ปัญญาพลวัตร
โดย พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต
เห็นความพยายามของหลายภาคส่วนของสังคมในการต่อต้านการทุจริต ด้านหนึ่งก็รู้สึกดีใจที่คนจำนวนมากในสังคมตระหนักและเห็นความสำคัญของการขจัดการทุจริตมากขึ้น แต่อีกด้านหนึ่งก็รู้สึกหนักใจอยู่ไม่น้อยเพราะว่าการรณรงค์และการจัดตั้งคณะกรรมการต่างๆเพื่อทำหน้าที่ต่อต้านการทุจริตเป็นเรื่องที่กระทำได้ง่ายกว่าการดำเนินการจัดการกับการทุจริตในเชิงปฏิบัติอย่างจริงจัง
ผมคิดว่าผู้นำการต่อต้านการทุจริตในสังคมจำเป็นต้องมีคุณสมบัติสำคัญอย่างยิ่งยวดที่ภาษาอังกฤษใช้คำว่า อินเทกกริที (integrity) คำนี้แปลเป็นภาษาไทยให้ตรงกับความหมายของเจ้าของภาษายากมาก เพราะเป็นการประสานบูรณาการอย่างสอดประสานกันเป็นองค์รวมระหว่างสามกรรมคือ มโนกรรมที่ถูกต้อง วจีกรรมและกายกรรมที่กล้าหาญ มั่นคง และสอดคล้องตรงกัน
ในที่นี้จึงขอเรียกว่า “สัตยธรรม” ซึ่งหยิบยืมและปรับจากคำว่า สัตยคราหะ (satyagraha) ของมหาตมะคานธี คำนี้เป็นแนวคิดที่คานธีใช้เป็นหลักธรรมในการปฏิบัติที่สอดคล้องและเป็นเอกภาพระหว่างการคิด การพูด และการกระทำอย่างกล้าหาญต่อหลักการที่เขายึดถือ อันได้แก่หลักอหิงสาธรรม เพื่อสร้างเอกราชและบูรณภาพของประเทศอินเดีย
องค์ประกอบของสัตยธรรม (อินเทกกริที) ในทางมโนกรรมคือ การมีสติปัญญาที่สามารถจำแนกแยกแยะได้ว่าสิ่งใดถูก และสิ่งใดผิด โดยใช้หลักคุณธรรมเป็นเกณฑ์ในการจำแนก หลักคุณธรรมที่ว่าอาจแตกต่างกันไปตามแต่ที่บุคคลยึดถือและให้ความสำคัญ บางคนอาจยึดถือหลักประโยชน์สูงสุดเพื่อคนส่วนใหญ่ บางคนอาจยึดถือหลักสิทธิมนุษยชน บางคนอาจยึดถือหลักเสรีภาพ บางคนยึดหลักความซื่อสัตย์ หรือบางคนอาจยึดถือหลักการเชิงคุณธรรมหลายประการร่วมกันก็ได้
คนที่มีสัตยธรรมซึ่งยึดถือหลักประโยชน์สูงสุดเพื่อคนส่วนใหญ่ เมื่อตนเองดำรงอยู่ในตำแหน่งสำคัญของรัฐบาลและมีอำนาจในการตัดสินใจย่อมรู้ว่า การกระทำเพื่อให้พวกพ้องและญาติมิตรได้ประโยชน์ แต่ทำให้คนส่วนใหญ่และประเทศชาติเสียประโยชน์ย่อมเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง เช่นเดียวกันคนที่ให้ความสำคัญกับหลักสิทธิมนุษยชนก็ย่อมรู้ว่า การละเมิดสิทธิมนุษยชนเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง
การจำแนกแยกแยะว่าสิ่งใดถูก สิ่งใดผิดเป็นองค์ประกอบขั้นแรกของการมีสัตยธรรม เรียกได้ว่าเป็นขั้นพื้นฐาน แต่ยังมิอาจกล่าวได้อย่างเต็มปากเต็มคำได้ว่าบุคคลผู้นั้นมีสัตยธรรม แต่ก็ถือได้ว่ากำลังเดินในเส้นทางที่ถูกต้องของการไปสู่สัตยธรรมแล้ว แต่หากบุคคลใดที่แม้กระทั่งสิ่งใดถูกหรือสิ่งใดผิดก็ยังไม่รู้ ไม่สามารถจำแนกแยกแยะได้ หรือ ที่เลวร้ายยิ่งกว่าคือเข้าใจว่าสิ่งที่ผิดเป็นสิ่งปกติสามัญ หรือ แม้กระทั่งกลายเป็นสิ่งที่ถูก ดังเช่น มีนักการเมืองและข้าราชการจำนวนมากเข้าใจว่า การรับเงินใต้โต๊ะ การกินหัวคิว หรือการมีอภิสิทธิ์ทางสังคม เป็นเรื่องธรรมดาหรือเป็นเรื่องที่ถูกต้อง ก็ป่วยการที่จะไปพูดถึงสัตยธรรม
ในองค์ประกอบที่สองของสัตยธรรม คือ การมีความกล้าหาญทางวจีกรรม โดยการพูดอย่างเปิดเผยต่อสาธารณะว่าจะทำ หรือทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งบนพื้นฐานความเข้าใจว่าสิ่งใดผิด และสิ่งใดถูก ซึ่งเป็นการบ่งบอกอย่างชัดเจนว่าผู้ที่มีสัตยธรรมจะมีความกล้าหาญในการบอกต่อผู้คนว่าตนเองจะกระทำในสื่งที่ถูกต้อง แม้ว่าสิ่งนั้นอาจไม่สอดคล้องกับค่านิยมของคนในสังคม ชุมชน หรือ องค์การก็ตาม ลักษณะของสัตยธรรมในขั้นตอนนี้คือ การสื่อสารต่อสาธารณะว่า หลักการเชิงคุณธรรมที่เขายึดถือเป็นหลักการที่ถูกต้อง และพร้อมที่เผยแพร่หรือยืนหยัดปกป้องหลักการดังกล่าว แม้ว่าอาจถูกผู้คนที่ไม่เข้าใจวิพากษ์วิจารณ์ก็ตาม ดังเช่นคานธียึดหลักอหิงสาในการต่อสู้กับจักรวรรดิอังกฤษ เขาก็ได้เผยแพร่หลักการนี้ด้วยความวิริยะ ไม่หวั่นเกรงต่อเสียงวิจารณ์และการดูแคลนจากคนจำนวนมาก ที่ไม่เชื่อว่า หลักการอหิงสาจะทำให้อินเดียได้รับเอกราชจากอังกฤษ
และองค์ประกอบที่สามคือ การกระทำตามหลักการเชิงคุณธรรมที่ตนเองยึดถือ ไม่ว่าจะต้องแลกด้วยอะไรก็ตาม ซึ่งเป็นแสดงออกถึงพันธะผูกพันระหว่างความคิดของการยึดมั่นในหลักการกับการปฏิบัติตามหลักการที่ตนเองยึดถืออย่างซื่อตรงมั่นคง ไม่ว่าจะต้องเผชิญกับผลสืบเนื่องที่ตามมาแบบใดก็ตาม ดุจดั่งผู้ที่ยอมเสียชีพ แต่ไม่ยอมเสียสัตยธรรมที่ตนเองยึดถือนั่นเอง ดังที่ คานธีและชาวอินเดียผู้ยีดหลักอหิงสาธรรม เมื่อถูกทหารอังกฤษปราบปรามและตีด้วยไม้ พวกเขาก็นั่งอย่างสงบ ไม่ตอบโต้หรือทำร้ายทหารอังกฤษที่กระทำรุนแรงต่อพวกเขาแต่อย่างใด
บุคคลที่มีองค์ประกอบทั้งสามประการครบถ้วนเราเรียกว่า “บุคคลแห่งสัตยธรรม” (person of integrity) หรือเป็นบุคคลที่ยึดถือหลักการเชิงคุณธรรมอย่างลึกซึ้งและหนักแน่น มีการรู้อย่างกระจ่าง เข้าใจอย่างถ่องแท้ และตระหนักอย่างจริงจังว่า สิ่งใดถุกต้อง สิ่งใดไม่ถูกต้อง มีความกล้าหาญในการพูดเผยแพร่และยืนหยัดปกป้องหลักการเชิงคุณธรรมดังกล่าวด้วยความวิริยะ มีความพร้อมและกล้าหาญที่จะปฏิบัติในทิศทางที่สอดคล้องกับหลักการที่ตนเองยึดถืออย่างมั่นคง โดยมิหวั่นเกรงต่อผลกระทบทางลบที่อาจเกิดขึ้นกับตนเอง
บุคคลที่สัตยธรรมไม่ใช่ว่าจะต้องเป็นมหาบุรุษเยี่ยง มหาตมะคานธี เสมอไป แต่อาจเป็นบุคคลธรรมดาสามัญที่ดำรงอยู่ในทุกหนแห่งรอบตัวเรา เป็นบุคคลที่เรารู้สึกว่าเขาจะทำในสิ่งที่ถูกต้องเป็นธรรม มั่นคงยึดมั่นในหลักการอย่างตรงไปตรงมา มีความคิด การพูด และการกระทำตรงกัน เมื่อพบสิ่งที่ไม่ถูกต้องก็กล้าพูด กล้าท้วงติง และพร้อมกระทำตามพันธะสัญญาที่มีต่อตนเองและผู้อื่น หรือซื่อตรงต่อตนเองและผู้อื่นนั่นเอง
บุคคลลักษณะแบบนี้เราอาจพบได้ในองค์การที่เราทำงาน ในชุมชน และในสังคม มักจะเป็นบุคคลสามัญชนธรรมดา บางคนก็อาจเป็นผู้นำ แต่จำนวนมากเป็นคนที่เราเดินสวนไปสวนมา และแอบชื่นชมพวกเขาอยู่ในใจเมื่อเรามีความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับความคิด การพูด และการกระทำของพวกเขา บางคนอาจยังไม่เป็นที่รู้จักในสังคมวงกว้าง แต่เมื่อมีเหตุการณ์บางอย่างก็อาจทำให้เขาเป็นที่รู้จักขึ้นมาก็ได้
แต่สังคมไทยในแวดวงของผู้มีอำนาจรัฐ การเมือง ราชการ และแวดวงธุรกิจ อาจมีบุคคลที่มีสัตยธรรมน้อยเกินไป สังคมที่เกี่ยวข้องกับองค์การของรัฐ การเมือง และภาคธุรกิจจึงเป็นแวดวงที่ประกอบด้วยบุคคลที่ปราศจากสัตยธรรม หรือ เป็น “บุคคลแห่งอสัตยธรรม” เป็นจำนวนมาก และเมื่อเป็นเช่นนั้นแวดวงเหล่านั้นจึงตกอยู่ภายใต้หลุมดำของการทุจริตคอรัปชั่น
การปฏิรูปประเทศ การนำพาประเทศออกจากหลุมดำแห่งทุจริต จำเป็นจะต้องมีกลุ่มบุคคลซึ่งดำรงตำแหน่งสำคัญในองค์การภาครัฐ เอกชน และประชาชน เป็นผู้ที่มีคุณลักษณะแห่งสัตยธรรมเพิ่มมากขึ้น เพราะว่าการที่มีเพียงความรู้ ความตั้งใจ หรือ ความซื่อสัตย์อย่างใดอย่างหนึ่งคงไม่เพียงพอที่จะขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศและขจัดการทุจริตได้ แต่หากกลุ่มผู้ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศเปี่ยมไปด้วยสัตยธรรม และเป็นบุคคลแห่งสัตยธรรมแล้ว สังคมไทยก็ยังพอที่จะมีความหวังอยู่บ้าง
กล่าวอย่างสั้นๆ บุคคลแห่งสัตยธรรม หรือ person of integrity เป็นเงื่อนไขที่จำเป็นต่อการสร้างสรรค์สังคมให้มีความเป็นธรรม ประเทศใดมีกลุ่มผู้นำจำนวนมากเป็นบุคคลแห่งสัตยธรรม ประเทศนั้นย่อมมีความรุ่งเรืองและมีความผาสุข แต่หากประเทศใดที่กลุ่มผู้นำเป็นพวก “อสัตยธรรม” ประเทศนั้นย่อมมีแต่ความวุ่นวาย ไร้ความสุขสงบ ผู้คนเดือดร้อนอย่างไม่สิ้นสุด
ในเวลานี้ แม้ว่าในสังคมไทย กลุ่มที่ไร้สัตยธรรมบางกลุ่มหมดอำนาจลงไป แต่ผมรู้สึกว่าบรรดาบุคคลในกลุ่มผู้นำประเทศในปัจจุบันมีผู้ที่มีคุณสมบัติที่เข้าข่าย บุคคลแห่งสัตยธรรมน้อยไปหน่อย และหากสถานการณ์ยังไม่เปลี่ยนแปลง โอกาสที่ประเทศไทยจะกระโจนออกจากหลุมดำแห่งการทุจริตและความชัดแย้งทางสังคมก็ดูเหมือนจะลางเลือนลงไป
โดย พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต
เห็นความพยายามของหลายภาคส่วนของสังคมในการต่อต้านการทุจริต ด้านหนึ่งก็รู้สึกดีใจที่คนจำนวนมากในสังคมตระหนักและเห็นความสำคัญของการขจัดการทุจริตมากขึ้น แต่อีกด้านหนึ่งก็รู้สึกหนักใจอยู่ไม่น้อยเพราะว่าการรณรงค์และการจัดตั้งคณะกรรมการต่างๆเพื่อทำหน้าที่ต่อต้านการทุจริตเป็นเรื่องที่กระทำได้ง่ายกว่าการดำเนินการจัดการกับการทุจริตในเชิงปฏิบัติอย่างจริงจัง
ผมคิดว่าผู้นำการต่อต้านการทุจริตในสังคมจำเป็นต้องมีคุณสมบัติสำคัญอย่างยิ่งยวดที่ภาษาอังกฤษใช้คำว่า อินเทกกริที (integrity) คำนี้แปลเป็นภาษาไทยให้ตรงกับความหมายของเจ้าของภาษายากมาก เพราะเป็นการประสานบูรณาการอย่างสอดประสานกันเป็นองค์รวมระหว่างสามกรรมคือ มโนกรรมที่ถูกต้อง วจีกรรมและกายกรรมที่กล้าหาญ มั่นคง และสอดคล้องตรงกัน
ในที่นี้จึงขอเรียกว่า “สัตยธรรม” ซึ่งหยิบยืมและปรับจากคำว่า สัตยคราหะ (satyagraha) ของมหาตมะคานธี คำนี้เป็นแนวคิดที่คานธีใช้เป็นหลักธรรมในการปฏิบัติที่สอดคล้องและเป็นเอกภาพระหว่างการคิด การพูด และการกระทำอย่างกล้าหาญต่อหลักการที่เขายึดถือ อันได้แก่หลักอหิงสาธรรม เพื่อสร้างเอกราชและบูรณภาพของประเทศอินเดีย
องค์ประกอบของสัตยธรรม (อินเทกกริที) ในทางมโนกรรมคือ การมีสติปัญญาที่สามารถจำแนกแยกแยะได้ว่าสิ่งใดถูก และสิ่งใดผิด โดยใช้หลักคุณธรรมเป็นเกณฑ์ในการจำแนก หลักคุณธรรมที่ว่าอาจแตกต่างกันไปตามแต่ที่บุคคลยึดถือและให้ความสำคัญ บางคนอาจยึดถือหลักประโยชน์สูงสุดเพื่อคนส่วนใหญ่ บางคนอาจยึดถือหลักสิทธิมนุษยชน บางคนอาจยึดถือหลักเสรีภาพ บางคนยึดหลักความซื่อสัตย์ หรือบางคนอาจยึดถือหลักการเชิงคุณธรรมหลายประการร่วมกันก็ได้
คนที่มีสัตยธรรมซึ่งยึดถือหลักประโยชน์สูงสุดเพื่อคนส่วนใหญ่ เมื่อตนเองดำรงอยู่ในตำแหน่งสำคัญของรัฐบาลและมีอำนาจในการตัดสินใจย่อมรู้ว่า การกระทำเพื่อให้พวกพ้องและญาติมิตรได้ประโยชน์ แต่ทำให้คนส่วนใหญ่และประเทศชาติเสียประโยชน์ย่อมเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง เช่นเดียวกันคนที่ให้ความสำคัญกับหลักสิทธิมนุษยชนก็ย่อมรู้ว่า การละเมิดสิทธิมนุษยชนเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง
การจำแนกแยกแยะว่าสิ่งใดถูก สิ่งใดผิดเป็นองค์ประกอบขั้นแรกของการมีสัตยธรรม เรียกได้ว่าเป็นขั้นพื้นฐาน แต่ยังมิอาจกล่าวได้อย่างเต็มปากเต็มคำได้ว่าบุคคลผู้นั้นมีสัตยธรรม แต่ก็ถือได้ว่ากำลังเดินในเส้นทางที่ถูกต้องของการไปสู่สัตยธรรมแล้ว แต่หากบุคคลใดที่แม้กระทั่งสิ่งใดถูกหรือสิ่งใดผิดก็ยังไม่รู้ ไม่สามารถจำแนกแยกแยะได้ หรือ ที่เลวร้ายยิ่งกว่าคือเข้าใจว่าสิ่งที่ผิดเป็นสิ่งปกติสามัญ หรือ แม้กระทั่งกลายเป็นสิ่งที่ถูก ดังเช่น มีนักการเมืองและข้าราชการจำนวนมากเข้าใจว่า การรับเงินใต้โต๊ะ การกินหัวคิว หรือการมีอภิสิทธิ์ทางสังคม เป็นเรื่องธรรมดาหรือเป็นเรื่องที่ถูกต้อง ก็ป่วยการที่จะไปพูดถึงสัตยธรรม
ในองค์ประกอบที่สองของสัตยธรรม คือ การมีความกล้าหาญทางวจีกรรม โดยการพูดอย่างเปิดเผยต่อสาธารณะว่าจะทำ หรือทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งบนพื้นฐานความเข้าใจว่าสิ่งใดผิด และสิ่งใดถูก ซึ่งเป็นการบ่งบอกอย่างชัดเจนว่าผู้ที่มีสัตยธรรมจะมีความกล้าหาญในการบอกต่อผู้คนว่าตนเองจะกระทำในสื่งที่ถูกต้อง แม้ว่าสิ่งนั้นอาจไม่สอดคล้องกับค่านิยมของคนในสังคม ชุมชน หรือ องค์การก็ตาม ลักษณะของสัตยธรรมในขั้นตอนนี้คือ การสื่อสารต่อสาธารณะว่า หลักการเชิงคุณธรรมที่เขายึดถือเป็นหลักการที่ถูกต้อง และพร้อมที่เผยแพร่หรือยืนหยัดปกป้องหลักการดังกล่าว แม้ว่าอาจถูกผู้คนที่ไม่เข้าใจวิพากษ์วิจารณ์ก็ตาม ดังเช่นคานธียึดหลักอหิงสาในการต่อสู้กับจักรวรรดิอังกฤษ เขาก็ได้เผยแพร่หลักการนี้ด้วยความวิริยะ ไม่หวั่นเกรงต่อเสียงวิจารณ์และการดูแคลนจากคนจำนวนมาก ที่ไม่เชื่อว่า หลักการอหิงสาจะทำให้อินเดียได้รับเอกราชจากอังกฤษ
และองค์ประกอบที่สามคือ การกระทำตามหลักการเชิงคุณธรรมที่ตนเองยึดถือ ไม่ว่าจะต้องแลกด้วยอะไรก็ตาม ซึ่งเป็นแสดงออกถึงพันธะผูกพันระหว่างความคิดของการยึดมั่นในหลักการกับการปฏิบัติตามหลักการที่ตนเองยึดถืออย่างซื่อตรงมั่นคง ไม่ว่าจะต้องเผชิญกับผลสืบเนื่องที่ตามมาแบบใดก็ตาม ดุจดั่งผู้ที่ยอมเสียชีพ แต่ไม่ยอมเสียสัตยธรรมที่ตนเองยึดถือนั่นเอง ดังที่ คานธีและชาวอินเดียผู้ยีดหลักอหิงสาธรรม เมื่อถูกทหารอังกฤษปราบปรามและตีด้วยไม้ พวกเขาก็นั่งอย่างสงบ ไม่ตอบโต้หรือทำร้ายทหารอังกฤษที่กระทำรุนแรงต่อพวกเขาแต่อย่างใด
บุคคลที่มีองค์ประกอบทั้งสามประการครบถ้วนเราเรียกว่า “บุคคลแห่งสัตยธรรม” (person of integrity) หรือเป็นบุคคลที่ยึดถือหลักการเชิงคุณธรรมอย่างลึกซึ้งและหนักแน่น มีการรู้อย่างกระจ่าง เข้าใจอย่างถ่องแท้ และตระหนักอย่างจริงจังว่า สิ่งใดถุกต้อง สิ่งใดไม่ถูกต้อง มีความกล้าหาญในการพูดเผยแพร่และยืนหยัดปกป้องหลักการเชิงคุณธรรมดังกล่าวด้วยความวิริยะ มีความพร้อมและกล้าหาญที่จะปฏิบัติในทิศทางที่สอดคล้องกับหลักการที่ตนเองยึดถืออย่างมั่นคง โดยมิหวั่นเกรงต่อผลกระทบทางลบที่อาจเกิดขึ้นกับตนเอง
บุคคลที่สัตยธรรมไม่ใช่ว่าจะต้องเป็นมหาบุรุษเยี่ยง มหาตมะคานธี เสมอไป แต่อาจเป็นบุคคลธรรมดาสามัญที่ดำรงอยู่ในทุกหนแห่งรอบตัวเรา เป็นบุคคลที่เรารู้สึกว่าเขาจะทำในสิ่งที่ถูกต้องเป็นธรรม มั่นคงยึดมั่นในหลักการอย่างตรงไปตรงมา มีความคิด การพูด และการกระทำตรงกัน เมื่อพบสิ่งที่ไม่ถูกต้องก็กล้าพูด กล้าท้วงติง และพร้อมกระทำตามพันธะสัญญาที่มีต่อตนเองและผู้อื่น หรือซื่อตรงต่อตนเองและผู้อื่นนั่นเอง
บุคคลลักษณะแบบนี้เราอาจพบได้ในองค์การที่เราทำงาน ในชุมชน และในสังคม มักจะเป็นบุคคลสามัญชนธรรมดา บางคนก็อาจเป็นผู้นำ แต่จำนวนมากเป็นคนที่เราเดินสวนไปสวนมา และแอบชื่นชมพวกเขาอยู่ในใจเมื่อเรามีความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับความคิด การพูด และการกระทำของพวกเขา บางคนอาจยังไม่เป็นที่รู้จักในสังคมวงกว้าง แต่เมื่อมีเหตุการณ์บางอย่างก็อาจทำให้เขาเป็นที่รู้จักขึ้นมาก็ได้
แต่สังคมไทยในแวดวงของผู้มีอำนาจรัฐ การเมือง ราชการ และแวดวงธุรกิจ อาจมีบุคคลที่มีสัตยธรรมน้อยเกินไป สังคมที่เกี่ยวข้องกับองค์การของรัฐ การเมือง และภาคธุรกิจจึงเป็นแวดวงที่ประกอบด้วยบุคคลที่ปราศจากสัตยธรรม หรือ เป็น “บุคคลแห่งอสัตยธรรม” เป็นจำนวนมาก และเมื่อเป็นเช่นนั้นแวดวงเหล่านั้นจึงตกอยู่ภายใต้หลุมดำของการทุจริตคอรัปชั่น
การปฏิรูปประเทศ การนำพาประเทศออกจากหลุมดำแห่งทุจริต จำเป็นจะต้องมีกลุ่มบุคคลซึ่งดำรงตำแหน่งสำคัญในองค์การภาครัฐ เอกชน และประชาชน เป็นผู้ที่มีคุณลักษณะแห่งสัตยธรรมเพิ่มมากขึ้น เพราะว่าการที่มีเพียงความรู้ ความตั้งใจ หรือ ความซื่อสัตย์อย่างใดอย่างหนึ่งคงไม่เพียงพอที่จะขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศและขจัดการทุจริตได้ แต่หากกลุ่มผู้ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศเปี่ยมไปด้วยสัตยธรรม และเป็นบุคคลแห่งสัตยธรรมแล้ว สังคมไทยก็ยังพอที่จะมีความหวังอยู่บ้าง
กล่าวอย่างสั้นๆ บุคคลแห่งสัตยธรรม หรือ person of integrity เป็นเงื่อนไขที่จำเป็นต่อการสร้างสรรค์สังคมให้มีความเป็นธรรม ประเทศใดมีกลุ่มผู้นำจำนวนมากเป็นบุคคลแห่งสัตยธรรม ประเทศนั้นย่อมมีความรุ่งเรืองและมีความผาสุข แต่หากประเทศใดที่กลุ่มผู้นำเป็นพวก “อสัตยธรรม” ประเทศนั้นย่อมมีแต่ความวุ่นวาย ไร้ความสุขสงบ ผู้คนเดือดร้อนอย่างไม่สิ้นสุด
ในเวลานี้ แม้ว่าในสังคมไทย กลุ่มที่ไร้สัตยธรรมบางกลุ่มหมดอำนาจลงไป แต่ผมรู้สึกว่าบรรดาบุคคลในกลุ่มผู้นำประเทศในปัจจุบันมีผู้ที่มีคุณสมบัติที่เข้าข่าย บุคคลแห่งสัตยธรรมน้อยไปหน่อย และหากสถานการณ์ยังไม่เปลี่ยนแปลง โอกาสที่ประเทศไทยจะกระโจนออกจากหลุมดำแห่งการทุจริตและความชัดแย้งทางสังคมก็ดูเหมือนจะลางเลือนลงไป