xs
xsm
sm
md
lg

แผ่นดินของไทย ปัญหาของคนไทย (8) เรื่องที่ 8.1: ทำไมต้องปฏิรูปการศึกษาของไทย ตอนที่ 2: การใช้คำว่า “ดร.” นำหน้าชื่อบุคคล

เผยแพร่:   โดย: วีระศักดิ์ นาทะสิริ

1. กล่าวนำ : คำถามของผู้อ่าน

เนื่องจากได้มีผู้อ่านสอบถามมาว่า บุคคลที่จบการศึกษาระดับปริญญาเอกได้ใช้คำว่า “ดร.” นำหน้าชื่อและนามสกุลของตนเอง จะเป็นการถูกต้องตามระเบียบหรือไม่ และผู้เขียนมีความคิดเห็นอย่างไรในเรื่องนี้

การใช้คำว่า “ดร.” นำหน้าชื่อของบุคคลที่จบการศึกษาปริญญาเอก ได้ปรากฏให้เห็นกันโดยทั่วไปในประเทศไทย จนดูจะเป็นที่ยอมรับและเชื่อกันว่า เป็นการปฏิบัติที่ถูกต้องตามระเบียบที่ทางราชการได้กำหนดไว้นานมาแล้ว แต่มีหลายท่านทักท้วงมาว่า การปฏิบัติเช่นนี้ไม่ถูกต้องตามระเบียบ แต่ไม่ได้ชี้แจงรายละเอียดให้เข้าใจว่า ไม่ถูกต้องหรือผิดระเบียบอย่างไร

ดังนั้น เพื่อเป็นการเผยแพร่แนวทางการปฏิบัติที่ถูกต้อง ผู้เขียนจึงขอถือโอกาสนี้นำเสนอระเบียบว่าด้วยการใช้ตำแหน่งทางวิชาการเป็นคำนำหน้านาม พ.ศ. 2536 ซึ่งได้กำหนดแนวทางในการปฏิบัติไว้แล้วเพื่อตอบคำถามดังกล่าวข้างต้น และขอนำเสนอความคิดเห็นของผู้เขียนเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวมาพร้อมกันในบทความนี้

2. ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการใช้ตำแหน่งทางวิชาการเป็นคำนำหน้านามพ.ศ. 2536 และความคิดเห็นของผู้เขียนต่อระเบียบนี้

2.1 ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการใช้ตำแหน่งทางวิชาการเป็นคำนำหน้านาม พ.ศ. 25361 ได้ระบุข้อความที่สำคัญไว้ดังนี้

“โดยที่กฎหมายว่าด้วยสถาบันอุดมศึกษาแต่ละแห่งกำหนดสิทธิและวิธีปฏิบัติในการใช้ตำแหน่งทางวิชาการเป็นคำนำหน้านามไว้ลักลั่นเป็นการแตกต่างกัน จึงสมควรวางระเบียบปฏิบัติราชการในเรื่องนี้ เพื่อประโยชน์แก่งานสารบรรณและความเป็นระเบียบแบบแผนเดียวกัน ตลอดจนเป็นการยกย่องเชิดชูเกียรติของผู้ดำรงตำแหน่งทางวิชาการ

อาศัยอำนาจตามมาตรา 11(8) แห่งพระราชบัญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี จึงวางระเบียบไว้ ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ………………………………………………………………………………………………...

ข้อ 2 .........................................................................................................................

ข้อ 3 …………………………………………………………………………………………………

ข้อ 4 ในระเบียบนี้..............................................................................................................................

ตำแหน่งทางวิชาการ หมายความถึง ตำแหน่งศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ หรือผู้ช่วยศาสตราจารย์ ซึ่งได้รับแต่งตั้งตามกฎหมายว่าด้วยสถาบันอุดมศึกษา ไม่ว่าเป็นตำแหน่งทางวิชาการประจำ ตำแหน่งทางวิชาการพิเศษ ตำแหน่งทางวิชาการเกียรติคุณหรือที่เรียกชื่ออย่างอื่นในลักษณะเดียวกัน

ผู้ดำรงตำแหน่งทางวิชาการ หมายความว่า ผู้ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งทางวิชาการและยังคงดำรงตำแหน่งหรือมีสิทธิใช้ตำแหน่งนั้นตามกฎหมายหรือระเบียบของสถาบันอุดมศึกษา

สถาบันอุดมศึกษา หมายความว่า มหาวิทยาลัย วิทยาลัย สถาบัน โรงเรียน หรือสถาบันการศึกษาที่ใช้ชื่ออย่างอื่นของรัฐหรือเอกชน ซึ่งเปิดสอนในระดับปริญญาและมีอำนาจประสาทปริญญาแก่ผู้สำเร็จการศึกษา

ข้อ 5 ให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางวิชาการมีสิทธิใช้ตำแหน่งทางวิชาการที่ได้รับเป็นคำนำหน้านามได้ในการลงชื่อ หนังสือ เอกสาร งานสารบรรณหรือการเรียกขานใดๆ เสมือนยศ หรือคำนำหน้านามอย่างอื่น

ข้อ 6 ในกรณีที่ผู้ดำรงตำแหน่งทางวิชาการมีสิทธิใช้คำนำนามอย่างอื่นด้วย ให้เรียงลำดับก่อนหลัง ดังนี้

6.1 ตำแหน่งทางวิชาการ

6.2 ยศ

6.3 บรรดาศักดิ์ ฐานันดรศักดิ์ หรือคำนำหน้านามสตรีที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์และมีสิทธิใช้คำนำหน้านามนั้นตามกฎหมาย ระเบียบหรือประกาศของทางราชการ (ตัวอย่างเช่น ศ. พล.ท. ม.ล.สมชาย ฯ อ่านว่า ศาสตราจารย์ พลโท หม่อมหลวงสมชาย ....)

ข้อ 7 ผู้ดำรงตำแหน่งทางวิชาการจะใช้ตำแหน่งทางวิชาการใต้ชื่อหรือต่อท้ายชื่อก็ได้

ในกรณีดำรงตำแหน่งทางบริหารหรือตำแหน่งอื่นด้วย ผู้ดำรงตำแหน่งทางวิชาการจะใช้ทั้งตำแหน่งทางวิชาการและตำแหน่งทางบริหารหรือตำแหน่งอื่นใต้ชื่อหรือต่อท้ายชื่อพร้อมกันก็ได้

ข้อ 8 ในกรณีที่ผู้ใดใช้ตำแหน่งทางวิชาการเป็นคำนำหน้านาม ผู้นั้นไม่สมควรใช้ คำว่า “นาย” “นาง” หรือ “นางสาว” เป็นคำนำหน้านามพร้อมกับตำแหน่งทางวิชาการ

ข้อ 9 ........................................................................................................................

ข้อ 10 ...............................................................................................................................

ข้อ 11………………………………………………………………………………………………..”

1มาจาก http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2536/A/114/1.PDF

2.2 ความคิดเห็นของผู้เขียน

(1) เหตุผลที่มีการออกระเบียบนี้ ผู้เขียนคาดว่าคงมีการใช้คำนำหน้า (ซึ่งเป็นตำแหน่งทางวิชาการ) ชื่อของบุคคลแตกต่างกัน หรือหลากหลายรูปแบบจนดูสับสนเพราะต่างคนต่างเขียนหรือกำหนดขึ้นเอง ดังนั้น สำนักนายกรัฐมนตรีจึงได้ออกระเบียบนี้ขึ้นเพื่อให้ทุกคนปฏิบัติในแบบแผนหรือแนวทางเดียวกัน

(2) ระเบียบในข้อ 4 วรรคสอง ได้ระบุคำว่า “ตำแหน่งทางวิชาการ” ซึ่งหมายความถึง ตำแหน่งศาสตราจารย์(ศ.), รองศาสตราจารย์(รศ.), ผู้ช่วยศาสตราจารย์(ผศ.) และรวมทั้งตำแหน่งวิชาการประจำ พิเศษ เกียรติคุณ หรือที่เรียกชื่ออื่น เช่น ศาสตราจารย์พิเศษ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ และศาสตราภิชาน เป็นต้น

(3) ในระเบียบนี้ไม่มีข้อใดที่ระบุคำว่า “ดร.” เป็นตำแหน่งทางวิชาการ ซึ่งหมายความว่า เมื่อคำว่า “ดร.” ไม่ได้เป็นตำแหน่งทางวิชาการ การนำเอาคำว่า “ดร.” มาไว้หน้าชื่อของบุคคลที่จบการศึกษาระดับปริญญาเอกจึงไม่ถูกต้องตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการใช้ตำแหน่งทางวิชาการเป็นคำนำหน้านาม พ.ศ. 2536 นั่นเอง

(4) การนำคำว่า “ดร.” (ซึ่งมักเรียกกันว่า ด็อกเตอร์) มาไว้หน้าชื่อของบุคคลที่จบการศึกษาระดับปริญญาเอกอย่างที่ปฏิบัติกันในปัจจุบัน คาดว่า คงจะเป็นการกระทำที่เป็นไปตามความนิยม หรือกระทำตามบุคคลอื่นที่ได้กระทำไว้ก่อน หรือเป็นการกระทำที่มาจากความพึงพอใจหรือความต้องการส่วนตัวของบุคคลนั้นๆ โดยไม่ได้รับทราบถึงระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีดังกล่าว

3. บทสรุป : ตอบคำถามผู้อ่าน

3.1 โดยสรุปก็คือ ไม่มีระเบียบราชการใดๆ ที่ได้กำหนดให้เอาคำว่า “ดร.” มาไว้หน้านามหรือชื่อนามสกุลของบุคคลที่จบการศึกษาปริญญาเอก การกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำตามความพอใจหรือเป็นความต้องการส่วนบุคคลที่ต้องการแสดงให้บุคคลอื่นได้รับรู้ว่า ตนเองได้จบการศึกษาระดับปริญญาเอก และยังจะเป็นความนิยมที่จะไม่เปิดเผยชื่อสถาบันที่จบการศึกษาระดับปริญญาเอกให้สาธารณชนได้รับทราบอีกด้วย

3.2 อย่างไรก็ดี เพื่อให้การปฏิบัติเป็นไปตามแบบแผนเดียวกัน ผู้เขียนมีความเห็นว่า ควรยึดแนวทางการปฏิบัติตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการใช้ตำแหน่งทางวิชาการเป็นคำนำหน้านาม พ.ศ. 2536 เป็นหลักไว้ก่อน เพราะถ้าปล่อยให้ปฏิบัติกันอย่างเสรี ไม่ยึดถือกฎกติกา ต่างคนต่างปฏิบัติ ก็อาจทำให้มีรูปแบบการเขียนที่หลากหลายจนสร้างความสับสนต่อองค์กรต่างๆ และรวมทั้งสาธารณชนด้วย

3.3 สำหรับในกรณีที่มีกลุ่มบุคคลที่จบการศึกษาระดับปริญญาเอก ต้องการนำคำว่า “ดร.” ไปไว้หน้าชื่อและนามสกุลของตนเอง ก็ควรยื่นเรื่องเสนอให้สำนักนายกรัฐมนตรีพิจารณาดำเนินการแก้ไข (ระเบียบปฏิบัติ) ตามขั้นตอน เพื่อให้สามารถใช้คำว่า “ดร.” เป็นคำนำหน้านามได้อย่างถูกต้องตามระเบียบต่อไป เพราะเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน จึงควรดำเนินการตามขั้นตอนอย่างรอบคอบ

4. ข้อเสนอแนะ: สำหรับแนวทางการปฏิบัติในเรื่องนี้

4.1 ประการแรก: ผู้เขียนขอเสนอ ให้นำคำว่า “ดร.” ไปไว้ท้ายนามสกุลของบุคคลที่จบการศึกษาระดับปริญญาเอก พร้อมทั้งใส่วงเล็บชื่อย่อสถาบันที่จบการศึกษา พร้อมอักษรย่อชื่อประเทศไว้ด้วย เพื่อเป็นการบ่งบอกสถานศึกษาของบุคคลนั้นๆ ตัวอย่างเช่น นายสุนทร ทะเลงาม ดร.(MIT, USA.) จะมีความหมายว่า นายสุนทร ทะเลงาม จบการศึกษาระดับปริญญาเอก ที่ Massachusetts Institute of Technology ประเทศสหรัฐอเมริกา หรือ พันเอกหญิงสุดสาคร ดูดี ดร.(NIDA, TH.) จะมีความหมายว่า พันเอกหญิงสุดสาคร ดูดี จบการศึกษาระดับปริญญาเอก ที่สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ประเทศไทย เป็นต้น

ในเรื่องนี้เนื่องจากบุคคลที่จบการศึกษาระดับปริญญาเอกมักจะเปิดเผยให้สาธารณชนได้รับรู้ถึงระดับการศึกษาของตนอยู่แล้ว ผู้เขียนจึงมีความเห็นว่า ไม่เพียงจะต้องเปิดเผยข้อมูลพื้นฐานทางการศึกษาให้สาธารณชนได้รับรู้เท่านั้น แต่จะต้องยอมรับการตรวจสอบต่างๆ จากสาธารณชนอีกด้วย เพราะกลุ่มบุคคลที่จบการศึกษาระดับปริญญาเอกอาจได้รับเชิญเป็นอาจารย์พิเศษ หรือเป็นผู้บรรยายพิเศษในสถาบันและองค์กรต่างๆ ดังนั้น ถ้านำคำว่า “ดร.” มาไว้หน้านาม (ชื่อ-นามสกุล) ก็จะทำให้สาธารณชนไม่ได้รับรู้เพศของบุคคลนั้น ผู้เขียนจึงมีความเห็นว่า ควรนำคำว่า “ดร.” ไปไว้ท้ายนามสกุลของบุคคลที่จบการศึกษาระดับปริญญาเอก และวงเล็บชื่อย่อสถาบันและชื่อประเทศที่สถาบันนั้นอยู่ เพื่อให้สาธารณชนสามารถรับรู้ด้วย

4.2 ประการที่สอง : ผู้เขียนขอเสนอให้ กลุ่มวิชาชีพแพทย์ ทันตแพทย์ และเภสัชกร ใช้คำว่า “นายแพทย์” “แพทย์หญิง” “ทันตแพทย์” “ทันตแพทย์หญิง” “เภสัชกร” และ “เภสัชกรหญิง” นำหน้านาม (ชื่อนามสกุล) ของบุคคลสายวิชาชีพทั้งสามนี้ได้เช่นเดียวกับยศทางทหารหรือตำแหน่งทางวิชาการ และควรระบุสถานศึกษาที่จบการศึกษาและชื่อประเทศไว้ในวงเล็บท้ายชื่อของบุคคลนั้นด้วย

เนื่องจากกลุ่มวิชาชีพทั้งสามต้องเกี่ยวข้องกับการให้บริการทางการแพทย์ ซึ่งย่อมมีผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของคนไข้หรือผู้รับบริการทางการแพทย์โดยตรง จึงควรเปิดเผยชื่อและสถานศึกษาของบุคคลทั้งสามกลุ่มวิชาชีพ ตัวอย่างเช่น นายแพทย์สุรชัย เลิศล้า (CU, TH) หมายถึง คุณหมอสุรชัยจบการศึกษาแพทยศาสตร์จากจุฬาฯ ประเทศไทย, แพทย์หญิงดวงใจ รักชาติ (Siriraj, TH) หมายถึง คุณหมอดวงใจ จบการศึกษาแพทยศาสตร์จากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหิดล ประเทศไทย, ทันตแพทย์วันชัย แสงงาม (Harvard, USA.) หมายความว่า ทันตแพทย์วันชัย จบการศึกษาทันตแพทย์จาก Harvard Medical School, มหาวิทยาลัย Harvard, ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นต้น

ท้ายบทความ :

ถ้าบุคคลที่จบการศึกษาระดับปริญญาเอกยังไม่กล้าเปิดเผยข้อมูลทางการศึกษาต่อสาธารณชนอย่างถูกต้อง เราคนไทยก็อย่าหวังเลยว่า การปฏิรูปการเมือง การบริหารราชการแผ่นดิน การศึกษา การสาธารณสุข และเรื่องอื่นๆ (ตามที่รัฐบาลโฆษณาป่าวประกาศ) จะบรรลุผลสำเร็จตามที่คาดหวังไว้

ก่อนที่จะจบบทความนี้ ผู้เขียนรู้สึกสงสัยจริงๆว่า ใน สนช., สปท., กรธ., ครม. และคสช. จะมีใครที่จะเข้าใจคำว่า ปฏิรูปประเทศไทย Thailand Reforms และจะมีสักกี่คนที่รู้ว่าจะทำการปฏิรูปอะไร และจะทำอย่างไร จึงจะบรรลุผลสำเร็จ

ผู้เขียนอยากฟังท่านนายกรัฐมนตรี ท่านประธาน สปท. และท่านประธาน กรธ. อธิบายเรื่อง “การปฏิรูปประเทศไทย” ให้หายสงสัยจริงๆ จะเป็นได้หรือไม่ และหวังว่า คงจะได้รับฟังท่านนายกรัฐมนตรีพูดถึงบ้างในทุกวันศุกร์ นะครับ

ตอนนี้รู้สึกเป็นห่วงประเทศไทยจริงๆ

วีระศักดิ์ นาทะสิริ
กำลังโหลดความคิดเห็น