xs
xsm
sm
md
lg

ระหว่าง "เนื้อมะพร้าว" กับ "น้ำมะพร้าว" ตกลงกินอะไรดี (ตอนที่ 1)?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ณ บ้านพระอาทิตย์
โดย...ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

หลังจากที่หลายคนให้ความสนใจในเรื่องน้ำมันมะพร้าวซึ่งเป็นไขมันอิ่มตัวเกือบทั้งหมดและ ส่วนเป็นกรดไขมันสายปานกลางที่มีประสิทธิภาพในการดูดซึมให้พลังงานอย่างรวดเร็วเพิ่มการทำงานของไทรอยด์ ในขณะที่น้ำหวานดอกมะพร้าวก็มีดัชนีน้ำตาลต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับน้ำตาลทุกชนิด

ความน่าอัศจรรย์ของมะพร้าวที่มีจะเจริญเติบโตงอกงามดีในบริเวณเส้นศูนย์สูตรของโลก เป็นพืชที่ชอบความร้อนและใกล้น้ำ ซึ่งเป็นที่น่าแปลกมากว่าในพื้นที่เหล่านี้มักจะมีเชื้อก่อโรคเกิดขึ้นได้มากจากสภาพความร้อนชื้น แต่ธรรมชาติก็กลับเนรมิตมะพร้าวให้มีกรดลอริกในน้ำมันมะพร้าวซึ่งมีฤทธิ์ในการเพิ่มภูมิคุ้มกันและฆ่าเชื้อก่อโรคได้หลายชนิดเช่นกัน

ธรรมชาติจึงสร้างพืชมาอย่างสมดุลกับสิ่งมีชีวิตในแต่ละพื้นที่อย่างน่าอัศจรรย์

ธรรมชาติให้ "ข้าว"เป็นอาหารหลักของชาวเอเชีย ซึ่ง "ข้าวขัดขาว"สามารถให้เกิดโรคเบาหวานได้ แต่ก็ได้เนรมิตให้ "กะทิ" และ "น้ำมันมะพร้าว" ที่มีมากที่สุดในเอเชียให้มาเป็นส่วนผสมประจำท้องถิ่นเพื่อเติมในอาหารและข้าวแล้วส่งผลทำให้ลดค่าดัชนีน้ำตาลในข้าวขัดขาวได้

และ "น้ำมันมะพร้าว" ก็เป็นส่วนหนึ่งใน "กะทิ" และ "กะทิ"ก็เป็นส่วนหนึ่งในเนื้อมะพร้าว

จึงมักมีคนถามตามมาว่าแล้ว "น้ำมะพร้าว" นั้นควรจะดื่มหรือไม่อย่างไร และใครควรดื่ม และใครไม่ควรดื่ม?

เพราะคนส่วนใหญ่บริโภคน้ำมะพร้าวในรูปของ มะพร้าวอ่อน หรือมะพร้าวน้ำหอม โดยน้ำมะพร้าวปริมาณ 100 กรัม ให้พลังงานประมาณ 16 กิโลแคลอรี่ ส่วนประกอบหลักคือน้ำ ไขมัน 5.9 กรัม คาร์โบไฮเดรต 3.9 กรัม โปรตีน 0.1 กรัม และมีวิตามินและแร่ธาตุต่างๆ

ความอุดมด้วยแร่ธาตุมากมายของน้ำมะพร้าว ทำให้เมื่อปี พ.ศ. 2555 Kalman และคณะได้วิจัยในหัวข้อ Comparison of coconut water and carbohydrate-electrolyte sport drink on measure of hydration and physical performance in exercise-trained me. ทำการเปรียบเทียบกับเครื่องดื่มเกลือแร่ จึงพบว่าน้ำมะพร้าวมีผลแทบจะไม่แตกต่างการดื่มเกลือแร่ในหมู่ผู้ชายที่สูญเสียเกลือแร่จากการออกกำลังกาย

ความน่าสนใจในเรื่อง "น้ำมะพร้าว" นั้น ในปี พ.ศ. 2549 โดย Sandhya และคณะ ในหัวข้อ Beneficial effect of coconut water feeding on lipid metabolism in cholesterol -fed rats. ได้ทำการทดสอบในหนูทดลองที่บริโภคอาหารเสริมที่มีคอเลสเตอรอลสูง จึงทำให้ไขมันทุกชนิดได้แก่คอเลสเตอรอล วีแอลดีแอล แอลดีแอล และไตรกลีเซอไรด์ในกระแสเลือดสูงขึ้น แต่ภายหลังจากการให้น้ำมะพร้าวแล้วกลับลดผลกระทบการเพิ่มของไขมันทุกชนิดให้น้อยลง แต่ไขมันตัวดีหรือเอชดีแอลกลับสูงขึ้นด้วย นอกจากนี้ยังพบว่าเนื้อเยื่อในตับ หัวใจ ไต และเนื้อเยื่อในเส้นเลือดใหญ่ที่นำเลือดออกจากหัวใจด้านซ้ายก็มีระดับไขมันลดลงด้วย อีกทั้งหนูที่ดื่มน้ำมะพร้าวยังเพิ่มการแปลงคอเลสเตอรอลให้มาเป็นน้ำดีได้เพิ่มมากขึ้นอีกด้วย ดังนั้นการดื่มน้ำมะพร้าวกลับทำให้ไขมันโดยรวมลดลง

จึงมีคำถามตามมาคือคนมักจะกลัวน้ำตาลในน้ำมะพร้าว จึงต้องมาตรวจค่าดัชนีน้ำตาล และดัชนีน้ำตาลแบบถ่วงน้ำหนักว่ามีเท่าไหร่?

จากงานวิจัยในไตรมาส 1 ปี พ.ศ. 2558 ใน วารสาร Food Science and Technology (Campinas) ในหัวข้อ "Glycemic index and glycemic load of tropical fruits and the potential risk for chronic diseases." โดยคณะวิจัยจากประเทศบราซิล พบว่าน้ำมะพร้าวที่ให้ปริมาณคาร์โบไฮเดรต 50 กรัม ก็จะพบว่ามีค่าดัชนีน้ำตาล (Glycemic Index) อยู่ระหว่าง 48.1 - 85.9 ซึ่งอยู่ในระดับ "ปานกลาง" ในขณะที่ค่าดัชนีน้ำตาลแบบถ่วงน้ำหนัก (Glycemic Load) ที่การบริโภคน้ำมะพร้าว 200 กรัม พบว่าค่าดัชนีน้ำตาลอยู่ที่ 5.0-9.0 ซึ่งอยู่ในระดับ "ต่ำ"

หมายความว่าแม้ในน้ำมะพร้าวประมาณ 1 ถ้วยจะมีน้ำตาลอยู่ แต่ก็มีผลกระทบต่อระดับน้ำตาลในกระแสเลือดไม่มากนัก

เมื่อมาถึงเรื่อง "น้ำตาล" ใน "น้ำมะพร้าว" แล้ว จึงต้องมาพิจารณางานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งในปี พ.ศ. 2555 ในหัวข้อ Therapeutic effects of tender coconut water on oxidative stress in fructose fed insulin resistant hypertensive rats. โดย Bhagya และคณะ จากวิทยาลัยแพทย์ไหหนัน โดยการทดลองให้หนูที่ดื่มน้ำตาลฟรุ๊คโตส (น้ำตาลจากผลไม้)ในระดับสูง เพื่อเพิ่มความดันโลหิตสูงในหนูทดลอง ผลปรากฏว่าภายหลังจากการให้หนูเหล่านี้บำบัดด้วย "น้ำมะพร้าว" พบว่านอกจากน้ำมะพร้าวจะช่วยป้องกันความดันโลหิตสูงจากการดื่มน้ำตาลฟรุ๊คโตสแล้ว ยังทำให้ความดันโลหิตลดต่ำลงด้วย โดยในงานสรุปงานวิจัยนี้ได้กล่าวถึงความเป็นไปได้ที่น้ำมะพร้าวได้ยับยั้งการเกิดอนุมูลอิสระของไขมัน เพิ่มสารต้านอนุมูลอิสระ และเพิ่มประสิทธิภาพของอินซูลินให้ดีขึ้น

จากงานวิจัยในปี พ.ศ. 2551 ใน หัวข้อ Young coconut juice significantly reduces histopathological changes in the brain that are induced by hormonal imbalance: a possible implication to postmenopausal women. โดย Radenahmad และคณะ พบว่า:

1.น้ำมะพร้าวทำให้ฮอร์โมนเพศหญิงที่ชื่อ เอสโตรเจนสูงขึ้น

2.น้ำมะพร้าวมีลักษณะการทำงานที่คล้ายฮอร์โมนเอสโตรเจน แต่การทำงานช่วยเพิ่มการบำรุงและปกป้องระบบประสาทได้อย่างมีนัยสำคัญเมื่อเปรียบเทียบกับการให้ฮอร์โมนเอสโตรเจนจากภายนอกที่ชื่อ เอสตราดิออล เบนโซเอท

ถ้าจะสรุปให้เข้าใจง่ายขึ้นคือ "น้ำมะพร้าว" ให้ฤทธิ์เย็นและลดการทำงานของไทยรอยด์ให้น้อยลง แต่"เนื้อมะพร้าว" ให้ฤทธิ์ร้อนและเพิ่มการทำงานของไทรอยด์ให้สูงขึ้น

โดยทั่วไปคนตัวเย็นเกิน หรือ "หยินเกิน" พลังชีวิตน้อย ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงวัยหรือมีภาวะเอสโตรเจนสูงเกิน ท้องผูก ปวดประจำเดือนมาก ควรหลีกเลี่ยงน้ำมะพร้าวแล้วมากินเนื้อมะพร้าวหรือกะทิแทน ส่วนที่มีภาวะร้อนเกิน ส่วนใหญ่เป็นคนหนุ่มมีเทสโตสเตอโรนสูงเกิน หรือเป็นหญิงแต่โปเจสเตอโรนสูงเกิน หรือภาวะวัยทองขาดเอสโตรเจน ก็ควรจะดื่มมะพร้าวเป็นหลัก

ส่วนคนที่สมดุลดีก็ควรกินทั้งผลทั้งน้ำมะพร้าวและเนื้อมะพร้าว ให้ทั้งความร้อนและความเย็นอย่างสมดุลกัน


กำลังโหลดความคิดเห็น