xs
xsm
sm
md
lg

ยูเอ็นบอกว่า “ปี 2557 เป็นปีที่ร้อนที่สุด” แต่ปีนี้น่าจะร้อนกว่า!

เผยแพร่:   โดย: ประสาท มีแต้ม

หลายท่านคงรู้สึกเหมือนกันว่า ปีนี้อากาศร้อนมาก แต่ก็คงไม่มั่นใจนักที่จะบอกว่าปีนี้ร้อนกว่าปีก่อนๆ ในบทความนี้ผมมีสถิติจากนักวิทยาศาสตร์มาบอกครับ เอาเป็นว่าวันนี้เราจะคุยกันถึงเรื่องสถานการณ์โลกร้อน พร้อมกับความเห็นในการแก้ไขปัญหาจากผู้นำทางเศรษฐกิจโลกในกลุ่ม G7 ที่เพิ่งประชุมไปหมาดๆ นะครับ และสุดท้ายผมจะยกคำพูดของท่านนายกฯ ประยุทธ์ที่เกี่ยวกับการซื้อไฟฟ้าที่ประชาชนจะขอผลิตเองมาวิจารณ์อย่างสั้นๆ

หลังจากผมได้ประเด็นว่าจะเขียนเรื่องนี้แล้ว ก่อนเข้านอน (ตอนเที่ยงคืน) ผมก็อ่านอุณหภูมิอากาศในบ้านได้เกือบ 30 องศาเซลเซียส เช้ามาผมอ่านใหม่พบว่าลดไปไม่ถึงหนึ่งองศา ผมหยิบไปวัดที่หน้าบ้านก็เกือบไม่เห็นความแตกต่าง ผมไม่แน่ใจว่าเทอร์โมมิเตอร์ที่ไม่ค่อยละเอียดนักยังทำงานอยู่หรือไม่ ผมจึงนำไปใส่ในตู้เย็น พบว่าแป๊บเดียวอุณหภูมิก็ลดลงมาก แสดงว่าเทอร์โมมิเตอร์ของผมไม่ได้เสียครับ

ผมได้สอบถามญาติๆ หลายคนในจังหวัดนครศรีธรรมราช ต่างก็สะท้อนออกมาว่าปีนี้ร้อนมาก ผมจำได้ว่าในช่วงปลายปีที่แล้วในขณะที่ผมไปบรรยาย พบว่าอากาศที่นครศรีธรรมราชและอีกหลายจังหวัดในภาคใต้อากาศก็เย็นกว่าปกติเป็นเวลานาน จนรู้สึกหนาวและสวมเสื้อคลุมซึ่งไม่เคยพบมาหลายปีแล้ว

ผมกำลังบอกว่ามันเป็นเรื่องที่ไม่ปกติ ประกอบกับข่าวปริมาณน้ำในเขื่อนหลายแห่งลดต่ำสุดในรอบหลายปี แต่นั่นก็ยังไม่หนักแน่นเท่ากับข้อมูลการบันทึกทางวิทยาศาสตร์ที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้

ผมได้ข้อมูลนี้มาจากองค์กร The Carbon Brief เขียนโดย Roz Pidcock ซึ่งใช้ข้อมูลจากองค์กรอุตุนิยมโลก (World Meteorological Organisation) ซึ่งเป็นหน่วยงานขององค์การสหประชาชาติ

คำประกาศชัดๆ ว่าอย่างนี้ครับ “UN World Meteorological Organisation ranks 2014 as hottest year on record” (ปี 2557 เป็นปีที่ร้อนที่สุดเท่าที่มีการจดบันทึกไว้)

คำประกาศอย่างเป็นทางการมีขึ้นเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2558 ซึ่งก่อนหน้านั้นองค์กรด้านอุตุนิยมวิทยาที่สำคัญที่สุดในโลก 4 แห่งได้ประกาศไปก่อน 2-3 สัปดาห์แล้ว

คำประกาศนี้ยังได้บอกอีกว่า ตั้งแต่มีการบันทึกมา มีวันที่อากาศร้อนที่สุด 17 วัน แต่ในจำนวนนี้มีถึง 14 วัน ที่เพิ่งเกิดขึ้นในช่วง 15 ปีมานี้เอง ความหมายก็คือตลอดเกือบ 200 ปีมานี้ มีอยู่ 17 วันที่มีอุณหภูมิสูงใกล้เคียงกัน แต่ปี 2557 เป็นปีที่ร้อนที่สุด ดูกราฟเล่นๆ เพลินๆ ครับ (กรุณาอย่ากลัวกราฟนะครับ)

อุณหภูมิที่แสดงในกราฟนี้เป็นการเปรียบกับค่าเฉลี่ยในช่วง 30 ปีจากปี 1961 ถึง 1990

ข้อมูลยังบอกอีกว่า อุณหภูมิเฉลี่ยของอากาศผิวโลกในปี 2557 สูงกว่าค่าเฉลี่ยดังกล่าวถึง 0.57 องศาเซลเซียส ทุบสถิติในปี 2553 และ 2548 เรียบร้อยไปแล้ว

อนึ่ง ข้อมูลขององค์การ NASA ก็ระบุว่าปี 2557 เป็นปีที่ร้อนที่สุดนับตั้งแต่ปี 2423 เป็นต้นมา

อ่านมาถึงตอนนี้ มีข้อน่าสังเกต 2 ประการครับ คือ (1) สิ่งที่ผมและหลายคนบ่นๆ ว่าปีนี้ร้อนมาก ยังไม่ได้นับรวมอยู่ในการบันทึกของข้อมูลดังกล่าว ไม่แน่นะครับว่าปี 2558 อาจจะทุบสถิติปี 2557 ก็เป็นได้ (2) ข้อมูลดังกล่าวเป็นเพียงค่าเฉลี่ยของโลกเท่านั้น ในแต่ละพื้นที่อาจจะแตกต่างกันไปตามภูมิศาสตร์ของโลก

หลายท่านคงเคยได้เห็นข่าวว่าชาวอินเดียเสียชีวิตกว่า 1 พันคนจากคลื่นความร้อนเมื่อประมาณสักหนึ่งเดือนมานี้ ภาพข้างล่างนี้เป็นความเสียหายจากความร้อนที่ทำให้สีทาสัญญาณจราจรบนท้องถนนในกรุงนิวเดลลีละลายอย่างที่เห็นในภาพ มันจะร้อนสักขนาดไหนก็ลองจินตนาการกันเอาเองนะครับ

เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2558 คุณ Roz Pidcock ได้เขียนบทความเรื่อง “No ‘slowdown’ in global surface temperatures after all, study finds” โดยอ้างอิงข้อมูลจากวารสาร “Science” ว่า ข้อเสนอที่พูดๆ กันว่าให้ “ทำให้ช้าลง (Slowdown)” อุณหภูมิของอากาศโลกนั้นไม่เป็นความจริง เพราะผลการศึกษาในวารสารดังกล่าวกลับพบว่า “แนวโน้มของอุณหภูมิอากาศเฉลี่ยของโลกในช่วง 15 ปีแรกของศตวรรษที่ 21 นี้ไม่ได้ลดลงเลย แต่กลับสูงกว่าในช่วง 2541 ถึง 2555”

ก่อนที่จะไปถึงเรื่องท่าทีของกลุ่ม G7 ต่อการแก้ปัญหาโลกร้อน ผมสนใจข้อมูลของคุณ Roz Pidcock มากครับ

เมื่อเราพูดถึงว่า “โลกร้อนขึ้น” ก็แสดงว่ามีปริมาณความร้อนเหลือจากการใช้อยู่ในระบบ ในเชิงระบบทางวิทยาศาสตร์ เราก็สามารถย้อนไปสู่สมการพื้นฐานได้ว่า “อัตราปริมาณความร้อนที่ไหลเข้าสู่ระบบโลกมีมากกว่าผลบวกของอัตราปริมาณความร้อนที่ไหลออกรวมกับอัตราการใช้ปริมาณความร้อนของสรรพสิ่ง”

ที่น่าสนใจก็คือ ความร้อนที่เหลืออยู่ในโลกนี้และมีมากขึ้นอย่างต่อเนื่องนั้น มันไปเก็บไว้ในส่วนใดของโลก ข้อมูลข้างล่างนี้มีคำตอบซึ่งถือเป็นความรู้ใหม่ของผมด้วยครับ

ถ้าปริมาณความร้อนที่เหลืออยู่มี 100% พบว่า 93% จะถูกเก็บไว้ในมหาสมุทร ที่เหลืออีก 7% จะถูกแบ่งออกเป็น 3 ส่วน สองส่วนแรกมีจำนวนเท่ากันอย่างละ 3% ถูกนำไปใช้ในการทำให้น้ำแข็งขั้วโลกละลาย และอีก 3% สะสมอยู่ในพื้นทวีป ที่เหลืออีก 1% กระจายอยู่ในชั้นบรรยากาศ (ดูรูปประกอบครับ)

ถ้ากล่าวกันอย่างง่ายๆ ความร้อนที่ทำให้เรารู้สึกร้อนราวกับตับจะแตกก็มาจาก 4 % ของสองส่วนหลังนั่นเอง ก่อนเขียนบทความนี้ผมเห็นหมาวัดแอบเข้าไปหลบนอนในห้องน้ำอย่างสบายใจก็เพราะเขาหลบหนีความร้อนที่อยู่ในผิวดินนั่นเอง

อนึ่ง ด้วยความซับซ้อนของระบบมหาสมุทร จากการศึกษาของนักวิทยาศาสตร์โดยการตรวจวัดพบว่า อัตราการเพิ่มของอุณหภูมิผิวน้ำระดับความลึก 300 เมตรแรกจะน้อยกว่าอัตราการเพิ่มของอุณหภูมิของน้ำในระดับความลึก 300-700 เมตร ผมเองก็ยังไม่เข้าใจปรากฏการณ์ดังกล่าว เพียงแต่ขอตั้งเป็นข้อสังเกตว่ามันมีอะไรแปลกๆ กับระบบโลกของเรา ระบบมหาสมุทรของเราที่นักวิทยาศาสตร์ยังไม่เข้าใจ ในตอนนี้เรารู้สึกร้อนเพียงแค่นี้ อาจเป็นเพราะความร้อนส่วนหนึ่งมันหลบไปอยู่ในชั้นกลางของระดับน้ำในมหาสมุทร ถ้าคิดกันอย่างตรงไปตรงมา โลกเราอาจจะร้อนกว่านี้มาก

ผมตั้งชื่อคอลัมน์นี้ว่า “โลกที่ซับซ้อน” ไม่ใช่เพราะความบังเอิญ หรือตั้งไปอย่างนั้นครับ

กลับมาที่การประชุมของกลุ่ม G7 เมื่อวันที่ 7-8 มิถุนายน ที่ผ่านมาที่ประเทศเยอรมนี ผมเห็นข่าวดังกล่าวจากทีวีบางช่อง แต่ไม่เห็นการรายงานข่าวว่าเขาประชุมกันเรื่องอะไร

กลุ่ม G7 ประกอบด้วย แคนาดา ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี ญี่ปุ่น อังกฤษ และสหรัฐอเมริกา มีความมั่งคั่งรวมกันถึง 64% ของโลก ในขณะที่มีจีดีพีรวมกันถึง 46% ของโลก

ผมเข้าไปดูเว็บไซต์ของการประชุม พบว่าเต็มไปด้วยคำหรูๆ ที่เราได้ยินกันบ่อยๆ เช่น จะต้องเป็นผู้นำในการปรับเปลี่ยนอนาคตของโลก พูดถึงความมั่นคงด้านพลังงาน เสรีภาพและสิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตย หลักนิติธรรม สันติภาพ และการพัฒนาที่ยั่งยืน แต่ในความเป็นจริงก็อย่างที่เราทั้งหลายทราบกันดีว่า มักจะดีแต่ปากแต่ไม่ค่อยมีการกระทำอะไรจริงจังจากกลุ่มผู้นำมากนัก

อย่างไรก็ตาม จากสำนักข่าวบีบีซี (9 มิถุนายน โดย Roger Harrabin) ได้ตั้งชื่อบทความในเชิงตั้งคำถามว่า “G7: จะสิ้นสุดยุคเชื้อเพลิงฟอสซิลหรือไม่?”

จากบทความดังกล่าวบอกว่า กลุ่มจี 7 ได้เรียกร้องให้เปลี่ยนเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าไปสู่พลังงานสะอาดภายในปี 2050 (หรืออีก 35 ปีข้างหน้า) การปล่อยก๊าซที่เกิดจากการเผาเชื้อเพลิงฟอสซิลจะไม่ได้รับการอนุญาตในทุกภาคส่วนของเศรษฐกิจภายในสิ้นคริสต์ศวรรตที่ 21 นี้ เป้าหมายของกลุ่มจี 7 ในปี 2050 จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 40-70% ของปี 2010

นอกจากนี้ทางกลุ่มจี 7 ยังได้ยอมรับว่า “ประเทศที่ร่ำรวยควรจำเป็นต้องช่วยเหลือประเทศที่ยากจนกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทวีปแอฟริกา รวมทั้งการพัฒนาการใช้เทคโนโลยีสะอาด และปรับตัวไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ต่อภูมิอากาศในอนาคต” ข้อเสนอเชิงนโยบายภูมิอากาศดังกล่าวจะนำเข้าสู่ที่ประชุมในกรุงปารีสในปลายปีนี้

ผมย้อนไปค้นดูบทความเก่าของคุณ Roger Harrabin เขาได้เล่าถึงข้อเรียกร้องของกลุ่มนักวิทยาศาสตร์และนักเศรษฐศาสตร์โดยเปรียบเทียบกับโครงการอวกาศอะพอลโลที่สำเร็จมาแล้ว นั่นคือ การทำ “โครงการผลิตพลังงานที่มีราคาถูกและสะอาด” ให้สำเร็จภายในหนึ่งทศวรรษ นั่นก็คือการทำให้พลังงานหมุนเวียนมีราคาถูกกว่าถ่านหินนั่นเอง

บทความดังกล่าวยังได้ระบุอีกว่า นักรณรงค์จากกลุ่ม “Friends of the Earth” กล่าวว่า “เป็นโครงการที่น่าตื่นเต้นอย่างแน่นอน แต่พลังงานหมุนเวียนก็ได้ประสบผลสำเร็จมากอย่างชัดเจนราวกับจรวดและกำลังกลายเป็นแหล่งพลังงานที่มีราคาถูกที่สุดอย่างรวดเร็วมาก”

นักวิชาการพลังงาน 2 ท่านที่ผมได้นำมาเสนอในคอลัมน์นี้บ่อยๆ ได้ยืนยันคำพูดของนักรณรงค์ข้างต้น (คือคุณ Alasdair Cameron)

ท่านแรกคือ ศาสตราจารย์ดร.Volker Quaschning จากประเทศเยอรมนี พบว่า (1) ต้นทุนไฟฟ้าจากกังหันลมในเยอรมนีเท่ากับต้นทุนไฟฟ้าจากถ่านหินแล้วในปี 2015 (2) ต้นทุนของโซลาร์เซลล์ที่ผลิตในทวีปแอฟริกาตอนเหนือซึ่งมีแดดเยอะจะเท่ากับต้นทุนจากถ่านหินในปี 2020 และ (3) ราคาค่าไฟฟ้าที่บริษัทขายให้กับผู้ใช้ในบ้านสูงกว่าโซลาร์เซลล์หลายเท่าตัวและจะเพิ่มสูงขึ้นอีก เพราะค่าใช้จ่ายจากระบบสายส่ง

นักวิชาการท่านที่สอง มาจากรายงานเรื่อง “Public Rooftop Revolution” ซึ่งเขียนโดย John Farrell และ Matt Grimley (เพิ่งออกเมื่อเดือนมิถุนายน 2015) ได้กล่าวถึงผลการศึกษาของตนเมื่อปี 2012 ว่า “ภายในปี 2021 ไฟฟ้า 10% ในสหรัฐอเมริกาจะมาจากแสงอาทิตย์ ในราคาที่ต่ำ-โดยปราศจากการอุดหนุนใดๆ- ต่ำกว่าที่บริษัทไฟฟ้าผลิต ชาวอเมริกันมากถึง 100 ล้านคนจะกลายเป็นผู้ผลิตไฟฟ้า”

สุดท้าย ผมขอกล่าวถึงคำพูดของท่านประยุทธ์ครับ ตอนหนึ่งท่านว่า “เรื่องการวิจัยพัฒนา วันนี้ก็เดินหน้าไปมาก จะเห็นได้ว่าไม่ว่าจะเรื่องของการใช้พลังงานทดแทน อันนี้ต้องเข้าใจว่าเราไม่สามารถจะรับซื้อไฟฟ้าได้จากทุกที่ ขึ้นกับสายส่ง ผมพูดไปหลายครั้งแล้ว ถ้าอยากทำก็ทำใช้ในบ้าน อันนี้เรายินดีอยู่แล้ว ไม่ต้องไปสิ้นเปลือง ไม่ต้องไปเพิ่มศักยภาพโรงไฟฟ้าเขามากนัก ท่านก็ใช้ของท่านเอง แล้วเขาบอกประมาณ 5–7 ปีก็คุ้ม ในการที่จะเสียค่าไฟ แต่ถ้าท่านทำแล้วมาขายก็มีปัญหาอีก ท่านก็อยากขายราคาสูงขึ้น ราคาที่รับได้ คือทุกคนจะเอาแต่ประโยชน์ไม่ได้ ต้องมีได้ประโยชน์ เสียประโยชน์ ต้องมีเผื่อแผ่แบ่งปัน” (12 มิถุนายน 58)

ท่านต้องหมายถึงการผลิตจากโซลาร์เซลล์เป็นสำคัญอย่างแน่นอน เพราะท่านพูดถึงการทำใช้ในบ้าน ซึ่งท่านก็ยินดีให้ทำ แต่มันจะทำไม่ได้ครับ ถ้าท่านไม่อนุญาตให้มีการเชื่อมต่อกับระบบสายส่ง ซึ่งต่างประเทศเขาอนุญาต เช่น สหรัฐอเมริกา เขาอนุญาตไปแล้ว 43 รัฐ

หลักการทำงานของไฟฟ้าก็คือในเวลากลางวัน เจ้าของบ้านสามารถผลิตไฟฟ้าได้มากกว่าที่ตนใช้ ถ้ามีการอนุญาต ไฟฟ้าที่เหลือจะไหลออกไปสู่สายส่ง เพื่อให้บ้านที่อยู่ใกล้ๆ ใช้ ในตอนกลางคืนแสงแดดไม่มี ไฟฟ้าจากสายส่งก็จะไหลมาเข้าบ้านให้คนใช้ สายส่งจึงทำหน้าที่คล้ายแบตเตอรี่

ในฐานะที่ผมติดตามและเกาะติดเรื่องนี้มา ภาคประชาชนต้องการแค่นี้เองครับ คือการอนุญาตให้ไฟฟ้าไหลไปมาได้ 2 ทาง ไม่ต้องการขายในราคาที่แพงอย่างที่ท่านว่าแต่อย่างใด เพียงแค่เพื่อลดค่าไฟฟ้าและร่วมกันรับผิดชอบซึ่งเป็นคุณค่าหลักของความเป็นมนุษย์ต่อปัญหาโลกร้อนที่กำลังรุกหนักขึ้นทุกปี

สัปดาห์ก่อนท่านพูดว่าเกรงขยะอิเล็กทรอนิกส์ของโซลาร์เซลล์ในอนาคต แต่มาวันนี้ท่านไปอีกประเด็นหนึ่งซึ่งสะท้อนว่า ท่านยังไม่เข้าใจการทำงานของระบบโซลาร์เซลล์เลย ซึ่งถือเป็นเรื่องธรรมดาสำหรับคนธรรมดา แต่สำหรับผู้นำประเทศท่านต้องมีที่ปรึกษา แต่เรียนตามตรงนะครับว่า หากท่านยังเชื่อตามคำร่างที่ปรึกษาเขียนให้ในลักษณะเช่นนี้ต่อไป ท่านจะเสียคน

ผมเห็นใจที่ท่านนายกฯ บ่นหลายหนว่าประเทศไทยมีปัญหาให้แก้ไขเยอะกว่าที่คิด แต่สิ่งที่ผมได้นำเสนอไปนี้ก็เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่ท่านยังมองไม่เห็น คือปัญหากลุ่มทุนพลังงานฟอสซิลพยายามขัดขวางความเป็นไปได้ของพลังงานจากแสงอาทิตย์ ที่ประเทศอื่น เช่น เยอรมนี สหรัฐอเมริกาและอื่นๆ ที่เขาไม่มีปัญหา

เปลี่ยนที่ปรึกษาชุดนี้เถอะครับ ผิดพลาดมาหลายหนแล้ว!

กำลังโหลดความคิดเห็น