xs
xsm
sm
md
lg

ตั้ง”ปัญญา”นั่งตุลาการศาลรธน.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (29ต.ค.) ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีนายพีรศักดิ์ พอจิตร รองประธานสนช. ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ได้ทำการออกเสียงลงคะแนนลับ ให้ความเห็นชอบ นายปัญญา อุดชาชน ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ แทน นายสุพจน์ ไข่มุกด์ ด้วยคะแนนเสียงเห็นด้วย 151 เสียง ไม่เห็นด้วย 28 เสียง งดออกเสียง 11 เสียง โดยประธาน สนช. จะนำรายชื่อดังกล่าวขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งต่อไป
สำหรับรายชื่อบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อทั้ง 5 ประกอบด้วย นายวิทยา อาคมพิทักษ์ อดีตกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน และอดีตรองเลขาธิการป.ป.ช. นางสุวณา สุวรรณจูฑะ ปลัดกระทรวงยุติธรรม พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ นายสุรศักดิ์ คีรีวิเชียร อดีตอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญากรุงเทพใต้ และ พล.อ.บุณยวัจน์ เครือหงส์ อดีตผู้อำนวยการสำนักตรวจสอบภายในกองทัพบก
นอกจากนี้ ยังได้มีมติเห็นชอบตั้งคณะกรรมาธิการสามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ จำนวน 17 คน ระยะเวลาดำเนินงาน 20 วัน
**ตั้งวิปแม่น้ำ 5 สายขับเคลื่อนปฏิรูป
ด้านนายสมชาย แสวงการ เลขาธิการคณะกรรมการประสานงานกิจการสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิปสนช.) กล่าวว่า จากดำริของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ขอให้ตั้งคณะกรรมการประสานงาน หรือ วิป เพื่อร่วมกันทำงานและรายงานความคืบหน้า ไม่จำเป็นต้องตั้งคณะกรรมาธิการหลายชุดนั้น ในส่วนของวิปสนช. จากที่ได้หารือกับ นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. และรองประธาน สนช.แล้วมีความเห็นว่า ควรจะส่งตัวแทนจากวิปสนช. ไปร่วมประกอบด้วย นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย นายพีระศักดิ์ พอจิตร รองประธานสนช. และตน
ส่วนตัวสมาชิกสภาปฏิรูปประเทศ (สปท.) คือ นายอลงกรณ์ พลบุตร รองประธานสปท. ส่วนทางคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และ คณะรัฐมนตรี (ครม.) คงต้องรอประสานจาก นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าจะส่งใครมา
ทั้งนี้ในเบื้องต้นจะใช้วิปทำงานขับเคลื่อน เนื่องจากครั้งที่แล้ว เกิดปัญหาว่าทำงานไปแล้วแต่ไม่มีใครประสาน ทำให้เกิดความล่าช้า ไม่พร้อมเพรียง ประชาชนอาจจะสับสน และดูซ้ำซ้อน ซึ่งนายพรเพชร ได้มอบนโยบายให้วิปทำงานรูปแบบคณะทำงานชุดเล็ก นัดประชุมทุก 2 สัปดาห์ เพื่อรู้ว่าครม. มีกฎหมายอะไรที่ต้องการทำ โดย สปท.ไม่ต้องเสนอซ้ำ หรือ สปท.มีการประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อขับเคลื่อนให้ได้ โดยฝ่ายกลไกการทำงานของวิปชุดนี้
นอกจากนี้ตนได้หารือกับ นายเสรี สุวรรณภานนท์ ประธานกรรมาธิการยกร่างข้อบังคับ สปท. ว่าควรจะมีการแบ่งรูปแบบการทำหน้าที่ของ สนช. กับ สปท. ให้แตกต่างกับ สปช. โดยไม่ให้มีรูปแบบสภาวิชาการ แต่เป็นสภาที่ทำหน้าที่ขับเคลื่อน 11 เรื่อง ในรัฐธรรมนูญปี 57 ที่กำหนดไว้และ 37 เรื่องที่สปช.ทำไว้แล้ว มาร้อยเรียงให้เป็นรูปธรรมให้ได้ โดยจะมีคณะกรรมาธิการเพียง11 คณะบวก1 คือ คณะกรรมาธิการปฏิรูป11 เรื่อง และคณะกรรมาธิการวิสามัญติดตามปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชัน
ส่วนการทำหน้าที่ในสภา จะไม่ให้มีการอภิปรายเหมือน สปช. หรือ ส.ส.-ส.ว. คือให้ขยายความเฉพาะเรื่องการขับเคลื่อนเท่านั้น แต่การจะออกกฎหมาย ให้เป็นหน้าที่ สนช. และ สปท.ในบางเรื่องที่มีการเสนอมาโดยให้ร่วมเป็นกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างกฎหมายบางฉบับด้วย หรือการลงพื้นที่พบประชาชนของสนช. ก็จะมีตัวแทนของแม่น้ำสายอื่นๆร่วมด้วยเพื่อรับฟังปัญหาในพื้นที่แล้วนำมาร่วมกันทำงานเป็นทีม
กำลังโหลดความคิดเห็น