xs
xsm
sm
md
lg

Najib Razak คุณมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร?

เผยแพร่:   โดย: ดร.ปิติ ศรีแสงนาม

Najib Razak (แฟ้มภาพเอพี)
ดร.ปิติ ศรีแสงนาม
ศูนย์อาเซียนศึกษา คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ


ตอนที่ 1: เปิดฉากอย่างเร้าใจ

Najib Razak หรือชื่อเต็มคือ Dato’Sri Haji Mohammad Najib bin Tun Haji Abdul Razak นายกรัฐมนตรีคนที่ 6 ของประเทศมาเลเซีย เริ่มต้นชีวิตทางการเมืองด้วย Profile สวยหรู เพราะเป็นลูกชายของนายกรัฐมนตรีคนที่ 2 ของประเทศนั่นคือ Abdul Razak Hussein ที่เป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งประเทศมาเลเซียโดยการเรียกร้องเอกราชจากสหราชอาณาจักรร่วมกับ Tunku Abdul Rahman และเป็นผู้ที่ร่วมลงนามในปฏิญญาอาเซียนที่กรุงเทพมหานครในการร่วมก่อตั้งสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2510 และ Najib Razak ยังเป็นหลานของนายกรัฐมนตรีคนที่ 3 ของประเทศมาเลเซีย Hussein Onn ซึ่งได้รับการขนานนามว่า บิดาแห่งการรวมชาติ “Bapa Perpaduan (Father of Unity)” นอกจากนั้น Najib Razak ยังเป็นเด็กสร้างที่ถูกปั้นขึ้นมากับมือโดยนายกรัฐมนตรีคนที่ 4 ¬ของประเทศ นั่นคือ Dr.Mahathit Mohamad

เท่านั้นยังไม่พอ Najib หลังจากจบชีวิตสมรสกับภรรยาคนแรก Najib ก็มาครองคู่กับผู้ญิงที่เป็นนักธุรกิจทรงอิทธิพลและมีสายสัมพันธ์ทางการเมืองที่หย่าจากสามีเก่าเพื่อมาครองคู่กับ Najib Razak นั่นคือ นาง Rosmah Mansor โดยนักสังเกตการณ์การเมืองมาเลเซียหลายๆ คนมองว่าจริงๆ แล้ว Rosmah มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของ Najib Razak ในทางการเมืองอย่างมาก และผู้หญิงคนนี้ร้ายกาจไม่ใช่เล่นๆ ซึ่งในระยะหลังคนเริ่มเอาเธอไปเปรียบเปรยกับ 2 ผู้หญิงแห่งประวัติศาสตร์นั่นคือ พระนาง Marie Antoinette แห่งฝรั่งเศส และนาง Imelda Marcos แห่งฟิลิปปินส์

Najib Razak เริ่มเข้าสู่การเมืองโดยการเป็นลงชิงตำแหน่งและเป็นสมาชิกรัฐสภาจากเขต Pekan แทนผู้เป็นพ่อด้วยวัยเพียง 23 ปี ในปี 1976 จากนั้นก็ได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวง Cultural, Youth and Sports และได้รับการยกชั้นขึ้นเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม, กระทรวงศึกษาธิการ และได้รับตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีในสมัยของ Abdullah Ahmad Badawi นายกรัฐมนตรีคนที่ 5 ของประเทศมาเลเซีย และเป็นรุ่นพี่ที่ทำงานด้วยกันมาอย่างต่อเนื่องและใกล้ชิด

จนในที่สุด Najib Razak ก็ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 6 ของประเทศในวันที่ 3 เมษายน พ.ศ.2552 ชีวิตการเมืองที่สวยหรูก็เริ่มเข้าสู่ความฝันอันเลวร้าย

ตอนที่ 2: เริ่มต้นอย่างสวยงาม แต่แล้ว...

เมื่อ Najib Razak เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในเดือนเมษายนปี 2552 ทุกอย่างดูเหมือนจะไปได้ด้วยดี หลังจากที่ Abdullah Badawi นายกรัฐมนตรีคนที่ 5 ของประเทศก้าวลงจากตำแหน่งพร้อมกับคะแนนนิยมของพรรค UMNO ที่ลดลงอย่างมาก จากที่เคยมีเสียง 2 ใน 3 ของรัฐสภา หรือเพียงเกินครึ่งมาเล็กน้อย ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความตกต่ำของคะแนนนิยมของ Badawi ที่ลดลงอย่างมาก ดังนั้น UMNO ต้องส่งตัวแทนที่เป็นคนรุ่นใหม่ มีประสบการณ์ทางการเมือง มีฐานเสียง และแน่นอนว่าในสังคมมาเลย์ที่มีการแบ่งชนชั้นและสถานะทางสังคมอย่างชัดเจน (Hierarchy Society) ผู้ที่มีภาพพจน์ที่ดีกว่าอย่าง Najib Razak ที่เป็นทางลูกและหลานของอดีตผู้นำประเทศ และมีภรรยาเป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จย่อมเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดในการเข้าสู่ตำแหน่งผู้นำประเทศ

Najib Razak เป็นผู้ที่ถูกคาดหวังจากสังคมมาเลย์ว่าจะเป็นผู้เข้ามาทำการปฏิรูประบบเศรษฐกิจ ให้มีความเปิดเสรีมากยิ่งขึ้น ปฏิรูปการเมืองที่มีพรรค UMNO ผูกขาดการเมืองมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน และมากกว่านั้นคือการสร้างความปรองดอง และลดความขัดแย้งระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์และกลุ่มชนชั้นต่างๆ ในสังคมมาเลเซียซึ่งนับวันจะมีความซับซ้อนและมีการกีดกันระหว่างกันมากยิ่งขึ้นทุกที

ผลงานสำคัญที่ทุกคนรอคอยและกล่าวถึงอย่างมากในการก้าวขึ้นมาของรัฐบาล Najib Razak เพื่อสร้างฝันของการเป็นประเทศรายได้สูง High Income Country ให้ได้ภายในปี 2020 ได้แก่

1.การแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่ตกต่ำและค่าครองชีพที่สูง มากยิ่งขึ้นทุกทีๆ จนคนมาเลเซียเริ่มเดือดร้อน
2.นโยบายการลดเงินอุดหนุนประเภทต่างๆ ของรัฐบาลมาเลเซีย โดยเฉพาะเงินอุดหนุนราคาเชื้อเพลิง พลังงานและน้ำมัน ซึ่งสร้างภาระรายจ่ายและหนี้สาธารณะอย่างต่อเนื่องยาวนาน
3.การลดและยกเลิกการให้สิทธิพิเศษต่างๆ กับชาวมาเลเซียเชื้อสายมาเลย์ (คนมลายู) ซึ่งเป็นการบิดเบือนกลไกการทำงานของระบบเศรษฐกิจ
4.การปฏิรูประบบภาษีการค้าสินค้าและบริการ
5.การจัดตั้งกองทุนที่จะเอาเงินทุนสำรองของประเทศไปลงทุนเพื่อสร้างความมั่งคั่งให้กับประเทศ ในนาม กองทุน 1 Malaysia Development Berhad (1MDB)

นอกจากประเด็นด้านเศรษฐกิจแล้ว Najib Razak ยังพยายามสร้างค่านิยมใหม่ของสังคมมาเลเซียภายใต้นโยบาย “1 Malaysia” ซึ่งต้องการให้สังคมมาเลเซียสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างปรองดองระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ (Ethnic Harmony) สร้างความเป็นหนึ่งเดียวกันภายในชาติ (National Unity) และการสร้างระบบการทำงานของภาคส่วนต่างๆอย่างมีประสิทธิภาพและมีธรรมาภิบาล (Effciency and Good Governance) โดยมีการส่งเสริมค่านิยมหลัก 8 ประการของคนมาเลเซียขึ้นมา ได้แก่

1.ความเพียร Perseverance
2.สร้างวัฒนธรรมให้มุ่งสร้างความเป็นเลิศ Cultural of Excellence
3.การยอมรับความแตกต่าง Acceptance
4.ความจงรักภักดี Royalty
5.การศึกษา Education
6.ความอ่อนน้อมถ่อมตน Humility
7.ความซื่อสัตย์ Integrity
8.การยอมรับนับถือคนที่ความสามารถ มิใช่ฐานะทางเศรษฐกิจและชนชั้นทางสังคมหรือชาติพันธุ์ (Mentocracy)

แน่นอนครับว่า ฟังดูเหมือนทุกอย่างจะสวยหรู และไปได้ด้วยดี แต่ถ้าได้มีโอกาสไปพูดคุยกับผู้สังเกตการณ์ทางการเมืองและสังคมของประเทศมาเลเซีย เราจะพบว่า ทั้งหมดนั่นคือ นโยบายที่แทบจะทำไม่ได้จริงในทางปฏิบัติ และแม้แต่ตัว Najib Razak เอง และครอบครัวของเขาก็แทบจะทำเป็นตัวอย่างไม่ได้ด้วย (โดยเฉพาะถ้าใครติดตาม Instagram ของนาง Rosmah Mansor สตรีหมายเลขหนึ่งของประเทศ)
Dr.M (Mahathir Mohamad) เข้าร่วมกับม็อบเสื้อเหลืองในมาเลเซีย
อีกด้านหนึ่งความขัดแย้งระหว่าง Najib Razak และอดีตผู้นำรวมทั้ง Mentor ของเขาเองอย่าง Dr.M (Mahathir Mohamad) ก็เริ่มรุนแรงมากยิ่งขึ้น จริงๆ ก็ถือเป็นบ่วงกรรมของ Dr.M ด้วยที่สมัยที่ตนเองบริหารประเทศ มีนโยบายปิดกั้นสื่อ ไม่ให้อิสรภาพกับประชาชนในการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองได้อย่างเสรี รวมทั้งการไม่รับฟังความคิดเห็นจากใครทั้งสิ้นของ Dr.M เอง นโยบายนี้จึงถูกใช้มาอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา 22 ปีของการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 4 ของประเทศ ดังนั้นเมื่อ Dr.M วางมือจากตำแหน่งทางการเมือง นายกรัฐมนตรีคนต่อมาอย่าง Badawi ก็ไม่ฟังคำวิพากษ์วิจารณ์และไม่ขอความคิดเห็นในการบริหารประเทศจาก Dr.M ด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะในช่วงท้ายๆ ของการดำรงตำแหน่ง ในขณะที่สื่อเองก็ไม่ให้ความสำคัญกับ Dr.M ด้วย นั่นก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เมื่อมีการเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรี ดูเหมือน Dr.M ก็คาดว่าจะมีคนฟังความคิดเห็นของเขามากขึ้น โดยเฉพาะจากเด็กสร้างอย่าง Najib Razak แต่นั่นก็เป็นเพียงฝันค้างของ Dr.M ในวัย 90 ปี เพราะ Najib เองก็ไม่ฟัง Dr.M เช่นกัน และสื่อเองก็ถูกให้นโยบายในการไม่ให้พื้นที่ข่าวกับ Dr.M อีกด้วย โดยเฉพาะสื่อของรัฐ ทำให้ในระยะหลังๆ เวลา Dr.M อยากจะวิพากษ์อยากจะพูดอะไรก็ต้องทำใน Youtube หรือผ่านทาง Social Media

เท่านั้นยังไม่พอ เมื่อ Dr.M เองอยากจะผลักดันให้ลูกชายของตนเองได้รับตำแหน่งทางการเมือง Najib Razak เองก็ปฏิเสธคำของร้อง นั่นยิ่งทำให้ความบาดหมางรุนแรงขึ้น

และเมื่อนโยบายสวยหรู แต่ทำไม่ได้ในความเป็นจริง และเพื่อรักษาฐานเสียงของ Najib Razak และพรรค UMNO รวมทั้งความต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อหลีกเลี่ยงให้พ้นจากปัญหาวิกฤตที่ส่อเค้ามาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเพื่อลดผลกระทบที่เกิดจากปัญหาราคาน้ำมันตกต่ำ ทำให้ภาครัฐขาดรายได้จากการขายพลังงาน (สินค้าออกสำคัญของมาเลเซีย และเป็นแหล่งรายได้สำคัญของประเทศ) นโยบายประชานิยม และการก่อหนี้สาธารณะขนานใหญ่ก็เกิดขึ้น

ตอนที่ 3: ประชานิยม Dark Side of the Force

แน่นอนว่ารัฐบาลทุกรัฐบาลต้องการสร้างความเจริญเติบโตและความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ การลงทุนโดยภาครัฐและการกระตุ้นกำลังซื้อในประเทศโดยการใช้รายจ่ายงบประมาณของรัฐบาลและบางครั้งอาจนำไปสู่การก่อหนี้สาธารณะถือเป็นความชอบธรรมที่รัฐบาลสามารถทำได้ แต่นโยบายการคลัง (Fiscal Policy) เหล่านั้นต้องไม่บิดเบือนกลไกการทำงานของระบบเศรษฐกิจมากจนเกินไป ในขณะเดียวกันก็ต้องไม่สร้างภาระการคลัง รวมทั้งการไม่สร้างค่านิยมที่ผิดให้กับประชาชนในประเทศจนเสพติดการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยภาครัฐโดยไม่สามารถอุตสาหะทำมาหากินได้เอง เพราะนโยบายแบบนั้นมันหมายถึงการทำลายโครงสร้างทางเศรษฐกิจและค่านิยมที่ดีงามของสังคมในระยะยาว และนโยบายแย่ๆ แบบนั้นเรามักจะเรียกมันว่า นโยบายประชานิยม ซึ่งมักจะเห็นผมดีในแง่ของการกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างรวดเร็วในระยะสั้น และรัฐบาลหลายๆ ประเทศมักจะเสพติดพลังด้านมืดของนโยบายแบบนี้เพราะใช้ง่าย เห็นผลไว แต่ถ้าใช้อย่างต่อเนื่อง ความล่มสลายก็จะเกิดขึ้นในระยะยาว

ในกรณีของประเทศมาเลเซียแม้รัฐบาลจะพยายามกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งพยายามปฏิรูปประเทศ แต่ผลที่ออกมากลับไม่เป็นอย่างที่คิด ทั้งนี้เนื่องจาก

1.ราคาน้ำมันที่ตกต่ำ ทำให้การวางแผนไปสู่ประเทศร่ำรวยในปี 2020 ของมาเลเซียเกิดความผิดพลาด ทั้งนี้เนื่องจากที่ผ่านมาในช่วงที่ราคาน้ำมันอยู่ในช่วงขาขึ้นทำให้ วางแผนพัฒนาประเทศตั้งอยู่บนสมมติฐานที่ราคาน้ำมันดิบระดับ 100+ USD/บาร์เรล แต่ราคาน้ำมันร่วงลงมาที่ระดับ 40+/- USD/บาร์เรล รัฐบาลมาเลเซียเองซึ่งมีรายรับมหาศาลจากรัฐวิสาหกิจ Petronas ที่ทำหน้าที่สำรวจ ผลิต ขาย และส่งออกน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ แล้วส่งเงินเข้าคลัง ไม่สามารถส่งเงินให้ได้ รัฐขาดรายรับ แต่รัฐกับมีรายจ่ายมหาศาลทำให้เกิดหนี้สาธารณะจำนวนมาก และทำให้รัฐบาลมาเลเซียขาดดุลงบประมาณอย่างต่อเนื่องจนต่ำกว่ามาตรฐานของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF)
2.ราคาน้ำมันที่ตกต่ำ เศรษฐกิจที่ตกต่ำ ภาครัฐที่ขาดดุลงบประมาณต่อเนื่อง ยิ่งทำให้ค่าเงินริงกิตอ่อนค่า จากระดับ 2.80-3.00 ริงกิต/ดอลลาร์สหรัฐ ลงมาทะลุ 3.8050 ริงกิต/ดอลลาร์สหรัฐ เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งต่ำกว่าอัตรานโยบายที่กำหนดไว้ตั้งแต่ปี 2005 ที่ 3.80 ริงกิต/ดอลลาร์สหรัฐ แน่นอนว่ายิ่งทำให้รัฐสูญเสียเงินสำรองอีกเป็นจำนวนมาก เพราะมาเลเซียมีนโยบายแทรกแซงเพื่อรักษาอัตราแลกเปลี่ยนในอยู่ในระดับที่กำหนดกรอบเอาไว้ ในขณะเดียวกันภาระหนี้ต่างประเทศก็พุ่งสูงขึ้น
3.หนี้สาธารณะของมาเลเซียเพื่อขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้เพราะมาเลเซียใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจโดยภาครัฐต้องอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเพื่อขับเคลื่อนการบริโภคและการลงทุน มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 1995 ปีที่เริ่มประกาศเป้าหมายจะเป็น High Income Country ในปี 2020 ทำให้รัฐบาลมีภาระค่าใช้จ่ายและก่อหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
4.แน่นอนว่าคนมาเลเซียเอง เมื่อเขามีทัศนคติอย่างต่อเนื่องมากกว่า 20 ปี ว่าอีกไม่กี่ปีประเทศของฉันจะร่ำรวย คนมาเลเซียจะเป็น High Income Consumer แต่นั่นคือภาพ Macro ครับ ภาพ Micro คือทุกคนก็เริ่มใช้จ่ายเกินตัว เพราะคิดว่าในอนาคตฉันจะรวย ดังนั้นรีบเอาเงินในอนาคตมาใช้วันนี้ดีกว่า ผ่านการก่อหนี้ภาคครัวเรือน และนั่นทำให้มาเลเซียกลายเป็นประเทศที่มีสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP สูงที่สุดในอาเซียน ที่ระดับ 124% ของ GDP (ของไทยที่ระดับเกือบ 90% ¬ของ GDP ซึ่งตอนนี้ธปท.ก็กำลังเร่งแก้ไขปัญหาอยู่) ซึ่งหนี้ส่วนใหญ่มาจากการบริโภคสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ โดยเฉพาะ รถยนต ์และ สินค้าแบรนด์เนม แน่นอนว่าอัตราแลกเปลี่ยนที่อ่อนค่าของริงกิตก็ยิ่งทำให้ภาระหนี้ก้อนนี้โตขึ้น
5.เมื่อราคาน้ำมันแพง ภาครัฐมีหนี้สิน รัฐบาลมาเลเซียก็พิจารณาว่า เงินตราต่างประเทศบางส่วนที่รัฐถือเอาไว้ ถ้าเก็บไว้เฉยๆ ในลักษณะเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ แน่นอนแม้ประเทศจะมีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ แต่เงินก้อนนี้ก็ไม่มีวันงอกเงย อย่าเลย เราเอาเงินก้อนนี้ออกมาหาทางลงทุนให้มันงอกเงยดีกว่า กองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ หรือ Sovereign Fund เช่นเดียวกับ Temasek ของสิงคโปร์ก็เกิดขึ้นในนาม กองทุน 1 Malaysia Development Berhad (1MDB) ก็เกิดขึ้น และเมื่อราคาน้ำมันแพง และมาเลเซียเองก็พึ่งพิงน้ำมันและก๊าซธรรมชาติอยู่เยอะ ดังนั้นเพื่อกระจายความเสี่ยง 1MDB ก็ควรจะไปลงทุนในธุรกิจที่ไม่พึ่งพิงน้ำมัน และโตเร็วในช่วงน้ำมันแพง ซึ่งนั่นก็คือ อุตสาหกรรมพลังงานทางเลือก แน่นอนครับ เมื่อราคาน้ำมันลดลงอย่างมาก ไม่มีใครอยากใช้พลังงานทางเลือกที่ต้นทุนสูงหรอกครับ ราคาหุ้นของอุตสาหกรรมพลังงานทางเลือกก็ลดฮวบ เช่นเดียวกับผลประกอบการของกองทุน 1MDB ซึ่งเข้าสู่ภาวะขาดทุนอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดขาดทุนอยู่ประมาณ 42 พันล้านริงกิตหรือประมาณ 12 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และยิ่งสร้างความหวาดหวั่นให้กับเศรษฐกิจมาเลเซียมากขึ้น และกองทุน 1MDB นี่แหล่ะครับคือฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้คนมาเลเซียออกมาขับไล่ Najib Razak เพราะนอกจากจะบริหารงานจนกองทุนนี้เจ๊งแล้ว (Najib เป็น Chairman ¬ของกองทุน) ยังมีหลักฐานอีกว่ามีการโอนเงินจากกองทุนนี้จำนวน 2.672 พันล้านริงกิต หรือประมาณ 700 ล้านดอลลาร์สหรัฐเข้าบัญชีส่วนตัวของ Najib Razak จำนวน 3 รอบในเดือน มีนาคม 2013, ธันวาคม 2014 และกุมภาพันธ์ 2015

เศรษฐกิจมาเลเซียโดนเข้าไป 5 เด้งแบบนี้ นโยบายประชานิยมเพื่อเอาใจฐานเสียงในประเทศ ลดแรงต้านทางรัฐบาล และซื้อเวลาในการเป็นนายกรัฐมนตรีต่อไปก็เลยถูกนำมาใช้ครับ

ตอนที่ 4: ประชานิยม และความล้มเหลว

Najib Razak ดูจะเป็นคนที่ฝังใจกับเลข 1 มากครับ ตั้งแต่นโยบายหลักของรัฐบาลของเขาที่เรียกว่า “1 Malaysia” เมื่อจะสร้างกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติเขาก็ตั้งชื่อกองทุนว่า “1 Malaysia Development Berhad (1MDB)” และแน่นอนนโยบายประชานิยมของเขาก็ถูกเรียกว่า “Bantuan Rakyat 1Malaysia หรือ 1Malaysia People's Aid (BR1M) Project”

โดยเนื้อหาใจความหลักของ BR1M Project ก็คือ การแจกเงินนั่นเอง โดยในเฟสแรกที่นิยมเรียกกันว่า BR1M 1.00 ก็กำหนดว่า รัฐบาลมาเลเซียจะแจกเงิน 500 ริงกิต (ประมาณ 5,000 บาท) ให้กับครอบครัวมาเลเซียที่มีรายได้ต่ำกว่า 3,000 ริงกิต/เดือน (ประมาณ 30,000 บาท/เดือน)

ตามมาด้วยการ Upgrade สู่ BR1M 2.00 หรือเวอร์ชั่น 2 ในปี 2013 ที่แจกเงินเพิ่มมากขึ้น โดยจะแจกทั้งในระดับครัวเรือนเหมือนเดิมที่ครอบครัวละ 500 ริงกิต และจะแจกเพิ่มในระดับตัวบุคคลอีกคนละ 250 ริงกิต/คน ทำให้ภาครัฐมีรายจ่ายเพิ่มขึ้นอีก 2.5 พันล้านริงกิต เพราะต้องแจกเงินให้กับคนมาเลเซียถึง 5.7 ล้านครอบครัว

และนั่นยังไม่ใช่จุดสิ้นสุดครับ เพราะล่าสุด BR1M ถูกยกระดับสู่ BR1M 4.00 ในปี 2014 โดยเพิ่มเงินที่จะแจกให้กับคนมาเลเซียที่มีรายได้น้อยกว่า 2,000 ริงกิต/เดือน และเพิ่มเป็นคนละ 650 – 950 ริงกิต และแจกเงินกับครอบครัวที่มีรายได้ต่ำกว่า 4,000 ริงกิต/เดือน เพิ่มขึ้นเป็นครอบครัวละ 750 ริงกิต

นอกจาก BR1M แล้ว ทางการมาเลเซียยังมีการใช้เงินกระตุ้นเศรษฐกิจที่เรียกว่า Stimulus Package อีกหลายรอบ ไม่ว่าจะเป็นกองทุนมูลค่า 7 พันล้านริงกิตเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2008 ตามมาด้วยก้อนที่ 2 ในวันที่ 10 มีนาคม 2009 อีก 60 พันล้านริงกิต โดยสื่อของมาเลเซีย (ซึ่งถูกควบคุมโดยรัฐบาลมาเลเซีย) ออกมาประเมินว่าเงินกองทุนทั้ง 2 ก้อนนี้ทำให้เศรษฐกิจของมาเลเซียเจริญเติบโตถึง 9.5% ในปี 2010 แต่สื่อมาเลเซียไม่ได้บอกว่า ภาคธุรกิจที่ได้รับอานิสงส์มากที่สุดคือ อุตสาหกรรมก่อสร้าง ซึ่งส่วนใหญ่มีสายสัมพันธ์กับแกนนำพรรค UMNO

ตามมาด้วยการสร้างกองทุน 1 Malaysia Development Berhad หรือ 1MDB ที่มี Najib Razak เป็น Chairman ซึ่งปัจจุบันขาดทุนอยู่ที่กว่า 42 พันล้านริงกิต หรือประมาณ 12 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และยังถูกเปิดเผยโดยสื่อยักษ์ใหญ่ของสหรัฐอเมริการ่วมกับพนักงานน้ำดีสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินของประเทศมาเลเซียเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2015 ถึงการโอนเงินจากกองทุน 1MDB เข้าสู่บัญชีเงินฝากส่วนตัวของ Najib Razak ผ่านทางธนาคาร AmBank Islamic Bank อีก 3 ครั้ง (มีนาคม 2013, ธันวาคม 2014 และกุมภาพันธ์ 2015) รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 2.672 พันล้านริงกิต หรือประมาณ 700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยปัจจุบันบัญชีดังกล่าวถูกปิดไปแล้วตั้งแต่วันที่ 10 กรกฎาคม 2015 และ Najib Razak เองก็ไม่เคยปฏิเสธว่าเงินก้อนนี้เขาไม่รู้ไม่เห็น ไม่รู้เรื่อง หากแต่กลับยอมรับว่าเงินนี้มีจริง แต่เป็นเงินบริจาค

แต่ที่เลวร้ายกว่านั้นก็คือนักการเมืองของพรรค UMNO ทุกคนไม่มีใครออกมาประณามหรือต่อต้านความไม่โปร่งใสในครั้งนี้ (นักการเมืองฝ่ายตรงข้าม และนักสังเกตการณ์ทางการเมืองของมาเลเซียพิจารณาว่า จริงๆ แล้วเงินก้อนนี้คงไม่ใช่ของ Najib Razak คนเดียว แต่น่าจะเป็นเงินที่ Najib Razak และสมาชิกระดับสูงของ UMNO เตรียมไว้ใช้ในการหาเสียงเลือกตั้งครั้งต่อไป เนื่องจากในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา คะแนนนิยมของพรรค UMNO ตกต่ำลงอย่างมีนัยสำคัญ และการซื้อเสียงก็เป็นปรากฎการณ์ปกติที่เกิดขึ้นในหลายๆ ประเทศของเอเซียตะวันออกเฉียงใต้)

ยกเว้นบุคคลเพียงคนเดียวของ UMNO ที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ความไม่โปร่งใสในครั้งนี้ นั่นคือ รองนายกรัฐมนตรี Muhyiddin ซึ่งก็มาจากพรรค UMNO เช่นเดียวกัน แต่ก็เป็นคู่แข่งทางบารมีกับ Najib Razak ด้วย โดยเขาออกมาวิพากษ์ถึงภาวะผู้นำของ Najib และนั่นก็ทำให้ Muhyiddin ถูกปลดออกจากตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีเมื่อมีการปรับคณะรัฐมนตรีอย่างเร่งด่วนในวันที่ 28 กรกฎาคม 2015

เท่านั้นยังไม่พอ เพื่อกระชับความมั่นคงของตำแหน่งนายกรัฐมนตรี Najib Razak ยังประกาศกับที่ประชุมพรรค UMNO ที่เมือง Seremban ในวันที่ 1 สิงหาคมที่ผ่านมาว่า เขาต้องการให้คนขาว (สื่อต่างประเทศโดยเฉพาะ Wall Street Journal ผู้เปิดโปงเรื่องดังกล่าว) อย่าเข้ามายุ่งกับเรื่องของประเทศมาเลเซีย [… demanded that “WHITE PEOPLE” stay our of Malaysia’s affairs…) และ Najib Razak ยังย้ำอีกว่า ตัวเขาเองในฐานะนายกรัฐมนตรีให้คุณค่ากับคนที่มีความซื่อสัตย์และไม่ได้ให้คุณค่ากับคนฉลาด [...stressed that he valued LOYALTY above all and not smart people... ] (ที่มา : www.themalaymailonline.com/malaysia/article/white-people-should-stay-out-of-malaysias-affairs-najib-says)

และแน่นอนเมื่อผู้นำส่งสัญญาณมาแบบนี้ วันที่ 3 สิงหาคม 2015 Malaysian Anti-Corruption Commission ก็ประกาศว่าเงินดังกล่าวเป็นเงินบริจาค ไม่ใช้เงินที่โอนมาจากกองทุน 1MDB โดยไม่ได้มีการชี้แจงว่าใครบริจาคมา และบริจาคมาเพื่อให้ Najib Razak เอาเงินไปทำอะไร

แต่นาย Wan Adnan Wan Mamat ซึ่งเป็น UMNO Kuantan Division Chief ออกมาชี้แจงว่าเป็นเงินบริจาคจากประเทศซาอุดีอาระเบีย ที่ให้กับ Najib Razak เนื่องจากประเทศมาเลเซียให้ความร่วมมือในการต่อสู้กับขบวนการผู้ก่อการร้าย ISIS และยังบอกอีกว่าประชาคมมุสลิมในประเทศฟิลิปปินส์ และประชาคมมุสลิมในจังหวัดทางภาคใต้ของประเทศไทยก็ได้เงินบริจาคก้อนนี้เช่นกัน (ที่มา : www.themalaysianinsider.com/malaysia/article/najibs-rm2.6-billion-is-from-saudi-arabia-as-thanks-for-fighting-isis-claim)

และเมื่อความอดทนของชาวมาเลเซียสิ้นสุดลง พวกเราก็เลยได้มีโอกาสเห็นการชุมนุมครั้งใหญ่ใจกลางกรุงกัวลาลัมเปอร์ที่มีผู้เข้าร่วมมากกว่า 2.9 แสนคน (แต่ทางการมาเลเซียแจ้งว่ามีผู้เข้าร่วมประมาณ 30,000 คนเท่านั้น) และในอีก 2 พื้นที่คือ Kuching และ Kota Kinabalu โดยแกนนำหลักของการชุมนุมในครั้งนี้คือองค์กรเอกชนที่ไม่แสวงหาผลกำไร (NGOs) “Bersih” ซึ่งเป็นองค์กรที่ทำหน้าที่หลักในการสนับสนุนความโปร่งใสและความยุติธรรมในการเลือกตั้งของประเทศมาเลเซียเป็นแกนนำ โดยมี Chair person ขององค์กรคือ Maria Chin Abdullah ซึ่งจริงๆ แล้วการชุมนุมในครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่ 4 แล้ว จึงมีการเรียกการชุมนุมในครั้งนี้ว่า Bersih 4.0 (ออกเสียงว่า เบอร์ซี้)

โดยผู้ร่วมชุมนุมพร้อมใจกันสวมเสื้อยืดสีเหลือง ซึ่งเป็นสีประจำและเป็นสัญลักษณ์ขององค์กรแห่งนี้ นอกจากนั้นแล้ว สีเหลืองยังเป็นสีที่หมายถึงความเจริญรุ่งเรือง (Prosperity) ตามความเชื่อของคนมาเลย์อีกด้วย ในขณะที่หลายๆ ฝ่ายก็พิจารณาว่าจริงๆ แล้วนี้คือการแสดงสัญลักษณ์การต่อต้านความไม่ชอบธรรมของผู้นำประเทศตามแนวทางของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเคยใช้ในประเทศไทยซึ่งเคยปรากฎภาพข่าวไปแล้วทั่วโลก
กำลังโหลดความคิดเห็น