xs
xsm
sm
md
lg

คสช.ใช้ม.44แก้ปัญหาประมง ผุดศูนย์บัญชาการดูแลทั้งระบบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-คสช.ใช้ม. 44 ออกคำสั่งแก้ปัญหาประมง สั่งตั้งศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทําการประมงผิดกฎหมาย พร้อมเงื่อนไขคุมเข้มในการทำประมง เผยหากฝ่าฝืนเจอโทษหนัก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (29 เม.ย.) เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 10/2558 เรื่องการแก้ไขปัญหาการทําการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม โดยใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 เพื่อเร่งแก้ปัญหาการทำการประมงอย่างยั่งยืนและเป็นระบบ และยกระดับมาตรฐานการประมงของไทย เพราะหากไม่มีการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังโดยเร่งด่วนภายใน 6 เดือน อาจมีผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าสัตว์น้ำของไทยในอนาคตและความมั่นคงของไทยในภาพรวมได้

ทั้งนี้ คำสั่งดังกล่าวมีจำนวน 23 ข้อ สาระสำคัญให้มีการจัดตั้งศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทําการประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) เป็นศูนย์เฉพาะกิจขึ้นตรงกับนายกรัฐมนตรี มีผู้บัญชาการทหารเรือเป็นผู้บัญชาการศูนย์ฯ โดยให้คณะกรรมการนโยบายแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์และการทําประมงผิดกฎหมาย ทําหน้าที่กําหนดนโยบายและแนวทางปฏิบัติในระดับรัฐบาล และให้กองทัพเรือ และศูนย์ประสานการปฏิบัติในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) ทําหน้าที่เป็นหน่วยงานหลักของ ศปมผ. ในการปฏิบัติการทางทะเลและชายฝั่ง และปฏิบัติงานร่วมกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง

ขณะเดียวกัน ขอให้มีศูนย์ควบคุมการแจ้งเรือเข้า-ออก และศูนย์ให้บริการและอํานวยความสะดวกแก่เรือประมงแบบเบ็ดเสร็จ ประจําในแต่ละจังหวัดชายทะเล ตามที่ ศปมผ. ประกาศกําหนด

ส่วนเจ้าของหรือผู้ประกอบการเรือประมง เรือบรรทุกสินค้าประมงห้องเย็น ตลอดจนยานพาหนะทางน้ำทุกชนิดที่ใช้ทําการประมง ขนถ่ายหรือเก็บรักษาสัตว์น้ำที่ได้จากยานพาหนะทางน้ำทุกชนิดที่ใช้ทําการประมง ที่มีขนาดตั้งแต่ 30 ตันกรอสส์ขึ้นไป หรือตามขนาดที่ ศปมผ. ประกาศกําหนด ต้องจัดทําสมุดบันทึกการทําการประมง ติดตั้งระบบติดตามเรือประมง (VMS) และต้องแจ้งการเข้า-ออก ท่าเทียบเรือทุกครั้ง ณ ศูนย์ควบคุมการแจ้งเรือเข้า-ออก

นอกจากนี้ ยังมีการกำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับการทำประมง เครื่องมือทำประมง เรือประมง เจ้าของท่าเรือ เจ้าของแพปลา ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนด โดยผู้ที่ฝ่าฝืนจะมีโทษหนัก
กำลังโหลดความคิดเห็น