xs
xsm
sm
md
lg

เล็งเพิ่มเบี้ยคนชรา ขยายเกษียณอายุเป็น 65 ปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (27 เม.ย.) ที่โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการ ได้มีการจัดเสวนาเวทีสาธารณะ "มาตรการส่งเสริมการทำงานต่อเนื่องของผู้สูงอายุ" โดย มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กระทรวงแรงงาน สำนักงานคณะกรรมการร่วม 3 สถาบันภาคเอกชน (กกร.) โดยมีนักวิชาการ และตัวแทนกลุ่มแรงงานเข้าร่วมเสวนา
ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับนโยบายด้านการดูแลผู้สูงอายุ ผ่านกลไกลของหน่วยงานรัฐ เช่น มีการจัดตั้งสถาบันเทคโนโลยีผู้สูงอายุ เช่น การผลิตหูฟังสำหรับผู้มีปัญหาการได้ยิน การผลิตข้อเข่าเทียม รวมไปถึงหน่วยงานภาครัฐ ผ่านกระทรวงสาธารณสุข ที่มีจัดหมอครอบครัว ดูแลคนในชุมชน และการส่งเสริมให้ผู้สูงอายุดูแลกันด้วย เช่น ผู้สูงอายุที่ อายุประมาณ 60 ปี เป็นผู้ดูแลผู้สูงอายุที่มีอายุมาก หรือผู้สูงอายุที่ป่วยติดบ้าน ติดเตียง เป็นต้น รวมถึงการผลักดัน พ.ร.บ.กองทุนการออมแห่งชาติ ซึ่งอยู่ในระหว่างขั้นตอนการดำเนินการ เพื่อส่งเสริมให้มีการออมตั้งแต่อายุยังน้อย แก้ไขปัญหาการไม่มีเงินออมหลังการเกษียณ และเพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุ โดยขณะนี้ได้ให้ทางกระทรวงการคลังพิจารณาช่วยเหลือ ซึ่งอาจเพิ่มจำนวนเงินให้มากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มผู้ยากไร้
" การเกษียณอายุ ในความเห็นส่วนตัวเห็นว่า ควรอยู่ที่ 65 ปี จากเดิมที่เกษียณตอน 60 ปี เนื่องจากเห็นว่าผู้สูงอายุยังทำงานได้อยู่ ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณา นอกจากนี้ จากข้อมูลกองทุนผู้สูงอายุ พบว่า มีผู้สูงอายุกว่าร้อยละ 30 ที่มีศักยภาพในการทำงาน สามารถพึ่งพาตนเองได้ รัฐบาลจึงมีแนวนโยบายการพัฒนาผู้สูงอายุ โดยการส่งเสริมอาชีพที่เหมาะสมสำหรับผู้สูงอายุ มีการส่งเสริมการศึกษา โดยเฉพาะระบบไอที ขยายการศึกษาไปยัง ระดับมหาวิทยาลัย มากกว่าปัจจุบันที่จำกัดเฉพาะการศึกษานอกโรงเรียน หรือ กศน.เท่านั้น" ศ.ดร.ยงยุทธ กล่าว
ศ.ดร.ยงยุทธ กล่าวด้วยว่า สิ่งสำคัญคือการปรับทัศนคติของสังคมไทยที่มีต่อผู้สูงอายุ เช่น ไม่ต้องทำงานลูกหลานเลี้ยงได้ ทั้งที่ความเป็นจริงไม่เป็นเช่นนั้น พอถึงเวลาก็ไม่มีใครเลี้ยง ฉะนั้นเราต้องปรับเปลี่ยนทัศนคติตรงนี้ โดยผ่านนโยบาย 3 รับ คือ
1. ผู้สูงอายุต้องรับมือกับสถานการณ์ปัจจุบัน ที่ต้องรู้จักการปรับตัวเรื่องการเรียนรู้เรื่องเทคโนโลยีมากขึ้น และรู้จักการออกกำลังกาย เพื่อให้ตัวเองมีสุขภาพที่ดีอยู่ตลอดเวลา
2. รองรับสถานการณ์อนาคต โดยรู้จักมีวินัยในการออม เพื่อให้มีจำนวนเงินที่พอใจหลังการเกษียณ
3. ต้อนรับสังคมสูงวัย รู้จักพลิกวิกฤติเป็นโอกาส ประเทศไทยควรมีการปรับใช้ มาร่วมกันคิดทำอาชีพ เพื่อผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับการอำนวยความสะดวกแก่ผู้สูงอายุให้มากขึ้น
ด้านพญ.ลัดดา ดำริการเลิศ รักษาการเลขามูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย กล่าวว่า สถานการณ์ของผู้สูงอายุไทยในอีก 10 ปี ข้างหน้า คาดว่าจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ และอีก 20 ข้างหน้า จะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสุดยอด คือ มีประชากรสูงอายุมากกว่า ร้อยละ 25 ของประชากรทั้งหมด ซึ่งประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุตั้งแต่ปี 2548 โดยอัตราเร่งการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของไทยสูงกว่าประเทศอื่นๆ ในโลก ผลลัพธ์ทำให้สังคมไทยแก่แล้วแต่ก็ยังยากจน ในขณะที่ประเทศอื่นจะรวยก่อนจึงเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ จากสถิติพบว่า คนไทยที่อยู่ในวัยทำงานส่วนใหญ่คิดเรื่องการออมร้อยละ 50 แต่มีผู้ลงมือปฏิบัติจริงน้อยมาก
ฉะนั้น นับจากนี้ จึงควรเร่งมาตรการส่งเสริมการทำงานอย่างต่อเนื่องของผู้สูงอายุให้เป็นวาระแห่งชาติ ทำให้ผู้สูงอายุเข้าสู่ตลาดแรงงานมากขึ้น เพื่อนำไปสู่ความพร้อมในการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ปัญหาที่น่าวิตกคือ ปัญหาเงินออมของผู้สูงอายุก่อนเข้าสู่วัยหยุดทำงานยังมีปัญหา ฉะนั้นต้องมีการวางแผนล่วงหน้าเพื่อแก้ไขปัญหา ทั้ง การส่งเสริมการสร้างงาน การหามาตรการรองรับสร้างหลักประกันทางรายได้หลังการเกษียณ เป็นต้น เพื่อให้มีจำนวนเงินเพียงพอสำหรับการยังชีพตลอดอายุขัย
กำลังโหลดความคิดเห็น