xs
xsm
sm
md
lg

เกษตรกรแปดริ้วเพาะพันธุ์ปลาดุกขายรายได้งาม ถ่ายทอดความรู้สู่เพื่อนเกษตรกร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ฉะเชิงเทรา - เกษตรกรแปดริ้วเพาะพันธุ์ลูกปลาดุกขายรายได้งาม อีกทั้งยังมีใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ช่วยถ่ายทอดภูมิความรู้ออกสู่สังคมภายนอกโดยไม่ได้หวงแหนเคล็ดลับในการผสมพันธุ์ปลา โดยเฉพาะเพื่อนเกษตรกร และนักเรียน นักศึกษา ตลอดจนผู้ที่สนใจทั่วไป

วันนี้ (16 ก.ย.) ผู้สื่อข่าวได้เข้าเยี่ยมชมแหล่งเพาะพันธุ์ลูกปลาดุกบิ๊กอุย กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเพาะพันธุ์ลูกปลาดุกบิ๊กอุยบ้านหัวชุมแสง ของ นางอังชัญ พิมพ์เจริญ อายุ 52 ปี ที่บ้านเลขที่ 62/1 ม.7 ต.แปลงยาว อ.แปลงยาว จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งได้รวมตัวกันในกลุ่มญาติพี่น้องรวม 11 ราย ที่ได้รับการถ่ายทอดภูมิความรู้ตกทอดมาจากผู้เป็นมารดา ซึ่งมีอาชีพเพาะพันธุ์ลูกปลาดุกขายมาตั้งแต่ยุคดั้งเดิมเป็นเวลานานมาหลายสิบปีแล้ว

นางอังชัญ ผู้เป็นประธานกลุ่ม กล่าวว่า ในสมัยอดีตผู้เป็นมารดานั้นมีอาชีพเพาะพันธุ์ลูกปลาดุกบิ๊กอุยขาย ซึ่งเป็นอาชีพที่มารดาของตนรักมาก ถึงขั้นยอมเสียชีวิตอยู่ภายในบริเวณบ่อฟักลูกปลาดุก ในขณะที่กำลังเข้าไปทำงานอยู่ภายในฟาร์ม ทั้งที่กำลังมีปัญหาเรื่องของสุขภาพ จากนั้นอาชีพของผู้เป็นมารดาจึงต้องยุติลงไปโดยที่ยังไม่มีใครเข้ามาสานต่ออย่างจริงจังมากนัก
ส่วนตนเองนั้นก็ได้แต่ไปรับจ้างฉีดเชื้อเพาะพันธุ์ลูกปลาดุกให้แก่นายจ้างในฟาร์มขนาดใหญ่ มานานถึง 7 ปีเต็ม เนื่องจากไม่มีเงินที่จะลงทุนทำต่อ

ต่อมา หลังจากพอที่จะหาเงินลงทุนในเบื้องต้นได้บ้างแล้ว จึงได้หันกลับมาประกอบอาชีพทำฟาร์มเพาะพันธุ์ลูกปลาดุกของตนเองขึ้น ด้วยการลงทุนแบบค่อยเป็นค่อยไป จนเริ่มมีผู้คนรู้จัก และมีชื่อเสียงมากขึ้น จึงได้ชักชวนญาติพี่น้องเข้ามารวมตัวกัน จัดตั้งเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชน “กลุ่มเพาะพันธุ์ลูกปลาดุกบิ๊กอุยบ้านหัวชุมแสง” แห่งนี้ขึ้นมา

สำหรับอาชีพการเพาะพันธุ์ลูกปลาดุกบิ๊กอุยนั้น ถือเป็นอาชีพอิสระที่มีรายได้ดี แต่ก็ต้องใช้เงินลงทุนครั้งแรกมากด้วยเช่นเดียวกัน เพราะต้องใช้น้ำที่สะอาดในการเพาะพันธุ์ฟักลูกปลา จึงต้องมีการลงทุนขุดเจาะบ่อบาดาลเพื่อนำน้ำใต้ดินขึ้นมาใช้เพาะเลี้ยงในบ่ออนุบาลลูกปลา และต้องมีการสร้างอ่างฟัก อ่างอนุบาลลูกปลา ตลอดจนอ่างเลี้ยงพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ด้วย

แต่หากมีเงินลงทุนเบื้องต้นในปัจจัยที่จำเป็นดังกล่าวแล้วก็สามารถที่จะสร้างรายได้กลับเข้ามาสู่ครอบครัวได้เดือนละไม่ต่ำกว่า 9 หมื่นบาท หลังหักค่าใช้จ่ายแล้วก็จะมีรายได้เหลือเลี้ยงครอบครัวเดือนละประมาณ 6 หมื่นบาท จึงถือว่าเป็นรายได้ที่ค่อนข้างดีพอสมควรสำหรับเกษตรกร

แต่ขณะนี้ตนกำลังอยู่ในช่วงของการลงทุนสร้างเป็นศูนย์ศึกษาเรียนรู้ให้แก่เกษตรกร และนักเรียนนักศึกษาที่สนใจในอาชีพนี้ เนื่องจากหลังจากที่ตนได้มีการจัดตั้งกลุ่มขึ้นมาแล้วนั้น อาชีพนี้ต่างได้รับความสนใจจากบุคคลภายนอกเป็นจำนวนมากที่เข้ามาศึกษาเรียนรู้ และฝึกหัดการทำอาชีพนี้ เนื่องจากอาชีพนี้ยังถือเป็นอาชีพที่ยังไม่มีใครทำกันอย่างแพร่หลายมากนัก จึงถือว่าเป็นอาชีพที่ยังมีอนาคตที่สดใส และแตกต่างไปจากอาชีพอื่นๆ ที่มีการทำแข่งขันกันเป็นจำนวนมาก

สำหรับเกษตรกรผู้สนใจ และนักเรียน นักศึกษาที่ต้องการเข้ามาทำการศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับอาชีพนี้นั้น ตนยินดีที่จะถ่ายทอดภูมิความรู้ให้ฟรี และไม่หวงแหนในเคล็ดวิชาความรู้ที่มีอยู่ โดยที่ผ่านมานั้นได้มีผู้สนใจเข้ามาเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะกลุ่มนักเรียน นักศึกษา ตลอดจนสถาบันการศึกษาหลายแห่งนั้นต่างให้ความสนใจเข้ามาศึกษาเรียนรู้ จึงทำให้สถานที่ภายในฟาร์มที่เคยมีอยู่เดิมคับแคบไม่เพียงพอรองรับ ขณะนี้จึงจำเป็นที่จะต้องสร้างขยายสถานที่เพิ่มเติมขึ้น แต่ก็ต้องทำแบบค่อยเป็นค่อยไปเพราะต้องใช้เงินทุนของตนเองทั้งหมด



กำลังโหลดความคิดเห็น