รธน.ต้องผ่าน ! "บิ๊กตู่" ปัดตอบขยายโรดแมป ยันเลือกตั้งภายในปี 60 "วิษณุ" เตรียมหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถกทำประชามติ พร้อมหาข้อสรุป พวกปลุกระดม คว่ำรธน.ผิดกฎหมายหรือไม่ "บิ๊กหมู"สั่งทหารช่วยรณรงค์ให้ประชาชนมาออกเสียงประชามติ พร้อมกำชับกำลังพลออกมาใช้สิทธิด้วย สนช. นัดสรุปข้อเสนอแนะ ร่างรธน.วันที่ 5 ก.พ.นี้ ก่อนส่งความเห็นกลับกรธ.
วานนี้ (1 ก.พ.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช. กล่าวถึงร่างรัฐธรรมนูญ ที่มี นายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ และเตรียมจะเสนอให้รัฐบาลพิจารณาให้ข้อเสนอแนะต่างๆว่า ตอนนี้ก็ปล่อยให้เขาทำกันไป ส่วนที่จะให้แต่ละฝ่ายเสนอแนะกลับไปนั้น ก็เสนอไป เขามีขั้นตอนอยู่แล้ว
"ในส่วนของผม คงไม่แก้อะไร ประเด็นของผมคือ รัฐบาลก็จะเสนอไปว่า ปัญหาของเราอยู่ตรงไหน ปัญหาของรัฐบาลอยู่ที่ไหน ประเทศไทยติดปัญหาอยู่ที่ไหน ปัญหาว่าอย่างไร สิ่งที่เป็นผลกระทบทำให้ประเทศไทยเดินหน้าไม่ได้ อยู่ที่ไหน ก็จะเสนอให้ไปพิจารณา สำหรับผมไม่บังอาจจะไปสั่งอะไรได้ เรื่องนี้เป็นเรื่องของคนทั้งประเทศว่าจะทำกันอย่างไรกับประเทศนี้ ในเมื่อบอกว่าประเทศนี้เป็นของทุกคน ก็ไม่อยากให้ไปฟังใครคนใดคนหนึ่งพูดข้างเดียว และผมก็จะไม่พูดอะไรในตอนนี้ และขั้นตอนต่างๆเขาก็มีกำหนดไว้อยู่แล้ว การทำร่างแรก การรับฟังความคิดเห็น รัฐบาลก็เพียงแต่จะเสนอว่า ปัญหาประเทศไทยรู้กันหรือยัง ลืมกันไปหรือยัง ว่าอยู่กันตรงไหน และจะแก้กันได้อย่างไร เป็นเรื่องของกรธ.ต้องไปชี้แจงออกมาให้เกิดความชัดเจนขึ้นเท่านั้นเอง"
เมื่อถามว่า จากการดูร่างรัฐธรรมนูญร่างแรก คิดว่าจำเป็นต้องขยายเวลาโรดแมป หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า " พวกคุณดู แต่ผมไม่ได้ดู ผมก็วางไว้ตามโรดแมปของผม"
เมื่อถามย้ำว่า แต่นายมีชัย ระบุว่า อาจจะต้องเลื่อนการเลือกตั้งเป็นปลายปี 60 พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า "แล้วใครว่าล่ะ ถ้าทางกรธ.พูดก็ต้องไปถามฝ่ายกฎหมาย ว่าทำไมมันถึงต้องเพิ่ม ผมก็ไม่รู้ เป็นเรื่องของฝ่ายกฎหมายที่เขาไปดูว่ามันอาจจะเยอะหรือเปล่า สื่อไปดูว่าที่ผ่านมาทุกรัฐธรรมนูญ มีกฎหมายลูกกี่ฉบับ ไปดู ทะเลาะกันอยู่ได้ เรื่องรัฐธรรมนูญ มันไม่เคยออกกฎหมายลูกหรืออย่างไรเล่า ส่วนจะใช้เวลาเท่าไหร่ ไม่รู้ "
เมื่อถามว่าระยะเวลาจะต้องเป็นไปตามที่ กรธ. เสนอใช่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ไม่รู้ก็ต้องไปดูว่ามันมากน้อยแค่ไหน เขาเร่งได้หรือเปล่า ตนก็ยังไม่รู้เหมือนกัน
"ถ้าเร่งมากก็มีปัญหาอีก พอช้าก็มีปัญหาอีก มันเป็นยังไง มันจะขาดใจตายกันหรืออย่างไร เคยอยากถามหรือไม่ว่า ประชาชนเขาอยากได้อะไร เขาต้องการอะไร ไปถามกันบ้างสิ ไปถามประชาชน ไม่ใช่ไปถามแต่ไอ้คนบางคน บางพวก ถามผมที ไอ้อีกพวกที ประเทศชาติติดอยู่ที่เดิมนี่แหละ แล้วรับผิดชอบกันบ้างหรือเปล่า ที่ถามกันอยู่นี่ " พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว อย่างมีอารมณ์ฉุนเฉี่ยว ก่อนกล่าวว่า "พอผมเสียงดัง ก็เริ่มได้เรื่องแล้ว ไม่ถามต่อ"
เมื่อถามย้ำว่า อย่างไรก็ยืนยันว่าการเลือกตั้งจะมีขึ้นในปี 2560 ใช่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวตอบด้วยเสียงอันดัง และย้ำๆ ขณะเดินขึ้นตึกไทยคู่ฟ้าว่า ปี 60 ส่วนจะเดือนไหน ไม่รู้ รู้แต่ว่าปี 60 ตอนนี้ยังไม่ถึงขั้นตอนไม่ใช่หรือ
เมื่อถามว่า ในวันที่ 2 ก.พ.นี้ จะนำร่างรัฐธรรมนูญเข้าสู่การพิจารณาในที่ประชุม ครม.หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า " ไม่รู้ๆ มันจบขั้นตอนต่างๆ แล้วหรือ มันถึงขั้นตอนตรงนี้หรือยัง มันจบแล้วหรือยัง ในส่วนขั้นตอนของ กรธ.น่ะ สื่อที่ถามกันอยู่ได้ ประเทศชาติได้อะไร ประชาชนได้อะไร และรับผิดชอบกันบ้างหรือเปล่า ประชาชนรังเกียจกันเสียบ้าง พวกที่ไม่ได้เรื่อง " นายกรัฐมนตรี กล่าว
เล็งหาวิธีเอาผิดพวกปลุกระดมคว่ำรธน.
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในวันนี้ (2ก.พ.) จะนำร่างรัฐธรรมนูญ เสนอสู่ที่ประชุมครม.เพื่อหารือ แต่คงไม่ถึงขนาดถกเถียงเป็นรายมาตรา ว่าดีไม่ดีอย่างไร มาตราไหนควรแก้ หรือกำหนดแนวทางว่าจะส่งไปที่กรธ.อย่างไร และไม่ทราบว่าจะมีการประชุมร่วมครม.- คสช. เมื่อใด คงต้องไปถามโฆษกฯ ตนจะพูดแต่ในส่วนของครม. หากนายกฯ เห็นว่า ควรพูดพร้อมกันในที่ประชุมร่วมครม.-คสช. ก็ต้องนัดกันอีกที แต่คงต้องเร็ว เพราะ มีกำหนดเวลาส่งความเห็นให้กรธ. ภายในวันที่ 15 ก.พ.นี้
เมื่อถามว่าในการทำประชามติ หากไม่แก้รัฐธรรมนูญชั่วคราว จะมีการส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความก่อนหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า คงต้องให้เกิดความชัดเจนก่อนว่าเราจะใช้วิธีปฏิบัติอย่างไรแล้วค่อยบอกตอนนั้น ตอนนี้ไม่ขอตอบอะไร แน่นอนว่าเรื่องนี้ต้องมีความชัดเจน ไม่วิธีใดก็วิธีหนึ่ง แต่คงเปิดเผยวิธีตอนนี้ไม่ได้ เพราะครม.ต้องพิจารณา อยากให้เข้าใจว่าการทำความเห็นส่ง กรธ. มีกำหนดระยะเวลาในวันที่ 15 ก.พ. แต่การทำความชัดเจนในเรื่องการประชามติ ยังมีเวลาอยู่ ยังไม่จำเป็นต้องพูดเรื่องนี้ในตอนนี้
ส่วนกรณีที่ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ส่งข้อท้วงติงมาที่รัฐบาลเกี่ยวกับปัญหาที่อาจเกิดขึ้น นายวิษณุ กล่าวว่า ยังไม่เห็น แต่เขาส่งมายังนายกฯ หรือไม่ ตนไม่ทราบ
เมื่อถามอีกว่า มีความเป็นห่วงถึงการทำประชามติ ที่ยังมีการระบุถึงบทลงโทษ หากมีการรณรงค์ให้คว่ำร่าง รธน. นายวิษณุ กล่าวว่า อีกไม่กี่วันตนจะหารือกับ กกต. สำนักงบประมาณ กระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ว่าจะเตรียมการเรื่องประชามติอย่างไร ตอนนั้นคงได้มีการหารือกันทั้งหมด ปัญหาเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นตอนนี้ สมัยคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ก็พูดคุยกัน แต่ถูกคว่ำไปก่อน เพราะฉะนั้น ถือว่ามีคำตอบแล้ว
เมื่อถามว่า การที่นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรธ. ออกมาระบุว่า หากร่างรธน.นี้ไม่ผ่าน ร่างต่อไปจะโหดกว่าเดิม รองนายกฯ กล่าวว่า คงต้องไปถามนายมีชัย แต่คงแล้วแต่การตีความหมาย นายมีชัยคงพูดทำนองคนไม่รู้ ทำไมไม่คิดบ้างว่ามันอาจจะมีอะไรดีกว่าเดิม ความหมายคงเป็นแบบกลางๆ อาจเป็นเพราะนักข่าวไปถามอย่างนั้น เลยไม่รู้จะตอบอยางไร
โยนรัฐบาลตัดสินพวกปลุกระดมคว่ำรธน.
นายธนิศร์ ศรีประเทศ ผู้ทรงคุณวุฒิ กกต.กล่าวถึง ร่างประกาศและระเบียบว่าด้วยหลักเกณฑ์ และวิธีการว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ว่า ประกาศนี้เปิดช่องให้สามารถรรณรงค์ได้ ทั้งผู้ที่เห็นด้วย และไม่เห็นด้วยต่อร่างรัฐธรรมนูญ โดยต้องเป็นเหตุเป็นผลเพื่อให้ประชาชนตัดสินใจ ต้องไม่รณรงค์ผิดไปจากข้อเท็จจริง ปลุกระดม ใช้คำหยาบคาย เหล่านี้จะทำให้มีความผิดได้ แต่ในร่างประกาศฯ นี้ไม่สามารถระบุความผิดไว้ได้ เพราะเป็นเพียงประกาศ และรัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ไม่ได้ระบุความผิดไว้ การจะระบุความได้ ต้องออกเป็นพ.ร.บ. ซึ่งกกต.ได้เสนอเรื่องไปยังรัฐบาลเพื่อกำหนดให้ชัดเจนแล้ว
สั่งทหารช่วยรณรงค์ประชามติ
พ.อ.หญิง ศิริจันทร์ งาทอง รองโฆษกกองทัพบก เปิดเผยว่า วานนี้ พล.อ.ธีรชัย นาควานิช ผบ.ทบ. เป็นประธานการประชุมผู้บังคับหน่วยขึ้นตรงกองทัพบก (นขต.ทบ.) โดยได้ชื่นชมการปฏิบัติงานของหน่วยทหารในช่วงเวลาที่ผ่านมา โดยเฉพาะการดูแลประชาชนและงานรักษาความสงบเรียบร้อยที่ได้รับการตอบรับที่ดีจากสังคม
ส่วนงานขับเคลื่อนตามโรดแมปของรัฐบาล และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในเรื่องร่างรัฐธรรมนูญ ที่ได้เริ่มเผยแพร่อยู่ในขณะนี้นั้น ให้ทุกหน่วยให้การสนับสนุนตามกระบวนการของภาครัฐ ทั้งในด้านการเผยแพร่ สร้างการรับรู้ การมีส่วนร่วม เพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลที่ถูกต้องรอบด้านเป็นพื้นฐานไปสู่การออกไปใช้สิทธิ์ลงประชามติอย่างพร้อมเพรียง
"ผบ.ทบ.ได้กล่าวต่อที่ประชุมว่า ปัจจุบันประเทศไทยยังอาจเผชิญกับปัจจัยหลายด้านที่ส่งผลกระทบต่อการเดินหน้าประเทศ ในฐานะที่กองทัพบกดูแลงานด้านความมั่นคง และความสงบเรียบร้อย จึงขอให้ทุกหน่วยทุ่มเทปฏิบัติงานในภาระหน้าที่รับผิดชอบอย่างดีที่สุด ทำทุกอย่างโดยยึดประโยชน์ส่วนร่วมเป็นที่ตั้ง และทำงานเป็นทีม เพื่อร่วมประคับประคองให้ประเทศเดินหน้าไปตามโรดแมปที่กำหนดไว้" พ.อ.หญิง ศิริจันทร์ กล่าว
ด้านแหล่งข่าวนายทหารจากกองทัพบก เปิดเผยว่า พล.อ.ธีรชัย ได้เน้นย้ำในที่ประชุมให้หน่วยทหารเชิญชวนประชาชนออกมาใช้สิทธิ์ลงประชามติให้มากที่สุด แต่ไม่ใช่เป็นการเชิญชวนให้รับ หรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ พร้อมทั้งจะเชิญกรธ. มาช่วยชี้แจงรายละเอียดร่างรัฐธรรมนูญให้ความรู้กับทางหัวหน้าชุดกิจการพลเรือนแต่ละทัพภาค เพื่อไปทำความเข้าใจชี้แจงประชาชนในพื้นที่อย่างถูกต้อง รวมทั้งมีการหนังสือสรุปเนื้อหาย่อๆให้ทหารเข้าใจได้ง่าย และไปทำความเข้าใจกับประชาชนต่อ นอกจากนี้ ผบ.ทบ. ยังได้กำชับกำลังพลว่าถ้าไม่ติดอะไร ขอให้ไปออกเสียงลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญด้วย
สนช.นัดสรุปข้อเสนอร่าง รธน. 5 ก.พ.
นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แถลงว่า วันที่ 3 ก.พ.นี้ ทางสนช.พร้อมด้วยสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) จะประชุมร่วมกัน เพื่อรับฟังคำชี้แจงของกรธ. ต่อร่างรัฐธรรมนูญอย่างละเอียด จากนั้น ในวันที่ 5 ก.พ. ก็จะประชุมสนช. เพื่อให้สมาชิกได้แสดงความคิดเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญ อย่างละเอียด พร้อมเหตุผลประกอบโดยคณะกรรมาธิการสามัญพิจารณาศึกษา เสนอแนะและรวบรวมความเห็นต่อการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ ที่มีนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช.คนที่ 1 เป็นประธาน จะทำการรวบรวมข้อคิดเห็นเป็นหมวดหมู่ เพื่อให้ที่ประชุม สนช. ลงมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ ต่อรายงานฉบับนี้ ในวันที่ 12 ก.พ. ก่อนที่จะส่งให้ กรธ. ให้ทันในวันที่ 15 ก.พ. ตามที่ กรธ. กำหนดต่อไป
ส่วนการจัดทำร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญนั้น ทางกรธ. กำหนดว่า จะทำทั้งหมด 10 ฉบับ ในเวลา 8 เดือน แล้วส่งให้สนช. พิจารณาภายใน 2 เดือนนั้น ถือว่าเป็นภาระหนักมาก เพราะการจัดกฏหมายแต่ละฉบับ ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ และใช้เวลา ดังนั้นตามความเห็นของตน เพื่อให้ทันเวลา อาจจะให้สมาชิกไปพิจารณากันที่ เกาะล้าน หรือ เกาะช้าง เพื่อไม่ให้สมาชิกออกไปไหน จะได้มีเวลากันอย่างเต็มที่ แต่อย่างไรก็ตาม ยืนยัน ระยะเวลา 2 เดือน ทันแน่นอน สนช.จะไม่ขอขยายเวลาในการพิจารณากฎหมายลูก เพราะจะถูกโจมตีว่า เป็นการขยายเวลาเพิ่มให้ คสช. หรือไม่
เมื่อถามว่ามีทางออกไว้หรือไม่ หากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติ นายพรเพชร กล่าวว่า เรื่องนี้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พูดมาตลอดว่ามีทางออก แต่ถ้าพูดตอนนี้ ก็เหมือนชี้นำให้รัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติ นายกฯ เคยคุยกับตนว่า มีทางออกในเรื่องนี้ไว้อยู่แล้ว เพราะนายกฯ ยืนยันว่า ถึงอย่างไรก็ต้องมีเลือกตั้งในปี 2560 แต่ถ้าถึงเวลากันจริงๆ นายกฯคงต้องปรึกษานายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ฝ่ายกฏหมายว่าจะดำเนินการอย่างไร ส่วนที่นักการเมืองไม่เห็นด้วย และรณรงค์ให้คว่ำร่างรัฐธรรมนูญ ตนอยากให้นักการเมืองทำความเข้าใจว่า นี่เป็นเพียงร่างแรก เบื้องต้น จึงอยากให้รอดูจนถึงร่างสุดท้าย ถ้าคิดดีๆ อาจเปลี่ยนใจได้ เพราะตนเชื่อว่า นายมีชัย จะต้องปรับปรุงแก้ไขอย่างแน่นอน