xs
xsm
sm
md
lg

สหพันธ์แรงงานฝากนายจ้างลูกจ้างเร่งพัฒนาคุณภาพชีวิตร่วมกัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

สหพันธ์แรงงานฝากนายจ้างลูกจ้างเร่งพัฒนาคุณภาพชีวิตร่วมกัน หยุดทุกปัจจัยคุกคามชีวิตแรงงาน ตั้งหลักที่เลิกบุหรี่ เหล้า พนัน ด้านที่ปรึกษาแรงงานนอกระบบขอรัฐบาลไฟเขียว พ.ร.บ. ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ ฉบับใหม่

นางประนอม เชียงอั๋ง รองประธานสหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมการตัดเย็บเสื้อผ้าและผลิตภัณฑ์หนังแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ตนทำงานสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ใช้แรงงานมาอย่างต่อเนื่อง โดยพบว่าบุหรี่ก็เป็นปัจจัยบั่นทอนคุณภาพชีวิตผู้ใช้แรงงาน ไม่น้อยไปกว่าเรื่องเหล้า การพนันและยาเสพติด กิจกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตจึงใช้วิธีการเริ่มต้นที่ลด ละ เลิก บุหรี่ เหล้า ซึ่งสิ่งที่ตามมาชัดเจนคือเรื่องสุขภาพที่ดีขึ้น หนี้สินลดลง การขาดงานลดลง ปัญหาในครอบครัวลดลง และข้อสำคัญคือมุมมองของนายจ้างก็เปลี่ยนไป เราจะคุยกันง่ายขึ้น จะเห็นได้ว่านอกจากเรื่องค่าจ้าง และสวัสดิการแล้ว เรื่องคุณภาพชีวิตก็เป็นสิ่งที่นายจ้างและลูกจ้างต้องพัฒนาไปด้วยกัน

อย่างไรก็ตาม เราเฝ้าติดตามความก้าวหน้าของพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบฉบับใหม่มาโดยตลอด ในฐานะที่บุหรี่ก็เป็นปัจจัยคุกคามแรงงานอันหนึ่ง แต่ก็ไม่เข้าใจว่าทำไมกฎหมายฉบับนี้ จึงยังไม่ผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี เพราะปัจจัยชี้ขาดสำคัญในการตัดสินใจน่าจะเป็นการเลือกปกป้องสุขภาพประชาชน มากกว่ากังวลว่าจะกระทบผลประโยชน์ของอุตสาหกรรมที่ทำลายชีวิตประชาชนคนไทย รวมทั้งเด็กและเยาวชน เรื่องนี้จึงไม่น่ายากที่จะพิจารณา ที่น่าแปลกใจมากคือแทนที่รัฐบาลจะผ่านกฎหมายควบคุมยาสูบ ลดผลกระทบ แต่กลับอนุมัติงบประมาณนับหมื่นล้านให้สร้างโรงงานยาสูบใหม่ ตรงนี้เป็นประเด็นที่สังคมกำลังตั้งคำถามถึงจุดยืนและความจริงใจของรัฐบาล ซึ่งสวนทางกับการคุ้มครองสุขภาพของประชาชนอย่างสิ้นเชิง แต่ก็ยังไม่สายถ้ารัฐบาลจะพิสูจน์ความจริงใจกับประชาชน” นางประนอม กล่าว

ด้านนางสาวอรุณี ศรีโต นายกสมาคมส่งเสริมสิทธิชุมชนเพื่อการพัฒนา และที่ปรึกษากลุ่มแรงงานนอกระบบ กล่าวว่า ประสบการณ์ที่ทำงานกับกลุ่มแรงงานนอกระบบ ทั้งกลุ่มจักรยานยนต์รับจ้าง แม่ค้าหาบเร่แผงลอย รวมถึงบรรดาซาเล้งรับซื้อของเก่า เราพบว่าปัญหาบุหรี่เป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งในการคุมคามชีวิตผู้ใช้แรงงานกลุ่มนี้ ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ที่มีรายได้น้อยอยู่แล้วแต่จำนวนมากกลับสูบบุหรี่

“โดยเฉพาะในกลุ่มที่ตนทำงานด้วยพบว่า เกือบ 90% เป็นผู้ที่สูบบุหรี่ มีปัญหาหนี้สิน รายรับไม่พอกับรายจ่าย คุณภาพชีวิตตกต่ำ ที่สำคัญคือ เกือบทั้งหมดซื้อบุหรี่แบบแบ่งขาย และจากการแบ่งขายก็ส่งผลไปถึงเด็กและเยาวชนในพื้นที่ ส่วนหนึ่งได้กลายเป็นนักสูบหน้าใหม่โดยเริ่มต้นจากการซื้อบุหรี่ที่แบ่งซองขาย ซึ่งร้านค้าเกือบทั้งหมดก็พร้อมใจกันขายให้เด็ก ดังนั้น การมีกฎหมายใหม่ออกมาปิดช่องว่าง ห้ามแบ่งซองขาย และกำหนดเพิ่มอายุห้ามขายให้เด็กอายุ 18 ปี เป็น 20 ปี รวมถึงการควบคุมไปถึงผลิตภัณฑ์บุหรี่รูปแบบใหม่ด้วย เช่น บารากู่ ตรงนี้ ตนเชื่อว่าจะช่วยลดผลกระทบจากบุหรี่โดยรวมได้ และยังหวังว่ารัฐบาลจะตัดสินใจในสิ่งที่ถูกต้อง ผ่านความเห็นชอบ พระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบฉบับใหม่ ในเร็วๆ นี้” นางสาวอรุณี กล่าว
 
 
 
ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น