xs
xsm
sm
md
lg

กระบวนการประชาสังคมในยุคโซเชียล

เผยแพร่:   โดย: พระบาท นามเมือง

ในช่วงสัปดาห์นี้มีประเด็นใหญ่สองเรื่องที่เกิดขึ้นในโลกโซเชียล ที่แม้จะเป็นคนละเรื่องคนละมุมกันเลย แต่ก็มีแง่มุมบางอย่างที่น่าสนใจ และบ่งบอกปรากฏการณ์อย่างหนึ่งได้

เรื่องแรกคือเรื่องที่ทันตแพทย์หญิงท่านหนึ่งที่ได้รับทุนการศึกษาระดับปริญญาโท - เอก ไปจากมหาวิทยาลัยต้นสังกัด ให้ไปเรียนต่อที่ประเทศสหรัฐอเมริกา เกิดไปมีทางเลือกใหม่ ก็เลย “หนีทุน” เอาดื้อๆ ไปทำงานที่มหาวิทยาลัยชื่อดัง เปิดคลินิก และแต่งงานกับคนชาตินั้น

ตามระเบียบราชการ เมื่อรับทุนการศึกษาของรัฐไปแล้วก็ต้องกลับมาทำงานใช้คืน หาไม่ก็ต้องจ่ายเงินคืนพร้อมค่าปรับ ซึ่งจริงๆ มันก็คือค่าที่ประเทศชาติต้องจ่ายเพื่อหวังจะสร้างบุคลากรในสาขาที่ขาดแคลนกลับมาพัฒนาชาติ ดังนั้น จะจะจ่ายเฉพาะค่าทุนที่ใช้ไปแล้วไม่ได้ ต้องชดใช้ค่าเสียเวลา ค่าเสียโอกาสของชาติที่ส่งคนไปเป็นแรงกำลังให้ประเทศอื่นด้วย ตามเงื่อนไขคือต้องชดใช้ 3 เท่า ซึ่งอันนี้ทันตแพทย์หญิงผู้นั้นเห็นว่าไม่เป็นธรรม ก็เลยเลือกวิธีการ “ไม่มี – หนี – ไม่จ่าย” เคราะห์ร้ายเลยมาตกแก่นายประกัน ซึ่งก็ได้แก่บิดาของเธอ ครูอาจารย์ และเพื่อนร่วมงาน ถูกบังคับให้เป็นลูกหนี้ร่วมกัน

อันคำโบราณเขาก็มีว่า “อยากเป็นหนี้ให้เป็นนายหน้า อยากเป็นขี้ข้าให้เป็นนายประกัน” แต่ในทางความเป็นจริงแล้วในแวดวงราชการ การค้ำประกันให้เพื่อนร่วมงานหรือลูกศิษย์ ผู้บังคับบัญชานั้นเป็นประเพณีที่ทำกันมาช้านาน เนื่องจากเป็นการแสดงทั้งน้ำใจและถือเป็นการให้เกียรติ แต่พอมาเจอแบบนี้เข้า ทำให้ผู้ค้ำประกันถึงกับจุก ต้องจ่ายเงินชดใช้กันไปคนละร่วมสองล้าน จนกระทั่งมีผู้ค้ำประกันคนหนึ่งนำเรื่องมาโพสต์ลงเฟซบุ๊ก ถึงเป็นประเด็นทางสังคมขึ้นมา

มีการใช้กระบวนการทางสังคมกดดันแบบข้ามโลก ทั้งส่งอีเมล และจดหมายไปที่มหาวิทยาลัยต้นสังกัด มีการค้นหารูปภาพของเธอผู้หนีทุนคนนั้น และชีวิตความเป็นอยู่ที่สุขสบายบนความยากลำบากของผู้ค้ำประกันออกมาแฉเล่ากันเอิกเกริก รวมทั้งนักเรียนไทยในมหาวิทยาลัยที่เธอทำงานอยู่นั้นก็ร่วมด้วยช่วยกัน ติดภาพและเรื่องของเธอที่แปลเป็นภาษาอังกฤษแล้วประจานไปทั่วมหาวิทยาลัย

ผลของกระบวนการ “ประชาสังคม” นี้ ทำให้ล่าสุดทราบว่า ทันตแพทย์หญิงผู้นั้นติดต่อกลับมายังบรรดาผู้ค้ำประกันที่เป็นครูอาจารย์หรือเพื่อนร่วมงานว่า จะพยายามหาเงินมาใช้คืนให้ เพื่อแลกกับการลดกระแสกดดันทางสังคม

ส่วนเรื่องที่สอง เป็นกรณีข่าวอาชญากรรมสะเทือนขวัญที่จังหวัดพัทลุง เมื่อวัยรุ่นกลุ่ม หนึ่งลวงบังคับให้วัยรุ่นหนุ่มและแฟนสาวไปในป่า บังคับข่มขืนหญิงสาวให้ชายหนุ่มผู้เป็นแฟนดู พร้อมกับรุมทำร้าย ขุดหลุมให้ชายหนุ่มเคราะห์ร้ายลงไปนั่งในหลุมศพตัวเอง ก่อนจ่อยิงและฝังกลบแล้วทิ้งร่างเหยื่อสาวเอาไว้กลางป่า โชคยังดีของเธอที่รอดชีวิตมาแจ้งความได้

ตำรวจไปดำเนินการจับกุมตัวผู้ก่อเหตุได้ส่วนหนึ่ง ซึ่งเป็นเยาวชนแสดงสีหน้าหัวร่อไม่หยี่หระต่ออาชญากรรมร้ายแรงที่ตัวเองได้ก่อขึ้นเลย

นั่นทำให้เกิดกระแสทางสังคมขึ้นมาอีกรอบ เนื่องจากผู้คนมีบทเรียนทางกฎหมายว่า ถ้าเป็นกรณีที่เยาวชนกระทำความผิดแล้ว กฎหมายจะใช้คนละฉบับกับความผิดของผู้ใหญ่ ซึ่งมีกระบวนการดำเนินคดีที่อะลุ้มอล่วยกว่าสำหรับเยาวชน และโทษก็เบากว่า เอาเข้าจริงๆ ติดคุกไม่กี่ปีก็อาจจะได้ออกแล้ว

ทั้งๆ ที่พฤติกรรมและความร้ายแรงของอาชญากรรมที่ก่อนั้นหนักหนาเลวร้ายยิ่งกว่าอาชญากรผู้ใหญ่เสียอีก

กระแสสังคมในกรณีหลังนี้แพร่กระจายออกไปทั่ว กลายเป็นกระแสเรียกร้องสองประเด็นใหญ่ๆ คือ “ข่มขืนต้องประหาร” ซึ่งเป็นเรื่องที่เคยมีการเรียกร้องกันมาแล้วเป็นพักๆ ก่อนหน้านี้ก็คดีเด็กหญิงที่ถูกข่มขืนและฆ่าด้วยการโยนลงมาจากรถไฟเมื่อสักสองปีก่อน

กับอีกกระแสหนึ่งที่ว่า เลิกเสียทีเป็นเยาวชนกระทำความผิดแล้วได้รับความเมตตาจากกฎหมาย น่าจะปล่อยให้ถูกลงโทษตามกบิลเมืองเช่นเดียวกับอาชญากรผู้ใหญ่

เพราะกฎหมายมีฐานคิดว่า เด็กและเยาวชนกระทำความผิดไปเพราะรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือไม่มีวิจารณญาณอย่างผู้ใหญ่ แต่ในสายตาของสังคมและความเป็นจริงแล้วมองว่า นี่ขนาดเป็นเด็กยังทำเรื่องเลวร้ายขนาดนี้ได้ ถ้าเป็นผู้ใหญ่ที่เชี่ยวชาญกร้านโลก หรือประสบการณ์สูงแล้ว จะทำความผิดได้รุนแรงเลวร้ายขนาดไหน

กระแสสังคมในกรณีหลังนั้นทำให้เกิดการตอบรับมาจากทางหน่วยงานในกระบวนยุติธรรมว่า มีกฎหมายเปิดช่องให้ได้ว่า ในกรณีที่เยาวชนกระทำความผิดด้วยพฤติกรรมอันร้ายแรงผิดมนุษย์แบบที่ผู้ใหญ่ยังต้องกลัวนั้น ก็สามารถดำเนินคดีแบบผู้ใหญ่ได้ และคดีดังกล่าวก็จะถูกโอนไปอยู่ในอำนาจของศาลจังหวัดเช่นเดียวกับความผิดของผู้ใหญ่

ส่วนกระแสเรื่อง “ข่มขืนต้องประหาร” นั้น เป็นเรื่องที่จะต้องมีการแก้ไขกฎหมาย แต่อันที่จริงแล้ว กรณีที่ข่มขืนแล้วฆ่า โทษสูงสุดก็ถึงประหารอยู่แล้ว แต่เอาเข้าจริงๆ ในการดำเนินคดีในศาล ก็จะมีการลดหย่อนผ่อนโทษกันไป จนในที่สุดก็แทบไม่มีการประหารชีวิตหรือลงโทษจริงจัง ข้อเรียกร้องของสังคมในกรณีนี้ ก็คงจะคล้ายการเรียกร้องให้มีการลงโทษกันอย่างน้อยก็เป็นไปตามกฎหมายในตัวบทนั่นแหละ

ทั้งสองเรื่องสองกระแสนี้เป็นคนละเรื่องกัน ถ้าภาษากฎหมายเขาก็ว่าเรื่องหนึ่งเป็นคดีแพ่ง อีกเรื่องเป็นคดีอาญาเลย แต่มันก็มีจุดร่วมเหมือนกันคือ ประชาชนในสังคมนั้นไม่ยอมอยู่เฉยแบบรอดูกระบวนการทางกฎหมาย หรือกระบวนการทางภาครัฐทำงานไปเงียบๆ อีกแล้ว

ต้องยอมรับว่าการบังคับใช้กฎหมายหรืออำนวยความยุติธรรมของทางภาครัฐนั้นค่อนข้างล้มเหลวหนักหนาในสายตาของประชาชน ไม่ว่าจะเรื่องกรณีผู้ค้ำประกันกับคนหนีทุน ซึ่งทางหน่วยงานของรัฐ “เล่นง่าย” แทนที่จะตามเอากับคนที่หนีทุนหรือครอบครัวที่ควรเป็นเจ้าหนี้ชั้นต้นไปก่อน กลับใช้ช่องทางที่สะดวกกว่าด้วยการมาไล่เอากับผู้ค้ำประกันที่ถูกบังคับได้ง่ายกว่า เพราะทำงานทำการอยู่ในมหาวิทยาลัยนั้นเอง หลบหนีไปไหนก็ไม่ได้

จริงอยู่ว่าสิทธิในการเรียกร้องเอากับผู้ค้ำประกันนั้นเป็นเรื่องที่กำหนดไว้ตามกฎหมาย หน่วยงานของรัฐก็ใช้สิทธิโดยชอบ แต่ในทางความเป็นจริงแล้ว “รัฐ” เองมีทั้งเครื่องไม้เครื่องมือมากมายในการติดตามทวงถามหนี้ เทียบไม่ได้กับกรณีชาวบ้านตาสายายมีกู้ยืมเงินกันแล้วให้ลุงเข่งเซ็นค้ำประกัน รัฐจะลดตัวมาเล่นทางง่ายเหมือนเจ้าหนี้ชาวบ้านๆ อย่างนี้จะดีหรือ

และทั้งสังคมยังรู้สึกว่า การที่ปล่อยให้คนที่เอาทั้งเงินทั้งเวลาที่เป็นทรัพยากรของชาติไปสร้างโอกาสพัฒนาตัวเอง เสวยสุขบนความทุกข์ของผู้อื่น นอกจากเป็นการเบียดเบียนเพื่อนฝูงและอาจารย์ที่ค้ำประกันให้โดยสุจริตแล้ว ยังเป็นการ “โกงชาติ” ในรูปแบบหนึ่งด้วย กระแสการติดตามลงทัณฑ์แบบประชาสังคมออนไลน์จึงเกิดขึ้น

หรือทั้งการเรียกร้องให้ “ข่มขืนต้องประหาร” ก็ดี การเรียกร้องให้ลงโทษเยาวชนที่กระทำความผิดร้ายแรงอย่างจริงจังก็ตามนั้น ก็แสดงให้เห็นถึงความไม่เชื่อมั่นในระบบกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมของประชาชนในสังคม ผิดแต่ว่าในสมัยนี้นั้น ผู้คนไม่ยอมที่จะอยู่เฉยๆ รอรับเงื่อนไขของกฎหมายหรือกระบวนการยุติธรรมเขาว่าอย่างไรก็ว่าตามได้อีกแล้ว ประชาชนกลายเป็นผู้ที่จะเรียกร้องอย่างตรงไปตรงมา ถึงกระบวนการยุติธรรมที่พวกเขาต้องการเห็นหรือได้รับ ซึ่งในที่สุดมันก็คือการสร้างสังคมที่ปลอดภัยสำหรับทุกคนนั่นเอง

จุดเปลี่ยนสำคัญของเกมก็คือ Social Network ที่เติบโตมากับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีการสื่อสารและคอมพิวเตอร์นั่นเอง ที่ทำให้เสียงของประชาชนแต่ละเสียงไม่ใช่แค่เสียงบ่นอยู่คนเดียวหรือแค่ในกลุ่มไม่กี่คน แต่สามารถไปรวมกันกับเสียงเดียวกันของคนอื่นๆในสังคม เกิดเป็นคลื่นเสียงประชาสังคมก้อนใหญ่ ที่กดดันได้ทั้งรัฐ ทั้งเอกชน ให้ต้องฟังและดำเนินการให้ตามความยุติธรรมที่สังคมต้องการ

นี่คือแนวโน้มของสังคมในโลกยุคใหม่ ที่รัฐจะเริ่มลดบทบาท คนที่โกงหรือเอาเปรียบคนอื่นแล้วคิดว่าจะอยู่รอดลอยนวลได้สบายๆ นั้นอยู่ยากแน่ๆ และเสียงของคนเล็กๆ น้อยๆ แต่ถ้ารวมกันได้เป็นประชาสังคมแล้ว ก็จะทรงพลังอย่างยิ่ง

เป็นอำนาจใหม่ที่มีที่มาทางตรงจากประชาชนในสังคมตัวจริง จะมาแทนอำนาจรัฐในยุคหลังจากนี้.
กำลังโหลดความคิดเห็น