xs
xsm
sm
md
lg

ดึงอ่าง3พันแห่ง ให้เกษตรดูแล เจ้าสัวช่วยภัยแล้ง ส่งสินค้าถูกขาย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-รัฐบาลหนุน "เกษตร" นำโครงการชลประทาน 3 พันแห่งคืนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมาดูแลเอง เพื่อแก้วิกฤตน้ำแล้ง ชี้ไม่มีใครเสียหาย การแก้ปัญหาชาติต้องมาก่อน ด้านภัยแล้งทั่วประเทศเริ่มวิกฤตมากขึ้น น้ำปิงแห้งขอด จนคนเดินข้ามได้ น้ำยวมก็แห้งไม่ต่างกัน รวมถึงอ่างห้วยสวายบุรีรัมย์ "พาณิชย์"ถกเจ้าสัวช่วยลดค่าครองชีพเกษตรกร ส่งสินค้าราคาถูกลด 10-40% ขายผ่านสหกรณ์ ธ.ก.ส. เป้าหมาย 34 จังหวัด

พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงกรณีโครงการชลประทานที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ส่งมอบให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อทป.) ไปดูแลจำนวน 3,000 โครงการ ซึ่งเป็นโครงการสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก กระจายในพื้นที่ทั่วประเทศ ว่า ขณะนี้พบว่ามีเฉพาะส่วนที่เป็นหัวงาน คือ อ่าง แต่ยังขาดระบบส่งน้ำให้เกิดการกระจายการใช้ประโยชน์อย่างทั่วถึง ซึ่งโครงการทั้งหมดไม่ได้มีการพัฒนาระบบส่งน้ำต่อยอด และหลายแห่งมีสภาพแห้งขอด ตื้นเขิน ซึ่งล่าสุดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ต้องการโอนโครงการทั้งหมดกลับมาดูแลเอง จึงน่าจะเป็นแนวทางที่เหมาะสมที่สุด และดีต่อสถานการณ์ของประเทศ

"ข้อมูลจากกระทรวงเกษตรฯ ทราบว่าได้มีการพูดคุยกับหลาย อปท. และมีความเห็นตรงกันว่า อยากให้กระทรวงเกษตรฯ รับกลับมาดูแล เพราะเป็นผู้มีความเชี่ยวชาญและทักษะในการบริหารจัดการ การโอนคืนกลับมาให้ผู้ชำนาญการจริงๆ จึงไม่มีเหตุผลที่ใครจะต้องรู้สึกเสียหน้า และเชื่อว่าแนวทางนี้ จะเป็นส่วนหนึ่งของการช่วยแก้ไขปัญหาวิกฤตน้ำของประเทศได้ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคตะวันออก และลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่ยังอยู่ในช่วงเฝ้าระวังวิกฤตน้ำแล้ง"พล.ต.สรรเสริญกล่าว

**เกาะติดสถานการณ์เมฆในภาคอีสาน

พล.ต.สรรเสริญ กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้สั่งการให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เฝ้าติดตามสถานการณ์สภาพอากาศและกลุ่มเมฆในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หากมีความเหมาะสมต่อการลงมือปฏิบัติการฝนเทียม ก็ให้ดำเนินการได้ทันที เพื่อช่วยเหลือดูแลพี่น้องเกษตรกรที่กำลังจะเริ่มการเพาะปลูกฤดูกาลใหม่

"ขณะนี้สถานการณ์น้ำไหลเข้าเขื่อนในหลายพื้นที่ มีทิศทางที่ดีขึ้น ท่านนายกฯ ฝากขอบคุณเจ้าหน้าที่หน่วยฝนหลวงทุกท่านที่ทำงานกันอย่างหนักในช่วงนี้ และขอให้การกระจายฝูงบินไปตามพื้นที่ต่างๆ ดูความเหมาะสม และประโยชน์ที่จะเกิดกับพี่น้องเกษตรมากที่สุด ทุกหน่วยต้องร่วมมือกันเป็นหนึ่ง และให้รวมหน่วยฝนหลวงในส่วนของกองทัพเข้าสู่ปฏิบัติการด้วยตามความเหมาะสม" พล.ต.สรรเสริญ กล่าว

***น้ำปิงต้นเจ้าพระยาแห้งจนคนเดินข้ามได้

ผู้สื่อข่าวรายงานสถานการณ์ภัยแล้งที่กำลังวิกฤตอย่างหนักทั่วประเทศในขณะนี้ว่า แม่น้ำปิงที่สะพานหลวงพ่อเฮงประชานุสรณ์ ต.เขาดิน อ.เก้าเลี้ยว จ.นครสวรรค์ ที่จะไหลไปบรรจบกับแม่น้ำน่านที่ต้นน้ำเจ้าพระยาในเขตตลาดปากน้ำโพ ซึ่งอยู่ห่างออกไปประมาณ 10 กม. ขณะนี้มีสภาพแห้งขอด สันดอนทรายโผล่เหนือน้ำหลายจุด ระดับน้ำที่ไหลผ่านใต้สะพานตื้นจนคนสามารถเดินข้ามได้ จากสถานการณ์ดังกล่าวทำให้ไม่สามารถส่งน้ำเข้าคลองสาขาไปยังพื้นที่การเกษตรในเขต ต.เขาดิน อ.เก้าเลี้ยว, ต.บ้านแก่ง ต.วัดไทร อ.เมืองนครสวรรค์ และเริ่มส่งผลกระทบต่อระบบประปาของชุมชนดังกล่าว

นายจิตตเกษมณ์ นิโรจน์ธนรัฐ นายกเทศมนตรีเมืองนครสวรรค์ ได้ลงพื้นที่ตรวจโรงผลิตน้ำประปาและจุดสูบน้ำดิบจากแม่น้ำปิง พบว่าระดับน้ำลดต่ำเกือบจะพ้นหัวสูบน้ำอยู่แล้ว แต่ยังไม่กระทบต่อระบบผลิตน้ำประปา โดยทางเทศบาลฯ ได้ประชาสัมพันธ์ผ่านรถขยายเสียง สถานีวิทยุชุมชน และเคเบิลท้องถิ่น ให้ชาวปากน้ำโพใช้น้ำอย่างประหยัด เพราะหลังจากนี้หากระดับน้ำปิงยังลดลงต่อเนื่องเทศบาลฯ อาจต้องแบ่งจ่ายน้ำให้ประชาชนเป็นเวลา

"น้ำยวม" แห้งรุนแรงกระทบประปาเทศบาล

ที่ จ.แม่ฮ่องสอน ขณะนี้สายน้ำในลำน้ำยวม สายน้ำหลักที่ไหลมาจาก อ.ขุนยวม ผ่าน อ.แม่ลาน้อย-อ.แม่สะเรียง ซึ่งเคยหล่อเลี้ยงผู้คนตลอดสองฝั่งน้ำมาหลายชั่วอายุคนแบบไม่เคยแห้งเหือดมาก่อน แต่ปีนี้ระดับน้ำในแม่น้ำสายนี้ลดลง และตื้นเขิน ฝายน้ำล้นของกรมชลประทานที่เป็นจุดผันน้ำดิบไปผลิตเป็นน้ำประปาแจกจ่ายให้ชาวบ้านเขตเทศบาลตำบลขุนยวมแห้งขอดอย่างเห็นได้ชัด

สถานการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้น นอกจากจะทำให้เกษตรกรชาวนาไม่สามารถลงมือไถหว่านดำนาได้แล้ว ยังส่งผลกระทบต่อการผลิตน้ำประปาของเทศบาลตำบลขุนยวมที่จะนำมาบริการแจกจ่ายแก่ประชาชน ตลอดจนส่วนราชการทั้งใน-นอกเขตเทศบาลฯ จนเทศบาลฯ ต้องประกาศแบ่งเวลาจ่ายน้ำในแต่ละเขตพื้นที่ชุมชน/ป๊อก หรือแบ่งจ่ายเป็นเขต 1 เขต 2 เพื่อเฉลี่ยน้ำตามจำนวนผู้ใช้น้ำ 1,626 ครัวเรือน

นายสุรพล พนัสอำพล ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน กล่าวว่า สถานการณ์ภัยแล้งของจังหวัดแม่ฮ่องสอนขณะนี้ยังไม่ถึงขั้นแล้งมาก ยังสามารถรับได้อยู่ จากการสังเกตน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กของกรมชลประทานทั้งหมด 31 อ่างยังเพียงพออยู่ จะมีก็บางพื้นที่ เช่น อ.ขุนยวม ที่น้ำดิบในลำน้ำยวมลดน้อยลง ส่งผลกระทบการผลิตน้ำประปาไม่พอใช้ ซึ่งหากเกิดฝนทิ้งช่วงก็ต้องขอทางกรมฝนหลวงเข้ามาช่วยเพื่อแก้ปัญหาอีกทาง

**ภัยแล้ง กระทบน้ำอ่างห้วยสวายบุรีรัมย์

ด้านสถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่ จ.บุรีรัมย์ ยังส่งผลกระทบเป็นวงกว้างอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำห้วยสวาย ต.สองชั้น อ.กระสัง ซึ่งเป็นแหล่งน้ำดิบที่ใช้ทั้งเพื่อการเกษตรและผลิตประปาบริการประชาชนในอำเภอกระสัง มีปริมาณน้ำกักเก็บลดต่ำกว่าช่วงเดียวกันของทุกปี เหลือปริมาณน้ำเพียง 5.415 ล้าน ลบ.ม.หรือคิดเป็น 39.96% ของปริมาณความจุอ่าง 13.55 ล้าน ลบ.ม. แม้ที่ผ่านมาจะมีฝนตกลงมาแต่ก็ไม่มากพอที่จะช่วยบรรเทาปัญหาภัยแล้งในพื้นที่ได้ ส่งผลให้เกษตรกรในพื้นที่ต้องแก้ไขปัญหาด้วยการต่อท่อสูบน้ำในระยะไกล เพื่อนำน้ำขึ้นมารดพืชผลให้ชุ่มชื้นก่อนจะเหี่ยวเฉาและเสียหายอย่างสิ้นเชิง

ขณะที่ทางโครงการชลประทาน ยังคงชะลอการส่งน้ำเพื่อการเกษตรออกไปอีกระยะ เพื่อประเมินสถานการณ์น้ำก่อนพิจารณาปล่อยน้ำให้เกษตรกร หวั่นปริมาณน้ำที่เหลือในอ่างเก็บน้ำห้วยสวายไม่เพียงพอนำไปผลิตประปาบริการประชาชนในพื้นที่รับผิดชอบ เนื่องจากที่ผ่านมาอ่างเก็บน้ำห้วยสวายต้องใช้น้ำในการผลิตประปาเฉลี่ยเดือนละ 60,000 ลูกบากศ์เมตร อย่างไรก็ตาม หากมีปริมาณฝนตกและมีน้ำเข้าอ่างเพิ่มขึ้น ทางโครงการชลประทานจะเร่งดำเนินการส่งน้ำให้เกษตรกรทำการเกษตรต่อไป

***เจ้าสัวพร้อมใจช่วยเกษตรกร

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ได้เชิญผู้ประกอบการที่ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภครายใหญ่กว่า 10 ราย เช่น บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด (ซีพี) บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) และบริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด เป็นต้น มาหารือแนวทางในการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่ที่ประสบปัญหาภัยแล้ง โดยจะมีการนำสินค้าที่แต่ละบริษัทผลิตได้จำนวนกว่า 20 รายการ มาลดราคาจำหน่ายจากปกติ 10-40% เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่ประสบภัยแล้งเป้าหมาย 34 จังหวัด

โดยสินค้าที่จะนำมาลดราคาจำหน่าย เช่น ไข่ไก่ น้ำมันพืช บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ปลากระป๋อง น้ำปลา นมผง สบู่ ยาสระผม ผงซักฟอก เป็นต้น โดยสินค้าเหล่านี้จะนำไปขายผ่านร้านค้าของสหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้า ซึ่งเป็นร้านค้าของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) ที่มีอยู่จำนวน 250 แห่ง คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ตั้งแต่ต้นเดือนส.ค.2558 ซึ่งเป็นเดือนมหามงคลเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาท มีระยะเวลาดำเนินการ 6 เดือน

“ปกติร้านค้าสหกรณ์ของ ธ.ก.ส. จะจำหน่ายสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร เช่น ปุ๋ย ยาฆ่าแมลง เครื่องมือการเกษตรอยู่แล้ว แต่จะเพิ่มสินค้าที่จำเป็นต่อการครองชีพเข้าไปจำหน่าย ผ่านการร่วมมือจากผู้ผลิตรายใหญ่ของประเทศ ซึ่งจะช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งได้อย่างแท้จริง เนื่องจากกลุ่มลูกค้าจะเป็นสมาชิกของสหกรณ์อยู่แล้ว สามารถควบคุมการจำหน่ายไม่ให้กระทบกับตลาดทั่วไปได้”พล.อ.ฉัตรชัยกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น