xs
xsm
sm
md
lg

บทวิเคราะห์เจาะลึก! เติมน้ำมันหรือติดก๊าซชนิดไหนค่าใช้จ่ายคุ้มค่าทีสุดเมื่อรถแล่นระยะทางเท่ากัน?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ณ บ้านพระอาทิตย์
โดย...ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

ราคาน้ำมันดิบได้ลดลงอย่างต่อเนื่อง และมีแนวโน้มที่จะลดลงไปอีกนานพอสมควร แต่ราคาน้ำมันไทยก็ยังไม่สามารถลดลงได้เหมือนกับประเทศเพื่อนบ้าน

น้ำมันเบนซิน 95 ราคาอ้างอิงสิงคโปร์เมื่อวันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2559 ตกลิตรละไม่ถึง 12.02 บาท แต่ราคาเอทานอลซึ่งใช้ผสมกับน้ำมันเบนซินเพื่อให้ได้เป็นแก๊สโซฮอลนั้นมีราคาประมาณลิตรละ 23 บาท นั้นหมายถึง ราคาเอทานอลนั้นแพงกว่าน้ำมันเบนซินไปแล้วถึงประมาณ 2 เท่าตัว

และราคาเอทานอลที่ประเทศไทยที่โรงกลั่นน้ำมันไทยได้ไปเพื่อคำนวณสูตรราคาหน้าโรงกลั่น ก็สูงกว่าที่ประเทศบราซิลและสหรัฐอเมริกาที่เอทานอลอยู่ที่ 18 -19 บาทต่อลิตรเท่านั้น

ดังนั้นเมื่อน้ำมันเบนซิน 95 ยิ่งผสมเอทานอลมากเท่าใดในรูปของแก๊สโซฮอลมากขึ้น ราคา ณ หน้าโรงกลั่นก็ยิ่งแพงขึ้น

โดยราคา ณ หน้า โรงกลั่นไทยเมื่อวันที่ 21 มกราคม 2559 คิดราคาเบนซิน 95 ที่ลิตรละ 12.02 บาท

เมื่อผสมเอทานอลลงไป 10% กลายเป็นแก๊สโซฮอล 95 ราคาหน้าโรงกลั่นไทยขึ้นไปที่ลิตรละ 13.29 บาท

เมื่อผสมเอทานอลลงไปเป็น 20% กลายเป็นน้ำมัน E20 ราคาหน้าโรงกลั่นก็ขึ้นไปอีกถึงลิตรละ 14.58 บาท

และเมื่อผสมเอทานอลไปมากที่สุดถึง 85% กลายเป็นน้ำมัน E85 ราคาหน้าโรงกลั่นก็ขึ้นสูงถึงลิตรละ 20.02 บาท

แต่มีปัญหายังมีมากไปกว่านั้นนั้นอีก เมื่อพบว่า "เอทานอลที่ยิ่งผสมในน้ำมันเบนซินกลายเป็นแก๊สโซฮอลมากเท่าใด ก็กลับทำให้รถยนต์วิ่งได้ระยะทางสั้นลง" ซึ่งเรียกค่านี้ว่า "อัตราการสิ้นเปลือง"

ทั้งนี้สถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ได้เคยเผยแพร่ข้อมูลของห้องปฏิบัติการยานพาหนะ กรมควบคุมมลพิษ เดือนสิงหาคม 2554 โดยคำนวณอัตราการสิ้นเปลืองของรถยนต์ที่ใช้ความเร็ว 23.4 กิโลเมตรต่อชั่วโมง (ค่าความเร็วเฉลี่ยในกรุงเทพมหานคร) พบว่า

รถยนต์ที่เติมด้วยน้ำมันเบนซิน 95 จำนวน 1 ลิตรจะวิ่งได้ระยะทางไกล 10.58 กิโลเมตร ซึ่งวิ่งได้ระยะทางไกลที่สุดเมื่อเทียบกับแก๊สโซฮอลทุกชนิด

รถยนต์ที่เติมด้วยน้ำมันแก๊สโซออล์ 95 (ผสมเอทานอล 10%) จำนวน 1 ลิตร จะเริ่มวิ่งได้ระยะทางสั้นลงเหลือ 10.27 กิโลเมตร

รถยนต์ที่เติมด้วยน้ำมันแก๊สโซออล์ 91 (ผสมเอทานอล 10%) จำนวน 1 ลิตร จะวิ่งได้ระยะทาง 10.39 กิโลเมตร (มากกว่าแก๊สโซฮอล 95 เล็กน้อยเพราะค่าออกเทน คือค่าความต้านทานการจุดระเบิดน้ำมันเบนซินก่อนเวลากำหนดของเครื่องยนต์เพื่อต้านทานการน็อคของเชื้อเพลิง ในกรณีที่ค่าออกเทนสูงกว่ามาตรฐานเครื่องยนต์ที่ทดสอบจะทำให้การเผาไหม้ช้ากว่า และสิ้นเปลืองกว่า)

รถยนต์ที่เติมด้วยน้ำมัน E 20 (ผสมเอทานอล 20%) จำนวน 1 ลิตรจะวิ่งได้ระยทางสั้นลงไปอีกเหลือ 9.88 กิโลเมตร

ส่วนรถยนต์ที่เติมด้วยน้ำมัน E85 (ผสมเอทานอล 85%) จำนวน 1 ลิตร จะวิ่งด้วยระยะทางสั้นที่สุดเหลือเพียง 7.36 กิโลเมตรเท่านั้น

นอกจากจะคิดในแง่วัตถุดิบว่ายิ่งผสมเอทานอลมากในเนื้อน้ำมันเท่าใด ราคาน้ำมันแก๊สโซฮอลที่ได้ก็จะยิ่งแพงมากขึ้นเท่านั้นแล้ว น้ำมันแก๊สโซฮอลที่ผสมเอทานอลมากๆกลับทำให้รถยนต์วิ่งได้ระยะทางสั้นลงเพราะสิ้นเปลืองมากขึ้นด้วย

ยังไม่ต้องพูดถึงว่าเอทานอลยังส่งผลกระทบต่ออายุการใช้งานของเครื่องยนต์ให้สั้นลง เพราะแม้ปัจจุบันจะมีการผลิตรถยนต์เพื่อรองรับการใช้น้ำมันที่ผสมเอทานอล แต่ก็เป็นการเปลี่ยนตัวถังน้ำมันและท่อน้ำมันเท่านั้น ไม่ได้มีการเปลี่ยนเครื่องยนต์ทั้งหมด ดังนั้นการใช้เอทานอลมาก็ยังส่งผลกระทบต่อเครื่องยนต์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้อีกด้วย

และที่ประเทศไทยส่งเสริมการใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล ก็เพราะในช่วงที่ราคาน้ำมันดิบมีราคาแพงนั้น เอทานอลเคยมีราคาถูกกว่าราคาน้ำมัน ซึ่งนอกจากจะช่วยลดราคาน้ำมันได้แล้ว ก็ยังทำให้สิ่งแวดล้อมที่ดีกว่า เป็นพลังงานที่พึ่งพาในประเทศได้ และยังได้ช่วยเหลือเกษตรกรทางอ้อมที่ปลูกพืชพลังงาน โดยเฉพาะ อ้อย มันสำปะหลังอีกด้วย

แต่ประเด็นดังกล่าวข้างต้นก็ได้ถูกโต้แย้งว่าผู้ที่ได้รับประโยชน์ตรงๆจากราคาเอทานอลที่สูงถึง 23 บาทต่อลิตรนั้น ไม่ใช่โรงงานเอทานอล ไม่ใช่โรงงานน้ำตาล และไม่ใช่เกษตรกรผู้ปลูกอ้อยและมันสำปะหลัง แต่กลับเป็น "โรงกลั่นน้ำมัน"เพียงไม่กี่รายเท่านั้น

ต่อมาราคาน้ำมันดิบทยอยลดลงมาเรื่อยๆ จนปัจจุบันราคาต่ำกว่าเอทานอลไปครึ่งหนึ่ง สถานการณ์นี้ก็ทำให้การตัดสินใจยุ่งยากขึ้นว่าประชาชนชาวไทยทั้ง 65 ล้านคน ควรเติมราคาน้ำมันเบนซิน 95 ที่ราคาลดต่ำลงทั่วโลก(เหมือนกับประเทศพม่าและมาเลเซีย) หรือประชาชนชาวไทยจะต้องโอบอุ้มการใช้เอทานอลต่อไป?

และต้องตั้งคำถามที่สำคัญไปกว่านั้นในด้านวิสัยทัศน์ของรัฐบาลว่า ทั่วโลกกำลังจะเปลี่ยนรถยนต์มาเป็นพลังงานไฟฟ้า (รวมถึงพลังงานแสงอาทิตย์)ทดแทนน้ำมันนั้น การอุ้มเอทานอลที่ราคาสูงกว่าน้ำมันต่อไปในระยะยาวนั้นจะเป็นทิศทางที่ถูกต้องแล้วหรือไม่?

แต่รัฐบาลไทยโดยกระทรวงพลังงานได้ใช้ทั้งกลไลจากการจัดเก็บและการชดเชยของกองทุนน้ำมัน ตลอดจนใช้กลไลจากภาษีสรรพสามิตในการ "ฝืนราคาตลาด" ดันราคาน้ำมันเบนซิน 95 ซึ่งมีต้นทุนเนื้อน้ำมันถูกที่สุด ขึ้นไปถึงลิตรละประมาณ 30 บาท และกลายเป็นว่าน้ำมันแก๊สโซฮอลที่ยิ่งผสมเอทานอลมากขึ้นเท่าไหร่กลับตั้งราคาต่อลิตรลดลง

หมายความว่าวัตถุดิบน้ำมันเบนซินซึ่งถูกกว่าเอทานอลแต่รัฐดันทำให้ประชาชนต้องซื้อราคาต่อลิตรแพงที่สุด แต่วัตถุดิบซึ่งเป็นเอทานอลในรูปของแก๊สโซฮอลซึ่งแพงกว่าน้ำมันเบนซินแต่รัฐกลับฝืนทำให้ราคาต่อลิตรต่ำที่สุด

จากนโยบายฝืนราคาตลาดทำให้ราคาขายปลีกเมื่อวันที่ 21 มกราคม 2559 น้ำมันเบนซินอยู่ที่ลิตรละ 30.06 บาท, แก๊สโซฮอล 95 ลิตรละ 23.10 บาท, แก๊สโซฮอล 91 ลิตรละ 22.68 บาท, น้ำมัน E20 ลิตรละ 20.74 บาท และน้ำมัน E85 ลิตรละ 17.89 บาท

ดูผิวเผินแล้วเหมือนรัฐบาลอยากส่งเสริมการใช้เอทานอลมากๆ แต่ในความจริงก็กลับพบเรื่องน่าประหลาด เพราะเกิดคำถามว่ารัฐบาลสับสนในนโยบายราคาหรือไม่?

เพราะเมื่อนำราคาขายปลีก และ อัตราการสิ้นเปลืองมาคำนวณค่าใช้จ่ายต่อการเดินทาง 100 กิโลเมตรแล้ว กลับพบว่า

ค่าใช้จ่ายที่แพงที่สุดอันดับหนึ่ง คือน้ำมันเบนซิน 95 คือต้องใช้จ่าย 284 บาทต่อการเดินทาง 100 กิโลเมตร เพราะรัฐบาลใช้กองทุนน้ำมันและภาษีสรรพสามิตดันราคาน้ำมันเบนซิน 95 แพงขึ้นไปอย่างมาก ราวกับว่ากระทรวงพลังงานไม่ส่งเสริมให้ประชาชนใช้น้ำมันเบนซิน 95 ในราคาถูกๆ

แต่ค่าใช้จ่ายที่แพงที่สุดอันดับที่สอง กลับกลายเป็นน้ำมัน E85 (ซึ่งเป็นน้ำมันที่ผสมเอทานอลมากที่สุดถึง 85%) ซึ่งการเดินทาง 100 กิโลเมตรต้องจ่ายเงินถึง 243 บาท ซึ่งแพงกว่าค่าใช้จ่ายของแก๊สโซฮอล 95 ที่ต้องจ่ายเงินน้อยกว่าที่ 224 บาท, แพงกว่าแก๊สโซฮอล 91 ที่ 218 บาท, และแพงกว่าน้ำมัน E20 ซึ่งอยู่ที่ 210 บาท

ดังนั้นจึงบอกไม่ได้ว่ากระทรวงพลังงานส่งเสริมพลังงานที่มีต้นทุนถูกอย่างเบนซิน 95 เพราะได้มีการดันราคาให้สูงที่สุดจนมีผู้ใช้น้ำมันประเภทนี้ลดน้อยลงมาก

แต่ก็บอกไม่ได้เต็มปากเช่นกันว่ากระทรวงพลังงานส่งเสริมพลังงานจากเอทานอลเพื่อสิ่งแวดล้อมเพราะน้ำมัน E85 ซึ่งผสมเอทานอลมากที่สุดกลับต้องมีค่าใช้จ่ายมากกว่าในการเดินทางเมื่อเทียบกับน้ำมันแก๊สโซฮอลที่ผสมเอทานอลน้อยกว่า

ดังนั้นถ้าใครจะเติมน้ำมัน E85 เพราะหลงคิดว่าราคาต่อลิตรถูกที่สุด ก็ต้องเข้าใจใหม่ว่า ถ้าจะหวังทำให้ค่าใช้จ่ายต่ำลง หันไปเติมน้ำมัน E20 ดีกว่า !!!

เพราะในกลุ่มน้ำมันแก๊สโซฮอลแล้ว น้ำมัน E20 มีค่าใช้จ่ายต่ำที่สุดสำหรับการขับรถยนต์ระยะทางเท่ากัน

ดังนั้นถ้ารัฐบาลจริงใจก็ไม่ควรให้ประชาชนถูกหลอกไปเติมน้ำมัน E85 เพราะความเข้าใจผิด ซึ่งมี 2 ทางให้เลือกคือ 1.ยกเลิกน้ำมัน E85 เสีย หรือ 2. ลดราคาน้ำมัน E85 ให้ต่ำลงอีกจนคุ้มค่าใช้จ่ายต่อการเดินทางในระยะทางเท่ากัน

แต่จะลดค่าใช้จ่ายไปให้ได้มากกว่านั้นเราจะพบว่า "น้ำมันดีเซล" 1 ลิตร สามารถขับรถยนต์ได้ระยะทางไกลกว่าน้ำมันเบนซินและแก๊สโซฮอลทุกชนิด โดย ณ ราคาวันที่ 21 มกราคม 2559 นั้น พบว่า ในระยะทาง 100 กิโลเมตรจะใช้เงินประมาณ 169 บาท

แต่ถ้าจะให้ค่าใช้จ่ายน้อยไปกว่านั้นก็ต้องเปลี่ยนเครื่องยนต์หันไปใช้แก๊ส LPG ณ ราคาวันนี้ ที่ ราคา 20.29 บาทต่อกิโลกรัม (10.97 บาทต่อลิตร)พบว่าในระยะทาง 100 กิโลเมตร จะใช้เงินเพียงประมาณ 122 บาทเท่านั้น

และถ้าจะให้ค่าใช้จ่ายน้อยที่สุดก็คือ ก๊าซ NGV ราคาขายปลีก ณ วันที่ 21 มกราคม 2559 อยู่ที่ 13.50 บาทต่อกิโลกรัม พบว่าในระยะทาง 100 กิโลเมตร จะใช้เงินน้อยที่สุดคือ 111 บาทเท่านั้น

แต่ความคุ้มค่าในการเปลี่ยนเครื่องยนต์ระหว่าง LPG และ NGV ว่าจะคุ้มค่าหรือไม่ และเสี่ยงหรือไม่อย่างไรนั้น เว็บไซต์ www.gasthai.com ได้วิเคราะห์เอาไว้ว่า
สำหรับการติดตั้ง LPG หรือ NGV ในรถยนต์นั้นแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ตามประเภทของเครื่องยนต์ดังนี้

1. ประเภทเครื่องยนต์ดีเซล

1.1 ระบบเชื้อเพลิงร่วม ในรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซล เช่น รถปิคอัพ รถตู้ รถ บรรทุก ที่ไม่ต้องแปลงเครื่องยนต์ จะติดตั้งระบบฉีดเชื้อเพลิงร่วม สัดส่วน ฉีดน้ำมัน 70 %ต่อ ฉีดก๊าซ 30% ส่วนมากจะเป็นดีเซลฉีดร่วมกับ NGV จากสถิติการทดสอบการใช้งานจริง หากเทียบราคาดีเซลต่ำกว่าลิตรละ 35 บาทและ NGV ราคาเกิน กิโลกรัมละ 8.50 บาท ถือว่าไม่คุ้มการลงทุนติดตั้งระบบนี้ โดยเฉพาะใช้งานในช่วงเวลารถติดหรือวิ่งช้า สัดส่วน น้ำมันจะเพิ่มเป็น 80% ก๊าซ 20%

สำหรับรถยต์ที่ติดตั้งในระบบนี้มีทั้งรถตู้โดยสารธารณะ ที่จำต้องติดตั้งเพื่อจดทะเบียนป้ายเหลืองกับกรมการขนส่งทางบกและรถบรรทุกขนาด 1 ตันหรือปิคอัพ ในระบบการติดตั้งนั้นสามารถ ปรับสวิตช์การใช้งานมาใช้น้ำมันดีเซลได้อย่างเดียวโดยไม่จำต้องต้องถอดอุปกรณ์ติดตั้งออก ใช้น้ำมันดีเซลอย่างเดียวคุ้มค่ากว่าประหยัดกว่า

1.2 ระบบเชื้อเพลิงเดียว ในรถยนต์เครื่องยนต์ดีเซล โดยดัดแปลงเครื่องยนต์ให้สามารถใช้แก๊สได้ 100% และตัดระบบน้ำมันออก ส่วนมากจะติดตั้งกับรถที่ใช้งานหนักและวิ่งระยะทางไกลๆหรือใช้ตลอดทั้งวันมักใช้กับระบบ NGV เช่น รถบรรทุก รถเมล รับจ้าง หากจะประเมินความคุ้มค่า ด้วยการลุงทุนแปลงเครื่องยนต์สำหรับรถบรรทุกขนาด 300 แรงม้า และติดตั้งระบบ NGV โดยเฉลี่ยค่าใช้จ่ายประมาณ 5 แสนบาท โดยอัตราสิ้นเปลืองขณะยังใช้น้ำมันดีเซล 3 กิโลเมตรต่อลิตร และหลังจากแปลงใช้ NGV วิ่งได้ประมาณ 2 กิโลเมตรต่อ NGV 1 กิโลกรัม

เมื่อเทียบราคาน้ำมัน ดีเซล ณ วันที่ 21 มกราคม 2559 ลิตรละ 20.29 บาท หากเดินทาง 100 กิโลเมตรจะมีค่าน้ำมัน 675 บาทหรือ อัตราสิ้นเปลือง 6.75 บาทต่อกิโลเมตร และถ้าใช้ NGV ณ ราคาวันนี้ที่ 13.50 บาทต่อกิโลกรัม จะมีค่าเติม NGV 675 บาท ในระยะทาง 100 กิโลเมตร ซึ่งประหยัดเงินไปเพียง 1.33 บาทต่อ ระยะทาง 100 กิโลเมตร หากจะประเมินจากการติดตั้งที่ 5 แสนบาท ถือว่าไม่คุ้มค่าการลงทุนเพราะจะคืนทุนนั้นต้องใช้เวลา 375,000 วันเลยทีเดียว

สำหรับผู้ประกอบการที่ลุงทุนแปลงเครื่องไปแล้วและใช้ NGV ได้อย่างเดียวใช้ต่อไปค่าใช้จ่ายเท่าๆกับน้ำมันแต่จะเสียโอกาสในการแข่งขันเพราะต้องเสียเวลาจอดรถเติมก๊าซ NGV และค่าซ่อมบำรุงรักษารถที่สูงกว่ารถใช้ดีเซล อายุการใช้งานเครื่องยนต์น้อยกว่า รวมทั้งสมรรถนะด้อยกว่ารถใช้น้ำมันดีเซล ผู้ประกอบการบางส่วนได้ถอดระบบ NGV ออกแล้วซื้อเครื่องยนต์มือสองจากเซียงกงใส่กลับคืนในรุ่นเดิมค่าใช้จ่ายตรงนี้ประมาณ หนึ่งแสนถึงสองแสนบาท ส่วนผู้ประกอบการที่จะจัดหารถบรรทุกหรือรถเมลใหม่มาเพิ่ม นั้นการใช้รถยนต์แบบเครื่องยนต์ดีเซล ณ เวลานี้ถูกกว่าคุ้มค่ากว่า วิเคราะห์ตามแนวโน้มราคาน้ำมันตลาดโลกที่มีแนวโน้วลดต่ำลงไปอีกนาน

2. ประเภทเครื่องยนต์เบนซิน

สำหรับเครื่องยนต์เบนซินนั้นสามารถติดตั้งแบบเลือกใช้ได้ทั้ง 2 ระบบ คือ เลือกใช้ว่าจะใช้น้ำมันอย่างเดียวหรือแก๊สอย่างเดียว มีการติดตั้งระบบตาม ชนิดของเชื้อเพลิง ก๊าซ คือ

2.1 ติดตั้งสองระบบในแบบใช้ LPG ส่วนมากจะเป็นรถยนต์ส่วนบุคคล ขนาด 4 สูบ 6 สูบ และ 8 สูบ เครื่องยนต์ 1300cc-4500cc หากจะประเมินในส่วนรถยนต์ที่ติดตั้งมากที่สุดจะเป็นเครื่องยนต์แบบ 4 สูบ ซึ่งมีค่าติดตั้งในระบบดูด เพียง 10,000 บาท และระบบหัวฉีดแก๊สที่ควบคุมด้วยกล่อง ECU 25,000 บาท หากจะเทียบค่าใช้จ่ายในการเดินทาง 100 กม.โดยเทียบเคียงรายงานการทดสอบโดยสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย หากรถยนต์วิ่งน้ำมันแก๊สโซฮอล 91 ได้ 10.39 กิโลเมตรต่อลิตร วิ่งแก๊ส LPG ได้ 8.93 กิโลเมตรต่อลิตร และใช้ราคาน้ำมัน ณ วันที่ 21 มกราคม 2559 ที่ราคา น้ำมันแก๊สโซฮอล 91 ลิตรละ 22.68 บาท ราคาLPG ณ วันนี้ ที่ กิโลกรัมละ 20.29 บาท(หรือ 10.97 บาทต่อลิตร) พบว่าในระยะทาง 100 กิโลเมตรนั้น ถ้าใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล 91 จะสิ้นเปลือง 218 บาท ส่วน LPG จะสิ้นเปลือง 1.23 บาทต่อ กิโลเมตร หรือ ใช้เงินไป 122.82 บาท ประหยัดไป 95.47 บาท หากติดตั้ง LPG ในระบบหัวฉีดที่ราคา 25,000 บาทจะถึงจุดคุ้มทุน 262 วัน

2.2 ติดตั้งสองระบบในแบบใช้ NGV ส่วนมากจะเป็นรถยนต์ส่วนบุคคล ขนาด 4 สูบ 6 สูบ และ 8 สูบ เครื่องยนต์ 1300cc-4500cc รวมถึงรถตู้โดยสารสาธารณะ ที่เป็นเครื่องเบนซินมาจากโรงงาน หากจะประเมินในส่วนรถยนต์ที่ติดตั้งมากที่สุดจะเป็นเครื่องยนต์แบบ 4 สูบในรถแท็กซี่ ซึ่งมีค่าติดตั้งในระบบดูด 30,000 บาท และระบบหัวฉีดแก๊สที่ควบคุมการฉีดก๊าซด้วยกล่อง ECU 40,000 บาท

หากจะเทียบค่าใช้จ่ายในการเดินทาง 100 กิโลเมตร เทียบรายงานการทดสอบโดยสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย หากรถยนต์วิ่งน้ำมันแก๊สโซฮอล 91 ได้ 10.39 กิโลเมตรต่อลิตร วิ่งแก๊ส NGV ได้ 12.11 กิโลเมตรต่อNGV 1 กิโลกรัม เมื่อเทียบเคียงกับราคาน้ำมัน ณ วันที่ 21 มกราคม 2559 ที่ราคา น้ำมันแก๊สโซฮอล 91 ลิตรละ 22.68 บาท NGV กิโลกรัมละ 13.50 บาท พบว่าในระยะทาง 100 กิโลเมตรนั้น ถ้าใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล 91 จะสิ้นเปลือง 218 บาท ส่วน NGV จะสิ้นเปลือง 1.11 บาทต่อ กิโลเมตร หรือ ใช้เงินไป 111.48 บาท ประหยัดไป 106.81 บาท หากติดตั้ง NGV ในระบบหัวฉีดก๊าซ ที่ราคา 40,000 บาทจะถึงจุดคุ้มทุน 375 วัน

สรุปโดยภาพรวม ของรถยนต์เครื่องยนต์แบบเบนซิน ณ ราคาน้ำมัน LPG NGV ณ วันนี้รถที่ติดตั้งระบบ LPG NGV ไปแล้วการใช้งานต่อ ก็ยังประหยัดกว่าการใช้น้ำมัน ส่วนรถยนต์ที่กำลังจะตัดสินใจติดตั้งทั้ง LPG NGV นั้น หากใช้รถมากและติดตั้งตอนนี้จะถึงจุดคุ้มทุนใน 1 ปี หากใช้งานน้อยก็เป็นดุลพินิจของผู้ใช้รถยนต์ในแต่ละบุคคลในเรื่องการประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทางแต่ละวันลงได้

อย่างไรก็ตามจากข้อมูลข้างต้นก็อย่าเพิ่งสรุปว่าเราฉลาดพอที่จะเลือกพลังงานเป็นที่น่าพอใจและคุ้มค่าแล้ว !?

เพราะนั่นเป็นเรื่องความคุ้มค่าโดยการบริหารจัดการของผู้ใช้รถยนต์ที่ยอมจำนนกับราคาน้ำมันและราคาก๊าซแบบไทยๆ เท่านั้น!!!

เพราะความจริงแล้ว ราคาหน้าโรงกลั่น ทั้งน้ำมันเบนซิน ราคาเอทานอล น้ำมันดีเซล น้ำมันไบโอดีเซล ก๊าซ LPG และ ก๊าซ NGV นั้น ควรจะลดลงได้มากกว่านี้อย่างแน่นอน ถ้าดำเนินตามข้อเสนอการปรับลดราคาพลังงานทั้งระบบ ตามโครงสร้างราคาของเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ที่ได้เสนอต่อรัฐบาลไปแล้ว

อยู่ที่ว่ารัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จะแสดงความกล้าหาญผ่าตัดใหญ่โครงสร้างราคาพลังงานไทยเพื่อประโยชน์ของประชาชนชาวไทยทั้ง 65 ล้านคนแล้วหรือยัง?








กำลังโหลดความคิดเห็น