xs
xsm
sm
md
lg

จากหนังสือเดินทางหายสู่ระบบไร้หนังสือเดินทาง

เผยแพร่:   โดย: ผศ.ดร.สุเทพ ทองงาม


ผศ.ดร.สุเทพ ทองงาม
ผู้อำนวยการสำนักบรรณสารการพัฒนา
อาจารย์ประจำหลักสูตรบริหารเทคโนโลยีสารสนเทศ คณะสถิติประยุกต์
สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)
http://as.nida.ac.th/th/


เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสไปศึกษาดูงานที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในประเทศอิตาลี ชื่อว่า Free University of Bozen-Bolzano ทำให้ได้รับความรู้และแนวทางในการบริหารจัดการ และแนวโน้ม รวมไปถึงความแตกต่างระหว่างห้องสมุดที่นิด้ากับห้องสมุดของมหาวิทยาลัยแห่งนั้นเป็นอันมาก

สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดเจนคือชั้นวางหนังสือมีไม่มากนัก ทำให้มีพื้นที่ในการอ่านหนังสือและมีห้องค้นคว้าแบบส่วนตัวหรือแบบกลุ่มที่มากขึ้นซึ่งเป็นผลมาจากการที่ทรัพยากรสารสนเทศถูกพัฒนาเป็นแบบดิจิทัล ยิ่งไปกว่านั้น ที่ Free University ยังเปิดตลอดยี่สิบสี่ชั่วโมงสำหรับนักศึกษาที่ทำวิทยานิพนธ์และคณาจารย์ แต่จะเป็นในลักษณะบริการตนเอง คือจะไม่มีเจ้าหน้าที่คอยให้บริการแต่อย่างใด มีเพียงเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยหน้าประตูทางเข้าชั้นล่างเท่านั้น ซึ่งนี่ก็เป็นความแตกต่างอย่างชัดเจนกับที่บ้านเรา เพราะหากเราทำเช่นนั้นบ้าง เกรงว่าน่าจะมีความเสี่ยงด้านความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินอยู่ไม่น้อย

แล้วที่จั่วหัวไว้เกี่ยวกับหนังสือเดินทางนี่จะเขียนเรื่องอะไร ในการเดินทางในครั้งนี้ มัคคุเทศก์ที่นำไปนั้น ได้พบกับเหตุการณ์ที่น่าตกใจคือ โดนหัวขโมยที่อิตาลีฉกกระเป๋าไป เรียกได้ว่า แทบจะต่อหน้าต่อตากันเลยทีเดียว และวันที่เกิดเหตุนั้นเป็นวันอาทิตย์เสียด้วย แล้ววันอาทิตย์มันสำคัญอย่างไร ความสำคัญมันอยู่ที่ว่า ของในกระเป๋านั้น นอกจากเงินไทยประมาณสองพันบาทแล้ว ยังมีหนังสือเดินทางอีกด้วย คราวนี้คณะของเราต้องเดินทางกลับไทยในวันจันทร์ แล้วจะทำอย่างไรดี สถานทูตและสถานกงสุลก็ปิดทำการในวันอาทิตย์และกำลังออกสัญจรเสียด้วย แต่โชคดีที่ยังมีเจ้าหน้าที่บางส่วนอยู่ ได้มีการโทรศัพท์ติดต่อและมัคคุเทศก์ท่านนั้นต้องเดินทางไปกรุงโรมด้วยรถไฟเพื่อทำเอกสารเดินทาง (Certificate of Identity) เพื่อให้สามารถเดินทางกลับไทยพร้อมกับคณะได้ ซึ่งทั้งหมดใช้เวลากว่าครึ่งค่อนวัน ซึ่งถ้าหากอยู่ไกลกว่านี้ หรือการเดินทางไม่สะดวกเช่นนี้หรือหากต้องเดินทางกลับในวันนั้นอาจมีเวลาไม่เพียงพอก็เป็นได้ ครั้นจะให้กระทรวงการต่างประเทศไปตั้งหน่วยงานหรือจัดให้มีเจ้าหน้าที่ประจำตามสนามบินต่างๆ ก็คงไม่คุ้มค่าที่จะทำเช่นนั้นเพราะในต่างประเทศมีสนามบินนานาชาติมากมายหลายแห่ง และเหตุการณ์เหล่านี้ก็ไม่เกิดขึ้นบ่อย

ผมจึงเกิดความคิดขึ้นมาว่า น่าจะมีการนำ eGovernment มาใช้สำหรับเรื่องนี้หรือในเรื่องอื่น ๆ ที่มีลักษณะคล้ายกัน ซึ่งเราสามารถพัฒนาให้เป็นงานหนึ่งในส่วนของการให้บริการโดยตรงกับประชาชน (Government to Citizen - G2C) ได้ ส่วนเรื่องที่จะมีการแจ้งเท็จ ปลอมแปลงตัวบุคคลนั้น เป็นเรื่องที่สามารถออกแบบระบบเพื่อป้องกันและยืนยันตัวตนได้อยู่แล้ว เช่น หมายเลขประจำตัวประชาชนทั้งของบุคคลนั้น ๆ และของพยาน ซึ่งคงมีวิธีการอื่น ๆ อีก นอกจากนี้ อาจใช้การพูดคุยแบบเห็นหน้าและสามารถบันทึกเป็นวิดีโอไว้ก็ได้ ซึ่งก็เป็นหลักฐานในการยืนยันตัวบุคคลได้อีกทางหนึ่ง ไม่รวมถึงอาจส่งลายนิ้วมือแบบออนไลน์ ซึ่งในปัจจุบันโทรศัพท์ก็สามารถบันทึกลายนิ้วมือไว้ได้แล้ว และเมื่อได้รับเอกสารที่ต้องการเป็นรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์แล้วก็สามารถพิมพ์ออกมาหรือแสดงให้ดูได้ด้วยผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่หรืออุปกรณ์สื่อสารชนิดอื่นๆ และหากมีระบบให้บริการที่ว่านี้แล้ว คนที่ทำหนังสือเดินทางหายหรือถูกขโมย ก็คงจะสะดวกและรวดเร็วขึ้นในการขอเอกสารเดินทาง แน่นอนว่านอกจากระบบที่ต้องถูกพัฒนาแล้วคงต้องมีการแก้ไขกฎระเบียบต่างๆ อยู่ประมาณหนึ่ง

หากสามารถพัฒนาระบบเพื่อการนี้ได้สำเร็จ ในอนาคตเราก็คงจะหมดกังวลในเรื่องหนังสือเดินทางหายอีกต่อไป รวมไปถึงการพัฒนาไปสู่ระบบ “ไร้หนังสือเดินทาง”(passport-less) ก็เป็นได้ ซึ่งในปัจจุบันเทคโนโลยีด้านกราฟิกก็ได้รับการพัฒนาไปอย่างรวดเร็วมากๆ การยืนยันลักษณะของบุคคลก็มีความเป็นไปได้และมีความแน่นอนสูง ปัญหาเรื่องการปลอมหนังสือเดินทางก็จะลดลงไป เพราะไม่มีหนังสือเดินทางให้ปลอมอีกแล้ว

พอได้ลองสืบค้นเรื่องนี้จากอินเทอร์เน็ต ก็รู้สึกดีใจที่พบว่าในออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ก็กำลังดำเนินการในเรื่องนี้อยู่ด้วยเช่นเดียวกัน เค้าเรียกโครงการนี้ว่า “cloud passports” (www.itnews.com.au/news/australia-considering-passport-less-travel-411218) ซึ่งตรงกับที่ผมเขียนไว้ในวรรคก่อน

เก็บหนังสือเดินทางของท่านไว้ให้ดีนะครับ ไม่ใช่เพราะกลัวหายหรือถูกขโมย แต่เพราะต่อไปจะไม่มีอีกแล้ว!

หมายเหตุ : บทความนี้เป็นความเห็นของผู้เขียน สำนักบรรณสารการพัฒนา คณะสถิติประยุกต์ และสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ไม่จำเป็นต้องมีความเห็นไปในทางเดียวกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น