xs
xsm
sm
md
lg

ทำพิธีบวงสรวงตัดไม้จันทน์หอม ใช้งานพระราชทานเพลิงพระศพสังฆราช

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-ผู้ว่าฯ ประจวบคีรีขันธ์ พร้อมเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดบวรฯ และเจ้าหน้าที่ในราชพิธีโหรหลวง ร่วมทำพิธีบวงสรวงตัดไม้จันทน์หอม เพื่อนำไปใช้ในพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ "สมเด็จพระสังฆราช" วันที่ 16 ธ.ค.นี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (14 ต.ค.) นายทวี นริสศิริกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พร้อมเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 บ้านโป่ง และสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 สาขาเพชรบุรี ตลอดจนเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด พระโสภณคณาภรณ์ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร พร้อมคณะสงฆ์จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พร้อมด้วยนายคำรณ ปิ่นเงิน เจ้าหน้าที่พระราชพิธีโหรหลวง ได้ร่วมประกอบพิธีบวงสรวงตัดไม้จันทน์หอม 3 ต้น ซึ่งยืนต้นตายธรรมชาติในพื้นที่หลังที่ทำการอุทยานแห่งชาติกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

โดยการตัดต้นไม้จันทน์หอมดังกล่าว เพื่อนำไปใช้ในพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ณ พระเมรุวัดเทพศิรินทราวาส กรุงเทพมหานคร ในวันพุธที่ 16 ธ.ค.2558 เวลา 16.30 น.

ทั้งนี้ ภายหลังเสร็จสิ้นการประกอบพิธีบวงสรวงตัดไม้จันทน์หอมยืนต้นตายตามธรรมชาติทั้ง 3 ต้น เรียบร้อยแล้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นำคณะหัวหน้าส่วนราชการ และเจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติฯ และประชาชน รวมกันปลูกต้นไม้จันทน์หอมในพื้นที่บริเวณดังกล่าวจำนวน 102 ต้น เพื่อเป็นการทดแทน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างการตัดไม้จันทน์หอมทั้ง 3 ต้น มีประชาชนจำนวนมากเข้าร่วมพิธี และประชาชนต่างกรูกันเข้ามาหยิบเศษไม้ และขี้เลื่อย ตลอดจนข้าวตอกดอกไม้เพื่อนำกลับไปบูชาเพื่อความเป็นสิริมงคล

นายวัฒนา พรประเสริฐ ผอ.ส่วนอุทยานแห่งชาติ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 สาขาเพชรบุรี กล่าวว่า การเคลื่อนย้ายไม้จันทน์หอมทั้ง 3 ต้นออกจากอุทยานแห่งชาติกุยบุรี จะต้องรอให้ทางเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรีดำเนินการแปรรูปจนเสร็จ และรายงานจำนวนไม้ที่แปรรูปให้ทางสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 สาขาเพชรบุรี ได้รับทราบ และรายงานไปยังอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ให้รับทราบต่อไป จากนั้นจึงจะกำหนดวันเคลื่อนย้ายไม้จันทน์หอมไปยังสำนักช่าง 10 หมู่ ที่จังหวัดนครปฐม

นายยรรยง เลขาวิจิตร ผอ.สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 บ้านโป่ง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวว่า สำหรับไม้จันทน์หอมทั้ง 3 ต้น มีปริมาตรรวม 2.229 ลูกบาศก์เมตร คาดมีอายุกว่า 100 ปีขึ้นไป โดยต้นที่ 1 มีขนาดความยาว 10.0 เมตร ความโต 1.70 เมตร ต้นที่ 2 มีขนาดความยาว 12.0 เมตร ความโต 1.70 เมตร และต้นที่ 3 มีขนาดความยาว 12.0 เมตร ความโต 1.75 เมตร โดยไม้จันทน์หอมพบมากในพื้นที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี และบางส่วนในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน

ด้าน นายสรัชชา สุริยกุล ณ อยุธยา ผอ.สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 สาขาเพชรบุรี กล่าวว่า ไม้จันทน์หอมจัดเป็นไม้หายาก และมีค่า เพราะขึ้นอยู่ในภูมิภาคแถบนี้เท่านั้น เป็นไม้โตช้า แม้อายุ 100 ปี แต่ลำต้นไม่ใหญ่มากนัก คนโบราณจัดว่า ไม้จันทน์หอมเป็นไม้สูงจะนำมาสร้างบ้านเรือนสามัญชนไม่ได้ ต้องทำตำหนักเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน จัดเป็นไม้มีค่า เพราะมีกลิ่นหอมตลอดไม่ว่าจะเป็น หรือตาย หอมในทุกส่วนของลำต้น ไม่ว่าจะเป็นแก่น เปลือก กระพี้ เหตุเพราะไม้จันทน์หอมมีความหอมไม่ว่าจะเป็นหรือตาย จึงเปรียบเหมือนคนเมื่อเกิดมาทำความดี ตายแล้วก็ยังมีความดีอยู่ คนโบราณจึงนำไม้จันทน์หอมมาเผาศพ เรียกว่า "ดอกไม้จันทน์" จนถึงปัจจุบันนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น