xs
xsm
sm
md
lg

กรมเชื้อเพลิงยังหวัง เปิดสำรวจปิโตรฯรอบ21 หลังแจงข้อมูล"บิ๊กโย่ง-ประจิน"

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน- กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติหวังเปิดสำรวจปิโตรเลียมรอบ 21 ได้ภายในสิ้นปีนี้หลังนำทีมเข้าชี้แจงละเอียดยิบกับ"บิ๊กโย่ง-ประจิน" แล้ว รอรัฐเสนอร่างแก้ไขพ.ร.บ.ปิโตรเลียม2ฉบับเข้าสนช.เห็นชอบ ชี้เปิดได้จะช่วยกระตุ้นลงทุนและสร้างงานหลังธุรกิจเกี่ยวข้องปลดคนกว่า 1,000คนจ่อย้ายฐาน พร้อมรอผลศึกษาปริมาณสำรองแหล่งบงกช-เอราวัณต.ค.นี้เร่งสรุปแนวทางบริหารจัดการตามกรอบ 13 พ.ค.59 พร้อมเชื่อมั่นรัฐบาลนี้จะสรุปปิโตรเลียมพื้นที่ไทย-กัมพูชาได้

นางพวงทิพย์ ศิลปศาสตร์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ(ชธ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมฯได้รายงานความคืบหน้าร่างแก้ไขพ.ร.บ.ปิโตรเลียมและพ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียมต่อพล.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับดูแลกระทรวงพลังงาน และพล.อ.อนันตพร กาญจรัตน์ รมว.พลังงานหลังจากที่คณะรัฐมนตรี(ครม.)เห็นชอบแล้วและรอที่จะเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ซึ่งก็หวังว่าหากผ่านกระบวนการนี้แล้วก็จะสามารถประกาศเชิญชวนให้เอกชนยื่นสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบที่ 21 ได้ภายในสิ้นปีนี้จำนวน 29แปลงซึ่งจะเปิดกว้างให้เอกชนเสนอรูปแบบการสำรวจและผลิตว่าจะใช้ระบบใดระหว่างสัมปทานหรือระบบแบ่งปันผลผลิต(PSC)

" ร่างพ.ร.บ.ฯ 2 ฉบับนั้นได้มีการชี้แจงท่านรมว.พลังงานแล้ว โดยเฉพาะการจะเปิดสำรวจรอบใหม่หลายท่านก็บอกให้เปิดเลยไม่ต้องรอพ.ร.บ. แต่ผู้บริหารกระทรวงพลังงานที่ผ่านมาเองก็เห็นว่ามีคำทักท้วงจากเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทยก็สามารถชะลอการเปิดก่อนหน้านั้นไปได้และร่างที่แก้ไขเองก็เปิดให้มีระบบ PSC เข้ามาเป็นตัวเลือกจากเดิมที่กำหนดให้เป็นระบบสัมปทานเท่านั้น"นางพวงทิพย์กล่าว

ทั้งนี้เชื่อมั่นว่าหากเปิดให้สำรวจฯเอกชนยังสนใจที่จะลงทุนอยู่และนักลงทุนก็เชื่อมั่นแม้ว่าราคาน้ำมันดิบขณะนี้จะตกต่ำแต่ก็เป็นโอกาสของเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่จะเข้ามาดำเนินการแม้ว่าจะมีการเลื่อนการเปิดสำรวจรอบที่ 21 มาแล้วก็ตามแต่สิ่งนี้ก็ทำให้ไทยเสียโอกาสในแง่การลงทุนโดยปัจจุบันการที่ไทยไม่มีการเปิดสำรวจฯที่ต่อเนื่องทำให้บริษัทที่เกี่ยวกับการบริการในธุรกิจสำรวจและผลิตเช่น การสำรวจวัดคลื่นไหวสะเทือน(Seismic Exploration) ธุรกิจแท่นผลิตและอุปกรณ์ฯลฯ ได้รับผลกระทบมีการเลิกจ้างไปกว่า 1,000คนเช่น บ.CGG ซึ่งทำธุรกิจSeismic อาจย้าย ฐานไปยังเมียนมาแทน บ.ไทยนิปปอนสตีล ปิดแท่น 1 แห่ง เป็นต้น ดังนั้นหากไทยเปิดสำรวจฯได้เร็วก็จะทำให้เป็นโอกาสการลงทุนและการจ้างงาน

อย่างไรก็ตามสิ่งที่ควรจะต้องเร่งดำเนินการให้เป็นไปตามกรอบคือความชัดเจนแหล่งสัมปทานปิโตรเลียมเอราวัณ(เชฟรอน)และบงกช (ปตท.สผ.) ที่จะหมดอายุสัมปทานปี 65-66 ว่าจะดำเนินการอย่างไรให้การผลิตเกิดความต่อเนื่องเพราะ 2 แหล่งนี้สำคัญมากต่อระบบเศรษฐกิจเพราะเป็นแหล่งผลิตในประเทศใหญ่สุดซึ่งรัฐบาลได้วางกรอบให้สรุปภายใน 1 ปี(14พ.ค.58-13พ.ค.59) ซึ่งภายในต.ค.นี้บ.IHS ที่กรมฯว่าจ้างให้ศึกษาประเมินปริมาณสำรองของ 2 แหล่งก็จะสรุปผลจะสามารถนำไปเทียบกับข้อมูลของ 2 บริษัท พร้อมกันนี้จะมีการประเมินทรัพย์สินควบคู่กันไป เพื่อที่จะกำหนดแนวทางการบริหารจัดการว่าจะใช้รูปแบบใดซึ่งมีทั้งระบบสัมปทาน ระบบ PSC และการรับจ้างผลิต

" สำหรับกรณีการเจรจาพื้นที่สัมปทานปิโตรเลียมไทยกัมพูชานั้นเชื่อว่าน่าจะจบในรัฐบาลชุดนี้ได้เพราะหากเป็นรัฐบาลที่มาจากเลือกตั้งจะเกิดความล่าช้า"นางพวงทิพย์กล่าว

นายคุรุจิต นาครทรรพ ปลัดกระทรวงพลังงานกล่าวว่า รัฐบาลปัจจุบันได้หยิบยกประเด็นเรื่องสัมปทานปิโตรเลียมมาดำเนินการที่ชัดเจนเมื่อเทียบกับรัฐบาลที่ผ่านมาเพราะทราบดีถึงความสำคัญแต่การดำเนินงานนั้นอาจจะต้องรอช่วงจังหวะเวลาที่เหมาะสมโดยเฉพาะการเปิดสำรวจฯรอบที่ 21 ที่มีคนคัดค้านซึ่งก็มีความเป็นห่วงเรื่องผลประโยชน์ที่จะตกกับประเทศชาติก็ต้องใช้เวลาแต่เชื่อว่าที่สุดจะเดินหน้าได้แน่

"รัฐบาลนี้มีความชัดเจนค่อนข้างมากเกี่ยวกับสัมปทานปิโตรเลียม อย่างกรณีพื้นที่ปิโตรเลียมไทย-กัมพูชาเองก็ไม่มีการยกเลิกการลงนาม(MOU)ปี 2524 ทำให้คืบหน้าเกี่ยวกับความชัดเจนและทำให้สามารถดำเนินการเจรจารายละเอียดต่อไปซึ่งก็มีการเจรจากันอยู่"นายคุรุจิตกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น