xs
xsm
sm
md
lg

ทำประมงผิดกฎหมาย : เหตุทำลายธุรกิจประมง

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง

หลังจากที่รัฐบาลได้ผ่อนผันให้เรือประมงผิดกฎหมายทำการประมงได้ระยะหนึ่ง และในระหว่างที่มีการผ่อนผันได้เปิดโอกาสให้เจ้าของเรือประมงผิดกฎหมายดำเนินการแก้ไขปรับปรุงให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด ทั้งนี้ด้วยเหตุปัจจัยดังต่อไปนี้

1. การปล่อยให้เรือประมงผิดกฎหมายดำเนินกิจการต่อไป จะส่งผลร้ายต่อกิจการประมงของประเทศไทยในอนาคต เช่น ทำให้ทรัพยากรสัตว์น้ำลดลง และจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ประกอบการประมงเอง เนื่องจากจำนวนสัตว์น้ำลดลงเมื่อเทียบกับจำนวนเรือประมงที่เพิ่มขึ้น ทำให้จับสัตว์น้ำได้น้อยลงไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน

2. เรือประมงที่ผิดกฎหมายส่วนใหญ่จะหลีกเลี่ยงการควบคุม ไม่ว่าจะเป็นเครื่องมือจับสัตว์น้ำ บุคลากรประจำเรือ รวมไปถึงการลักลอบจับปลาในเขตและฤดูกาลห้ามทำการประมง จึงเป็นตัวการทำลายทรัพยากรสัตว์น้ำโดยตรง จะเห็นได้จากการลักลอบจับปลาในฤดูที่ปลาวางไข่ และการใช้อวนเล็กกว่าที่กฎหมายกำหนด ทำให้ลูกปลาถูกจับก่อนที่จะโตมีค่าทางเศรษฐกิจมากกว่าที่จะนำไปเป็นปลาป่น เพื่อเป็นส่วนผสมอาหารสัตว์ซึ่งเป็นการใช้ทรัพยากรไม่คุ้มค่า ซึ่งเกิดจากเรืออวนจากอวนรุน และอวนล้อมจับปลากะตักซึ่งเป็นการทำประมงน้ำตื้นหรือประมงชายฝั่ง อันเป็นแหล่งอาศัยของลูกปลาก่อนที่จะเติบโต และออกไปสู่ทะเลลึก

3. กลุ่มประเทศยุโรปหรืออียู ซึ่งเป็นตลาดอาหารทะเลขนาดใหญ่ของไทย และในแต่ละปีประเทศไทยมีรายได้จากการส่งออกอาหารทะเลนับแสนล้านบาท ได้ให้ใบเหลืองประเทศไทย โดยกำหนดเงื่อนไขให้ประเทศไทยปรับปรุงกิจการประมงให้เป็นไปตามมาตรการที่อียูกำหนดในด้านบุคลากรประจำเรือ เครื่องมือจับสัตว์น้ำ และอุปกรณ์ประจำเรือ และเวลานี้ใกล้จะถึงเส้นตายที่อียูกำหนดแล้วแต่ประเทศไทยยังแก้ไขปัญหาได้ไม่ครบถ้วน จึงทำให้เกิดอาการหวั่นวิตกว่าถ้าถึงเวลานั้นแล้วประเทศไทยยังแก้ปัญหาไม่ได้ อียูอาจปฏิเสธการนำเข้าสัตว์น้ำจากประเทศไทย และถ้าเป็นเช่นนั้นจริง ประเทศไทยก็เสียตลาดสัตว์น้ำทางทะเลไป และนั่นหมายถึงรายได้จากการส่งออกสินค้าสัตว์น้ำไปอียูได้สูญเสียไปด้วยโดยปริยาย

แต่อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยก็ยังโชคดีที่รัฐบาลภายใต้การนำของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ประกาศจุดยืนแน่วแน่ที่จะทำให้เรือประมงผิดกฎหมายหมดไป ถึงแม้ว่าจะเสี่ยงต่อการเกิดขึ้นของปัญหาดังต่อไปนี้

1. ผู้ประกอบการเรือประมงทั้งที่ถูกกฎหมาย และผิดกฎหมายได้รวมตัวกันหยุดออกทะเลจับปลาเพื่อต่อรองกับรัฐบาล โดยใช้ความเดือดร้อนของประชาชน อันเกิดจากการขาดแคลนอาหารทะเล และทำให้ราคาแพงขึ้นส่งผลให้ต้นทุนของผู้ประกอบธุรกิจซึ่งต้องใช้สัตว์น้ำจากทะเล เช่น โรงแรม ภัตตาคาร หรือแม้กระทั่งร้านอาหารขนาดเล็กต้องแบกรับต้นทุนที่สูงขึ้น จำเป็นต้องขึ้นราคาหรือไม่ก็ได้กำไรน้อยลง ถ้าไม่ยอมปรับราคา ถ้าปรับราคาผู้ที่รับภาระคนสุดท้ายก็คือผู้บริโภค เมื่อเป็นเช่นนี้ปัญหาที่เกิดขึ้นก็จะตกเป็นภาระรับผิดชอบของรัฐบาล ถ้าไม่ยอมตามข้อเรียกร้องของผู้ประกอบการที่ต้องการให้รัฐบาลผ่อนผันต่อไปอีกระยะหนึ่ง

2. ถ้ารัฐบาลยอมทำตามเงื่อนไข โดยการผ่อนผันให้ผู้ประกอบการประมงทำผิดกฎหมายต่อไป ก็จะเสี่ยงต่อการยกเลิกการนำเข้าสัตว์น้ำจากประเทศไทยของอียู และจะทำให้ประเทศไทยสูญเสียรายได้นับแสนล้านบาทต่อปี

แต่ที่สำคัญยิ่งกว่านี้ ถ้าการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับการทำประมงไม่มีผลในทางปฏิบัติ ก็จะนำไปสู่การทำลายทรัพยากรทางทะเลเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในที่สุดท้องทะเลไทยก็จะมีสัตว์น้ำเหลือไว้ให้ลูกหลานในอนาคต

ด้วยเหตุ 3 ประการดังกล่าวข้างต้น การทำประมงผิดกฎหมายจึงเป็นปัญหาท้าทายอำนาจรัฐอยู่ในขณะนี้

เรือประมงผิดกฎหมายเกิดขึ้นและดำเนินการอยู่ได้อย่างไร และถ้าจะแก้ไขให้ได้ผลจริงจังจะใช้วิธีไหน

ก่อนที่จะตอบปัญหาข้างต้น ขอให้ท่านผู้อ่านลองย้อนไปดูธุรกิจการประมงของไทยก็จะพบว่า เรือประมงผิดกฎหมายมีลักษณะการเกิดขึ้น และดำรงอยู่ไม่แตกต่างไปจากรถทัวร์เถื่อน และรถตู้เถื่อน ซึ่งมีอยู่ส่วนหนึ่งและอาจเป็นส่วนใหญ่ ด้วยที่อยู่ในความเป็นเจ้าของเดียวกับรถถูกกฎหมาย หรือพูดง่ายๆ ก็คือ เรือประมงผิดกฎหมายส่วนหนึ่งเป็นของผู้ประกอบการที่มีประมงถูกกฎหมายนั่นเอง และผู้ประกอบการต้องทำเช่นนี้ ก็ด้วยเหตุผลง่ายๆ คือเรือประมงผิดกฎหมายหารายได้มากกว่าเรือถูกกฎหมาย ทั้งนี้อนุมานได้ด้วยเหตุปัจจัยในเชิงตรรกะดังต่อไปนี้

1. มีต้นทุนดำเนินการต่ำกว่าเรือที่ถูกกฎหมาย เนื่องจากไม่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมให้รัฐในส่วนที่เกี่ยวกับการจดทะเบียนเรือ ค่าขออาชญาบัตร รวมไปถึงค่าจ้างแรงงานบุคลากรประจำเรือก็น้อยกว่าเรือที่ถูกกฎหมาย และที่สำคัญกว่าอื่นใดก็คือ การใช้เครื่องมือจับปลาที่มิได้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด เช่น ตาอวนที่เล็กกว่า เป็นต้น ย่อมง่ายต่อการทำประมง เพราะสามารถจับได้ตั้งแต่ขนาดเล็กไปถึงขนาดใหญ่ โอกาสที่จะคุ้มค่าย่อมมีมากกว่า

2. เรือประมงผิดกฎหมาย ย่อมหลบหลีกการควบคุมและสามารถนำไปประกอบธุรกิจเถื่อนอย่างอื่น เช่น ขนแรงงานเถื่อน ค้าน้ำมันเถื่อนได้ด้วย

ด้วยเหตุนี้ ถ้าปล่อยให้มีเรือประมงเถื่อนต่อไป ย่อมทำความหายนะให้แก่ประเทศเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

ส่วนประเด็นว่า เรือประมงผิดกฎหมายหรือประมงเถื่อนเกิดขึ้น และดำเนินการอยู่ได้อย่างไรนั้น ตอบได้โดยดูตัวอย่างจากรถทัวร์เถื่อน และรถตู้เถื่อนคือ เจ้าหน้าที่รัฐซึ่งมีหน้าที่และความรับผิดชอบในการควบคุม ได้ปล่อยปละละเลยเอาหูไปนา เอาตาไปไร่ ไม่จับกุม และปราบปรามอย่างจริงจัง จะด้วยเหตุที่กำลังไม่เพียงพอ หรือจะด้วยมีผลประโยชน์แอบแฝงก็เหลือจะคาดเดา

แต่ที่พอจะคาดเดาได้ก็คือ จำนวนเรือเป็นร้อยเป็นพันลำ ทั้งขนาดของเรือก็ใช่ว่าจะเล็กจนมองเห็นได้ยาก จึงไม่น่าจะรอดพ้นจากสายตาเจ้าหน้าที่รัฐผู้ที่อุทิศเวลา และสติปัญญาให้แก่การทำงาน

อย่างไรก็ตาม ในขณะที่ปัญหาการหยุดออกเรือจับปลาของบรรดาผู้ประกอบการประมงได้เกิดขึ้นแล้ว ดังนั้น ทางเดียวที่จะแก้ปัญหานี้ก็คือ จะต้องแยกเรือประมงที่ถูกกฎหมายออกจากเรือที่ทำผิดกฎหมายแล้วให้เรือที่ถูกกฎหมายจับปลาต่อไป เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนจากการขาดแคลนอาหารทะเล ส่วนเรือที่ผิดกฎหมายก็เอื้ออำนวยให้ความสะดวกในการแก้ซึ่งดำเนินการได้เป็นขั้นตอนดังนี้

1. จัดตั้งสหกรณ์ผู้ประกอบการเรือประมง และให้เรือที่ถูกกฎหมายมารวมกันทำการจับปลา โดยรัฐเข้าไปแก้ไขและป้องกันความขัดแย้งอันอาจเกิดขึ้นจากผู้มีอิทธิพลในวงการประมง

2. เร่งรัดการแก้ไขปรับปรุงเรือที่ผิดกฎหมายให้เป็นไปตามกฎหมายโดยเร่งด่วน โดยไม่ต้องผ่อนผัน
กำลังโหลดความคิดเห็น