xs
xsm
sm
md
lg

เวทีชาวบ้าน

เผยแพร่:   โดย: ไพรัตน์ แย้มโกสุม

โดย...ไพรัตน์ แย้มโกสุม

เนื่องด้วยภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้จัดกิจกรรม “โครงการลงพื้นที่ภาคสนาม” เพื่อฝึกประสบการณ์เรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้นิสิตได้รับประสบการณ์ตรงจากการสอบถาม และลงพื้นที่ภาคสนามในการจัดเก็บข้อมูลเกี่ยวกับ “ประวัติศาสตร์หมู่บ้านต่างๆ จากผู้มีความรู้ภายในท้องถิ่น เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการศึกษา

ดร.กนกพร รัตนสุธีระกุล คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มมส จึงใคร่ขอความอนุเคราะห์ความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์หมู่บ้านต่างๆ จากผู้มีความรู้ทางด้านประวัติศาสตร์ ในวันที่ 23 มีนาคม 2558 ณ บ้านผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 13 ต.ปะหลาน อ.พยัคฆภูมิพิสัย จ.มหาสารคาม

เวทีชาวบ้าน

วันนี้ ณ บ้านผู้ใหญ่เติ่ง นายวิรัตน์ ศรีสุวรรณ จึงคึกคักเป็นพิเศษบริเวณหน้าบ้านเป็น “เวทีชาวบ้าน” ของนิสิต มมส และปราชญ์ชาวบ้านหรือผู้รู้ในหมู่บ้านต่างๆ รวม 16 หมู่บ้านของตำบลปะหลานประมาณ 50 คน

ส่วนนิสิตเอกประวัติศาสตร์ปี 4 รวม 8 คนประกอบด้วย...อมรรัตน์ ธนู (หัวหน้ากลุ่ม) ตะวันฉาย สิทธิดา, น้ำทิพย์ ศรีวรรณ, นันทวดี คำพงศรี, กรรณิการ์ ติ๊บกับเงิน, ทิฆัมพร สุชัยราช, ปาริฉัตร แสงนิกุล, นิติภูมิ วินทะไชย การออกภาคสนามของนิสิตกลุ่มนี้เป็นกิจกรรมส่วนหนึ่งของการศึกษาประวัติศาสตร์ สอนโดยอาจารย์ ดร.ทวีศิลป์ สืบวัฒนะ อดีตคณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มมส

นิสิตจะเป็นผู้สัมภาษณ์ หรือสอบถามผู้รู้ชาวบ้านในประเด็นต่างๆ บนเวที หลังจากนั้นก็จะออกสำรวจหลักฐานทางประวัติศาสตร์ เช่น โบราณสถาน โบราณวัตถุ คูบ้านคูเมือง สระ หนอง คลอง บึง คนเฒ่าคนแก่ เป็นต้น ตามหมู่บ้านต่างๆ

อีกด้านหนึ่ง ตรงกันข้ามกับบ้านผู้ใหญ่เป็นศาลาประจำหมู่บ้าน มีการประชุมผู้ใหญ่บ้านสัญจรรวม 16 หมู่บ้านของตำบลปะหลาน ดำเนินการโดย...กำนันป๊อก นายเทิดศักดิ์ สีขาวอ่อน ผู้มีฉายาว่า... “กำนันอาร์ทติสท์ป๊อก” (Kamnan Artis Pork) ผู้มากด้วยประสบการณ์ เป็นอาจารย์สอนพิเศษสอนศิลปะตามสถานศึกษาต่างๆ เป็นผู้นำแบบพอเพียง สอนเพื่อนร่วมงาน เช่น ผู้ใหญ่ ผู้ช่วย ผู้สนใจทั้งหลายด้วยการ “ทำให้เห็น-เป็นให้ดู”

กำนันป๊อกบอกว่า...การประชุมผู้ใหญ่บ้านทุกเดือน จะหมุนเวียนเปลี่ยนไปแต่ละหมู่บ้าน เพื่อเสริมจุดดี และแก้ไขจุดบกพร่อง ผลพลอยได้ที่จะตามมาคือ ความรักความสามัคคีของพี่น้องผู้ใหญ่บ้านแห่งตำบลปะหลานของเรา

กลับมาที่เวทีชาวบ้านของคนหนุ่มสาว (นิสิต) กับสอวอ (ผู้สูงวัย) ที่มีเลข 6, 7, 8 นำหน้ากัน นิสิตแต่ละคนจะช่วยกันถามปัญหา ชาวบ้านก็ตอบแบบสบายๆ ตรงประเด็นบ้าง ไม่ตรงบ้าง เป็นการเล่าสู่กันฟังมากกว่า นิสิตจดบันทึก ถ่ายภาพ เก็บหลักฐานเพื่อนำไปวิเคราะห์หลักฐานก่อนที่จะสรุปเป็นเรื่องเป็นราวนำเสนออาจารย์ นำเสนอสังคมอีกครั้งหนึ่ง

นิสิต : สภาพความเป็นอยู่ของชาวบ้านในอดีตเป็นอย่างไร?

ชาวบ้าน : อยู่แบบง่ายๆ เฮ็ดอยู่เฮ็ดกิน หรือทำอยู่ทำกิน เช่น ทำนา ได้ข้าวก็เก็บไว้ในยุ้งเป็นทุนชีวิตแล้ว เพราะมีข้าวกิน ส่วนอาหารก็หาปูปลาตามห้วยหนองคลองบึง ถ้าได้มากก็ทำปลาแดก หรือปลาร้าเก็บไว้กินได้เป็นปีๆ อันไหนมากเกินก็ขาย หรือแบ่งปันกันกิน ชาวบ้านก็เลย “อยู่ดีมีแฮง” หรืออยู่สุขสบาย กินอิ่มนอนหลับ

นิสิต : คนแต่ก่อนเป็นหนี้เป็นสินไหม?

ชาวบ้าน : ไม่ค่อยเป็น เงินไม่ค่อยจำเป็น ไม่ค่อยได้ใช้ อยากกินอะไรก็หากินได้ อย่างเสื้อผ้าไม่ต้องซื้อ ทำเอง ก็ปลูกฝ้าย ทอผ้า ตัดเย็บเสื้อผ้าเอง ไม่มีแฟชั่นสั้นๆ ยาวๆ รัดรูปสุดทรมานอย่างทุกวันนี้ ตกเป็นเหยื่อของนักออกแบบ ไม่รู้เข็ดรู้จำ

นิสิต : การคมนาคมในอดีตเป็นอย่างไร?

ชาวบ้าน : เมืองพยัคฆ์มีอีกฉายาว่า “เมืองไปยาก” รถเข้าไม่ถึง ใช้เกวียน ใช้ม้า จะไปจังหวัดสารคาม ต้องไปขึ้นรถที่อำเภอบรบือ หรืออำเภอพล ทางวิบากมาก ถนนโรยด้วยทรายและโคลนตม ข้าราชการที่ถูกย้ายมาอยู่เมืองพยัคฆ์ถือว่าเป็นการลงโทษ ส่วนมากมาอยู่แล้วไม่อยากกลับ ขออยู่ที่นี่ต่อไปเพราะอุดมสมบูรณ์เต็มไปด้วยข้าวปลาอาหาร ที่ตั้งเมืองพยัคฆ์เป็นโนนหรือเนิน หรือเกาะ อยู่กลางทุ่งเรียกว่า “ทุ่งปะหลาน” เป็นแอ่งกระทะถึงหน้าฝน บางครั้งที่พยัคฆ์ฝนไม่ตก แต่มีน้ำไหลมา ท่วมอยู่ประมาณ 7 วันก็แห้ง เป็นการล้างทำความสะอาดบ้านเมืองประจำปี หน้าน้ำท่วมม่วนหลายจนมีเพลงประจำเมืองว่า ...พยัคฆภูมิมีแต่น้ำล้อมรอบ ตั้งอยู่ขอบริมน้ำสดใส...

นิสิต : ทำไมเมืองพยัคฆ์จึงมีอีกฉายาว่า เมืองร้อยสระ?

ชาวบ้าน : ปัญหานี้ผมขอตอบเองด้วยเสียงเพลงนะครับ (แล้วคุณตาประยูร เนืองภา ครูเก่าก็ครวญเพลงเมืองร้อยสระอย่างสนุกสนาน) และครูเก่าอีกคนก็เสริมว่า...สถานที่ตั้งเมืองพยัคฆ์เป็นเกาะ 3 เกาะคือ เกาะบ้านปะหลาน เกาะบ้านโนนสูง เกาะสวนพุทธ แต่ละเกาะจะมีน้ำล้อมรอบ หรือสระต่างๆ นั่นเอง หน้าน้ำหลากก็กลายเป็นเกาะกลางทะเล หน้าแล้งก็แห้งผาก ผู้ปกครองบ้านเมืองก็พาราษฎรขุดสระรอบเกาะต่างๆ แล้วตั้งชื่อแต่ละสระ เช่น สระสิม สระแก สระจอก เป็นต้น รวม 17 สระ ที่บอกว่าร้อยสระก็เหมือนกับร้อยพวงมาลัยนั่นแหละ ที่ประชุมก็เลยถึงบางอ้อทุกคน

นิสิต : ทำไมต้องซื้อเสียง ได้ข่าวว่ามีการเลือกตั้งแห่งหนึ่ง มีผู้สมัครคนเดียว เมื่อไม่มีคู่แข่งทำไมต้องซื้อเสียง?

ชาวบ้าน : ทางราชการบอกให้เลือกคนดี ก็เราไม่รู้ว่าใครเป็นคนดี ราชการก็ไม่เปิดเผยชี้แนะ ใครคนดี ใครคนชั่ว เมื่อคนสมัครเอาเงินมาให้ เราก็คิดว่า มันก็คงดีอยู่บ้างนะ ดีกว่าคนที่ไม่ให้อะไรเลย ผลงานก็ไม่มี แม้สมัครคนเดียว ไม่มีคนแข่ง และไม่มีน้ำใจ เราก็เลยขี้เกียจไปเลือกให้เช่นกัน อย่างอื่นๆ เช่น กฎหมายเราไม่ค่อยรู้อะไรหรอก รู้แต่เพียงว่า ถ้าคนจนทำผิดกฎหมายต้องติดคุก ส่วนคนรวยทำผิดไม่ต้องติดคุก ยังลอยนวลอยู่ อะไรประมาณนั้น

นิสิต : ประเพณีอะไรที่โด่งดังอยู่ของที่นี่ ช่วยวิจารณ์หน่อย

ชาวบ้าน : ประเพณีบุญบั้งไฟ ในอดีตยิ่งใหญ่ และน่ารักมาก เพราะชาวบ้านทำเองทุกอย่าง ทั้งบั้งไฟ ขบวนแห่ แข่งขันกันจริงๆ ทุกตำบลเข้าร่วมแข่งขัน การที่ประชาชนร่วมกันทำนั้น ทำให้เกิดความรัก ความสามัคคี เกิดคุณค่า ความหมาย ปัจจุบันเห็นเงินเป็นพระเจ้า จ้างหมด ทั้งบั้งไฟ ขบวนแห่ ชาวบ้านอยู่เฉยๆ เพียงหาเงินซื้อบัตรเข้าชมงานกลายเป็นธุรกิจประเพณี สร้างความเดือดร้อนให้แก่ชาวบ้าน ชาวเมือง และข้าราชการ ถูกเรี่ยไรเชิงบังคับ การประมูล การพนัน การคอร์รัปชัน ล้วนเกี่ยวกับเงินทั้งนั้น ของดีที่เคยเป็นน้ำดีกลายเป็นน้ำเน่า เพราะเห็นแก่เงินเป็นที่ตั้ง

นิสิต : มองรัฐบาลชุดนี้อย่างไร?

ชาวบ้าน : มองเผินๆ ก็ดีนะ แต่ความเป็นอยู่ของชาวบ้านแย่ลง กิจการเล็กๆ น้อยๆ ล้มระเนนระนาด ขายอะไรก็เจ๊ง ต่อไปแต่ละหมู่บ้านคงจะเหลืออยู่แค่ 2 ร้านคือ เซเว่นฯ และโลตัส ไม่รู้ว่าใครเป็นเจ้าของ รัฐบาลปล่อยให้เขาผูกขาดอยู่ได้อย่างไร?

นิสิต : เคยอ่านรัฐธรรมนูญไหม?

ชาวบ้าน : เปล่า แม้แจกมาก็อ่านไม่รู้เรื่อง ไม่มีหน่วยงานใดมาอธิบายให้เข้าใจ

นิสิต : อ่านหนังสือพิมพ์ไหม ดูทีวีช่องไหน สนใจข่าวไหม?

ชาวบ้าน : ไม่อ่าน ไม่มี ดูทีวีช่อง 7 ช่อง 3 ติดละคร มันเหมือนกินยาแก้ปวด หายทุกข์ไปชั่วคราว ส่วนข่าวไม่ค่อยสนใจ มันไม่มีอะไรที่ทำให้อยากดู

นิสิต : เรียนรู้ประวัติศาสตร์มีประโยชน์ไหม?

ชาวบ้าน : ไม่รู้ รู้แต่ว่า คนโบราณบอกว่า อย่าให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย ส่วนคนปัจจุบันบอกว่า อย่าให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย และจงให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย งง ไม่เข้าใจ ท่านอธิบายต่อว่า...ประวัติศาสตร์อย่าให้ซ้ำรอยเรื่องชั่ว และประวัติศาสตร์จงซ้ำรอยเรื่องดี อือ...ฟังดูก็เข้าทีดี

ฯลฯ

นี่คือตัวอย่างเล็กน้อยของ ถาม-ตอบ ระหว่างนิสิตกับชาวบ้าน บนเวทีชาวบ้านวันนั้น คงจะเป็นโจทย์หนักสำหรับนิสิตเป็นแน่แท้ คนจะแกร่งได้ ก็ต้องผ่านด่านสาหัสเป็นธรรมดา

ขอขอบคุณผู้ใหญ่บ้าน คุณวิรัตน์ และภรรยา คุณทัดดาว ศรีสุวรรณ ที่ต้อนรับขับสู้นิสิต ปราชญ์ชาวบ้าน ผู้ใหญ่บ้าน ด้วยความอิ่มหนำสำราญอย่างดีมีมิตรภาพ ขอให้มีความสุขความเจริญยิ่งๆ ขึ้นไป

บรรสานชีวิต

ชีวิตที่บรรสาน คือชีวิตที่สนิทสนมกัน เชื่อมสัมพันธ์กัน ผูกพันกัน ถ้าให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้นก็คือ “ทุกชีวิตเป็นดั่งกันและกัน” ความสามัคคี ความสมานฉันท์ ความปรองดอง เกิดขึ้นจากจุดนี้ จุดอื่นเพียงเพ้อฝัน

สามัคคีคือพลัง เมื่อแต่ละชุมชนมีพลัง ก็จะสามารถแก้ปัญหาและพัฒนาชุมชนได้ อำนาจบังคับกดขี่ ไม่มีทางแก้ปัญหาและพัฒนาได้ อาจแก้ได้บ้าง เพียงไฟไหม้ฟางเท่านั้น

ลองดูคลิปควายกับเสือ บางทีอาจมีแสงสว่างเพิ่มขึ้น

คลิปแรก เมื่อเสือหิวก็มาไล่กัดควาย ควายทั้งฝูงแค่ยืนดู ควายเคราะห์ร้ายเลยกลายเป็นอาหารเสือ ครั้งแล้วครั้งเล่า ปีแล้วปีเล่า ควายก็แค่เป็นเหยื่อของเสือ

คลิปสอง กำลังแชร์กันทั่วโลก เสือหิวเห็นควายก็กร่างเข้ามาหวังขย้ำเหมือนเคย คราวนี้ไม่เหมือนอดีต ควายทั้งฝูงล้อมเสือไว้ และช่วยกันขวิดเสือจนเสือตายคาเขาคาตีน จากนั้นมาเสือไม่กล้ามาเข่นฆ่าควายอีก

นี่คืออิทธิปาฏิหาริย์ที่เรียกว่า “สามัคคีคือพลัง”

ดูคลิปควายสู้เสือแล้ว คิดถึงตัวเอง เราเป็นคนแท้ๆ ไยให้คนชาติชั่วกดขี่ข่มเหงอยู่ได้ ทรัพยกรอันเป็นทรัพย์สมบัติของตนคนทั้งชาติแท้ๆ ขายให้ต่างชาติในราคาถูกเหมือนได้เปล่า แล้วเอาเงินที่ขายได้ไปซื้อกลับคืนมาใช้ในราคาแพงกว่าใครๆ มันเอาส่วนไหนของร่างกายคิด ช่วยตอบที ผู้ถูกกดขี่ขูดรีดทั้งหลาย อายควายที่ลุกขึ้นสู้กับเสือบ้างไหม?

ดังนั้น ผู้นำที่มีภาวะผู้นำ จะต้องรู้จักบรรสานชีวิต ดุจดั่งความหอมของดอกไม้ที่ขจรขจายไปทั่วจักรวาล

เรียนรู้ถูกผิด

ชีวิตคือการเรียนรู้ ชีวิตคือการเป็นครู “สิ่งทั้งมวล ล้วนเป็นครู ถ้ารู้คิด พินิจธรรม” สิบสองพยางค์ คือคาถาประจำตัวที่ใช้บ่อยๆ จนกลายเป็น “วิหารธรรม” หรือ “เครื่องอยู่”

อย่ามองครูแคบๆ เพียงอาชีพอันทรงเกียรติ แล้วปิดประตูหน้าต่างขังตัวเอง จงเปิดประตูหน้าต่างปล่อยให้ลมเย็นผ่านมา แล้วก็ผ่านไป ปล่อยให้จักรวาลเยี่ยมยามถามข่าว แล้วล่องลอยไปตามจักรวาลบ้างจะได้เสี่ยงภัยและเพิ่มประสบการณ์ ชีวิตจะได้มีชีวิตชีวา รู้ถูกรู้ผิด ทำถูก ไม่ทำผิด เหนือถูกเหนือผิด ชีวิตเป็นเช่นนี้หรือ?

ชีวิตเป็นเช่นนี้ คือตถตา-เช่นนั้นเอง ถ้าเป็นสังขาร ก็ปรุงแต่ง เกิด ดับกันไป ถ้าเป็นวิสังขาร ก็หยุดการปรุงแต่ง ไม่มีเกิด ไม่มีดับ

รู้จักบินสูง ก็ต้องรู้จักบินต่ำ รู้จักบินต่ำ ก็ต้องรู้จักบินสูง เป็นการบินเหมือนกัน แต่ไม่เหมือนกัน เป็นคนเหมือนกัน แต่ไม่เหมือนกัน เพราะมีความหนา-บางต่างกัน

แม้หมาที่เราสมมติให้เป็นสัตว์ต่ำต้อย มันก็ยังเป็นครูได้เหมือนกัน ในบางสถานการณ์

มีเรื่องเล่าในเวทีชาวบ้านวันนั้นว่า...มีบ้านสองหลังอยู่คนละข้างถนน บ้านหลังหนึ่งใหญ่โต ฐานะดี มีอำนาจ อีกหลังเป็นบ้านเล็กๆ ยากจน สามีไปทำงานต่างเมือง เธออยู่กับหมาตัวหนึ่ง เวลาเธอไม่อยู่ก็มีหมาตัวนี้แหละเฝ้าบ้าน บ้านตรงข้ามชอบถือวิสาสะ อยากได้อะไรในบ้านหลังนี้ ก็เข้ามาเอาเลย ไม่เคยขอ เวลาหมาเห่าก็ไล่ตีหมา อยากได้ผักได้ฟืนขนไป ตัดต้นไม้ในสวนโดยพละการ เกิดเป็นปากเป็นเสียงกันขึ้นถึงไปโรงพัก ฝ่ายบุกรุกเสียเงินค่าปรับ ไม่ยอมหยุด ยังมีนิสัยเหมือนเดิม ทั้งด่าทั้งเอาของ หมาเฝ้าบ้านเห็นเหตุการณ์โดยตลอด รู้สึกสงสารนาย อดรนทนไม่ได้ ต้องทำอะไรสักอย่างที่พอทำได้ พอบ้านนั้นเผลอ ก็วิ่งขึ้นไปชั้นบนของบ้าน แล้วทิ้งหลักฐานชั้นต้นไว้สองกอง ขณะลงมาจากชั้นบนเจ้าของบ้านเห็นพอดี หมาตัวนี้ขึ้นไปทำไม จึงขึ้นไปดู เห็นหลักฐานสองกอง แกเลยเป็นลมล้มลงเกือบทับกองหลักฐาน พอได้สติรีบไปหาพระ เกิดเคราะห์ใหญ่แล้วหลวงพ่อ ช่วยไปแต่งแก้ให้ที เสียเงินค่าสะเดาะเคราะห์ให้พระอีก มันเคราะห์ดีหรือร้ายกันแน่ จากนั้นมาบ้านคนรวยไม่กล้ามารบกวนบ้านคนจนอีก และหมาเฝ้าบ้านตัวนั้นก็อยู่สุขสบาย ไม่มีใครกล้ารังแก

ขนาดหมายังรู้ว่าอะไรผิดอะไรถูก และทนไม่ได้กับการถูกรังแก คนเล่าไม่อายหมาบ้างหรือ? ที่บางคนยังดันทุรังทำผิดซ้ำแล้วซ้ำเล่าอยู่

อะไรถูกก็ทำ อะไรผิดก็ละ แล้วทำจิตใจให้บริสุทธิ์ การเรียนรู้ทุกสิ่งทุกอย่าง ก็ต้องเป็นแบบนี้จึงจะถือว่าเป็นผู้มีการศึกษา เป็นผู้มีความเจริญงอกงาม

ลิขิตตนเอง

พุทธพจน์บทที่ว่า “อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ-ตนแลเป็นที่พึ่งของตน” ง่ายๆ สั้นๆ แต่ทันสมัยเสมอ ทำให้ “คนยังคงยืนเด่นโดยท้าทาย”

ผู้ที่จะพึ่งตนเองได้ ต้องเป็นตัวของตัวเอง

ผู้ที่จะเป็นตัวของตัวเอง ก็คือผู้ที่เห็นตนนั่นเอง

ผู้เห็นตน คือผู้เห็นธรรม ผู้เห็นธรรม คือผู้เห็นตน

พระพุทธเจ้าตรัสว่า... “ผู้เห็นธรรม คือผู้เห็นเรา”

ลิขิตตนเอง ก็คือตัวเองเป็นผู้ทำ ดั่งคำคมที่ว่า “จะดีหรือชั่ว อยู่ที่ตัวทำ” คนที่มักโทษคนอื่นหรือสิ่งอื่นนั้น เป็นคนไม่รู้จักตน

พูดถึงตกนรก ไม่มีใครอยากตก แต่ก็มีคนชอบตกอย่างชื่นมื่น จึงกลายเป็นตกนรกทั้งเป็น

“ตกนรกทั้งเป็น” หมายถึงความทนทรมานอย่างชื่นตา คือรู้สึกอยู่ เห็นอยู่ก็มี แต่ส่วนมากหรือส่วนใหญ่นั้น มันไม่รู้สึก เพราะว่าถ้ารู้สึกมันก็ไม่ตก หรือพยายามดิ้นรนที่จะออกมาเสีย เพราะฉะนั้นการตกนรกทั้งเป็น ย่อมเป็นเรื่องที่รู้สึกตัว รู้สึกแต่ความอึดอัด หรือความกระวนกระวาย หรือความเร่าร้อนบ้างก็จริง แต่ว่ามันเห็นเป็นความสนุกสนาน ชนิดที่เห็นกงจักรเป็นดอกบัวไปเสีย เช่น คนหนุ่มสาวเห็นความสำมะเลเทเมาเป็นเรื่องประเสริฐวิเศษไปเสีย ทั้งที่มันเป็นการทรมานจิตใจอย่างยิ่งอยู่ตลอดเวลา เขาแกล้งทำไม่รู้ไม่ชี้กับมันในส่วนนั้น แล้วก็มองแต่ส่วนสำมะเลเทเมา ซึ่งมีรสชาติเป็นความเพลิดเพลิน ขอให้ระวังนรกทั้งเป็นนี้ให้มากๆ มันไม่ได้แสดงอาการชนิดที่น่ากลัว น่าวิ่งหนี แต่มันแสดงอาการที่ดึงดูดลึกลงไปทุกที ลึกลงไปทุกที

ตกนรกทั้งเป็น เป็นวิบากกรรมที่ทันตาเห็น เพราะตัวเองลิขิตตนเองแท้ๆ เป็นเรื่องชั่วที่ตัวเองไม่ควรทำ เรื่องดีๆ มีเยอะแยะ พึงทำกันเถิด

“เวทีชาวบ้าน
บรรสานชีวิต
เรียนรู้ถูกผิด
ลิขิตตนเอง”

กรณี “ผู้ปกครอง” กดขี่ข่มเหงเอารัดเอาเปรียบ “ผู้ถูกปกครอง” หรือผู้ปกครองปล่อยให้บริษัทยักษ์ใหญ่ผูกขาดธุรกิจค้าขาย จนร้านโชวห่วยหรือบริษัทเล็กๆ ล้มระเนนระนาด ส่งผลกระทบต่อผู้ถูกปกครองอันเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศนั้น ยังจะถือว่า ผู้ถูกปกครองเป็นผู้กระทำเช่นนั้นหรือ?

หากมองแบบพื้นๆ ผู้ถูกปกครอง ไม่ได้เป็นผู้กระทำหรอก ผู้ปกครองเป็นผู้กระทำต่างหาก ทำแบบเหิมเกริม ไม่อายฟ้าดิน เห็นกันจะจะ

ลองมองอีกมิติให้มันลึกๆ บ้าง ก็จะเห็นว่า ผู้ปกครองที่กล้าทำเช่นนั้น เพราะเขาเห็นว่า ผู้ถูกปกครองยังโง่อยู่ ไม่รู้เท่าทันอะไร เชื่ออะไรง่ายๆ หรือหากจะรู้ทัน ก็คงไม่กล้าคัดค้าน ลุกขึ้นสู้อย่างมีพลังหรอก

มองต่อไป ใครทำให้ผู้ถูกปกครองยังโง่อยู่ ไม่มีใครที่ไหนหรอก นอกจากผู้ปกครองเท่านั้นเป็นผู้ทำ เพราะคนโง่ปกครองง่ายดี ไม่มีใครสวนให้เสียอารมณ์

สรุปแล้ว ก็พอๆ กัน ทั้งผู้ปกครอง และผู้ถูกปกครอง (เหมือนเรื่องเสือกับควายจังเลย) วิธีแก้ง่ายๆ แบบพอเพียง ก็คือ... “เรียนรู้ถูกผิด ลิขิตตนเอง” โดยมี “ตะเกียง” หรือ “ประวัติศาสตร์” ที่ถูกต้อง มีธรรมนำหน้า คอยส่องทาง
ปราชญ์ชาวบ้านให้ข้อมูลประวัติศาสตร์แก่นิสิต มมส ณ เวทีชาวบ้าน อ.พยัคฆภูมิพิสัย จ.มหาสารคาม
นิสิต มมส เอกประวัติศาสตร์ ออกภาคสนามจัดเวทีชาวบ้านหาข้อมูลหลักฐานประวัติศาสตร์ท้องถิ่น
กำลังโหลดความคิดเห็น