xs
xsm
sm
md
lg

พ่อโหดรับเตะ-บีบคอลูก อ้างเมาเครียดตกงาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (26 ก.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังมีการเผยแพร่คลิปผ่านสื่อออนไลน์ กรณีชายคนหนึ่งทำร้ายร่างกายลูกชายอายุ 5 ขวบ ด้วยการใช้เท้าเตะหน้าถึง 12 ครั้ง ก่อนที่จะตบ และจับตัวขึ้นบีบคอแล้วทิ้งลงกับพื้นระหว่างตรวจการบ้านลูกชาย ซึ่งลูกไม่สามารถตอบคำถามวิชาคณิตศาสตร์ได้ โดยที่บิดาอยู่ในอาการคล้ายคนมึนเมานั้น พ.ต.อ.ภาสกร กลั่นหวาน ผกก.สภ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เปิดเผยว่า เหตุเกิดขึ้นที่ห้อง 51 ชั้น 4 ตึก 2 แฟลตการเคหะแห่งชาติ เขตเทศบาลนครหาดใหญ่ และชุดสืบสวน สภ.หาดใหญ่ ได้ควบคุมตัวพ่อตั้งแต่ช่วงเที่ยงวันที่ 25 ก.ค.แล้ว คือ นายพีระศักดิ์ หมัดอาดัม อายุ 30 ปี เป็นลูกชายของตำรวจยศนายดาบสภ.หาดใหญ่ ซึ่งระหว่างที่ไปควบคุมตัวนายพีระศักดิ์ยังอยู่ในอาการมึนเมา ขณะนี้ถูกควบคุมตัวอยู่ที่สภ.หาดใหญ่ โดยจากการตรวจสอบพบว่ามีสารเสพติดในร่างกายด้วย
ส่วนลูกชายอายุ 5 ขวบเจ้าหน้าที่บ้านพักเด็กสงขลา ได้เข้าให้การช่วยเหลือโดยให้พักอยู่กับแม่ หลังตรวจร่างกายที่โรงพยาบาลหาดใหญ่ พบว่าเด็กปลอดภัยดี สภาพจิตใจดีขึ้น ส่วนคลิปทราบว่าผู้เป็นแม่เป็นคนถ่ายไว้ เนื่องจากสงสารลูกที่ถูกทำร้ายหลายครั้ง แต่ไม่สามารถช่วยเหลือได้
ต่อมา เวลา 10.00 น. ที่สภ.หาดใหญ่ พล.ต.ต.อำพล บัวรับพร ผบก.ภ.จว.สงขลา พ.ต.อ.ภาสกร กลั่นหวาน ผกก. สภ.หาดใหญ่ และ น.ส.ชมฤดี นาทะศิริ หัวหน้าบ้านพักเด็กและครอบครัวจ.สงขลา นำตัวนายพีระศักดิ์มาแถลงข่าว โดยพล.ต.ต.อำพล กล่าวว่า เหตุการณ์ที่ปรากฏในคลิป เกิดขึ้นเมื่อเวลา 20.30 น.วันที่ 23 ก.ค. โดยนำตัวนายพีระศักดิ์มาเปิดเผยต่อสาธารณชนไม่ได้ตั้งใจจะประจาน แต่ต้องการให้เป็นตัวอย่าง และอุทาหรณ์ของครอบครัวอื่นๆ ที่อาจจะรักลูกแต่ใช้วิธีการสอนที่ผิด ซึ่งการกระทำของนายพีระศักดิ์กับลูกอาจจะหนักเกินไปจน ลูกชายคนโตอายุ 6 ขวบต้องไปอยู่กับญาติที่จ.ภูเก็ต ส่วนลูกที่ปรากฏในคลิปเป็นลูกคนที่สอง และยังมีลูกสาวอีก 2 คนอายุ 4 ขวบกับ 2 ขวบ ส่วนภรรยาทำงานร้านอาหารรายได้วันละ 400 บาท ซึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอาจจะมาจากความเครียด เนื่องจากตกงาน และมึนเมา
แต่แม้ไม่ได้ตั้งใจทำร้ายลูก เจ้าหน้าที่ต้องดำเนินคดีใน 3 ข้อหา คือ เสพยาเสพติดให้โทษประเภท 1(เมทแอเฟตามีน) โดยผิดกฎหมาย ทำร้ายร่างกายผู้อื่นเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่ร่างกายหรือจิตใจ กระทำหรือละเว้นการกระทำอันเป็นการทารุณกรรมแก่ร่างกายหรือจิตใจของเด็กและกระทำรุนแรงในครอบครัว ซึ่งนายพีระศักดิ์รับสารภาพทุกข้อกล่าวหา และสำนึกผิดต่อสิ่งที่ทำลงไป
ด้าน น.ส.ชมฤดี กล่าวว่า ทางเจ้าหน้าที่จะไปสอบข้อเท็จจริงสภาพความเป็นอยู่ของครอบครัวเพิ่มเติม และเร่งช่วยเหลือเยียวยาสภาพร่างกายและจิตใจของเด็ก ซึ่งขณะนี้สภาพจิตใจยังไม่ปกติ ยังขวัญเสีย ต้องพาไปพบแพทย์ และนักจิตวิทยาเพื่อเร่งฟื้นฟูสภาพจิตใจ ส่วนสภาพร่างกายไม่ได้รับผลกระทบ และจะต้องดูแลช่วยเหลือแม่รวมทั้งลูกทั้งหมดด้วย โดยเด็กยังสามารถอยู่ในความดูแลขอแม่ที่แฟลตได้
ขณะที่นายพีระศักดิ์ กล่าวว่า เสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ที่ทำลงไปเพราะความโมโห พยายามสอนแล้วแต่ลูกไม่จำ รวมทั้งความเครียดที่ตกงานและความเมา อยากจะขอโทษ อยากกอด และพบหน้าลูกชาย ตนยอมรับผิดต่อสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมด เพราะสงสารลูกมาก
พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.)กล่าวว่า พม.ได้เข้าคุ้มครองเด็กและครอบครัวแล้ว โดยกำชับให้หัวหน้าบ้านพักเด็กและครอบครัวจ.สงขลา ให้การดูแล เบื้องต้นพบว่า เรียนหนังสือชั้นอนุบาล 1 โรงเรียนแห่งหนึ่งในจ.สงขลา พ่อไม่ได้ประกอบอาชีพ แม่เป็นชาวเขาเผ่ามูเซอ ไม่มีบัตรประชาชน สาเหตุที่ทำร้ายลูกเนื่องจากพ่อติดยาเสพติด และลงมืออยู่เป็นประจำ เนื่องจากเชื่อว่าลูกคนนี้ไม่ใช่ลูกของตนเอง ส่วนแม่ไม่กล้าแจ้งความเนื่องจากไม่มีบัตรประชาชน และปู่ของเด็กเป็นตำรวจ
“หน้าที่ของพ่อแม่ คือ ปกป้อง คุ้มครอง เลี้ยงดูลูกให้มีสวัสดิภาพ ทั้งด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคม และสติปัญญา การที่ทำร้ายลูกต้องให้นักสังคมสงเคราะหตรวจสอบและประเมินสาเหตุ เพื่อพิจารณาแนวทางในการคุ้มครองสวัสดิภาพเด็กและครอบครัวต่อไป แต่ล่าสุด ถือว่าเด็กได้รับความปลอดภัยในเบื้องต้นแล้ว แต่พม.จะดูแลช่วยเหลือต่อไป”
พล.ต.อ.อดุลย์ กล่าวว่า ตนห่วงใยความปลอดภัยของเด็กทุกคน ที่จะเติบโตเป็นกำลังสำคัญของเป็นประเทศ ทั้งนี้ขอให้พ่อแม่ผู้ปกครองเลี้ยงดูลูกหลาน ด้วยความรัก ความเข้าใจ คุ้มครองสวัสดิภาพทั้งด้านร่างกายและจิตใจให้ดี หากเด็กทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ควรอบรมสั่งสอนด้วยคำพูดเพื่อสร้างความเข้าใจ ไม่ควรใช้ความรุนแรง ทำร้ายร่างกายเด็ก ซึ่งหากประชาชนพบเห็นปัญหาลักษณะดังกล่าวขอความช่วยเหลือได้ที่ศูนย์ช่วยเหลือสังคม OSCC โทร. 1300 ตลอด 24 ชั่วโมง

***โฆษกสมาคมนักข่าวแจงเผยแพร่คลิปละเมิด
นายมานพ ทิพย์โอสถ อุปนายกฝ่ายสิทธิเสรีภาพและปฏิรูปสื่อ และโฆษกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กล่าวถึงการเผยแพร่คลิปดังกล่าวว่า เป็นการละเมิดจริยธรรมของสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ที่ระบุว่าการเสนอข่าวหรือภาพใดๆ หนังสือพิมพ์ต้องคำนึงมิให้ล่วงละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคคลที่ตกเป็นข่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อสิทธิของเด็ก สตรี และผู้ด้อยโอกาส ต้องไม่เป็นการซ้ำเติมความทุกข์หรือโศกนาฏกรรมไม่ว่าทางใดทางหนึ่ง
นอกจากนี้ยังระบุว่าหนังสือพิมพ์จะต้องไม่เสนอภาพข่าวที่อุดจาด ลามกอนาจาร หรือน่าหวาดเสียวโดยไม่คำนึงถึงความรู้สึกของสาธารณชน ขณะเดียวกัน ข้อกำหนดทางจริยธรรมของสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ก็ได้ระบุไว้ในทำนองเดียวกัน และมีความมุ่งหมายครอบคลุมไปถึงสื่อทุกประเภทในยุคการหลอมรวมเทคโนโลยีสื่อสารมวลชน
ฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ ขอเรียกร้องผู้ประกอบกิจการสื่อ ผู้บริหารสื่อ ทั้งโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ และสื่อออนไลน์ทุกประเภท ได้เอาใจใส่ต่อการผลิตสื่อเพื่อเผยแพร่ตามช่องทางต่างๆ ในแต่ละกิจการ และขอให้ยุติการเผยแพร่เคลื่อนไหว ภาพนิ่ง ที่ก่อให้เกิดความโศกเศร้าสะเทือนใจต่อสังคมโดยรวม กิจการสื่อทุกประเภทควรเอาใจใส่ในข้อกฎหมายต่างๆ ที่บัญญัติไว้ และให้คำนึงถึงข้อกำหนดทางจริยธรรมของสภาวิชาชีพต่างๆ ซึ่งเป็นข้อกำหนดเบื้องต้นที่จะไม่นำไปสู่การละเมิดกฎหมาย
“สังคมได้เดินทางมาไกล แต่สื่อกระแสหลักยังกลายเป็นผู้ละเมิดกฎหมายและจริยธรรมที่ได้ประกาศร่วมกันไว้มาต่อเนื่อง จึงเป็นเรื่องที่น่าเสียใจอย่างยิ่ง พร้อมกันนี้ขอเรียกร้องเจ้าหน้าที่ผู้รักษาการตามพระราชบัญญัติต่างๆ ได้ดำเนินการตามกฎหมายต่อผู้ละเมิดต่อไป เพราะที่ผ่านมาสังคมนิ่งเฉยต่อการละเมิดกฎหมายของสื่อมาโดยตลอด
นายมานพ กล่าวว่า ส่วนการเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์อื่นนั้น แม้มีเจตนาที่ดี แต่ก็เป็นการละเมิดกฎหมาย การปกป้องและช่วยเหลือเด็กมีช่องทางอื่นๆ ที่ไม่ละเมิดจริยธรรมและกฎหมาย เช่น การเข้าพบพนักงานสอบสวนโดยตรง เพื่อดำเนินการ หากเข้าร้องเรียนสื่อๆก็ควรนำเสนอเฉพาะข้อมูลบอกเล่าสิ่งที่เกิดขึ้นเท่านั้น ไม่ควรนำภาพมาเผยแพร่ ซึ่งผิดกฎหมายคุ้มครองเด็กและเยาวชน 2546 มาตรา 27 ที่ระบุว่า ห้ามมิให้โฆษณาหรือเผยแพร่ทางสื่อมวลชนหรือสื่อสารสนเทศเกี่ยวกับตัวเด็ก โดยเจตนาที่จะทําให้เกิดความเสียหายแก่จิตใจ ชื่อเสียง เกียรติคุณ หรือสิทธิประโยชน์อื่นใดของเด็ก หรือเพื่อแสวงหาประโยชน์สําหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ
มาตรา 50 ห้ามเปิดชื่อตัว ชื่อสกุล ภาพหรือข้อมูลใดๆ เกี่ยวกับตัวเด็กในลักษณะที่น่าจะเกิดความ เสียหายแก่ชื่อเสียง เกียรติคุณ หรือสิทธิประโยชน์ของเด็กหรือผู้ปกครอง โดยผู้ละเมิดมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือนปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับนอกจากนี้ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กและพิธีสารเลือกรับอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ ที่ไทยได้ลงนามไว้เมื่อปี 2532 เพื่อการคุ้มครองเด็กและเยาวชนให้พ้นจากความโหดร้ายทารุณและการถูกข่มเหงรังแกทุกชนิด เด็กจะต้องไม่กลายเป็นสินค้าไม่ว่าในรูปแบบใดๆ.
กำลังโหลดความคิดเห็น