ยุทธิยง ลิ้มเลิศวาที
สภากาแฟ - เวทีชาวบ้าน
สภากาแฟ - เวทีชาวบ้าน
ผมเองเดินทางไปทำข่าวในภาคใต้ที่อำเภอรัษฎา จ.ตรัง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ชาวบ้านอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาปู่เขาย่า มาหลายชั่วอายุคน
พวกเขาอยู่ในป่าอย่างกลมกลืน สวนยางพาราอยู่ติดเชิงเขา เสียงหรีดเรไรแมลงแห่งป่าร้องก้องกังวานไปทั้งผืนป่า ความเขียวชอุ่มทั้งป่าปลูก(สวนยาง) ป่าธรรมชาติและชุมชนอยู่กันอย่างกลมกลืน พวกเขาไม่ได้เพิ่งมาอยู่ในพื้นที่แถบนี้ แต่มีหลักฐานว่าชุมชนเหล่านี้ อยู่ในเขตป่าเขตอุทยานแห่งชาติ มาเป็นร้อยๆ ปี ดูจากอารายธรรมความเก่าแก่ที่วัดถ้ำพระพุทธ อำเภอรัษฎา ชุมชนชาวบ้านอยู่กันมาก่อน ก่อนที่จะมีกรุงรัตนโกสินทร์เสียอีก ต้นมะพร้าวสูงมองแทบไม่เห็นยอด เมฆเชิงเขายังลอยต่ำกว่า ยอดมะพร้าว ยอดต้นหมาก
ก้อนเมฆยังลอยต่ำกว่าต้นไม้ป่าสวนสมรมที่พวกเขาปลูกเสียอีก!
เหตุที่ต้องเดินทางไปภาคใต้มุ่งตรงไปที่นี้ ก็เพราะได้รับการร้องเรียนเรื่องที่เจ้าหน้าที่อุทยานฯ นำเครื่องบินของกรม พร้อมเจ้าหน้าที่ป่าไม้ เป็นจำนวนมาก เข้าจับชาวบ้าน สร้างบรรยากาศที่น่าหวาดหวั่น ในสายตาชาวบ้านชาวสวนในอำเภอรัษฎา จังหวัดตรัง
ไปจับชาวสวนยางที่ตัดโค่นยางพาราที่ได้รับเงินสงเคราะห์ ทุกๆ 25-30ปี จะต้องตัดโค่นตามที่ราชการกองทุนสั่งมา
เจ้าหน้าที่อุทยานฯรับราชการมานาน เขาไม่รู้หรือว่าคนแถวนี้เขาอยู่กับป่ามาก่อนที่พวกคุณมาเป็นข้าราชการ เจ้าหน้าที่ไม่รู้หรือว่าวัดและโบราณสถานถ้ำพระพุทธ ซึ่งอยู่มาก่อนที่รัฐไทย ประเทศไทยจะเกิดขึ้นเสียอีกในเขตอุทยานแห่งชาติเขาปู่เขาย่า เทือกเขาบรรทัดรอยต่อพัทลุง-ตรัง มีต้นทุเรียนปลูกที่อายุเกิน 200 ปีที่ทางอำเภอรัษฎา เชิญชวนคนให้มาชื่นชม
ผมคิดว่าพี่น้องข้าราชการเจ้าหน้าที่เขาก็รู้
แต่ทำไมเขาถึงไม่สามารถสังเคราะห์ การทำงานให้ตกผลึก ไปสู่การสร้างสรรค์ ส่งเสริมสิทธิการอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับป่า ทั้งๆ ที่ชีวิตจริงนับร้อยปี ไม่ต่ำกว่าสี่ห้าชั่วอายุคนที่นี่ ทั้งป่าทั้งคนผูกพันกันอยู่ในเขตอุทยานแห่งนี้
กลไก ระบบระเบียบกฎหมายที่แข็งกระด้าง ทำไมถึงถูกใช้เพื่อ จับกุมคุมขัง กฎหมายของอุทยานและปืน
คือสิ่งที่ทำให้ป่าเพิ่มขึ้นหรือ? ผมคิดว่าไม่ใช่ความจริง
สำนึกของชุมชนสำนึกของชาวบ้านต่างหาก ที่ป่าจะเพิ่ม ต้นไม้จะมีเพิ่มขึ้น สวนสมรมของปักษ์ใต้หรือป่าผสมผสานที่ชาวบ้านปลูก มนุษย์ปลูกต่างหากที่จะทำให้ แนวกันชนของป่าแข็งแรง
ป่าถึงจะมีชีวิตชีวา คนรักและเกื้อกูลป่า เพราะป่าเป็นประโยชน์ต่อคนและชุมชน
คนก็จะรักและหวงแหนป่า..เพราะเราได้พิสูจน์แล้วในภาคเหนือภาคอีสาน ป่าเป็นของหลวงของรัฐป่าหมด ป่าเป็นของประชาชนป่ามี ป่ามีเพราะป่ามีประโยชน์ป่าเป็นสมบัติสาธารณะที่พวกเขาได้ประโยชน์
หากจะเชื่อมั่นในหลักคิดนี้ได้รัฐเองต้องเชื่อว่า “ประชาชนในรัฐของท่าน ชาวบ้าน ชาวชุมชน สามารถพัฒนาจิตสำนึกยกระดับที่จะพัฒนาได้”
หรือรัฐและราชการเจ้าหน้าที่คิดว่า ประชาชนชาวบ้านในประเทศของท่าน ต้องใช้กฎหมายและปืน ควบคุม บังคับข่มขู่ จับกุม เอาไปขังในเรือนจำ แล้วป่าเพิ่มขึ้น
...ผมอยากให้รัฐบาลแห่งการปฏิรูปพึงไตร่ตรองดู..
เจ้าหน้าที่ป่าไม้อุทยานเขาก็รู้ว่าวิถีชีวิตของที่นี่อยู่กันอย่างไร บนเนินเขาทำสวนยางมากันสามรอบ (ทุกๆ 25-30ปี ทางราชการกองทุนสงเคราะห์ จะให้โค่นเพื่อปลูกใหม่ สนับสนุนเงินการปลูกยางให้ จากกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางของกระทรวงเกษตร ซึ่งไม่ได้มีการเปิดพื้นที่ป่าเพิ่มอีกเลย
รู้ทั้งรู้ว่าถึงวงรอบการตัดโค่นเพราะกองทุนสนับสนุน แต่ทำไม เมื่อถึงเวลาตัดโค่น เขาตัดโค่นยางเก่าเพื่อปลูกใหม่ แต่เจ้าหน้าที่อุทยานกลับนำกองกำลังเข้าไปจับชาวบ้าน ยึดเอกสารหนังสือของหน่วยงานที่ราชการที่กองทุนออกให้
กลไกของรัฐเจ้าหน้าที่ของรัฐทำไปทำไม ชาวบ้านเขาก็รักป่า รักภูเขารักสวนยางรักถิ่นฐานเขา และเขาอยู่ที่นี่มาสี่ห้าชั่วรุ่นแล้ว ..หากเจ้าหน้าที่ไม่รู้เรื่องราวของชุมชนแถวนี้ก็คงไม่ใช่..
เจ้าหน้าที่บอกว่าเขามีอำนาจตามกฎหมายอุทยาน พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504
กฎหมายนี้เพิ่งออกมา 54 ปี ชาวบ้านอยู่มาเกิน 200 ปี ชุมชนและคนรอบวัดถ้ำพระพุทธอยู่ก่อนมาจะมีประเทศไทย
เจ้าหน้าที่จับก็อ้างว่ามีอำนาจ สุดท้ายเรื่องก็ไม่ถึงโรงพักไม่ถึงศาล ความยุติธรรมก็ไม่ชัดเจน จึงต้องกลายเป็นว่ามีความอึมครึมที่พร่ามัว เงินกองทุนสงเคราะห์การปลูกสวนยางซึ่งเป็นสิทธิการส่งเสริมที่ชาวบ้านชาวสวนยางต้องได้รับ ก็ต้องเอาไปทนุถนอมน้ำใจเจ้าหน้าที่ราชการกันไม่สิ้นสุด สิ่งเหล่านี้คือวิถีชีวิตที่เจ็บปวดของชาวบ้านตลอดหลายปี
นโยบายการทวงผืนป่าเราถือเป็นว่าเป็นเรื่องที่ดีที่อยากให้ป่าเพิ่มขึ้น..แต่ป่าจะเพิ่มและยั่งยืนได้อย่างไร
ท่ามกลางความเดือดร้อน ความยากจน และความอัตคัดขัดสนของชาวบ้าน
มีคำถามเกิดขึ้นว่า ป่าเพิ่มเพราะกฎหมายและปืนของเจ้าหน้าที่อุทยานหรือ ? ผมคิดว่าคงไม่ใช่
ตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา เรามอบการสร้างป่าดูแลป่า จัดการป่า ให้เป็นเรื่องของราชการ เมื่อป่าเป็นของรัฐ ต้นไม้ใหญ่ ถูกแปลงสภาพกลายเป็นป่าข้าวโพดเต็มภูเขา ป่ามันสำปะหลังงอกเงยขึ้นมาแทนที่ต้นไม้ใหญ่
ชาวสวนยางในอำเภอรัษฎา จังหวัดตรัง ทำไมเขาอยู่กับผืนป่าในอุทยานแห่งชาติได้อย่างกลมกลืนมาหลายชั่วอายุคน ไม้ใหญ่ผืนป่ากลายเป็นป่าดงดิบ ต้นไม้เพิ่ม ผลหมากรากไม้ เกิดขึ้น เขียวชอุ่มอย่างแยกกันไม่ออก เพราะเขาอยู่กันแบบนี้มาไม่ต่ำกว่าสองร้อยปี
ทำไมชาวสวนผลไม้หมู่บ้านคีรีรง อ.ลานสกา จ.นครศรีธรรมราช ถึงอยู่ในผืนป่าได้อย่างสมดุล ป่าเพิ่ม ต้นไม้เพิ่ม ประชาชนไม่ลำบาก เขามีถิ่นฐานที่อยู่กับป่า ป่าเป็นประโยชน์ต่อพวกเขา เป็นแหล่งน้ำประปา เป็นแหล่งอาหารให้กับลูกๆ เป็นแหล่งสร้างรายได้ให้กับครอบครัว เขาถึงรักษาป่าเอาไว้ได้
นโยบายการทวงคืนผืนป่าของรัฐบาล คสช ! ก้าวมาถูกทางแล้วที่สั่งราชการไม่ให้สร้างผลกระทบคนยากจน
แต่ต้องสั่งราชการ บอกไปยังข้าราชการที่เกี่ยวข้องว่า ข้าราชการควรเป็นกลไกรัฐที่มีความประณีต
คำนึงถึงสิทธิการตั้งถิ่นฐานของชาวบ้าน เพื่อที่จะสร้างผืนป่าเพิ่ม ได้ทั้งป่าที่มีประโยชน์ต่อชาติและประชาชน (ไม่ใช่ประโยชน์ของข้าราชการ)
นโยบายการทวงคืนผืนป่า ได้ทั้งความสมบรูณ์แห่งป่า ได้ทั้งคน รัฐและราชการควรต้องปรับตัวเองด้วยหัวใจที่ประณีต เป็นกรมอุทยานควรเป็นกลไกเพื่อการพัฒนาคนรอบผืนป่าด้วย
ที่ไม่ใช่ใช้แต่กฎหมายและปืน ของกรมอุทยานแห่งชาติเท่านั้น
และเราจะได้ทั้งคน ได้ทั้งป่า แนวนโยบายแบบนี้คือการแก้ปัญหาที่ประเสริฐไม่ใช่หรือ!!