ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -หลังเหตุสลด รถยนต์พุ่งเข้าชนกลุ่มนักปั่นจักรยานจนเสียชีวิตอย่างต่อเนื่อง ได้ก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์จากสังคมทั้งในโลกออนไลน์และโลกแห่งความเป็นจริง
โดยเฉพาะปรากฏการณ์ในโซเชียลที่จุดกระแสการรณรงค์ให้เกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง เช่น “ดื่มแล้วขับนับเป็น ฆาตกร” คุณเห็นด้วยไหม, ขับรถระวังจักรยาน ปั่นจักรยานระวังรถ พร้อมทั้งได้เรียกร้องให้ทำเส้นทางจักรยานให้มีประสิทธิภาพ ใช้งานได้จริง เพราะที่ปรากฏบางพื้นที่ถนนยังชำรุด ทรุดโทรม บางจุดก็กลายเป็นทางมอเตอร์ไซค์วิ่งแทน ไม่ปลอดภัยในการขี่
กล่าวสำหรับอุบัติเหตุรถยนต์ชนกลุ่มนักปั่นจักรยานได้เกิดขึ้นถึง 3เหตุการณ์ ในเวลาไล่เลี่ยกัน โดยเหตุแรกเกิดขึ้นเมื่อเช้าตรู่ เวลา 05.50 น.ของวันที่ 3 พ.ค.เมื่อนักศึกษาสาวได้ขับรถเก๋ง โตโยต้า รุ่นยาริส เสียหลักพุ่งเข้าชนกลุ่มผู้ขับขี่รถจักรยาน ที่ กม.ที่ 8-9 หมู่ที่ 4 ถ.เชียงใหม่ - เชียงราย ขาออก ต.ตลาดขวัญ อ.ด.ดอยสะเก็ด เป็นเหตุให้เสียชีวิตคาที่ 3 ราย คือ นายชัยรัตน์ ย่องลั่น อายุ 65 ปี สภาพแขนขาหัก คอหัก นายสมาน กันธา อายุ 65 ปี ปอดแตก ศีรษะแตก และนายพงษ์เทพ คำแก้ว อายุ 40ปี สภาพแขนขาหัก เลือดออกมาก ศีรษะแตก คอหัก ซึ่งทั้งหมดเป็นสมาชิกชมรมปั่นจักรยานสันทรายเชียงใหม่
อุบัติเหตุที่เกิดขึ้น เรียกได้ว่า เกิดจากการเมาแล้วขับเป็นที่ชัดเจน โดยนักศึกษาสาวซึ่งเป็นคนขับรถยนต์ได้ดื่มเหล้าจนถึงรุ่งเช้า ก่อนที่จะบึ่งรถเก๋งออกมาที่เกิดเหตุและเกิดอาการวูบและหลับใน โดยตรวจวัดแอลกอฮอล์ ได้ถึง 67 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ซึ่งเกินขีดกำหนดของการดื่มไม่ขับ
ถัดจากนั้นเพียงแค่ 1 วันคือวันที่ 4 พ.ค. ก็ได้โศกนาฏกรรมเป็นครั้งที่ 2เมื่อรถเก๋งฮอนด้าแจ๊ซ สีดำ ทะเบียน 3 กฎ 8938 กรุงเทพมหานคร ได้พุ่งเข้าชนกลุ่มนักปั่นรถจักรยานถึง 3 คันรวด ที่บริเวณด้านหน้าหมู่บ้านบางกอกบูเลอวาร์ด ถนนรัชดา-รามอินทรา แขวงรามอินทรา เขตคันนายาว ส่งผลให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 3ราย แต่ต่อมาผู้บาดเจ็บ ได้เสียชีวิต 1 ราย คือ น.ส.ธัญยกร เด่นสิริมงคล อายุ 31 ปี สาวสถาปนิกปริญญาโท
ทั้งนี้ จากการสอบสวนพยานผู้เห็นเหตุการณ์เล่าว่าก่อนเกิดเหตุเห็นกลุ่มผู้ได้รับบาดเจ็บทั้งหมดปั่นรถจักรยานจำนวน 3 คัน มาตามถนนรัชดา-รามอินทรา ขาออก ในเลนซ้ายสุด เมื่อมาถึงจุดเกิดเหตุได้มีรถยนต์คันดังกล่าวขับตามมา ในลักษณะส่ายไปมา ก่อนจะเสียหลักพุ่งเข้าชนกลุ่มรถจักรยานดังกล่าว จนนักปั่นจักรยานกระเด็นไปคนละทิศละทาง ส่วนรถยนต์ก็เสียหลักไปชนกับที่กั้นขอบทาง ก่อนจะหมุนขึ้นไปหยุดอยู่บนเกาะกลางถนน หลังจากนั้นได้มีชายวัยรุ่นลงจากรถแล้วมาดูคนเจ็บ ก่อนจะหายตัวไป
และนั่นจึงทำให้ในสังคมออนไลน์ ตามล่าตัวคนที่ชนแล้วหลบหนี โดยได้มีการแชร์ภาพคนขับรถ ขณะเดินออกมาจากรถยนต์สีดำที่พุ่งชนจักรยาน จนกระทั่งพลังโซเชียลได้กดดันให้เขาเข้ามอบตัว เมื่อวันที่ 6 พ.ค.58 โดยทราบชื่อต่อมา คือ นายศรัณย์ อินทะนิล โดยได้สารภาพว่าได้ทะเลาะกับแฟนสาวผ่านทางโทรศัพท์ ก่อนจะใช้ความเร็วเข้าทางโค้งจนเสียหลัก และพุ่งเข้าชน หลังเกิดเหตุตกใจ เลยหลบหนีไป ซึ่งตอนนี้ก็ได้เตรียมหลักทรัพย์เป็นเงินสด จำนวน 2.5 แสนบาท ไว้ยื่นประกันทันที ที่ถูกแจ้งข้อกล่าวหา
ล่าสุดเมื่อวันที่ 6 พ.ค.ที่ผ่านมาก็ได้เกิดเหตุรถจักรยานยนต์พุ่งชน รถจักรยานบริเวณถนนเลียบมอเตอร์เวย์ พระราม 9 มีผู้บาดเจ็บ 2 รายเป็นชาย โดยหนึ่งในนั้นคือ “ลุงอู๊ด” หรือนายวิเชียร ปิ่นเกสร อายุ 56 ปี นักปั่นจักรยานฉายากระบี่มือเดียว เดชะบุญที่ลุงอู๊ดไม่เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต
สำหรับ “ลุงอู๊ด” เคยเป็นนักกีฬาไตรกีฬา ว่ายน้ำ และนักวิ่งทีมชาติไทย ไปแข่งขันกีฬาเฟสปิกเกมส์ นอกจากนั้น เคยปั่นจักรยานรอบโลก ในชื่อโครงการว่า “ขี่จักรยานมือเดียว ข้ามโลก เฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลมหาราช” เมื่อปี 2543 ปั่นจักรยานผ่าน 72 ประเทศทั่วโลก ใช้เวลากว่า 3 ปี 4 เดือน โดยทุกเช้าจะใช้เส้นทางถนนเลียบมอเตอร์เวย์ พระราม 9 ปั่นจักรยานในการออกกำลังกายพร้อมสุนัขคู่ใจ กระทั่งมาประสบอุบัติเหตุที่คาดไม่ถึง
แน่นอน ทั้ง 3 เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้กลายเป็นประเด็นและกระแสเรียกร้องให้มีการแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้โดยเร่งด่วน โดยเฉพาะกรณี “เมาแล้วขับ” ตลอดรวมถึงการจัดการปัญหารถยนต์ชนรถจักรยานที่ในระยะหลังประสบเหตุบ่อยครั้ง
ทั้งนี้ รูปธรรมที่เห็นชัดที่สุดก็คือ การที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้กำชับ ต่อ พล.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผบ.ตร. ให้บังคับใช้กฎหมายที่เข้มงวดกับพวกเมาแล้วขับ ให้มีการจับกุมทันที โดยไม่มีการประกันตัว ทำให้เมื่อวันที่ 6 พ.ค.ที่ผ่านมา พล.อ.สมยศ ได้มีคำสั่งด่วน ให้มีการปรับปรุงในการตรวจผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์แล้วขับขี่ยานพาหนะทั้งกลางวันและกลางคืน
พล.ต.ท.ประวุฒิ ถาวร ศิริ ผู้ช่วย ผบ.ตร. กล่าวถึงมาตรการ เพิ่มบทลงโทษแก่ผู้เมาแล้วขับว่า จะมีการพักใช้ใบอนุญาต6 เดือน และอาจถึงขั้นยกเลิกใบอนุญาตไปเลย
นอกจากนั้นแล้วยังได้มีมาตรการของจักรยาน ที่แบ่งออกเป็น 2 ประเภทด้วยกัน คือ 1.จักรยานที่ใช้ขี่ออกกำลังกาย ต้องมีการใช้ทางตรงๆ ยาวๆ ก็จะมีเลนสำหรับจักรยานโดยเฉพาะไว้ให้ เช่นที่ สนามบินสุวรรณภูมิ แต่ก็ยังมีการพบว่าขี่ออกมานอกเลนบ้าง ซึ่งเป็นอันตรายเพราะรถยนต์ และจักรยานใช้พื้นที่เดียวกัน
2.จักรยานเพื่อการเดินทาง เช่น เพื่อไปทำงาน ไปโรงเรียนสามารถขี่บนทางเท้าได้บางแห่ง อาทิ ถนนประดิษฐ์มนูธรรม จะมีเส้นทางให้ขี่ แต่ทางสมาคมจักรยานได้มีการเรียกร้องให้ทำเลนจักรยานโดยเฉพาะไว้ให้ โดยต้องดูพื้นที่ว่าเอื้ออำนวยแค่ไหน ส่วนการขี่จักรยานเป็นกลุ่มสามารถเลือกเส้นทางได้ โดยการประสานไปยังเจ้าหน้าที่ตำรวจทางหลวง เพื่อกำหนดมาตรการความปลอดภัย หรือโทร.ไปยัง 1197 เพื่อสอบถามว่าถนนเส้นใดมีรถเยอะ จะได้เลี่ยงความเสี่ยงจากการเกิดอุบัติเหตุ
ด้านเภสัชกรสงกรานต์ ภาคโชคดี ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า(สคล.) ให้ความเห็นว่า หากไม่มีการขยับแก้ปัญหาเมาแล้วขับให้เข้มงวด ยอดการเกิดอุบัติเหตุพิการเสียชีวิต จะเพิ่มขึ้นซ้ำอีกเรื่อยๆ ที่ผ่านมาคิดเพียงว่าผู้ดื่มจะต้องรับผิดชอบตัวเองไม่เกี่ยวกับสถานประกอบการ อีกทั้งไม่เคยเห็นตำรวจหยิบมาตรา29นี้ไปใช้ จึงอยากเรียกร้องรัฐบาลใช้กฎหมายที่มีอยู่จัดการปัญหาอย่างจริงจัง และอยากเรียกร้องอุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต้องให้ข้อมูลที่ถูกต้องกับผู้ขาย ไม่ใช่ไปชี้ช่องส่งเสริมหรือหลบเลี่ยงกฎหมายเพื่อหวังยอดขาย แต่ควรมีความรับผิดชอบให้มากกว่านี้ เพราะเชื่อว่าหากเคารพกฎหมายความสูญเสียลดลงแน่นอน
ขณะเดียวกันควรจะหยิบเรื่องการจัดตั้งศาลจราจรขึ้นมาพิจารณา เพราะคดีต่างๆโดยเฉพาะพฤติกรรมเมาแล้วขับ มีการฝ่าฝืนอยู่เป็นประจำและมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นจำเป็นต้องมีผู้ที่เข้ามาจัดการตัดสินโดยตรง ซึ่งในประเทศญี่ปุ่นสามารถลดคนเสียชีวิตจากเมาแล้วขับได้ต่อเนื่องกว่า 20 ปี จนทุกวันนี้ญี่ปุ่นมีคนตายจากเมาแล้วขับ ทั้งปี น้อยกว่าคนไทยตายบนถนน ช่วง 7 วันอันตราย ด้วยการใช้กฎหมายแรง บังคับเข้ม โดยจะลงโทษคนเมาแล้วขับ ที่ทำคนเสียชีวิต เหมือนลงโทษฆาตกร ต้องติดคุกนาน ไม่มีรอลงอาญา หรือคุมประพฤติเหมือนบ้านเรา เพราะกระบวนการยุติธรรมเขาถือว่า เมาแล้วขับ ไม่รับผิดชอบสังคม ไม่ใช่แค่ประมาท
ขณะที่นายเมธาสินธุ์ ชัยลิ้นฟ้า ประธานเครือข่ายเหยื่อเมาแล้วขับ จังหวัดลำปาง กล่าวว่า ในฐานะผู้โชคร้ายที่ต้องสูญเสียขา จากเหตุการณ์ถูกคนเมาแล้วขับรถชนถึง2ครั้ง จนทำให้กลายเป็นคนพิการ ต้องนั่งรถวีลแชร์ไปตลอดชีวิต ก่อนอื่นต้องแสดงความเสียใจกับครอบครัวญาติของผู้ที่สูญเสียและบาดเจ็บด้วย โดยส่วนตัวอยากเห็นกฎหมายที่มีอยู่บังคับใช้อย่างจริงจัง เพราะที่ผ่านมาบังคับใช้ไม่ได้เต็มที่ ซึ่งร้านเหล้าที่ขายและผู้ที่เมาแล้วขับต้องร่วมกันรับผิดชอบต่อความสูญเสียที่เกิดขึ้น เพราะหากไม่บังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดเอาผิดร้านค้าที่รู้ทั้งรู้ว่าเขาเมาจนครองสติไม่ได้ยังขายให้ อุบัติเหตุบนท้องถนนจะไม่ลดลงแน่นอน อย่างไรก็ตาม ขอให้เหตุการณ์ครั้งนี้เป็นบทเรียนเตือนสติผู้ที่เมาแล้วขับ ไม่ประมาท เพราะสร้างความสูญเสียให้ผู้อื่นโดยไม่สามารถทดแทนได้ และไม่ยุติธรรมสำหรับผู้ที่ต้องมาสูญเสียนอกจากนี้เครือข่ายเหยื่อเมาแล้วขับอยากเห็นธุรกิจน้ำเมาซึ่งร่ำรวยติดอันดับโลก รับผิดชอบสังคมด้วยการ ตั้ง กองทุนดูแลเหยื่อจากการเมาแล้วขับ เพราะมีเป็นจำนวนมากที่ต้องสูญเสียอนาคต ทั้งๆที่ไม่ได้ทำผิดอะไร แต่ต้องกลายเป็นคนพิการ โดยไม่มีใครรับผิดชอบ ซึ่งเรียกร้องมานาน แต่ไม่เคยมีเสียงขานรับจากธุรกิจน้ำเมา คงต้องให้รัฐบาลออกกฎหมายบังคับจึงจะสำเร็จ
วันนี้ ถึงเวลาแล้วที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและสังคมจะต้องจัดการปัญหา “เมาแล้วขับ” ให้เป็นวาระแห่งชาติอย่างจริงๆ จังๆ เสียที ไม่เช่นนั้นแล้วจะนำมาซึ่งโศกนาฏกรรมแบบไม่รู้จบเยี่ยงนี้ต่อไป
ยิ่งในเวลานี้ โศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นได้จุดกระแสความตระหนักรู้ให้เกิดขึ้นในสังคมด้วยแล้ว ยิ่งต้องรีบทำเป็นการด่วน