xs
xsm
sm
md
lg

ศรีสุวรรณร้องศาลปกครอง ล้มการดานสรรหากก.สิทธิฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (18 ส.ค.) สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย นำโดย นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการฯ เข้ายื่นฟ้องคณะกรรมการสรรหาคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1-3 ต่อศาลปกครองกลาง เพื่อขอให้ศาลมีคำพิพากษา เพิกถอนกระบวนการสรรหาคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติชุดใหม่ และสั่งให้คณะกรรมการสรรหาไปดำเนินการคัดเลือกกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติใหม่ โดย
1. ให้พิจารณาจากผลงาน ประสบการณ์ด้านการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนเป็นที่ประจักษ์ 2. การมีส่วนร่วมของผู้แทนจากองค์การเอกชนด้านสิทธิมนุษยชนที่แท้จริง 3. มีบุคคลจากภาคส่วนต่างๆ ที่หลากหลายตามเจตนารมณ์ หรือบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ 50 ประกอบ พ.ร.บ.คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ 2542 และหลักการปารีส
รวมทั้งขอให้ศาลไต่สวนฉุกเฉิน เพื่อกำหนดมาตรการบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษา โดยสั่งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ยุติการพิจารณาให้การรับรองผู้ที่คณะกรรมการสรรหาฯได้คัดเลือกเป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนทั้ง 7 คน ในวันที่ 20-21 ส.ค.นี้ไว้ก่อน จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาเป็นที่สุด
ทั้งนี้ คำฟ้องระบุเหตุผลในการฟ้องคดีว่า การดำเนินการสรรหาคณะกรรมการสิทธิฯ ชุดใหม่ เพื่อมาแทนชุดปัจจุบันที่หมดวาระลง เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 58 นั้น องค์ประกอบคณะกรรมการสรรหา เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ 50 มาตรา 256 ประกอบมาตรา 243 ซึ่งบุคคลที่กฎหมายกำหนดให้ทำหน้าที่กรรมการสรรหา เกือบทั้งหมด มาจากฝ่ายตุลาการ ผิดไปจากหลักการปารีส ที่ประเทศไทยร่วมลงนามเป็นภาคีพันธกรณีปฏิญญาสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศอย่างชัดแจ้ง
การสรรหาแม้คณะกรรมการสรรหาจะออกประกาศ เปิดรับสมัครบุคคลเพื่อเข้ารับการสรรหาเป็น กรรรมการสิทธิฯ โดยกำหนดคุณสมบัติของผู้ที่จะสมัครว่า ต้องเป็นผู้ซึ่งมีความรู้ หรือประสบการณ์ด้านการคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพของประชาชนเป็นที่ประจักษ์ แต่หลังการเปิดรับสมัคร กลับมีกระแสข่าวการวิ่งเต้น ล็อบบี้ ในการเสนอชื่อบุคคล เมื่อเสร็จสิ้นการสรรหา และได้เสนอชื่อบุคคลเป็นกรรมการสิทธิฯ 7 คน ให้สนช.พิจารณารับรอง กลับพบว่า ทั้ง 7 คนที่ได้รับการคัดเลือก ไม่ได้มีคุณสมบัติตรงกับหลักเกณฑ์การสรรหา ผิดไปจากเจตนารมณ์ที่รัฐธรรมนูญ 50 และ พ.ร.บ.คณะ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กำหนด
โดยนายบวร ยสินทร เคยออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง ช่วงปี 46- 56 ที่ได้ร่วมกับ พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ หรือ เสธ.อ้าย ก่อตั้ง องค์กรพิทักษ์สยาม และขึ้นเวทีประกาศ "แช่แข็งประเทศไทย" ซึ่งถือเป็นการกระทำที่ขัดหรือแย้งต่อหลักสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง
นางฉัตรสุดา จันทร์ดียิ่ง เลขานุการคณะผู้พิพากษาสมทบ ศาลเยาวชนและครอบครัว จ.สมุทรปราการ หลังได้รับการคัดเลือก มีการเผยแพร่ภาพการร้องเพลงคู่ ระหว่างนางฉัตรสุดา กับ นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. ซึ่งการที่ผู้ถูกเสนอชื่อดังกล่าวมีสายสัมพันธ์กับคณะกรรมการสรรหาส่วนใหญ่ที่ล้วนเคยเป็นตุลาการหรือผู้พิพากษา ย่อมทำให้ถูกสังคมครหาว่า เป็นการเอื้อประโยชน์ต่อกันได้ ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนและหลักการปารีส ซึ่งก็รวมถึง นายวัส ติงสมิตร อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา ที่ได้รับคัดเลือกเช่นเดียวกัน
ส่วนนางประกายรัตน์ ต้นธีรวงศ์ อดีตผู้พิพากษาสมทบศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดนนทบุรี และนายกสมาคมบัณฑิตสตรีทางกฎหมายแห่งประเทศไทย เป็นภรรยานายบรรพต ต้นธีรวงศ์ อดีตส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ อาจส่งผลให้การทำงานยากที่จะเป็นกลางได้
ขณะที่ น.พ.ศุภชัย ถนอมทรัพย์ หัวหน้าหน่วยโรคหัวใจ โรงพยาบาลรามาธิบดี และนายสุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ก็ไม่ได้มีบทบาททางสังคม หรือผลงานเป็นที่ประจักษ์ในด้านการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพประชาชน
สำหรับนางอังคณา นีละไพจิตร ประธานคณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพ เป็นผลสืบเนื่องมาจากสามี นายสมชาย นีละไพจิตร ทนายความ ที่ทำคดีให้กับชาวบ้านส่วนใหญ่ที่เป็นมุสลิมและหายตัวไปเมื่อปี 47 จึงเห็นได้ว่า ผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อทั้ง 7 คนนั้น 3 คนอยู่ในแวดวงศาลยุติธรรม แพทย์ 2 คน นักเคลื่อนไหวทางสังคม 2 คน ล้วนแต่ไม่มีผลงานหรือประสบการณ์ด้านการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพประชาชนเป็นที่ประจักษ์ จนเกิดการวิพากษ์วิจารณ์ถึงความไม่ถูกต้อง เหมาะสมทั้งจากภายในและต่างประเทศ กระบวนการสรรหาดังกล่าวจึงไม่น่าจะชอบด้วยกฎหมาย และหากปล่อยให้สนช. เดินหน้ารับรองบุคคลทั้ง 7 เป็นคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติชุดใหม่ ก็จะเกิดความเสียหายต่อภาพลักษณ์ขององค์กรสิทธิมนุษยชนแห่งชาติไทย เพราะจะได้รับการลดระดับความไว้วางใจจากนานาอารยะประเทศในระบบสากล
กำลังโหลดความคิดเห็น