม่น่าจะต้องใช้ ส.ส.ถึง 500 คน และ ส.ว.ต่างหากอีกจำนวนเป็นร้อย มิใช่หรือ? เพราะไม่น่าจะมีเหตุผลอันใดที่จะต้องมี ส.ส., ส.ว.มากมายกว่าประเทศที่เขาเป็นแม่แบบประชาธิปไตยอย่างอังกฤษ อเมริกาเสียอีก ใช่หรือไม่?

  และอีกประเด็นหนึ่งซึ่งก็ยังไม่เคยได้ยินได้ฟังผู้รู้มากทั้งหลาย เขายกเป็น ประเด็นขึ้นมานำเสนอหรือเอ่ยถึงกันเลย ก็คือสถานะของคนที่จะเป็นผู้แทนราษฎร ควรจะเป็นงานอาสาหรืองานอาชีพกันแน่

เพราะความเป็นจริงที่ผ่านมา มันกลายเป็นอาชีพกันอย่างเป็นหลักเป็นฐานแล้ว ถึงขนาดผู้แทนราษฎรรุ่นเก่าแก่อาวุโสบางคนกล่าวอย่างภาคภูมิใจว่า เวลากรอกประวัติช่องอาชีพจะเขียนคำว่าอาชีพนักการเมืองอย่างรู้สึกลำพอง ทระนงองอาจเลยทีเดียว มิหนำซ้ำอาชีพนี้กลายเป็นอาชีพที่ยึดครองกันเป็นตระกูลๆ ในแต่ละจังหวัด และเสมือนหนึ่งกลายเป็นมรดกตกทอดส่งทอดกันถึงลูกเมีย และวงศาคณาญาติได้ด้วย ใช่หรือไม่?

ในทัศนะคนรู้น้อยอย่างผม คิดมาโดยตลอดว่า คนที่จะมาเป็นนักการเมืองสมัครมาเป็นผู้แทนราษฎรให้ราษฎรเขาเลือก มันน่าจะเป็นงาน “อาสา” มากกว่าเป็น “อาชีพ” และถ้าเชื่ออย่างที่ผมเชื่อ มันก็น่าจะเป็นตำแหน่งที่ไม่ต้องประเคนเงินเดือนให้เป็นแสนและมีสิทธิพิเศษอีกมากมาย รวมทั้งเครื่องราชย์สายสะพายที่ได้กันแบบง่ายๆ เหนือกฎเกณฑ์ที่บังคับต่อข้าราชการทั่วไป

ในทัศนะคนรู้ไม่มากแต่คิดแบบตรงไปตรงมา งานอาสาจึงไม่ควรมีเงินดาวเงินเดือน ให้มีแค่เบี้ยประชุม และค่าใช้จ่ายในการเดินทางเท่าที่จำเป็นและเป็นจริง เครื่องราชย์ถ้าจะได้ก็ต้องเป็นไปตามกฎเกณฑ์ปกติแบบข้าราชการทั่วไป

รัฐธรรมนูญที่จะเขียนขึ้นใหม่ เชื่อว่าคงไม่กล้าเขียนกฎเกณฑ์ที่ถูกต้องดีงามเยี่ยงนี้

นี่เป็นเพียงเรื่องพื้นฐานธรรมดาง่ายๆ ที่ทำไมนักคิดนักปฏิรูปทั้งหลายคิดไม่ถึง หรือไม่กล้าที่จะคิด เพราะผลพลอยได้จะประหยัดงบประมาณแผ่นดินไม่น้อย สามารถนำไปใช้ทำประโยชน์ที่จำเป็นในด้านอื่นๆ ซึ่งจะเป็นคุณูปการยิ่ง เพียงแค่นี้ ผมจึงไม่สนใจที่จะให้ความสำคัญรัฐธรรมนูญใหม่ เพราะไม่เชื่อว่ามันจะเป็นแม่บทในการบริหารราชการแผ่นดินให้ดีขึ้นได้อย่างไร

บทพิสูจน์ก็เห็นชัดแล้ว เปลี่ยนแปลงการปกครองมา 84 ปี ใช้รัฐธรรมนูญมาแล้ว 19 ฉบับ ที่กำลังจะนำเสนอคือฉบับที่ 20 ถามว่าการเมืองไทยจะดีขึ้นเพราะมีรัฐธรรมนูญดีขึ้นอย่างนั้นหรือ?

ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เคยกล่าวไว้ว่าการปฏิวัติรัฐประหารเป็นปลายเหตุ การร่างรัฐธรรมนูญก็เป็นปลายเหตุ ต้นเหตุคือนักการเมืองเลวผมเห็นด้วยส่วนหนึ่ง ที่อยากเพิ่มเติมคือต้นเหตุน่าจะมาจากพื้นฐานราษฎรผู้ใช้สิทธิและระบบอุปถัมภ์ที่ครอบงำสังคมไทยมาช้านาน

การเลือกตั้งจึงไม่บริสุทธิ์ยุติธรรม นักการเมืองอาชีพที่ได้รับเลือกซึ่งต้องลงทุนด้วยเงินทองจำนวนมากเกินตัว จึงไม่ทำหน้าที่ผู้แทนราษฎรอย่างอาสาซื่อตรง เพราะต้องพะวงกับการแสวงหาตำแหน่งและการถอนทุน

นี่จึงเป็นสภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แต่ยังไม่ดับลงสักที ตราบเท่าที่ยังไม่มีการปฏิรูประบบการเมืองอย่างจริงจังและตรงไปตรงมา ทุกครั้งหลังการรัฐประหารที่รัฐธรรมนูญถูกฉีกทิ้ง ก็ต้องมีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ผมฟังการถกเถียงทางวิชาการที่ต่างอ้างอิงทฤษฎีทางการเมืองมากมาย แต่ประเด็นง่ายๆ แค่การปฏิรูปนักการเมืองจากอาชีพมาเป็นการอาสา ไม่เคยได้ยินหลุดจากปากนักวิชาการ และกูรูทางการเมืองเลย

ในฐานะผู้รู้น้อยแต่คิดเห็นตรงไปตรงมาตรงประเด็น ผมจึงไม่สนใจประเด็นอื่นๆ ที่ก็คงร่างกันตามแต่คิดจะให้มันสนองความต้องการเฉพาะหน้าของผู้มีอำนาจ ซึ่งอาจจะดีได้ชั่วระยะเวลาหนึ่ง แล้วก็คงเข้าสู่วงจรเดิม เพราะบรรดานักการเมืองและผู้ยึดครองอำนาจรัฐที่จะเกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญโดยตรง ก็ต่างจะใช้มันอย่างไม่ตรงไปตรงมาเฉกเช่นที่ผ่านมา 19 ฉบับ ซึ่งเมื่อร่างเสร็จใหม่ๆ ก็ล้วนพากันสูดปากซี๊ดๆ ว่าสุดยอดกันทั้งนั้น

ผมจึงเชื่อว่ารัฐธรรมนูญเป็นแค่การแก้ที่ปลายเหตุจริงๆ และตราบใดที่ไม่ยึดหลักธรรมคำสอนของพุทธองค์อันว่าด้วยหลักปฏิจจสมุปบาท ที่แสดงกฎแห่งธรรมชาติถึงเหตุและผล และความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันของสรรพสิ่ง อันเป็นบ่อเกิดแห่งทุกข์ ตราบนั้นทุกข์อันเกิดจากระบบการเมืองทั้งปวงก็ยากที่จะแก้ไขดับทุกข์ลงได้

วงจรอุบาทว์เลือกตั้ง-รัฐประหาร-ร่างรัฐธรรมนูญ ก็คงจะยังหมุนเวียนเช่นนี้อีกตราบนานเท่านาน

บทกวีปิดท้ายวันนี้ อาจไม่ตรงกับเรื่องที่บ่นมาข้างต้นสักเท่าใด แต่อ่านให้มันเกี่ยวเนื่องเป็นเหตุปัจจัยก็แล้วกันนะครับ

“รักดอก จึงบอกมา”
อยากทำอะไร ก็ทำเถิด
ทำไป ขอให้เกิด มรรคผล
มีคนทัก คนท้วง ก็ควรทน
ฟังคนอื่นบ้าง อย่างไตร่ตรอง
อย่าหลงว่า ที่ทำ ล้วนล้ำเลิศ
ทำตามชัก ตามเชิด ว่าถูกต้อง
เชื่อเถิด ทางที่ดี มีครรลอง
มีดวงตา ต้องมอง ให้รอบทิศ
บ้านเมือง เป็นของ ทุกคน
ยากดี มีจน ต่างมีสิทธิ์
คนตัก คนเตือน ต้องนิ่งคิด
ร่วมกันฝ่าวิกฤต ด้วยปัญญา
อย่าใช้อารมณ์ เสกโลกสวย
อย่าเอออวยกันเอง ทุกทีท่า
ตั้งสติ ก่อนสตาร์ท ก่อนไคลคลา
อย่ากระดี๊กระด๊า ตามอารมณ์
อยากจะทำ อะไร ก็ทำเถิด
แค่รู้ปิด รู้เปิด ให้เหมาะสม
ที่ท้วงทัก แค่ไม่อยาก ให้ลอยลม
ให้รู้ข่ม รู้คิด ให้เหมาะควร
อย่าให้คน เห็นว่า เล่นตลก
พอหมดยก ปัดก้นหนี ไปด้วนๆ
อยากให้กล้า คิดทำ ตามกระบวน
ฟังเสียงมวลมหาประชาชน

            ว.แหวนลงยา
กำลังโหลดความคิดเห็น