รองนายกฯ ร่วมเวทีเสวนา มาตรการส่งเสริมการทำงานต่อเนื่องผู้สูงอายุ หนุนขยายเกษียณอายุจาก 60 เป็น 65 ปี เหตุยังทำงานได้อยู่ พร้อมชง ก.คลัง เพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุ ปรับทัศนคติเตรียมพร้อมประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์อีก 10 ปีข้างหน้า ดัน พ.ร.บ.กองทุนการออมแห่งชาติ ส่งเสริมให้ผู้สูงอายุเข้าสู่ตลาดแรงงานเป็นวาระแห่งชาติ
วันนี้ (27 เม.ย.) ที่โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการ ได้จัดเสวนาเวทีสาธารณะ “มาตรการส่งเสริมการทำงานต่อเนื่องของผู้สูงอายุ” โดยมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กระทรวงแรงงาน สำนักงานคณะกรรมการร่วม 3 สถาบันภาคเอกชน (กกร.) โดยมีนักวิชาการ และตัวแทนกลุ่มแรงงานเข้าร่วมเสวนา
ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับนโยบายด้านสังคมโดยเฉพาะการดูแลผู้สูงอายุผ่านกลไกลของหน่วยงานรัฐ เช่น มีการจัดตั้งสถาบันเทคโนโลยีผู้สูงอายุ เช่น การผลิตหูฟังสำหรับผู้มีปัญหาการได้ยิน การผลิตข้อเข่าเทียม รวมไปถึงหน่วยงานภาครัฐ ผ่านกระทรวงสาธารณสุข ที่มีจัดหมอครอบครัวดูแลคนชุมชน และการส่งเสริมให้ผู้สูงอายุดูแลกันด้วย เช่น ผู้สูงอายุที่อายุประมาณ 60 ปี เป็นผู้ดูแลผู้สูงอายุที่มีอายุมาก หรือผู้สูงอายุที่ป่วยติดบ้านติดเตียง เป็นต้น รวมถึงการผลักดัน พ.ร.บ.กองทุนการออมแห่งชาติ ซึ่งอยู่ในระหว่างขั้นตอนการดำเนินการ เพื่อส่งเสริมให้มีการออมตั้งแต่อายุยังน้อย แก้ไขปัญหาการไม่มีเงินออมหลังการเกษียณ และเพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุ โดยขณะนี้ได้ให้ทางกระทรวงการคลังพิจารณาช่วยเหลือซึ่งอาจเพิ่มจำนวนเงินให้มากขึ้นโดยเฉพาะกลุ่มผู้ยากไร้
“การเกษียณอายุในความเห็นส่วนตัวเห็นว่า ควรอยู่ที่ 65 ปี จากเดิมที่เกษียณตอน 60 ปี เนื่องจากเห็นว่าผู้สูงอายุยังทำงานได้อยู่ ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณา นอกจากนี้จากข้อมูลกองทุนผู้สูงอายุ พบว่ามีผู้สูงอายุกว่าร้อยละ 30 ที่มีศักยภาพในการทำงานสามารถพึ่งพาตนเองได้ รัฐบาลจึงมีแนวนโยบายการพัฒนาผู้สูงอายุ โดยการส่งเสริมอาชีพที่เหมาะสมสำหรับผู้สูงอายุ มีการส่งเสริมการศึกษา โดยเฉพาะระบบไอที ขยายการศึกษาไปยังระดับมหาวิทยาลัยมากกว่าปัจจุบันที่จำกัดเฉพาะการศึกษานอกโรงเรียน หรือ กศน.เท่านั้น” ศ.ดร.ยงยุทธกล่าว
ศ.ดร.ยงยุทธกล่าวด้วยว่า สิ่งสำคัญคือการปรับทัศนคติของสังคมไทยที่มีต่อผู้สูงอายุ เช่น ไม่ต้องทำงานลูกหลานเลี้ยงได้ ทั้งที่ความเป็นจริงไม่เป็นเช่นนั้น พอถึงเวลาไม่มีใครเลี้ยง ฉะนั้นเราต้องปรับเปลี่ยนทัศนคติตรงนี้ โดยผ่านนโยบาย 3 รับ คือ 1. ผู้สูงอายุต้องรับมือกับสถานการณ์ปัจจุบัน ที่ต้องรู้จักการปรับตัวเรื่องการเรียนรู้เรื่องเทคโนโลยีมากขึ้น และรู้จักการออกกำลังกาย เพื่อให้ตัวเองมีสุขภาพที่ดีอยู่ตลอดเวลา 2. รองรับสถานการณ์อนาคต โดยรู้จักมีวินัยในการออม เพื่อให้มีจำนวนเงินที่พอใจหลังการเกษียณ และ 3. ต้อนรับสังคมสูงวัย รู้จักพลิกวิกฤติเป็นโอกาส ประเทศไทยควรมีการปรับใช้ มาร่วมกันคิดทำอาชีพ เพื่อผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับการอำนวยความสะดวกแก่ผู้สูงอายุให้มากขึ้น
ด้าน พญ.ลัดดา ดำริการเลิศ รักษาการเลขามูลนิธิสถาบันวิจัย และพัฒนาผู้สูงอายุไทย กล่าวว่า สถานการณ์ของผู้สูงอายุไทยในอีก 10 ปี ข้างหน้าคาดว่าจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ และอีก 20 ปีข้างหน้าจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสุดยอด คือมีประชากรสูงอายุมากกว่าร้อยละ 25 ของประชากรทั้งหมด ซึ่งประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุตั้งแต่ปี 2548 โดยอัตราเร่งการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของไทยสูงกว่าประเทศอื่นๆ ในโลก ผลลัพธ์ทำให้สังคมไทยแก่แล้วแต่ก็ยังยากจน ในขณะที่ประเทศอื่นจะรวยก่อนจึงเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ จากสถิติพบว่า คนไทยที่อยู่ในวัยทำงานส่วนใหญ่คิดเรื่องการออมร้อยละ 50 แต่มีผู้ลงมือปฏิบัติจริงน้อยมาก ฉะนั้น นับจากนี้จึงควรเร่งมาตรการส่งเสริมการทำงานอย่างต่อเนื่องของผู้สูงอายุให้เป็นวาระแห่งชาติ ทำให้ผู้สูงอายุเข้าสู่ตลาดแรงงานมากขึ้น เพื่อนำไปสู่ความพร้อมในการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ปัญหาที่น่าวิตกคือ ปัญหาเงินออมของผู้สูงอายุก่อนเข้าสู่วัยหยุดทำงานยังมีปัญหา ฉะนั้นต้องมีการวางแผนล่วงหน้าเพื่อแก้ไขปัญหา ทั้งการส่งเสริมการสร้างงาน การหามาตรการรองรับสร้างหลักประกันทางรายได้หลังการเกษียณ เป็นต้น เพื่อให้มีจำนวนเงินเพียงพอสำหรับการยังชีพตลอดอายุขัย