xs
xsm
sm
md
lg

เรียกถกผู้ว่าฯลุ่มเจ้าพระยาแก้วิกฤตแล้ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (16 มิ.ย.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช. กล่าวถึงการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ว่า เรากำลังมีมาตรการดูแล ซึ่งมีการบอกไว้นานแล้วว่าฝนจะแล้ง และจะมีการหารือว่าจะมีมาตรการอย่างไร ในการช่วยเหลือเกษตรกร ในเมื่อฝนไม่ตก น้ำในเขื่อนก็เห็นว่ามันแห้ง แต่หลายคนก็จะทำนาให้ได้ปีละ 2 ครั้ง และจะให้ตนไปหาน้ำจากที่ใด ก็ต้องเตรียมมาตรการว่าจะช่วยเหลืออย่างไร ทั้งการปลูกพืช หรือหาอาชีพให้มีรายได้
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ตนบังคับฝนไม่ได้ ทำฝนเทียมก็ไม่ตก เพราะไม่มีเมฆไม่มีความชื้น เพราะไม่มีป่า เราต้องสอนคนให้เข้าใจ ไม่ใช่ว่าจะมากำหนดว่าต้องทำนาให้ได้ จะให้ทำอย่างไร ก็ต้องหามาตรการ แต่จะให้ขายได้ตามปกติคงยาก เพราะมีเกษตรกรอยู่ในวงจรกว่า 20 ล้านคน จะให้ชดเชยพื้นที่การเกษตรทั้งหมดทุกไร่ ตัวเลขกว่าแสนล้าน จะเอาเงินที่ไหน เพราะภาษีก็ยังไม่ได้เพิ่ม
ด้านนายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงปัญหาภัยแล้งในขณะนี้ว่า ปัญหาหลักอยู่ที่บริเวณภาคกลางลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งภาคกลางมีหลายเขื่อนที่จะต้องบริหารจัดการ แต่เดิมเราประมาณการว่า ฝนจะตกตามฤดูกาล แต่ปรากฏว่า ฝนไม่ได้ตกตามที่คาดไว้ โดยได้มีการสำรวจพบว่า มีการปลูกข้าวไปแล้ว 3.4 ล้านไร่ ซึ่งยังบริหารน้ำในเขื่อนได้ แต่ต้องใช้อย่างประหยัด โดยตนได้ให้เจ้าหน้าที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงไปตรวจสอบพื้นที่ 3 ล้านไร่ที่เหลือ ว่ามีการปลูกข้าวหรือไม่ เพราะทางกรมอุตุนิยมวิทยาระบุว่า ประมาณเดือน ก.ค.ฝนจะมา และเราก็บอกกับประชาชนว่า อยากให้เลื่อนการปลูกข้าวนาปีออกไปจนถึงเดือนก.ค. ทั้งนี้ในวันที่ 17 มิ.ย.นี้ ตนจะหารือร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด ที่อยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อดูให้ชัดเจนว่า จะทำอะไรได้บ้าง ซึ่งเรื่องการทำความเข้าใจกับประชนเป็นกุญแจความสำเร็จ เพราะน้ำที่ใช้ได้ขณะนี้ โดยเฉลี่ยเหลือประมาณ 40 วัน แต่หากฝนตกลงมาก็สามารถใช้ได้ออกไปอีก
สำหรับการจัดการน้ำของกรมชลประทานของลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา จะแบ่งเป็น 2 ตอน คือ เจ้าพระยาตอนบน ที่จะต้องให้เขาทำนาเร็วหน่อย เนื่องจากลุ่มน้ำบางลุ่มน้ำไม่มีโครงสร้างพื้นฐานอะไรเลย เช่น แม่น้ำยม หากช่วงเดือนก.ค. ฝนตกลงมาเร็ว ก็จะทำให้น้ำท่วม จะทำให้เสียหายอย่างที่เป็นมาเกือบทุกปี แต่ลุ่มพระยาตอนล่าง มีเขื่อนอยู่หลายเขื่อน แต่เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไป ก็จำเป็นต้องจ่ายน้ำในลักษณะที่ประหยัดมากยิ่งขึ้น
เมื่อถามว่า ทำฝนเทียมได้หรือไม่ นายปีติพงศ์ กล่าวว่า ฝนเทียมเราพยายามทำทุกแห่ง แต่ต้องทราบว่าความชื้นไม่พอ ได้ผลไม่ตรงตามที่เราอยากให้เป็น เมื่อถามว่า ปริมาณน้ำที่ลดลงส่งผลกระทบทำให้เกษตรกรมีรายได้ลดลง จะมีการแก้ไขปัญหาอย่างไร นายปีติพงศ์ กล่าวว่า เราเป็นห่วงอยู่ แต่ยังไม่ได้เข้าไปดูให้ชัดเจนว่า จะแก้ไขอย่างไร ซึ่ง รัฐบาลก็เตรียมการเพื่อให้ได้ข้อมูลที่เหมาะสมที่สุด คิดเอาเองอย่างเดียวก็ไม่ตอบสนองปัญหา โดยในสัปดาห์นี้ ได้ให้เจ้าหน้าที่บอกกับประชาชนบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ขอให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ด้วย เพราะบางแห่ง มีเรื่องพอเขื่อนปล่อยน้ำ ก็สูบไปใช้ก่อนทำให้คนที่อยู่ท้ายเขื่อนไม่มีน้ำใช้ทำให้เกิดปัญหา
กำลังโหลดความคิดเห็น