xs
xsm
sm
md
lg

ไทยพุทธ-ชาวเล"ตะกั่วป่า" เผชิญหน้า พิพาทที่ดินสุสานหวิดปะทะ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (27เม.ย.) พล.อ.สุรินทร์ พิกุลทอง ประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาความมั่นคงในที่อยู่อาศัย พื้นที่ทำกิน และพื้นที่ทางจิตวิญญาณของชุมชนชาวเล สำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณี ชาวเลหาดราไวย์ จ.ภูเก็ต ถูกนายทุนเข้ารื้อบ้าน 3 หลัง ว่า ได้ประสานกับคณะกรรมการรายอื่น เพื่อขอให้สำนักนายกฯ ทำหนังสือแจ้งไปยังผู้ว่าฯ ให้ช่วยดูแลในพื้นที่ ระหว่างที่รอเวลาจัดประชุมหาแนวทางแก้ไข เนื่องจากต้องใช้เวลาประสานงาน ขอสาระบบเอกสารที่ดินพื้นที่ที่ถูกรื้อถอน เพื่อให้ทราบว่าอยู่ในบริเวณที่คณะกรรมการฯ ขอเพิกถอน หรือแก้ไขรายการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 61 หรือไม่ ซึ่งหากเป็นอย่างนั้น พื้นที่ดังกล่าวสามารถนำไปฟ้องศาลปกครอง เพื่อขอคุ้มครองชั่วคราว โดยขณะนี้ทราบจากสำนักนายกฯ ว่า ผู้ว่าราชการจังหวัด ได้เข้าไกล่เกลี่ยแล้ว
สำหรับกรณีชาวบ้านหาดราไวย์นั้น คนที่ยังไม่ถูกรื้อถอนแน่นอน มีองค์กรท้องถิ่นช่วยดูแลให้ แต่กรณีคนที่ถูกกระทำไปแล้ว ต้องมีคนเยียวยา รับผิดชอบ ประเด็นนี้สำคัญ เพราะชาวบ้านในพื้นที่นั้น ไม่ได้มีรายได้มหาศาล กรณีเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ สร้างความทุกข์แก่ชุมชนเก่าแก่อย่างชาวเลมาก
"ปัญหาที่พบตอนนี้คือ มีทั้งชาวเลราไวย์ ที่ภูเก็ต และกรณีชาวเล ทุ่งหว้า จ.พังงา ที่มีปัญหาในพื้นที่กรณีขอฝังศพในสุสานไม่ได้ โดยแต่คณะกรรมการ จะเอาประเด็นทั้งหมดมาคุยกันในวันประชุมใหญ่ ประมาณวันที่ 12 พ.ค. โดยรวมข้อมูลของชาวเลทุกจังหวัด สำหรับชาวเลราไวย์นั้น มีปัญหาแบบดังกล่าวโดยตลอด หากฝ่ายปกครองเข้มแข็ง และตรวจตรา คิดว่าเรื่องคงไม่เกิดเรื่อง แต่กรณีที่ทุ่งหว้านั้น ผ่านไป 1 ศพ ได้รับอนุญาตให้ฝัง แต่ยังเหลือปัญหาระยะยาวอีก ซึ่งปัญหาทั้งหมดต้องกางพื้นที่คุยอีกระลอก ผมขอแค่ความร่วมมือฝ่ายปกครองระงับเหตุขัดแย้ง และชะลอการปลูกสร้าง รื้อถอนก็พอ เรื่องแบบนี้ผู้ว่าฯ น่าจะทำได้ไม่ยาก" พล.อ.สุรินทร์ กล่าว
ทั้งนี้ เหตุการณ์เผชิญหน้าระหว่างชาวเล และคนไทยพุทธ ทวีความรุนแรงขึ้น เมื่อมีชาวเลบ้านทุ่งหว้า อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา รายหนึ่งเสียชีวิต เมื่อวันที่ 17 มี.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งชาวเลได้เตรียมนำศพมาฝังในสุสานบ้านทุ่งหว้า ซึ่งเป็นสุสานเก่าแก่ และมีเอกสารใบสำคัญที่หลวงยืนยันเนื้อที่ 15 ไร่ แต่ต่อมาหลักเขตถูกทำลายไป ทำให้กำนัน และชาวบ้านไทยพุทธกลุ่มหนึ่ง ต้องการเอาพื้นที่บางส่วนของสุสานชาวเลมาสร้างที่จอดรถ และเมรุเผาศพ ล่าสุดได้มีชาวเลเสียชีวิตอีกรายหนึ่ง และเมื่อวันที่ 26 เม.ย. ชาวเลได้เตรียมนำศพมาฝังยังสุสาน แต่ทางกำนัน และชาวไทยพุทธไม่ยอม เพราะต้องการกันพื้นที่สุสานบางส่วนไปทำประโยชน์ ในที่สุดจึงเกิดการเผชิญหน้ากัน โดยต่างฝ่ายต่างระดมชาวบ้านมา ในที่สุดนายอำเภอตะกั่วป่า จึงเข้ามาเป็นคนกลางเข้าห้าม ก่อนที่จะเกิดการปะทะกัน
นายวิทวัส เทพสง ชาวเล จ.พังงา กล่าวว่า เปลวหรือสุสานชาวเล มีเนื้อที่ 15 ไร่ ซึ่งหลังเหตุการณ์สึนามิถล่ม อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดได้มีคำสั่งให้กันแนวเขตตั้งแต่ปี 2555 โดยบริเวณดังกล่าวมีสำนักสงฆ์ทุ่งกระทิง และต่อมาได้ยกระดับเป็นวัดขึ้นมา โดยมีกำนันและชาวบ้านกลุ่มหนึ่งพยายามเอาพื้นที่เปลว ไปสร้างลานจอดรถ บางครั้งผู้ที่มาจอดรถ ก็ไปยืนฉี่ในบริเวณดังกล่าวกันบ่อยๆ เมื่อชาวเลเห็น ก็ไม่สบายใจ เพราะบริเวณดังกล่าวคือสุสานของบรรพบุรุษ และญาติพี่น้องชาวเลที่เสียชีวิต
"เมื่อชาวเลจะเอาศพชาวบ้านไปฝัง โดยพ่อหมอได้ชี้พื้นที่ฝัง แต่กำนันและชาวบ้านกลุ่มหนึ่งไม่ยอม แถมมีการระดมมวลชนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะเขาไม่รู้ว่าจริงๆ แล้ว มีความต้องการเอาพื้นที่บริเวณนี้ 5 ไร่ ไปะทำลานจอดรถ ไม่ใช่ทำเมรุ ทำให้เกิดการเผชิญหน้า แม้นายอำเภอมา แต่ไม่ได้พูดตามนโยบายที่สำนักนายกฯ บอก คนไทยพุทธบางส่วนก็บอกว่า ต่อไปจะไม่ช่วยเหลือชาวมอแกนแล้ว ส่วนชาวมอแกน ก็บอกว่าไม่ลงคะแนนให้กำนันผู้ใหญ่บ้านเหมือนกัน เพราะย่านนี้มีเสียงชาวมอแกนอยู่มาก" นายวิทวัส กล่าว
นายวิทวัส กล่าวว่า ทางออกในเรื่องนี้คือทุกคนควรมาหารือ และหาข้อตกลงร่วมกัน ว่าที่ดินวัดมีเท่าไรกันแน่ และการสร้างเมรุนั้น ใช้ที่จริงๆเท่าไร และที่ดินของวัดพอสร้างหรือไม่ แต่ไม่ใช่มาขอพื้นที่เปลว 5 ไร่เลย ถ้ามีที่วัด ก็สร้างในบริเวณวัดก่อน ต้องตรวจสอบกันก่อน แต่ไม่ใช่เอาที่ดินเปลวไปสร้างลานจอดรถ เพราะชาวมอแกนไม่ยอม ที่สำคัญคือ ควรมีคนกลางกลางเข้ามาไกล่เกลี่ยให้ทุกฝ่ายมานั่งคุยกัน อย่าให้เกิดพลังมวลชนปะทะกัน
"จริงๆแล้วกรณีสุสานชาวเล เคยมีการเสนอเรื่องให้สำนักนายกฯ พิจารณา โดยมีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาประชุมและพยายามคุยคุยเพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหา ที่ผ่านมาแม้สำนักนายกฯ เคยมีคำสั่งให้กันแนวเขตสุสานชาวเล แต่ทางจังหวัดก็ยังไม่ทำอะไรเลย จนกระทั่งมาเกิดเรื่องครั้งนี้ขึ้น" นายวิทวัส กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น