xs
xsm
sm
md
lg

หลวงพ่อคูณ : ผู้ให้จนวาระสุดท้าย

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง

“สังขารทั้งหลาย ไม่เที่ยงหนอ มีการเกิดขึ้นและเสื่อมไปเป็นธรรมดา เกิดขึ้นแล้วย่อมดับไป การเข้าไประงับสังขารได้ ย่อมเป็นสุข” นี่คือบทสวดที่ภิกษุนำมาสวดหรือท่องในการพิจารณาผ้าบังสุกุลต่อหน้าศพ

โดยนัยแห่งบทสวดนี้คือการเตือนสติให้ผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ได้ระลึกไว้เสมอว่า สักวันหนึ่งตนเองก็จะต้องตาย เช่นเดียวกับผู้ที่นอนอยู่ในโลง ทั้งนี้เพื่อมิให้มีความประมาทหลงตัวลืมตน และหยิ่งผยองในความมีความเป็นของตนเอง ในขณะที่มีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน

หลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ เจ้าอาวาสวัดบ้านไร่ คือตัวอย่างที่ดีของความเป็นผู้ไม่ประมาทจนหลงตัวลืมตาย ดังจะเห็นได้จากคำสอนในวันที่ท่านทำพินัยกรรมมอบร่างกายให้แก่คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยเน้นความไม่เที่ยงของสังขาร และทำความดีเพื่อชาติบ้านเมือง

โดยเนื้อหาแห่งธรรมเทศนาของหลวงพ่อคูณในวันนั้น ก็คือบทพิสูจน์สัจธรรมซึ่งเกิดขึ้นในวันที่ 16 พฤษภาคมที่ผ่านมา เมื่อหลวงพ่อคูณได้ละสังขารหลังจากอาพาธ และได้เข้าออกโรงพยาบาลหลายครั้ง สุดท้ายท่านก็ได้จากไปอย่างสงบ และในขณะที่เขียนบทความนี้ (22 พ.ค.) ศพของหลวงพ่อคูณอยู่ระหว่างพิธีสวดอภิธรรม หลังจากเสร็จพิธีนี้แล้วศพของหลวงพ่อคูณจะถูกส่งมอบให้แก่คณะแพทยศาสตร์รับไปเพื่อเป็นอาจารย์ให้แก่นักศึกษาแพทย์ได้ศึกษาต่อไปตามเจตนารมณ์ที่ระบุไว้ในพินัยกรรม

หลวงพ่อคูณมีปฏิปทาอย่างไร จึงได้รับความเคารพนับถือจากประชาชน เมื่อเทียบกับพระภิกษุทั่วๆ ไป

ถ้ามองในแง่พระวินัย หลวงพ่อคูณก็เหมือนกับภิกษุทั่วไปคือถือศีล 227 ข้อ ดำรงชีพด้วยการขอปัจจัย 4 จากผู้ที่มีศรัทธา และถวายสิ่งของแก่ปฏิคาหกผู้มีศีลในฐานะทายกผู้มีศรัทธา ซึ่งเป็นไปตามนัยแห่งความหมายของคำว่า ภิกษุคือผู้ขอ อันได้แก่ผู้ที่เลี้ยงชีพด้วยภิกขาจาร คือเดินไปพร้อมกับการขอ นั่นคือการเดินบิณฑบาตนั่นเอง

แต่ถ้ามองในแง่ของธรรม หลวงพ่อคูณเป็นพระภิกษุสายอรัญวาสีหรือที่ชาวบ้านเรียกว่า พระป่า ปฏิบัติธรรมเพื่อความหลุดพ้นจากกิเลส จะเห็นได้จากการปล่อยวาง ไม่ยึดติด เสียสละ ข้าวของเงินทองที่มีผู้มาถวายแก่สาธารณกุศล และล่าสุดแม้กระทั่งร่างกายของหลวงพ่อเอง ก็มอบให้เพื่อการศึกษาซึ่งเท่ากับให้ความรู้หรือที่เรียกว่า วิทยาทาน

ส่วนประเด็นว่า หลวงพ่อคูณมีปฏิปทาอย่างไร จึงทำให้ประชาชนเคารพนับถือมากนั้น ตอบได้ไม่ยาก เพียงแต่ย้อนไปดูแนวทางปฏิบัติ โดยเริ่มจากการเข้าป่าถือธุดงควัตรปฏิบัติธรรมอย่างเคร่งครัด จนเป็นผู้ทรงวิชาอาคมแก่กล้าสามารถทำวัตถุมงคลแจกจ่ายให้แก่ผู้มาหา แต่ที่โด่งดังที่สุดเห็นจะได้แก่การนั่งยองๆ เคาะศีรษะเป็นการอำนวยพรแก่ผู้มากราบไหว้ และปรากฏผลเป็นที่ประจักษ์เมื่อผู้มาหาประสบความสำเร็จในการทำมาค้าขาย และบางรายประสบอุบัติเหตุแต่รอดมาได้อย่างปาฏิหาริย์ เพราะมีวัตถุมงคลของหลวงพ่อห้อยคอ

แต่การที่หลวงพ่อคูณจะทำเช่นนั้นได้ จะต้องปฏิบัติธรรมถึงขั้นได้อภิญญา 6 และวิชชา 8 ซึ่งมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

อภิญญา คือความรู้อันยิ่งยวด มี 6 ประการคือ

1. อิทธิวิชา หรืออิทธิวิธี ได้แก่ความรู้ที่ทำให้แสดงฤทธิ์ต่างๆ ได้
2. ทิพพโสต ได้แก่ญาณที่ทำให้มีหูทิพย์
3. เจโตปริยญาณ ได้แก่ญาณที่กำหนดใจคนอื่นได้
4. ปุพเพนิวาสานุสสติ ได้แก่ญาณที่ทำให้ระลึกชาติได้
5. ทิพพจักษุ ได้แก่ญาณที่ทำให้มีตาทิพย์
6. อาสวักขยญาณ ได้แก่ญาณที่ทำให้อาสวะสิ้นไป

จากข้อที่ 1-5 เป็นโลกียะคือแม้จะเป็นปุถุชนคนมีกิเลสก็เข้าถึงได้ ส่วนข้อที่ 6 จะต้องเป็นพระอรหันต์เท่านั้นจึงจะเข้าถึงธรรมข้อนี้ได้

วิชชาคือความรู้แจ้งมี 8 ประการดังนี้

1. วิปัสสนาญาณ ได้แก่ปัญญาที่พิจารณาเห็นสังขาร โดยความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และเป็นอนัตตา
2. มโนมยิทธิ ได้แก่ฤทธิ์สำเร็จด้วยใจ เช่น นิรมิตกายอื่นจากกายนี้ ตัวอย่างเช่น ขับไส้ออกจากหญ้าปล้อง เป็นต้น
3. อิทธิวิธิ ได้แก่แสดงฤทธิ์ต่างๆ ได้
4. ทิพพโสต ได้แก่หูทิพย์
5. เจโตปริยญาณ ได้แก่ความรู้ที่กำหนดใจผู้อื่นได้
6. ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ได้แก่การระลึกชาติได้
7. ทิพพจักษุ ได้แก่ตาทิพย์
8. อาสวักขยญาณ ได้แก่ความรู้ที่ทำให้อาสวะหมดไป

จากข้อ 3-8 ตรงกับอภิญญา 6 ดังนั้นผู้ที่ได้วิชชา 8 ก็เท่ากับได้อภิญญา 6 แต่ผู้ที่ได้อภิญญา 6 ไม่เท่ากับได้วิชชา 8

จากแนวทางการปฏิบัติที่หลวงพ่อคูณ แสดงให้เห็นและนำมาเปรียบเทียบกับธรรมะทั้ง 2 ประการดังกล่าวข้างต้น ทำให้เชื่อได้ว่าหลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ แห่งวัดบ้านไร่ บรรลุธรรม 2 ประการนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ข้อมโนมยิทธิ และอิทธิวิธิคือแสดงฤทธิ์ได้ จะเห็นได้จากการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ที่มากราบไหว้เพื่อขอพรให้ได้รับความสำเร็จในรูปแบบต่างๆ ได้ตามที่ขอ

ด้วยเหตุนี้ จึงสรุปได้ว่าหลวงพ่อคูณเป็นพระนักปฏิบัติธรรมที่บรรลุธรรมอย่างน้อยอภิญญา 6 และในขณะเดียวกัน เป็นผู้ให้มากกว่าเป็นผู้ขอ จึงเป็นตัวอย่างที่ดีแก่ภิกษุผู้ต้องการปฏิบัติธรรมเพื่อธรรม ทั้งในปัจจุบัน และอนาคต
กำลังโหลดความคิดเห็น